เปิดผลวิจัย 7 ปัญหา SME ต้องเร่งแก้ไขเพื่อ “รอดตาย” และ “ไปให้ถึงฝัน” | Techsauce

เปิดผลวิจัย 7 ปัญหา SME ต้องเร่งแก้ไขเพื่อ “รอดตาย” และ “ไปให้ถึงฝัน”

ธุรกิจของคุณเคยประสบปัญหาเหล่านี้บ้างไหม ใช้เงินกู้ผิดประเภททำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง, ไม่แยกกระเป๋าส่วนตัวกับกระเป๋าธุรกิจ, ไม่ใช่เจ้าของบริษัททำแทนไม่ได้, ขายดีแต่ไม่มีกำไร, ไม่มีเวลาคิดอะไรใหม่ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจ

ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี ในจำนวนทั้งหมดนี้มีเพียง 50% ที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ 10% ต้องปิดกิจการไปในที่สุด นี่คือตัวเลขเชิงสถิติที่อ้างอิงมากจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยสำหรับกลุ่มคนทำธุรกิจ เป็นหลักฐานยืนยันว่าธุรกิจส่วนใหญ่ประสบปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไปต่อไม่ได้ แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นความพยายามในการศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหากันอย่างเป็นรูปแบบจริงจัง

TMB ได้เปิดผลวิจัย Insights ของธุรกิจ SME จากผลวิจัยที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็น SME ไทยทั่วประเทศที่มีขนาดรายได้เฉลี่ย 1 - 50 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่มีโครงสร้างและแผนการจัดการที่ชัดเจนนัก คละประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม สรุปปัจจัยหลัก 7 ประการซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ SME ไทยอยู่รอดไปจนถึงเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ได้ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนและสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที

ปัญหาที่ 1 “ไม่วางแผนการใช้เงินทุน”

“เงินทุน” คือหนึ่งในปัจจัยหลักในการริเริ่มธุรกิจให้เป็นรูปธรรม ซึ่งแหล่งที่จะได้มาซึ่งเงินทุนก็มีหลากหลาย แต่จากผลสำรวจพบว่า 84% ของ SME ใช้เงินเก็บทั้งชีวิตในการลงทุนโดยปราศจากการวางแผนการดำรงชีพของครอบครัว และ 27% ของ SME ใช้เงินกู้เอนกประสงค์ / บัตรเครดิต ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายแต่ดอกเบี้ยแพงเกินไป เป็นแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจที่ผิดประเภท มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง อีกทั้งในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แผนการใช้เงินทุนต้องมีความยืดหยุ่นและละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม การทุ่มใช้เงินทุนจำนวนมากโดยที่ไม่คำนึงถึงสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลาทำให้ SME จำนวนมากใช้ทุนไปมากโดยได้ผลตอบแทนไม่เท่าที่ควร

วิธีแก้ปัญหา

  1. เริ่มจากเล็กไปใหญ่ เราสามารถถอดบทเรียนจากเทรนด์ของ startup ที่เริ่มต้นทำจากสิ่งเล็กๆ เพื่อทดลองกับตลาดก่อนว่ามีผลตอบรับอย่างไร เมื่อได้ผลตอบรับแล้วก็จะได้นำมาปรับแก้ไขปัญหาให้แน่ใจก่อนที่จะทุ่มเข้าสู่ตลาดเต็มตัวมากขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงในการสูญเสียเงินทุนไปอย่างไม่คุ้มค่าที่ดีมากๆ
  2. ใช้เงินทุนที่เหมาะสม หากใช้ทุนจากเงินเก็บส่วนตัวหรือครอบครัว ควรที่จะสำรองเผื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินภายในครอบครัวไว้ประมาณ 6 เดือน เนื่องจากช่วงเริ่มต้นธุรกิจมีความไม่แน่นอนอยู่สูง หรือนำไอเดียที่เรามีไปทำการระดมทุน ขอทุน หาผู้ร่วมทุน และหากต้องเลือกใช้สินเชื่อก็ควรเลือกเงินกู้สำหรับธุรกิจให้ถูกประเภท
  3. เดินบัญชีอย่างมีวินัยและต่อเนื่อง เพื่อที่จะมองให้เห็นตลอดเวลาว่าธุรกิจมีเงินเหลือเท่าไหร่ และจะวางแผนใช้เงินลงทุนกับปัจจัยใดบ้าง การเดินบัญชีอย่างเป็นวินัยจะเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการเงินทุนอย่างชาญฉลาด

ปัญหาที่ 2 “ทำธุรกิจโดยไม่มี Business Plan”

กว่า 72% ของ SME ไทย ไม่ใช้แผนธุรกิจในการดำเนินธุรกิจ ต่อให้ลงมือเขียนแผนไว้แล้วบ้างก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายวันไปเรื่อยๆ เปิดช่องว่างให้สามารถเกิดปัญหาจากตัวแปรต่างๆ จนสามารถทำให้ธุรกิจสะดุดได้ง่าย รวมถึงการมองไม่เห็นภาพใหญ่ของธุรกิจอย่างครอบคลุม ทำให้ขาดการดำเนินแผนการที่ต่อเนื่องอันจะนำไปสู่การเติบโตไปข้างหน้าของธุรกิจในระยะยาว

วิธีแก้ปัญหา

  1. เรียนรู้การเขียนแผนธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ปัจจุบันมีคอร์สออนไลน์แนะนำวิธีการจัดทำ Business Plan อยู่มาก
  2. ลองใช้ตัวช่วยทำแผนธุรกิจ เช่นแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ช่วยทำฟอร์แมต Business Plan ออกมาได้อย่างง่ายดาย

ปัญหาที่ 3 “ไม่แยกกระเป๋าธุรกิจกับกระเป๋าส่วนตัว”

67% ของ SME มีพฤติกรรมที่ทำให้เงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวปนกัน ซึ่งสำหรับพฤติกรรมที่ทำให้เงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวปนกันนั้นมีสาเหตุจากการแยกเงินส่วนตัวกับธุรกิจไม่ขาด 30% และ 29% ไม่เคยตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง

ข้อเสียของการไม่แยกกระเป๋าธุรกิจกับกระเป๋าส่วนตัวคือการที่ไม่มีความน่าเชื่อถือสำหรับธนาคาร ทำให้การวางแผนการใช้เงินในธุรกิจมีโอกาสสะดุดได้ และไม่สามารถรู้ได้ว่าเอาเข้าจริงแล้วธุรกิจมีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่

วิธีแก้ปัญหา

  1. จัดการแยกกระเป๋าธุรกิจกับเงินส่วนตัวออกจากกัน เป็นหนึ่งในการเริ่มแก้ปัญหาที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด สิ่งสำคัญคือตัวเจ้าของธุรกิจที่ต้องทั้งเปิดใจและมีวินัยที่มากพอ ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง จะทำให้การแยกกระเป๋าเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ประโยชน์อีกอย่างคือช่วยในการหาต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจ
  2. ทำบัญชีอย่างเป็นระบบ หลังจากแยกเงินส่วนตัวออกจากธุรกิจแล้ว ก็จะช่วยให้การทำบัญชีอย่างเป็นระบบเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งการทำบัญชีอย่างเป็นระบบก็จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขที่ชัดเจน ส่งผลดีต่อการจัดการบริหารเงินทุน และเป็นความน่าเชื่อถือของบริษัทเองด้วย

ปัญหาที่ 4 “ขายดีแต่ไม่มีกำไร”

อุปสรรคสำคัญอีกอย่างที่เกิดจากตัวเจ้าของธุรกิจเองคือการใช้ความรู้สึกค่อนข้างมาก ขาดการคิดคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วน หลายครั้งรู้สึกว่าธุรกิจกำลังดำเนินไปได้ดีแต่เอาเข้าจริงไม่เป็นไปอย่างที่คิด ขายดีแต่กลับไม่มีกำไรมากอย่างที่ควรจะเป็น ปัญหานี้หลักๆ แล้วมันคือเรื่องของการตั้งราคาโดยที่ขาดการคำนวณ “ต้นทุนที่แท้จริง”

