หลังยุคโควิดจะเป็นอย่างไร นโยบายไทยเดินหน้าทางไหน อ่านบทสรุปสัมมนาหัวข้อ Thailand Post COVID-19: Rain or Sunshine? | Techsauce

หลังยุคโควิดจะเป็นอย่างไร นโยบายไทยเดินหน้าทางไหน อ่านบทสรุปสัมมนาหัวข้อ Thailand Post COVID-19: Rain or Sunshine?

สมาคมไทย-ญี่ปุ่น ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Post COVID-19: Rain or Sunshine?” เพื่อจับตาทิศทางการฟื้นฟูของไทยหลังการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19

โดยบทความนี้จะเป็นการสรุปภาพรวมนโยบายทั้งด้านสาธารณสุข นโยบายการคลังที่เอื้อต่อการลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจ เดินหน้าสู่การยกระดับประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน พร้อมทราบถึงความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญนอกเหนือจากการรับมือกับโรคระบาด ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากวิทยากรตัวแทนทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชน 

เร่งกระจายวัคซีน ป้องกันความสูญเสียกรณีเกิดการระบาดระลอกใหม่

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมสิริถาวรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความสามารถในการรับมือของไทย ในกรณีที่หากโควิด-19 กลับมาระบาดอีกระลอก โดยมองว่าการระบาดของโควิดยังเป็นสิ่งที่คาดเดาลำบาก แต่ปัจจุบันไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาฟื้นฟูสำหรับเปิดประเทศอีกครั้งหลังการระบาด และสามารถควบคุมยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลงต่ำกว่า 10,000 คนต่อวันได้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา 

อีกทั้งการฉีดวัคซีนจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยให้ไทยสามารถกลับมาฟื้นฟูได้อีก โดยไทยมีอัตราการฉีดครอบคลุม 2 ใน 3 ของประชากร หรืออประมาณ 66% ของทั้งชาวไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ จึงช่วยให้อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อลดลงได้ ซึ่งนับว่าการควบคุมการระบาดในไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี และหากเกิดการระบาดซ้ำอีกระลอกไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้จากประสบการณ์การรับมือที่ผ่านมาและการกระจายวัคซีนที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 

เตรียมนโยบายการคลังไทย สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน

ในส่วนของนโยบายด้านเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเป็นการดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กันระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรับมือกับการระบาด โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและยังคงเฝ้าระวังการระบาดซ้ำอีกระลอก ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าสถานการณ์ของไทยนั้นคล้ายกับในหลายประเทศที่ต้องใช้งบประมาณจำนวณมากเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ต้องมีการกู้ยืมเพื่อนำงบประมาณมาช่วยในส่วนนี้ ซึ่งทางภาครัฐก็ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงของการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

ในขณะเดียวกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยคงอยู่ในระดับที่สูง โดยในมุมของการเงินและการคลังนายอาคมกล่าวว่าไทยยังมีความเข้มแข็ง และนอกจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศจากโครงการรัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจคือการกลับมาดำเนินงานของบริษัทหรือโรงงานทั้งหลายเพราะจะทำให้เกิดการจ้างงานอีกครั้งหลังจากหลายธุรกิจต้องหยุดชะงักไป นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านรัฐวิสาหกิจ การลงทุนแบบ PPP และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 

อีกหนึ่งภารกิจหลักของกระทรวงการคลัง คือการรับมือกับสิ่งแวดล้อมในเรื่องของมลพิษและภาวะโลกร้อนทำให้ต้องดำเนินนโยบายเพื่อจัดการกับต้นตอซึ่งเกิดมาจากการคมนาคมขนส่ง โดยมีการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าผ่านการปรับโครงสร้างภาษี และสร้างแรงจูงใจเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และดำเนินนโยบายที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค 

