'Thai Startup Ecosystem 2019 Review' ปีที่ 'การเติบโต' และ 'ความท้าทาย' เกิดขึ้นพร้อมกัน | Techsauce

'Thai Startup Ecosystem 2019 Review' ปีที่ 'การเติบโต' และ 'ความท้าทาย' เกิดขึ้นพร้อมกัน

ผ่านไปแล้วสำหรับปี 2019 ปีที่หลายคนเห็นตรงกันว่าช่างเป็นปีที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอันท้าทายไม่น้อย ในช่วงนี้คงเป็นโอกาสเหมาะที่ Techsauce จะชวนทุกท่านมาร่วม Review สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน Startup Ecosystem ไทยประจำปี 2019 กัน ที่เราตั้งใจสรุปมานำเสนอเพื่อแย้มทิศทางและแนวโน้มของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในปี 2020 ให้ได้ติดตามกัน

ภาพรวม Startup Ecosystem ในปี 2019

ปี 2019 เป็นปีที่ถือว่า “ท้าทาย” สำหรับ Startup ไทย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ประกอบการ นักลงทุน รวมถึงผู้สนับสนุนต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการลงทุนในปีนี้กลับแสดงว่า Ecosystem ไทยยังมีการเติบโตอยู่ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมที่เปิดเผยได้อยู่ที่ 97.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากจำนวนดีล 32 ครั้ง ที่แม้จะไม่ใช่ New High แต่ก็ถือว่าสูงกว่าปี 2018 อย่างชัดเจน (ปี 2018 มีจำนวนการลงทุน 36 ครั้ง มูลค่ารวม 61.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ )

หากมองในแง่การลงทุน มีทั้งมุมที่ประสบความสำเร็จและประสบความท้าทาย ในแง่การประสบความสำเร็จ พบว่าเกิดขึ้นกับ Startup ในระดับ Growth Stage ที่สามารถระดมทุนข้าม Round ได้ ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนจาก Series B ไปสู่ Series C ของ Pomelo ผู้ให้บริการ E-Commerce สินค้าแฟชั่นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย โดย Deal ของ Pomelo ถือเป็น Deal ที่มีมูลค่าสูงสุดประจำปี 2019 ที่ 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมี Startup ไทยอีกหลายรายที่ก้าวจาก Seed ไป Series A และ Series A ไป Series B ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ

ในแง่ความท้าทายของปี 2019 เห็นได้ว่า Startup ระดับ Early ประสบความยากลำบากทั้งการระดมทุนและการสนับสนุนผู้ประกอบการ การพัฒนาเพื่อให้ Startup โตอย่างแข็งแรงโดยคำนึงถึง “คุณภาพ” เป็นพื้นฐานสำคัญยังคงเป็นความท้าทายหลักในปี 2019 และจะยากขึ้นในปีต่อไปอันเนื่องมาจากการยุติบทบาทของ dtac accelerate ทีมผู้สร้าง Structure Program ที่ก่อ Impact มากที่สุดใน Ecosystem บ้านเรา

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่มีผลคือความชัดเจนด้านกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset), กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Privacy Data Act) รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับ Service Platform อย่าง Ride-Hailing แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมก็ยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ Ecosystem มีทรัพยากรจำกัด ซึ่งเรายังต้องการมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนในส่วนนี้เพื่อลดความเสี่ยงเชิงนโยบายหรือ  Regulatory Risk

3 เหตุการณ์สำคัญในปี 2019 ที่มีผลต่อ Ecosystem ในปี 2020

ความล้มเหลวในการเข้า IPO ของ Wework แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Impact ของ Wework ส่งผลต่อวิธีการคิดต่อ Startup ใน Ecosystem ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเหตุการณ์ Wework ไม่ได้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในวิถีการทำธุรกิจแบบ Startup แต่ทำให้ทุกฝ่าย “ตระหนัก” ถึงคุณค่าและมูลค่าที่แท้จริงก่อนการลงทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับ Ecosystem มากกว่าในระยะยาว

อ่านข่าวของ Wework โดย Techsauce 

CEO ของ Wework 'Adam Neumann' ประกาศลงจากตำแหน่ง

ยูนิคอร์นที่ร่วงหล่น WeWork คอนเฟิร์มเลิกจ้างพนักงานกว่า 2,400 ตำแหน่ง หรือกว่า 20%

การระดมทุน Series C ของ Pomelo นับเป็นก้าวสำคัญของ Ecosystem บ้านเรากับการระดมทุนของ Pomelo Startup ด้าน Fashion/Retail/E-Commerce สู่ระดับ Series C ได้สำเร็จ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับการเติบโตของ Growth Stage Startup ในระดับที่สูงขึ้น และอาจเป็นการย้ำจุดแข็งของอุตสาหกรรมอย่าง Fashion และ Retail ในไทยด้วย

อ่านข่าวของ Pomelo โดย Techsauce

Pomelo ระดมทุน 52 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเดิม startup ไทยแรกในระดับ Series C

การยุติบทบาทของ dtac accelerate ถือเป็นเหตุการณ์ที่ต้องใช้คำว่า “น่าเสียดาย” สำหรับการยุติบทบาทของ dtac accelerate ทีมงานผู้ดำเนิน Structure Program ที่บ่มเพาะ Startup ในบ้านเรามาอย่างยาวนานเป็นเวลาถึง 7 ปี มี Startup ผ่านเข้ามาในโครงการมากถึง 62 ราย จึงถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่ช่วยสร้าง Startup Ecosystem ของไทยให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างในปัจจุบัน การยุติบทบาทของ dtac accelerate จึงส่งผลต่อรูปแบบการสนับสนุน Startup ในภาพรวมอย่างเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในกลุ่ม Early Stage ซึ่งทุกวันนี้ เราก็ขาดแคลนพื้นที่บ่มเพาะสำหรับกลุ่มนี้อยู่แล้ว

อ่านข่าวของ dtac accelerate โดย Techsauce

อำลา dtac accelerate อย่างเป็นทางการ ผู้อยู่คู่วงการ Startup ไทยมากว่า 7 ปีเต็ม

ภาพรวมการลงทุนในปี 2019

ภาพรวมการลงทุนในปีนี้ถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว Startup ไทยได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ดีพอจะผลักดัน Growth Stage Startup ออกจาก Pipeline ได้สำเร็จ หรือเป็นการทำให้เกิด Exit ซึ่งเป็นที่คาดหวังทั้งกับนักลงทุนและ Founder ของ Startup

ในปี 2019 องค์กรยังคงเป็นกำลังหลักในการลงทุน ทั้ง Growth Stage Startup และ Seed Stage เราได้เห็นทั้งในรูปแบบการลงทุนเพื่อการร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partnership) ทั้งจากบริษัทโดยตรงหรือผ่านหน่วยงาน CVC รวมถึงการลงทุนเพื่อเน้นผลกำไร ในขณะที่ Traditional VC ยังคงเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนใน Startup ระดับ Pre-seed จนถึง Series A

ส่วนนักลงทุนต่างประเทศ ปีนี้ยังคง Active และจับตามอง Startup ไทยอยู่ ไม่ได้มีการยุติบทบาทหรือหยุดเคลื่อนไหว แต่อย่างไรก็ตาม การที่นักลงทุนต่างประเทศจะลงทุนใน Startup ไทยยังคงเป็นความท้าทาย เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย มีความน่าสนใจกว่าทั้งด้าน Acquicision Cost ที่น่าดึงดูดและ Traction ที่น่าจับตามองจากขนาดตลาดและประชากรที่มากกว่า

วัฒนธรรมการทำงานและองค์กรในปี 2019

วัฒนธรรมองค์กรคือส่วนสำคัญที่เราควรพูดถึง เนื่องจากมีผลต่อการทำงานระหว่างกันใน Ecosystem โดยภาพรวมปี 2019 สังคมไทยเริ่มคุ้นเคยกับ Startup และการทำงานในรูปแบบ Startup มากขึ้น สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่รวดเร็ว นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ Techsauce จัดงาน Techsauce Culture Summit เมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา

ฝั่ง Startup มีการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อบริหารงานตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ แต่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา Startup ไทย Scale เร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในการบริหารเยอะมาก สิ่งที่ Startup ไทยต้องหาคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมกับตนเองในแต่ละขั้นและเตรียมพร้อมสำหรับจุดที่จะไป อีกทั้ง แนวคิดการทำงานในฝั่ง Startup ถูกนำมาใช้ Corporate มากขึ้น และเห็นผลชัดเจนในบางองค์กร

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยยังคงอ่อนเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างทั้ง Corporate และ Startup ในด้าน Corporate ไทยยังตกหล่นเรื่องความยืดหยุ่น ทำให้ไม่เข้าใจรูปแบบการบริหารงานของ Startup แม้ว่าจะมีการจัดตั้ง CVC มากขึ้น แต่โดยรวมแล้วยังต้องปรับตัวเพื่อให้ผลของการลงทุนเชิง Strategic Partner ได้ผลลัพธ์ที่ดี และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ Startup

สิ่งที่ Corporate สามารถทำได้เพื่อให้การร่วมมือกับ Startup นำไปสู่นวัตกรรมอันเป็นเป้าหมายในการร่วมมือ คือพิจารณา Structure ขององค์กร โดยคำนึงถึงความยืดหยุ่น ทั้งโครงสร้าง นโยบายการบริหาร และมาตรการสนับสนุนที่เอื้อกับทีมที่อยู่ในหน่วยงานที่มีหน้าที่อย่างตรงจุด ให้ความสำคัญกับทีมที่ทำหน้าที่ในจุดนี้เพื่อให้เงินลงทุนที่จ่ายลงไปถูกขับเคลื่อนไปในจุดที่คุ้มค่า

การจะทำให้การ Partner กับ Startup คุ้มค่าที่สุด ต้องไปไกลกว่าแค่ Strategic Partner แต่ต้องเรียนรู้วิธีการแบบ Startup ไม่ว่าจะเป็นการ Fail Fast-Move Fast, การค้นหาโจทย์และปัญหา, การทำ Product Market Fit สุดท้ายแล้ว การเรียนรู้ Culture เหล่านี้และนำมาใช้ในองค์กรได้สำเร็จจึงจะเป็นการลงทุนใน Startup ที่คุ้มค่าที่สุด

อีกด้านหนึ่ง Startup หลายรายยังขาดประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับ Corporate โดยเฉพาะกลุ่ม Founder ที่ไม่ได้ผ่านการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ยิ่งปัจจุบันที่ Startup เปลี่ยนรูปแบบมาทำธุรกิจแบบ B2B ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจในองค์กรธุรกิจอย่างมาก ถือเป็นความท้าทายของ Ecosystem ไม่น้อย ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า Founder ของ B2B Startup ที่ประสบความสำเร็จมักมีประสบการณ์ทำงานใน Corporate มาอย่างยาวนาน การผลักดันคนที่มีความสามารถเฉพาะด้านและมีประสบการณ์ในองค์กรมาทำ Startup หรือมีส่วนร่วมกับ Startup ก็อาจช่วยให้การ Partnership เป็นไปอย่างดีได้

อีกประเด็นที่เป็นเทรนด์ด้านวัฒนธรรมองค์กรในปี 2019 คือการดึงดูดบุคลากรหรือ Talent Acquisition ของทั้ง Corporate และ Startup ที่สุดท้ายแล้ว ทั้ง 2 ต่างต้องตอบสนองความต้องการของ Talent อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน Corporate เองหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ยืดหยุ่นขึ้น ส่วน Startup เองก็มีการเสริมสวัสดิการและการสนับสนุนต่างๆ โดยยังคงความยืดหยุ่นไว้ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล จึงส่งให้นวัตกรรมด้านนี้มาแรงในปี 2019 ทีเดียว