วิธีแก้ปัญหา

“หาต้นทุนที่แท้จริง” ก่อน ต้นทุนที่แท้จริง ประกอบไปด้วย “ต้นทุนทางตรง” และ “ต้นทุนทางอ้อม”

ต้นทุนทางตรง คือต้นทุนจำพวก ค่าวัตถุดิบ, ค่าเครื่องจักร, ค่า packaging, เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น ต้นทุนทางอ้อม คือต้นทุนจำพวก ค่าเช่าสำนักงาน, ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักร, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าอุปกรณ์สำนักงาน, เงินเดือนผู้บริหาร เป็นต้น

เมื่อนำต้นทุนทั้งสองแบบมารวมกันจึงจะได้ต้นทุนที่แท้จริงเพื่อนำไปคำนวนหากำไรที่แท้จริง

ปัญหาที่ 5 “ไม่มีเวลาให้กับการตลาดเพื่อสร้างความแตกต่าง”

“การสร้างความแตกต่าง” เป็นหนึ่งในจุดอ่อนของ SME ไทย ซึ่งจากสถิติของการวิจัยนี้ก็ช่วยยืนยันข้อสังเกตนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะกว่า 87% ของ SME ใช้เวลาไปกับงาน operation เพื่อรันธุรกิจแบบวันต่อวัน และมีเพียง 13%ของ SME ที่ให้เวลาให้กับ “การตลาด” ซึ่งความสำคัญหลักๆ ของการตลาดคือการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง การคิดหาสิ่งใหม่ๆ มาปรับปรุงให้สินค้าและบริการมีจุดเด่นที่แข็งแรง ความสำคัญของงาน operation เปรียบเหมือนการก้มหน้ามองดินซึ่งเป็นสิ่งตรงหน้าที่ต้องทำทุกวันให้วงล้อธุรกิจหมุนต่อเนื่อง แต่หากไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่าง ก็เหมือนกับการไม่เงยหน้ามองฟ้าเสียบ้าง จะทำให้ขาดศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว

วิธีแก้ปัญหา

  1. จัดเรียงลำดับความสำคัญใหม่ หาเครื่องทุ่นแรงต่างๆ มาช่วยในกระบวนการ Operation ในยุคดิจิทัลมีเครื่องมือที่ทำมาเพื่อช่วยในการจัดการจัดการธุรกิจ ที่นอกจากทุกอย่างจะเป็นระบบมากขึ้น ยังช่วยทุ่นแรงทุ่นเวลาได้มาก ทำให้ SME มีเวลาไปโฟกัสในด้านอื่นๆ ที่สำคัญ
  2. หาความรู้ทางการตลาดเพิ่มเติม จาก Online Guru หรือไปร่วมสัมนาการตลาดซึ่งมีทั้งแบบฟรีและคอร์สเรียนแบบมีค่าใช้จ่าย เพื่อจะเพิ่มพูนความรู้มุมมอง และปรับวิสัยทัศน์ให้เห็นอนาคตของธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น

ปัญหาที่ 6 “แบกทุกอย่างไว้บนบ่า ไม่มีตัวตายตัวแทน”

สำหรับ SME ที่ไม่ได้มีทุนในการจ้างบุคลากรที่มีทักษะ ประสบการณ์ และความเป็นมืออาชีพในการทำงานสูงมากนัก ปัญหาหนักใจสำหรับตัวเจ้าของธุรกิจคือการวางภาระไม่ลง ฝากงานไว้กับใครไม่ค่อยได้ เชื่อว่าตัวเองต้องลงมือทำทุกอย่างเอง ไม่อย่างนั้นยอดขายจะตก ธุรกิจจะสะดุด ปัญหาของการแบกทุกอย่างไว้กับตัวคือตัวเจ้าของเองจะเหนื่อยตลอดเวลา ไม่มีเวลาสำหรับอย่างอื่น และความเสี่ยงก็มีอยู่มากเช่นหากตัวเจ้าของเองเกิดติดกิจธุระสำคัญ หรือเกิดเจ็บป่วย ธุรกิจที่พึ่งพาตัวเจ้าของมากเกินไปแทนที่จะพึ่งพาระบบทีมที่เข้มแข็งจะติดขัด และสะดุดได้ง่ายในวันที่เกิดปัจจัยที่คาดไม่ถึงเข้ามาแทรกซ้อน

วิธีแก้ปัญหา

  1. เรียนรู้การสร้างทีมอย่างเป็นระบบ ให้โอกาส วางแผนพัฒนาคน เจ้าของกิจการต้องพัฒนาจุดแข็งด้าน Soft Skills คือทักษะในการสื่อสาร โน้มน้าวใจคน ทักษะความเป็นผู้นำ เป็นต้น เพื่อดึงเอาศักยภาพที่เป็นจุดแข็งของพนักงานในทีม หรือ Hard Skills ของทุกคนออกมาสร้างทีมที่เข้มแข็ง ผสานกันเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ
  2. ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารงาน เช่นเทคโนโลยี ‘AI’ ที่กำลังเข้ามามีบทบาทช่วยให้สามารถจัดการบริหารงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความสามารถสำคัญของ AI คือพลังในการประมวลผลที่ทำได้เร็วและแม่นยำกว่าคนหลายเท่า หากใช้เป็น AI จะเข้ามายกระดับคุณภาพงานของธุรกิจ และศักยภาพของพนักงานไปอีกขั้น

ปัญหาที่ 7 “กลัวความเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมรับสิ่งใหม่”

นี่อาจจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด เป็นได้ทั้ง “จุดตาย” และ “จุดเปลี่ยน” เราปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน และไม่มีใครหนีพ้นความเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ตามสถิติงานวิจัยแล้ว SME กว่า 38% ยังไม่พร้อมรับสิ่งใหม่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 19% ที่กลัวว่าการเริ่มสิ่งใหม่จะมีปัญหาตามมา 14% ไม่มีเวลาหาข้อมูลเพื่อคิดสิ่งใหม่ๆ และ 5% มองว่าแค่สิ่งที่ทำอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่เป็น traditional มากกว่า SME รุ่นใหม่ ซึ่งกระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลที่จะ disrupt ทุกธุรกิจไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในเร็ววันนี้ ทำให้ใครที่ไม่ปรับตัวจะอยู่รอดได้ยากอย่างแน่นอน

วิธีแก้ปัญหา

  1. เดินงานแฟร์ต่างๆ เพื่ออัพเดทเทรนด์ธุรกิจ เปิดมุมมองใหม่ๆ เพื่อดูโลกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน หรือธุรกิจอื่นๆ ที่จะนำมาต่อยอดได้
  2. ใช้บริการที่ปรึกษาธุรกิจ ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีหน่วยงาน และกลุ่มต่างๆ ที่คอยซัพพอร์ตด้านความรู้เพื่อ SME อยู่เยอะมาก การเข้าหาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเหล่านี้เป็นเหมือนทางลัดที่ช่วยให้เห็นมุมมองที่จำเป็นได้เร็วขึ้นโดยที่ไม่เสียเวลาลองผิดลองถูกเอง
  3. เข้ากลุ่มกับ SME ธุรกิจเดียวกัน สร้างเครือข่ายที่แชร์ความรู้ แลกเปลี่ยนคอนเนคชั่น ช่วยกันสร้าง ecosystem ทางธุรกิจที่ดีเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

จะเห็นได้ว่าโดยรวมแล้วการจะระบุปัญหา และการแก้ไขปัญหาสำหรับ SME ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนไปเสียหมด มีทั้งการแก้ปัญหาที่ทำได้โดยง่ายเช่นการแยกกระเป๋าส่วนตัวออกจากธุรกิจ หรือใช้เครื่องมือง่ายๆ มาช่วยในการบริหารจัดการ บางปัญหาก็ต้องสั่งสมประสบการณ์ และเพิ่มพูนความรู้ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อที่จะมองเห็นโอกาสจากปัญหาเหล่านั้นได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ mindset ที่รับรู้ปัญหาตามสภาพที่เป็นจริง และเปิดรับการเปลี่ยนแปลง กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ และตระหนักว่าในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนทุกธุรกิจไปอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องปรับตัวใหม่เพื่อ “รอดตาย” และสามารถ “ไปให้ถึงฝัน” ที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้

บทความนี้เป็น Advertorial

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...