เปิดผลวิจัย 7 ปัญหา SME ต้องเร่งแก้ไขเพื่อ “รอดตาย” และ “ไปให้ถึงฝัน” | Techsauce

เปิดผลวิจัย 7 ปัญหา SME ต้องเร่งแก้ไขเพื่อ “รอดตาย” และ “ไปให้ถึงฝัน”

ธุรกิจของคุณเคยประสบปัญหาเหล่านี้บ้างไหม ใช้เงินกู้ผิดประเภททำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง, ไม่แยกกระเป๋าส่วนตัวกับกระเป๋าธุรกิจ, ไม่ใช่เจ้าของบริษัททำแทนไม่ได้, ขายดีแต่ไม่มีกำไร, ไม่มีเวลาคิดอะไรใหม่ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจ

ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี ในจำนวนทั้งหมดนี้มีเพียง 50% ที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ 10% ต้องปิดกิจการไปในที่สุด นี่คือตัวเลขเชิงสถิติที่อ้างอิงมากจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยสำหรับกลุ่มคนทำธุรกิจ เป็นหลักฐานยืนยันว่าธุรกิจส่วนใหญ่ประสบปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไปต่อไม่ได้ แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นความพยายามในการศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหากันอย่างเป็นรูปแบบจริงจัง

TMB ได้เปิดผลวิจัย Insights ของธุรกิจ SME จากผลวิจัยที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็น SME ไทยทั่วประเทศที่มีขนาดรายได้เฉลี่ย 1 - 50 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่มีโครงสร้างและแผนการจัดการที่ชัดเจนนัก คละประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม สรุปปัจจัยหลัก 7 ประการซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ SME ไทยอยู่รอดไปจนถึงเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ได้ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนและสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที

ปัญหาที่ 1 “ไม่วางแผนการใช้เงินทุน”

“เงินทุน” คือหนึ่งในปัจจัยหลักในการริเริ่มธุรกิจให้เป็นรูปธรรม ซึ่งแหล่งที่จะได้มาซึ่งเงินทุนก็มีหลากหลาย แต่จากผลสำรวจพบว่า 84% ของ SME ใช้เงินเก็บทั้งชีวิตในการลงทุนโดยปราศจากการวางแผนการดำรงชีพของครอบครัว และ 27% ของ SME ใช้เงินกู้เอนกประสงค์ / บัตรเครดิต ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายแต่ดอกเบี้ยแพงเกินไป เป็นแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจที่ผิดประเภท มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง อีกทั้งในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แผนการใช้เงินทุนต้องมีความยืดหยุ่นและละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม การทุ่มใช้เงินทุนจำนวนมากโดยที่ไม่คำนึงถึงสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลาทำให้ SME จำนวนมากใช้ทุนไปมากโดยได้ผลตอบแทนไม่เท่าที่ควร

วิธีแก้ปัญหา

  1. เริ่มจากเล็กไปใหญ่ เราสามารถถอดบทเรียนจากเทรนด์ของ startup ที่เริ่มต้นทำจากสิ่งเล็กๆ เพื่อทดลองกับตลาดก่อนว่ามีผลตอบรับอย่างไร เมื่อได้ผลตอบรับแล้วก็จะได้นำมาปรับแก้ไขปัญหาให้แน่ใจก่อนที่จะทุ่มเข้าสู่ตลาดเต็มตัวมากขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงในการสูญเสียเงินทุนไปอย่างไม่คุ้มค่าที่ดีมากๆ
  2. ใช้เงินทุนที่เหมาะสม หากใช้ทุนจากเงินเก็บส่วนตัวหรือครอบครัว ควรที่จะสำรองเผื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินภายในครอบครัวไว้ประมาณ 6 เดือน เนื่องจากช่วงเริ่มต้นธุรกิจมีความไม่แน่นอนอยู่สูง หรือนำไอเดียที่เรามีไปทำการระดมทุน ขอทุน หาผู้ร่วมทุน และหากต้องเลือกใช้สินเชื่อก็ควรเลือกเงินกู้สำหรับธุรกิจให้ถูกประเภท
  3. เดินบัญชีอย่างมีวินัยและต่อเนื่อง เพื่อที่จะมองให้เห็นตลอดเวลาว่าธุรกิจมีเงินเหลือเท่าไหร่ และจะวางแผนใช้เงินลงทุนกับปัจจัยใดบ้าง การเดินบัญชีอย่างเป็นวินัยจะเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการเงินทุนอย่างชาญฉลาด

ปัญหาที่ 2 “ทำธุรกิจโดยไม่มี Business Plan”

กว่า 72% ของ SME ไทย ไม่ใช้แผนธุรกิจในการดำเนินธุรกิจ ต่อให้ลงมือเขียนแผนไว้แล้วบ้างก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายวันไปเรื่อยๆ เปิดช่องว่างให้สามารถเกิดปัญหาจากตัวแปรต่างๆ จนสามารถทำให้ธุรกิจสะดุดได้ง่าย รวมถึงการมองไม่เห็นภาพใหญ่ของธุรกิจอย่างครอบคลุม ทำให้ขาดการดำเนินแผนการที่ต่อเนื่องอันจะนำไปสู่การเติบโตไปข้างหน้าของธุรกิจในระยะยาว

วิธีแก้ปัญหา

  1. เรียนรู้การเขียนแผนธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ปัจจุบันมีคอร์สออนไลน์แนะนำวิธีการจัดทำ Business Plan อยู่มาก
  2. ลองใช้ตัวช่วยทำแผนธุรกิจ เช่นแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ช่วยทำฟอร์แมต Business Plan ออกมาได้อย่างง่ายดาย

ปัญหาที่ 3 “ไม่แยกกระเป๋าธุรกิจกับกระเป๋าส่วนตัว”

67% ของ SME มีพฤติกรรมที่ทำให้เงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวปนกัน ซึ่งสำหรับพฤติกรรมที่ทำให้เงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวปนกันนั้นมีสาเหตุจากการแยกเงินส่วนตัวกับธุรกิจไม่ขาด 30% และ 29% ไม่เคยตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง

ข้อเสียของการไม่แยกกระเป๋าธุรกิจกับกระเป๋าส่วนตัวคือการที่ไม่มีความน่าเชื่อถือสำหรับธนาคาร ทำให้การวางแผนการใช้เงินในธุรกิจมีโอกาสสะดุดได้ และไม่สามารถรู้ได้ว่าเอาเข้าจริงแล้วธุรกิจมีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่

วิธีแก้ปัญหา

  1. จัดการแยกกระเป๋าธุรกิจกับเงินส่วนตัวออกจากกัน เป็นหนึ่งในการเริ่มแก้ปัญหาที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด สิ่งสำคัญคือตัวเจ้าของธุรกิจที่ต้องทั้งเปิดใจและมีวินัยที่มากพอ ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง จะทำให้การแยกกระเป๋าเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ประโยชน์อีกอย่างคือช่วยในการหาต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจ
  2. ทำบัญชีอย่างเป็นระบบ หลังจากแยกเงินส่วนตัวออกจากธุรกิจแล้ว ก็จะช่วยให้การทำบัญชีอย่างเป็นระบบเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งการทำบัญชีอย่างเป็นระบบก็จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขที่ชัดเจน ส่งผลดีต่อการจัดการบริหารเงินทุน และเป็นความน่าเชื่อถือของบริษัทเองด้วย

ปัญหาที่ 4 “ขายดีแต่ไม่มีกำไร”

อุปสรรคสำคัญอีกอย่างที่เกิดจากตัวเจ้าของธุรกิจเองคือการใช้ความรู้สึกค่อนข้างมาก ขาดการคิดคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วน หลายครั้งรู้สึกว่าธุรกิจกำลังดำเนินไปได้ดีแต่เอาเข้าจริงไม่เป็นไปอย่างที่คิด ขายดีแต่กลับไม่มีกำไรมากอย่างที่ควรจะเป็น ปัญหานี้หลักๆ แล้วมันคือเรื่องของการตั้งราคาโดยที่ขาดการคำนวณ “ต้นทุนที่แท้จริง”