เดินหน้าสนับสนุนการลงทุนในไทยให้เติบโต

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าวในฐานะตัวแทนของ BOI ถึงนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนว่าได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่จะทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ สองสิ่งหลักๆ ที่ทาง BOI ให้ความสำคัญคือ การนำการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาในไทยผ่านโปรแกรมส่งเสริมการลงทุน และส่งเสริมการลงทุนที่มีอยู่เดิมให้เกิดการแข่งขันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทาง BOI หวังว่าจะเป็นส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนในไทยให้เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านความยั่งยืนและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาในอุตสาหกรรสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยมุ่งเน้นในด้านการช่วยเหลือผู้ลงทุน อำนวยความสะดวกในการจัดหาคนที่มีความสามารถให้ตรงตามความต้องการของบริษัทผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และอำนวยความสะดวกในเรื่องเงินทุนสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือบริษัท ทั้งยังดำเนินการในเรื่องวีซ่าสำหรับแรงงานทักษะสูง เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงในไทยให้เพิ่มมากขึ้น 

สร้างความสามารถทางนวัตกรรม รับมือกับทุกความท้าทาย

สำหรับความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญนอกเหนือจากการรับมือกับสถานการณ์โควิด นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองว่าไทยจะต้องพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการจัดการความท้าทายของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการขาดแคลนประชากรในภาคแรงงาน ซึ่งไทยควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านนวัตกรรม โดยปรับใช้เทคโนโลยี อย่างเช่นการใช้หุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหาแรงงาน และต้องมีการ Upskill และ Reskill ในภาคแรงงาน ซึ่งไทยกำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนาโดยมีเป้าหมายผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และดำเนินงานผ่านกรอบความร่วมมือมากขึ้นเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออกอีกทาง

นายดนุชาได้เผยแผนการของไทยในอีก 5 ปี ว่าจะมุ่งเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต การบริการ และต้องมีการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นเพื่อพัฒนาด้านการเกษตร นอกจากนี้จะต้องมีการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงโควิด โดยจะดำเนินมาตรการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากขึ้น พร้อมกับการสร้างความปลอดภัย ให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวมีมาตรฐานเพิ่มขึ้น อีกทั้งจะมีการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมดิจิทัล ผ่านความร่วมมือเพื่อพัฒนาและเป็นการสร้างอาชีพ เพื่อมุ่งกระจายความมั่งคั่งให้กับประเทศ พร้อมผลักดัน SMEs ไทยให้แข็งแกร่งควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน และสุดท้ายคือการสร้างระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็งเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิดที่อาจจะเกิดขึ้นอีก 

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงนโยบายเพื่อยกระดับเทคโนโลยีสู่ Digitalization ซึ่งนายดนุชามองว่าจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศในภาคสังคมด้วย และต้องมีการให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในภาคแรงงานเพื่อให้มีทักษะทางด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างทักษะผ่านภาคการศึกษาเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และต้องมีนโยบายที่เอื้อให้เกิดโอกาสสำหรับ Startup เพื่อร่วมกันสร้างการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในทุกมิติ

ในช่วงสุดท้ายของงานสัมมนานายกลินท์ สารสิน นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และประธานอาวุโสหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้กล่าวสรุปไว้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด ท่ามกลางประเด็นท้าทายหลากหลายที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ โดยภาครัฐและเอกชนได้มีความร่วมมือที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงหลังจากโควิด ทั้งนี้นายกลินท์ยังได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่ได้ถูกหยิบยกมากล่าวในงานสัมมนานี้ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

บทความนี้เป็น Advertorial


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

พลิกโฉมการจัดการโรคด้วย AI เปลี่ยนการรักษาสู่การป้องกันเชิงรุก

AI กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการโรค ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การรักษาอีกต่อไป แต่ยังครอบคลุมไปถึงการตรวจหาโรคตั้งแ...

Responsive image

Translucia ใช้ Generative AI อย่างไร ให้ผู้คนมีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี

ชวนดูแนวทางที่ Translucia บุกเบิกการใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มความสามารถให้ AI Agent เรียกว่า ‘Empathetic AI’ ที่เข้าใจและใส่ใจความรู้สึกของผู้ใช้ ทั้งยังโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ใน Metaver...

Responsive image

7 เหตุผลที่ไทยต้องลุยอุตสาหกรรม Semiconductor ก่อนตกขบวนเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง !

ค้นพบ 7 เหตุผลสำคัญที่เซมิคอนดักเตอร์กำลังกลายเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในประเทศไทย ตั้งแต่การส่งออก การลงทุน จนถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV...