ถอดแนวคิดจากองค์กรชั้นนำ ต้นแบบความยั่งยืน สู่การปรับองค์กรให้ทันในวันโลกเปลี่ยน | Techsauce

ถอดแนวคิดจากองค์กรชั้นนำ ต้นแบบความยั่งยืน สู่การปรับองค์กรให้ทันในวันโลกเปลี่ยน

ผลกำไรอาจจะดูเป็นปัจจัยสำคัญของทุกธุรกิจมาอย่างยาวนาน แต่ในช่วงที่ผ่านมานี้ได้เริ่มมีหลายองค์กรที่เริ่มผันตัวเข้าสู่การมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่สร้างผลดีต่อโลก แต่ยังรวมไปถึงสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจอีกด้วย ซึ่งหลายๆ องค์กรและหลายๆ คนอาจจะพูดอยู่ว่า การทำธุรกิจให้มีความยั่งยืนคือเรื่องยาก แต่วันนี้เราจะมาสรุปแนวคิดและเนื้อหาในการสร้างความยั่งยืนที่น่าสนใจ จากงาน Global Business Dialogue 2019 ภายใต้หัวข้อ Designing New Growth model Towards Sustainability ครบทุกประเด็นและหลายกรณีศึกษาให้ได้ไปคิดต่อยอดกันต่อไป ว่าคุณพร้อมหรือยังกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต 

ฟินแลนด์ ต้นแบบแห่งความเป็น Green Country 

หากพูดถึงประเทศที่มีการผลักดันด้านความยั่งยืนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนั้นคงหนีไม่พ้น ฟินแลนด์ ประเทศต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำลังพยายามจะขยับขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของความเป็น Green Country 

โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก H.E. Mrs. Satu Suikkari-Kleven เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ที่มาพูดถึงการผลักดันเรื่องความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศฟินแลนด์ ในหัวข้อ Sustainable Finland, Ideas for the World

H.E. Mrs. Satu Suikkari-Kleven เผยว่า ประเทศฟินแลนด์ได้มุ่งเน้นถึงความยั่งยืนมามากกว่าหนึ่งทศวรรษ เราได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรโลกและสิ่งแวดล้อม แต่ในอีกด้านหนึ่งเราได้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่พากันตื่นตัวกับปัญหานี้ หากจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็พูดได้ว่าเราไม่มีเวลาที่มากพอ การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์แก่กันจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ 

Key Solution ของฟินแลนด์ในการผลักดันประเทศสู่ความยั่งยืน 

ที่ผ่านมาฟินแลนด์พยายามที่จะวางเป้าหมายที่ท้าทายไว้คือ จะเป็นประเทศที่ปล่อยค่าคาร์บอนที่เป็นกลาง (Carbon Neutrality) หรือปลอดคาร์บอนภายในปี 2035 โดยการวางเป้าหมายดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคม อีกทั้งมีการกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนสร้างนวัตกรรม พร้อมออกนโยบายด้านภาษีที่จะสนับสนุน Carbon Sink and Stock และผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน  (Circular Economy) 

ในส่วนของการวางแผน Finnish road map to a circular economy ได้มีการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วม ซึ่ง Sitra และ St1 Nirdic Oy จากฟินแลนด์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำโมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ไปใช้ต่อยอดและผลักดันโมเดลนี้ในประเทศ 

นอกจากนี้ยังมี พันธสัญญาทางสังคม 2050 (Commitment 2050) แพลตฟอร์มในการเผยแพร่ข้อมูลและเป้าหมายของพันธสัญญา ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการแห่งความยั่งยืน 

รู้จักสององค์กรต้นแบบความยั่งยืนจากฟินแลนด์ 

อีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญในการพัฒนาความยั่งยืนก็คือองค์กรเอกชน การสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้นคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่คนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน Sitra และ St1จากฟินแลนด์นับเป็นสององค์กรชั้นนำที่ร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงในประเทศ 

Mr. Ernesto Hartikainen, Leading Specialist, Sitra, Finland เล่าว่า Sitra เป็นกองทุนนวัตกรรมอิสระในฟินแลนด์ ที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนและลงทุนใน Startup และพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ อีกทั้งยังสนับสนุนสร้าง Road Map เศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติของฟินแลนด์  เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นโมเดลของธุรกิจในอนาคต เพราะมีข้อดีทั้งต่อสภาพแวดล้อมและเศรษฐิจในประเทศ เห็นได้จากเลขดัชนีทางเศรษฐกิจในฟินแลนด์ที่สูงถึง 2.5 พันล้านยูโร

Mr. Ernesto Hartikainen ยังได้เสริมว่าการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจหมุนเวียน องค์กรควรออกแบบสินค้าและบริการให้มีความยั่งยืน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้หรือเป็นขยะชีวภาพ รวมถึงการนำโมเดล Sharing Economy ไปปรับใช้  ในทุกวันนี้กระแสของเศรษฐกิจหมุนเวียนอาจยังไม่ได้รับการตอบรับมากนัก เนื่องจากต้นทุนที่สูง ในขณะที่สินค้าตามท้องตลาดมีราคาที่ถูกกว่าเนื่องจากไม่ได้รวมค่ากำจัดขยะ นี่จึงเป็นกระเด็นที่ควรมาคิดร่วมกัน ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร 

Mr.Patrick Pitkänen, Director of Biorefining Business Development and Production, St1 Nordic Oy พูดถึง St1 ว่าเป็นบริษัทพลังงานที่เน้นพัฒนาพลังงานที่ไม่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ และยังมุ่งมั่นที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในปัจจุบันได้ให้บริการในปั๊มเชลล์กว่า 1,300 แห่งในกลุ่มประเทศนอร์ดิก อีกทั้งวางเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการขายและผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ต่อมา Mr.Patrick Pitkänen ได้เล่าต่อในเรื่องการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่มีผลกับการบริโภคและใช้ทรัพยากรที่สูงขึ้น โดยนี่นับเป็นหนึ่งในความท้าทายของธุรกิจพลังงาน เนื่องจากโดยปกติแล้วธุรกิจพลังงานจะมีการใช้พลังงานฟอสซิลในปริมาณที่สูงมาก แต่ St1 กำลังจะก้าวผ่านวิธีการแบบเดิมๆ มาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนโดยไม่ใช้ฟอสซิล หรือใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุด ที่ผ่านมา St1 เป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนสู่ตลาดโลก เช่น พลังงานชีวภาพ พลังงานลม พลังงานจากขยะ และพลังงานความร้อนจากพื้นพิภพ  ทั้งนี้ก็เพื่อลดปริมาณการกลั่นน้ำมันจากพลังงานฟอสซิลลงเรื่อยๆ

อีกทั้งยังมองว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย ควรมีการวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนจากภาคธุรกิจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม เพื่อนำไปสร้างนโยบายระยะยาวที่จะผสานเข้าไปในกระบวนการทำงาน ที่ผ่านมา St1 มีการลงทุนที่ต่อเนื่องในพลังงานรูปแบบใหม่ๆ เป็นเวลากว่าสิบปี ซึ่งมีหน่วยงานรัฐที่คอยสนับสนุนในการสร้างและขับเคลื่อนนวัตกรรม 

เขายังเสริมตอนท้ายว่ารัฐบาลควรมีบทบาทในการสร้างแรงจูงใจและบทลงโทษกับภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น การที่รัฐบาลฟินแลนด์ที่ออกมาตราการลดภาษีให้กับบริษัทที่ใช้พลังงานลม ซึ่งจากมาตราการนี้ทำให้ St1 ลงทุนในการสร้างฟาร์มกังหันลม (Wind Park) ในทางตอนเหนือของนอร์เวย์ช่วง 2 ปีก่อน นอกจากนี้ยังควร Think Global, Act Local ยกตัวอย่างคือ การที่ St1 นำขยะจากชุมชนใกล้ๆ มาแปรสภาพเป็นพลังงาน 

ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่รวมไปถึงการพัฒนาคนและองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

หลายคนอาจจะคิดว่าการพัฒนาองค์กรในด้านความยั่งยืน คือการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่อีกปัจจัยที่สำคัญก็คือการสร้างความเท่าเทียมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานองค์กรให้ดีขึ้นด้วย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คืออีกองค์กรที่ให้ความสำคัญในหลากหลายมุมของการพัฒนาความยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิของแรงงาน คุณปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน จาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้มาเล่าในประเด็น Sustainability at the Heart of Business Strategy โดยเน้นย้ำไปที่เรื่องของสิทธิมนุษยชนและการรักษาทรัพยากรทางทะเล พร้อมเผยวิธีการบริหารและสื่อสารภายในองค์กรที่มีการให้คุณค่าเรื่องความเท่าเทียมและกำหนดขอบเขตหน้าที่งานพร้อมสิทธิที่ควรได้รับอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับผู้บริโภคถึงการสร้างความเข้าใจในการบริโภคสินค้าทางทะเล โดยผู้บริโภคสามารทำการตรวจสอบแหล่งที่มาของปลา และเรือประมงได้ อีกทั้งลงทุนในด้านความยั่งยืนและพัฒนายกระดับเรือประมงให้เข้าสู่เกณฑ์มาตราฐานสากล พร้อมสร้างนวัตกรรมในการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือชาวประมงให้สามารถติดต่อสื่อสารกับฝั่งครอบครัวเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว และตรวจสอบความปลอดภัยได้ตลอดเวลา 

บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่คู่ไทย หรือที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ ปตท. ก็ได้ให้ความสนใจในประเด็นความยั่งยืนเช่นกัน ครั้งนี้มี คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)​ ที่มาร่วมแบ่งปันข้อมูลในประเด็น Circular Economy ในหัวข้อ Enhancing Environmental Consciousness in Business Process คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช เล่าว่า ปตท. ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความสามารถ และความยั่งยืนในธุรกิจ โดยมีการเริ่มต้นตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้กำหนดกลยุทธ์เกี่ยวกับการดำเนินงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เรียกว่า “Circular Living” และมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ 20% และเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 30% พร้อมเพิ่มอัตราส่วนของการรีไซเคิลเป็น 20% จากทั้งหมด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนและสร้างความร่วมมือในการผลักดันเกิดการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ต่อด้วยหัวข้อ Planting the Seed of Sustainability Mindset โดย Mr. Deepak Parikh, Chief Strategy Officer, Indorama Ventures Public Company Limited บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านเคมิคอลชั้นนำของโลก ในส่วนของ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ ในองค์กรนั้นได้มีการให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ 

  • คน (People) คนถือเป็นกุญแจสำคัญขององค์กรในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จ ทางบริษัทจึงสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายทางเพศ อายุ เชื้อชาติ ซึ่งนี่ทำให้มีความเห็นที่หลากหลายในการทำงาน พร้อมมุมมองใหม่ๆ จากพนักงานเสมอ 
  • สิ่งแวดล้อม (Planet) บริษัทมีการกำหนดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดปริมาณการใช้พลังงาน รวมถึงเพิ่มการรีไซเคิลให้มากขึ้นในองค์กร
  • ความมั่นคง (Prosperity) บริษัทมีการสร้างพันธมิตร ในการสร้างความยั่งยืนเสมอ พร้อมวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างรากฐานที่ดีต่อไปในอนาคต

ถกประเด็น เทคโนโลยี นวัตกรรม และความยั่งยืน กับผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าของวงการ

แน่นอนว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมคงเป็นเรื่องที่องค์กรในยุคดิจิทัลหลีกหนีไม่พ้น แต่จะนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้อย่างไร เหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กรจะมาร่วมแบ่งปันความเห็นและประสบการณ์ให้ฟังในหัวข้อ The Perfect Marriage of Technology, Innovation, and Sustainability โดยมี คุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี พลาสติก ในเอสซีจี เคมิคอลส์ คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน  และ คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมการเสวนา โดยมี คุณกุลวัลย์ สุพีสุนทร ผู้จัดการด้าน Sustainability และ Climate Change บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ เผยว่า SCG ให้ความสำคัญในการดูแลสภาพแวดล้อมมาอย่างยาวนาน และมองว่าองค์กรต้องพร้อมปรับตัวต่อยุคสมัย เปิดกว้างสำหรับความเห็น ในขณะเดียวกันต้องหนักแน่นและมั่นคง อีกทั้งควรมีวิสัยทัศน์ เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