ส่วนร่วมของภาครัฐใน Startup Ecosystem ไทย

ภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญของการสนับสนุน Startup Ecosystem ซึ่งในปี 2019 หน่วยงานรัฐหลายรายยังคงทำหน้าที่ในวาระของตนได้เป็นอย่างดี โดยรวมแล้วยังถือเป็น Facilitator ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใหม่ๆ อันเกี่ยวกับโครงสร้างในธุรกิจเทคโนโลยีที่มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการให้เงินแบบ Bridge Financing ของ depa เป็นมูลค่ารวม 71 ล้านบาท (ประมาณ 2.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แก่ Startup 15 ราย ช่วยให้ Startup กลุ่มดังกล่าวที่มีศักยภาพเติบโตยังอยู่ในตลาดได้อย่างแข็งแรง

ภาครัฐยังมีพื้นที่ที่ยกระดับได้ในส่วนของนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกฎหมายการประกอบธุรกิจที่ไม่เอื้อให้ Startup เติบโตได้ การทำงานบางอย่างของภาครัฐทับซ้อนกับงานของเอกชน ซึ่งเป็นการบั่นทอนการเติบโตของเอกชนโดยตรง สวนทางกับความต้องการเชิงเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้ธุรกิจเอกชน รวมถึง Startup เติบโตอย่างมั่นคง

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นอุปสรรคคือรูปแบบการทำงานของภาครัฐในการสนับสนุน Startup ที่แยกกันสนับสนุน ไม่ได้บูรณาการหรือเกิดการร่วมมือกันเท่าที่ควร รวมถึงการทำงานที่ช้าจากระบบโครงสร้างที่แข็งเกินไป โดยมองว่าหากภาครัฐมองเรื่องการสนับสนุน Startup เป็นวาระสำคัญ การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานและเพิ่มความยืดหยุ่นระหว่างโครงสร้างเพื่อให้เกิดความรวดเร็วน่าจะช่วยให้การสนับสนุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภาครัฐสามารถสนับสนุน Startup ได้ 2 ทางด้วยกัน ได้แก่ ผลักดันให้ Startup ไทย มี Traction จากการใช้งาน Service, Product และ Solution ภายในประเทศ ไม่ว่าจะโดยหน่วยงานรัฐเองหรือการสนับสนุนเชิงนโยบาย อีกทางหนึ่งคือการลดความเสี่ยงเชิงมาตรการ เช่น การแก้กฎหมาย การออกโครงการสนับสนุนในจุดที่เอกชนต้องเสียบางอย่าง หากภาครัฐสามารถให้ความเท่าเทียมกับสิ่งที่ต่างชาติทำในประเทศไทยจะช่วยให้คนไทยมีโอกาสในสิ่งที่ต่างชาติทำอยู่แล้วมากขึ้น เป็นทางเลือกให้ทั้งกับคนไทยและรัฐบาลเอง อย่างเช่น การอนุมัติกฎหมาย Ride-Hailing ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2020 (อ่านข่าวนี้ได้ที่นี่) และ Online Service อื่นๆ ที่ยังอ่อนไหวก็จะเปิดทางให้คนไทยเป็นนักพัฒนา Platform ดังกล่าวแก่คนไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำเหมือนเอกชน การพยายามทำสิ่งที่ซ้ำกับเอกชนเป็นการบั่นทอนเงินและกำลังสนับสนุนของภาครัฐที่ลงมาสนับสนุนเสียเอง

อ่านข่าว TTSA ยื่นเรื่องให้ภาครัฐสนับสนุน Startup ไทยอย่างแท้จริง ไม่ทำเอง ไม่ทำแข่ง แข่งขันอย่างเท่าเทียม

ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวหลักที่เราคัดมาเพื่อผู้อ่าน Techsauce ให้ได้รับทราบอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วงปีใหม่นี้ ท่านที่ต้องการรายละเอียดและข้อมูลเชิงลึกยิ่งกว่านี้ เตรียมพบกับ Thailand Tech Startup Ecosystem Report 2019 รายงานตัวเลขประจำปีพร้อมด้วย Insight สำคัญจาก 11 บุคคลชั้นนำของ Startup Ecosystem เมืองไทย พร้อมด้วยคำแนะนำจาก Co-Founder ของ Techsauce

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...