วิธีแก้ปัญหา

“หาต้นทุนที่แท้จริง” ก่อน ต้นทุนที่แท้จริง ประกอบไปด้วย “ต้นทุนทางตรง” และ “ต้นทุนทางอ้อม”

ต้นทุนทางตรง คือต้นทุนจำพวก ค่าวัตถุดิบ, ค่าเครื่องจักร, ค่า packaging, เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น ต้นทุนทางอ้อม คือต้นทุนจำพวก ค่าเช่าสำนักงาน, ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักร, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าอุปกรณ์สำนักงาน, เงินเดือนผู้บริหาร เป็นต้น

เมื่อนำต้นทุนทั้งสองแบบมารวมกันจึงจะได้ต้นทุนที่แท้จริงเพื่อนำไปคำนวนหากำไรที่แท้จริง

ปัญหาที่ 5 “ไม่มีเวลาให้กับการตลาดเพื่อสร้างความแตกต่าง”

“การสร้างความแตกต่าง” เป็นหนึ่งในจุดอ่อนของ SME ไทย ซึ่งจากสถิติของการวิจัยนี้ก็ช่วยยืนยันข้อสังเกตนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะกว่า 87% ของ SME ใช้เวลาไปกับงาน operation เพื่อรันธุรกิจแบบวันต่อวัน และมีเพียง 13%ของ SME ที่ให้เวลาให้กับ “การตลาด” ซึ่งความสำคัญหลักๆ ของการตลาดคือการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง การคิดหาสิ่งใหม่ๆ มาปรับปรุงให้สินค้าและบริการมีจุดเด่นที่แข็งแรง ความสำคัญของงาน operation เปรียบเหมือนการก้มหน้ามองดินซึ่งเป็นสิ่งตรงหน้าที่ต้องทำทุกวันให้วงล้อธุรกิจหมุนต่อเนื่อง แต่หากไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่าง ก็เหมือนกับการไม่เงยหน้ามองฟ้าเสียบ้าง จะทำให้ขาดศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว

วิธีแก้ปัญหา

  1. จัดเรียงลำดับความสำคัญใหม่ หาเครื่องทุ่นแรงต่างๆ มาช่วยในกระบวนการ Operation ในยุคดิจิทัลมีเครื่องมือที่ทำมาเพื่อช่วยในการจัดการจัดการธุรกิจ ที่นอกจากทุกอย่างจะเป็นระบบมากขึ้น ยังช่วยทุ่นแรงทุ่นเวลาได้มาก ทำให้ SME มีเวลาไปโฟกัสในด้านอื่นๆ ที่สำคัญ
  2. หาความรู้ทางการตลาดเพิ่มเติม จาก Online Guru หรือไปร่วมสัมนาการตลาดซึ่งมีทั้งแบบฟรีและคอร์สเรียนแบบมีค่าใช้จ่าย เพื่อจะเพิ่มพูนความรู้มุมมอง และปรับวิสัยทัศน์ให้เห็นอนาคตของธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น

ปัญหาที่ 6 “แบกทุกอย่างไว้บนบ่า ไม่มีตัวตายตัวแทน”

สำหรับ SME ที่ไม่ได้มีทุนในการจ้างบุคลากรที่มีทักษะ ประสบการณ์ และความเป็นมืออาชีพในการทำงานสูงมากนัก ปัญหาหนักใจสำหรับตัวเจ้าของธุรกิจคือการวางภาระไม่ลง ฝากงานไว้กับใครไม่ค่อยได้ เชื่อว่าตัวเองต้องลงมือทำทุกอย่างเอง ไม่อย่างนั้นยอดขายจะตก ธุรกิจจะสะดุด ปัญหาของการแบกทุกอย่างไว้กับตัวคือตัวเจ้าของเองจะเหนื่อยตลอดเวลา ไม่มีเวลาสำหรับอย่างอื่น และความเสี่ยงก็มีอยู่มากเช่นหากตัวเจ้าของเองเกิดติดกิจธุระสำคัญ หรือเกิดเจ็บป่วย ธุรกิจที่พึ่งพาตัวเจ้าของมากเกินไปแทนที่จะพึ่งพาระบบทีมที่เข้มแข็งจะติดขัด และสะดุดได้ง่ายในวันที่เกิดปัจจัยที่คาดไม่ถึงเข้ามาแทรกซ้อน

