TTSA ยื่นเรื่องให้ภาครัฐสนับสนุน Startup ไทยอย่างแท้จริง ไม่ทำเอง ไม่ทำแข่ง แข่งขันอย่างเท่าเทียม | Techsauce

TTSA ยื่นเรื่องให้ภาครัฐสนับสนุน Startup ไทยอย่างแท้จริง ไม่ทำเอง ไม่ทำแข่ง แข่งขันอย่างเท่าเทียม

แม้ว่าประเทศไทยจะพูดถึง Thailand 4.0 หรือยุคที่ประเทศขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมกันมาตลอดในช่วงหลายปีมานี้ แต่ฟันเฟืองสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับประเทศอย่าง Startup กลับไม่ได้รับการสนับสนุนให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างเท่าเทียม สมาคม Thailand Tech Startup หรือ TTSA จึงได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส เพื่อชี้แจงข้อเรียกร้อง และเสนอนโยบายให้ภาครัฐสนับสนุน Startup ไทยอย่างแท้จริง

สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันนโยบายการสนับสนุน Startup ไทย ไม่ตอบโจทย์การเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยี ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ Startup ไทย ไม่สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างชาติภายในประเทศได้ โดยทรัพยากรด้านข้อมูล (data) ของคนไทยยังรั่วไหล ซึ่วข้อมูลเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าต่อภาครัฐและเอกชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงได้หารือร่วมกับ Startup ไทย และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริม Startup ไทย เพื่อป้องกันเอกราชทางดิจิทัลของไทยเป็นการเร่งด่วน

3 ประเด็นปัญหาหลักของ Startup ที่ TTSA ชี้แจ้ง

  1. การเสียภาษีอย่างไม่เป็นธรรม และการเสียอธิปไตยด้านข้อมูล

  2. การลงทุนใน Startup ที่ยังไม่เกิดยูนิคอร์น และบริษัทส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน Startup แต่สร้าง Product เอง และสนับการลงทุนในต่างประเทศ

  3. ตัวอย่างจากต่างประเทศเช่น อินโดนีเซีย ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างแท้จริง

เสียภาษีอย่างไม่เป็นธรรม Startup ต้องแข่งขันกับต่างชาติอย่างเท่าเทียม

สมาคมฯ ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างชาติได้เติบโตในประเทศไทยอย่างมาก และแพลตฟอร์มดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น Facebook , Google , LINE , Grab , Alibaba กลับไม่เสียภาษี ต่างจากแพลตฟอร์มของ Startup ไทยที่เสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นไม่เท่าเทียม รวมทั้งปัจจุบันการที่แพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างเฟื่องฟู ยังได้เก็บสินทรัพย์ที่มีค่าจากคนไทยไป คืออำนาจอธิปไตยทางข้อมูล

ภาพจากสมาคม Thailand Tech Startup

การลงทุนใน Startup เมื่อประเทศไทยยังไม่มียูนิคอร์น

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มี Startup ระดับยูนิคอร์น (ธุรกิจที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์) โดยด้านสมาคมฯ มองว่ายังมีช่องว่างในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือ Corporate ที่ไม่ลงทุนใน Startup ไทย แต่ใช้งานในการ Partner กับต่างชาติ ช่องว่างด้านกฏหมายที่ยังเป็นอุปสรรคและไม่ครอบคลุม รวมถึงผู้บริโภคไทยที่ยังมีค่านิยมใช้แบรนด์ต่างชาติ

ซึ่งภาครัฐยังไม่เข้าใจสิ่งที่สามารถสนับสนุน Startup ไทยได้อย่างแท้จริง ไม่เกิดการสร้างค่านิยมหรือส่วนช่วยให้คนไทยใช้แพลตฟอร์มของ Startup ไทย หรือสนับสนุนด้านการลงทุน เหมือนประเทศสิงคโปร์ที่ภาครัฐสนับสนุนกองทุนที่สนับสนุน Startup (Matching Fund)

ทั้งนี้สมาคมฯยังเปิดเผยว่า ยูนิคอร์นไม่ได้ชี้วัดว่า Startup ประสบความสำเร็จ แต่คือตัวชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศ

ตัวอย่างจากภาครัฐอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มี Startup ระดับยูนิคอร์นอยู่ 5 ราย ได้แก่ gojek , tokopedia , Bukalapak , Traveloka , OVO โดยแต่ละรายได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำการตลาด และผลักดันให้คนในประเทศใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว ปัจจุบันคนอินโดนีเซียจะใช้แบรนด์ของคนในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายผ่าน OVO , gopay  สั่งอาหารและเรียกรถโดยสารผ่าน gojek แม้แต่แบรนด์ e-commerce ก็ซื้อผ่าน tokopedia หรือจองตั๋วโรงแรมผ่าน Traveloka เป็นต้น

ภาพจากสมาคม Thailand Tech Startup

ซึ่งในทุกอุตสาหกรรมจะมีธุรกิจของคนอินโดนีเซียอยู่ ในขณะที่ประเทศไทยยังใช้แบรนด์ต่างชาติในแทบทุกอุตสาหกรรม มีเพียงธนาคารที่ยังเป็นของคนไทย อีกทั้งด้านสมาคมให้ความเห็นว่า 

รัฐบาลต้องไม่ทำเอง ไม่ทำแข่ง แต่สนับสนุน Startup ไทย เพื่อให้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ TSSA ได้เสนอนโยบายเพื่อให้เกิดการสนับสนุนและส่งเสริม Startup ไทยดังนี้

นโยบายกระตุ้นการใช้บริการ Startup ไทย (Revenue Boost)

ค่านิยมของคนไทย ยังนิยมใช้แบรนด์ระดับโลก ทำให้การประกอบกิจการในประเทศไทย โดยคนไทย เป็นไปได้ค่อนข้างยาก จึงมีข้อเสนอ นโยบาย “กินของไทย ใช้ของไทย” สำหรับ Startup ดังนี้

ชิม ช้อป ใช้ Startup : กระตุ้นให้เกิดการใช้การบริการของ Startup ไทย โดยมีนโยบายการประชาสัมพันธ์ที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนและประชาชนสามารถขอส่วนลดคืนในรูปแบบของเงินผ่านกระบวนการ ชิม ช้อป ใช้ หรือใกล้เคียงได้

1 กระทรวง 1 Startup : สนับสนุนให้ทุกกระทรวง มีนโยบายในการสนับสนุน Startup ไทย อย่างน้อยกระทรวงละ 1 โครงการ หรืออาจเป็นนโยบาย “หนึ่งหน่วยงาน หนึ่ง Startup” โดยทางสมาคมฯ มี Catalogue ที่สามารถทำการแนะนำ Startup ไทย ที่น่าจะเหมาะกับหน่วยงานให้ได้เบื้องต้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ รูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์อาจเป็นเชิงใช้บริการ Startup , พัฒนา Product/Service ร่วมกันเพื่อประชาชน ,Investment Deal

Matching Startup ไทย กับ บริษัทเอกชน : เอกชนควรมีส่วนร่วมในการสนันสนุนการเจริญเติบโตของ Startup และนวัตกรรมในประเทศไทย โดยรัฐบาลมีส่วนช่วยในการ Force Deal ให้เกิดขึ้นในรูปแบบใดก็ได้ เช่น Revenue หรือ Investment ผ่านนโยบายต่างๆ โดยอาจเป็นรูปแบบของ Facilitator ที่ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรม Business Matching ให้ และอาจมีแรงจูงใจ (Incentive) ให้แก่ผู้เข้าร่วม

Open API : การเปิด Open API Platform เพื่อให้ Startup ไทย สามารถใช้ Infrastructure นี้ ในการดำเนินธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาและเสียต้นทุนในการใช้ gateway platform อื่นๆ , ทำให้เงิน Flow ผ่าน Digital มากที่สุด , NDID ไม่ควรคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้ เพื่อให้ภาครัฐสามารถ Acquire ผู้ใช้งานได้เร็วและมากที่สุดโดยที่สามารถตรวจสอบได้ 

Startup SandBox : Innovation มักมาไม่พร้อมกับกฎหมาย และการอนุญาต Startup SandBox จะเน้นให้เกิดพื้นที่การทดลองนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นจริง เพื่อให้ Startup ไทยสามารถทดลอง และพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลกับข้อกฏหมาย (ค่อยๆ ทำการพัฒนากฏหมายตามมา)