ด้านคุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช จาก บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น เล่าว่าบริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาเสมออย่างเช่น การที่ปั๊มน้ำมันของบางจากล้วนมาจากแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทางบางจากจึงต้องคอยหานวัตกรรมและวิธีการใหม่ๆ ตลอดเวลา ด้านการทำงานในองค์กรมีความเห็นว่าองค์กรควรปลูกฝังให้พนักงานมีความสร้างสรรค์ในการค้นหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรม ควรมีการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกันได้ภายในองค์กับทุกคน เช่นเดียวกันผู้บริหารก็ควรเปิดกว้าง รับฟังความเห็น และยอมทำงานที่เป็น Routine มากกว่าคนในทีม เพื่อส่งเสริมพนักงานในการออกไปทำสิ่งอื่นๆ พร้อมผลักดันให้องค์กรเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของทุกคน 

คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล จาก บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ พูดถึง บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ ว่า ด้วยขนาดที่เล็กขององค์หากเทียบกับตลาดที่มีการแข่งขันสูงแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรและความชัดเจนทางนโยบายถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้นการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในองค์กรก็จำเป็นเช่นกัน และบริษัทต้องพร้อมปรับตัวให้ทันโลกอยู่ตลอดเวลา

มองโลกแบบ Moonshot thinking ย้อนกลับสู่ต้นเหตุของปัญหาและวางโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืนให้กับโลก

อีกหนึ่งหัวข้อสุดท้ายของงานโดย Mr. Marc Buckley, Official UN SDG Advocate, UN Resilient Futurist, Member of Expert Network for the WEF, and Founder of ALOHAS Resilience Foundation, Germany ในหัวข้อ Sustainability as Competitive Advantage ที่พาทุกคนไปมองในมุมใหม่ ผ่านแนวคิด Moonshot thinking (กรอบแนวคิดแบบสุดขั้ว) ที่ชวนเราย้อนกลับไปที่ต้นกำเนิดและจินตนาการว่าเราเป็นเพียงแค่ “ละอองดาว” บนจักรวาลกว้างใหญ่นี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นบนโลกคือเรื่องที่สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมนุษย์เองก็คือผู้สร้างวิกฤตต่างๆ ขึ้นมา การพยายามจะเป็นผู้ควบคุมระบบทั้งหมดของจักรวาลนำพาเราไปสู่ปัญหาของโลก ดังนั้นเราจึงควรปรับแนวคิดใหม่ ย้อนไปที่การเก็บเอาขยะหรือของเสียที่เราทิ้งมาใช้ใหม่ ซึ่งนี่นำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ควรได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง เราควรรีบแก้ไขปัญหาเพื่อให้สภาพแวดล้อมกลับคืนมา ซึ่งการแก้ไขนี้ควรมีการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืน โดยใช้เงินทุนโดยประมาณ 90 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 15 ปี หรือประมาณ 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีคาร์บอนต่ำ ซึ่งการลงทุนดังกล่าว จะสามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่มีมูลค่าประมาณ 12 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี  

ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่สำคัญจากงาน Global Business Dialogue 2019 ภายใต้หัวข้อ Designing New Growth model Towards Sustainability เราได้เห็นว่าการทำธุรกิจให้มีความยั่งยืนนั้นต้องประกอบไปด้วยหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทั้งภายในและภายนอกขององค์กร รวมไปถึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการร่วมกันผลักดันนโยบายและมาตราการต่างๆ อีกทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างตรงจุด และควรมีการสร้างความตระหนักรู้ถึงวิกฤตของโลก เพื่อช่วยส่งเสริมให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างแท้จริง 

 

บทความนี้เป็น Advertorial

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...