วิธีแก้ปัญหา

  1. เรียนรู้การสร้างทีมอย่างเป็นระบบ ให้โอกาส วางแผนพัฒนาคน เจ้าของกิจการต้องพัฒนาจุดแข็งด้าน Soft Skills คือทักษะในการสื่อสาร โน้มน้าวใจคน ทักษะความเป็นผู้นำ เป็นต้น เพื่อดึงเอาศักยภาพที่เป็นจุดแข็งของพนักงานในทีม หรือ Hard Skills ของทุกคนออกมาสร้างทีมที่เข้มแข็ง ผสานกันเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ
  2. ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารงาน เช่นเทคโนโลยี ‘AI’ ที่กำลังเข้ามามีบทบาทช่วยให้สามารถจัดการบริหารงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความสามารถสำคัญของ AI คือพลังในการประมวลผลที่ทำได้เร็วและแม่นยำกว่าคนหลายเท่า หากใช้เป็น AI จะเข้ามายกระดับคุณภาพงานของธุรกิจ และศักยภาพของพนักงานไปอีกขั้น

ปัญหาที่ 7 “กลัวความเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมรับสิ่งใหม่”

นี่อาจจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด เป็นได้ทั้ง “จุดตาย” และ “จุดเปลี่ยน” เราปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน และไม่มีใครหนีพ้นความเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ตามสถิติงานวิจัยแล้ว SME กว่า 38% ยังไม่พร้อมรับสิ่งใหม่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 19% ที่กลัวว่าการเริ่มสิ่งใหม่จะมีปัญหาตามมา 14% ไม่มีเวลาหาข้อมูลเพื่อคิดสิ่งใหม่ๆ และ 5% มองว่าแค่สิ่งที่ทำอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่เป็น traditional มากกว่า SME รุ่นใหม่ ซึ่งกระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลที่จะ disrupt ทุกธุรกิจไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในเร็ววันนี้ ทำให้ใครที่ไม่ปรับตัวจะอยู่รอดได้ยากอย่างแน่นอน

วิธีแก้ปัญหา

  1. เดินงานแฟร์ต่างๆ เพื่ออัพเดทเทรนด์ธุรกิจ เปิดมุมมองใหม่ๆ เพื่อดูโลกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน หรือธุรกิจอื่นๆ ที่จะนำมาต่อยอดได้
  2. ใช้บริการที่ปรึกษาธุรกิจ ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีหน่วยงาน และกลุ่มต่างๆ ที่คอยซัพพอร์ตด้านความรู้เพื่อ SME อยู่เยอะมาก การเข้าหาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเหล่านี้เป็นเหมือนทางลัดที่ช่วยให้เห็นมุมมองที่จำเป็นได้เร็วขึ้นโดยที่ไม่เสียเวลาลองผิดลองถูกเอง
  3. เข้ากลุ่มกับ SME ธุรกิจเดียวกัน สร้างเครือข่ายที่แชร์ความรู้ แลกเปลี่ยนคอนเนคชั่น ช่วยกันสร้าง ecosystem ทางธุรกิจที่ดีเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

จะเห็นได้ว่าโดยรวมแล้วการจะระบุปัญหา และการแก้ไขปัญหาสำหรับ SME ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนไปเสียหมด มีทั้งการแก้ปัญหาที่ทำได้โดยง่ายเช่นการแยกกระเป๋าส่วนตัวออกจากธุรกิจ หรือใช้เครื่องมือง่ายๆ มาช่วยในการบริหารจัดการ บางปัญหาก็ต้องสั่งสมประสบการณ์ และเพิ่มพูนความรู้ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อที่จะมองเห็นโอกาสจากปัญหาเหล่านั้นได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ mindset ที่รับรู้ปัญหาตามสภาพที่เป็นจริง และเปิดรับการเปลี่ยนแปลง กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ และตระหนักว่าในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนทุกธุรกิจไปอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องปรับตัวใหม่เพื่อ “รอดตาย” และสามารถ “ไปให้ถึงฝัน” ที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้

บทความนี้เป็น Advertorial

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...