Startup Matching Fund : รัฐสามารถกระตุ้นการลงทุน โดยสนับสนุนให้เกิด Matching Fund เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนจากนักลงทุนมืออาชีพ โดยไม่ต้องลงทุนเองโดยตรง อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมเฉพาะได้เป็นพิเศษ โดยจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยเฉพาะได้ เช่น กระตุ้น EdTech Startup ในอัตราการลงทุนแบบ Matching Fund 2:1 เป็นต้น

นโยบายเพิ่มข้อได้เปรียบในการทำการค้าสำหรับ Startup ไทย (TAX) 

1. กฎหมายภาษีที่เรียกเก็บภาษีจาก Service ต่างประเทศ และลดภาษีของ Startup Service ในประเทศเพื่อป้องกันตลาด

ตัวอย่าง: เก็บภาษี กับ Platform ต่างประเทศเช่น Alibaba และลดภาษีให้กับ Startup ไทยในเรื่องของ VAT (อาจดำเนินการผ่าน BOI) ถ้าไม่สามารถเก็บจาก platform ต่างประเทศได้ ก็ต้องงดเว้น Platform ของไทยเพื่อให้อัตราการแข่งขันเท่ากัน

2. ลดภาษีสำหรับ Startup ที่ดึงรายได้เข้าประเทศจากต่างประเทศได้

เพิ่มมาตรการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในการเปิดตลาดต่างประเทศเช่นการทำ Service ในการจด Trademark ในประเทศอื่นๆ ให้ หรือ กองทุนให้กู้ยืมในการไปจดทะเบียนในต่างประเทศ (บางประเทศ จะต้องมีเงินทุนเพื่อการเปิดบริษัทในกรณีที่เป็น บริษัทต่างชาติ)

นโยบายปลดล็อคทางกฏหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการสตาร์ทอัพ

สนับสนุนให้เกิดการนำข้อเสนอทางกฎหมายดังที่ได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ไปใช้จริง เช่น ESOP, Convertible Note, Capital Gain Tax Exemption และ Vesting 

สรุป

ในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ ทางสมาคมฯ รวมทั้งผู้ประกอบการ Startup ในประเทศไทยได้พยายามผลักดันมาตลอดตั้งแต่ในปี 2013 ซึ่งในเวลานั้น Startup ต่างชาติยังไม่เติบโตในไทยเหมือนทุกวันนี้ ครั้งนี้จึงเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้งของ Startup ไทย ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ทราบผลสรุปว่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ในรูปแบบใด แต่ในต่างประเทศเราได้เห็นตัวอย่างของการสนับสนุนของภาครัฐที่สามารถผลักดันประเทศให้มีนวัตกรรมของประเทศได้ ดังเช่นตัวอย่างของอินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลี ที่ปัจจุบันมี Startup ระดับยูนิคอร์นถึง 11 รายแล้ว 

ในประเทศไทย จะมียูนิคอร์นหรือไม่ Startup Ecosystem จะถูกผลักดันในทิศทางไหน ภาครัฐก็ยังคงเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่สามารถช่วยสนับสนุน และสร้างนวัตกรรมของประเทศให้เกิดขึ้นจริงได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดตัว Take It Down แพลตฟอร์มช่วยลบภาพ-วิดีโอ โป๊ เปลือย อนาจารในโลกออนไลน์ ใช้งานในไทยได้ฟรีวันนี้

Facebook ประเทศไทยจาก Meta ประกาศขยายโครงการ Take It Down ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้วัยรุ่น และเยาวชนสามารถเข้าถึง และยับยั้งการเผยแพร่รูปภาพส่วนตัวบนโลกออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเ...

Responsive image

โครงการลับ SpaceX กำลังสร้างดาวเทียมสอดแนม ให้หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ

SpaceX บริษัทผู้ผลิตจรวดและดาวเทียมของมหาเศรษฐี Elon Musk กำลังสร้างเครือข่ายดาวเทียมสอดแนมหลายร้อยดวง ให้กับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐ ภายใต้การทำสัญญาลับ...

Responsive image

CISCO เข้าซื้อ Splunk สำเร็จ พร้อมปกป้องและผลักดันการปฏิวัติ AI

ซิสโก้ (CISCO) ประกาศเข้าซื้อกิจการ Splunk เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งเป้ายกระดับโซลูชันด้านความปลอดภัยให้กับลูกค้า...