ท่ามกลางความวุ่นวายในเมืองหลวงและปัญหาที่รอการแก้ไขอีกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการขายของล้ำทางเท้า สายสื่อสารที่ดูรกหูรกตา แสงสว่างไม่ทั่วถึง หรือแม้แต่การจอดรถขวางถนน คงไม่แปลกใจที่จะมีใครสักคนลุกขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบ
Traffy Fondue จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเมืองอย่างครบวงจร
Traffy Fondue จะตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองได้อย่างไรตามไปดูกัน
หลายคนอาจคุ้นหูกับชื่อ Traffy Fondue ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. คนปัจจุบัน ที่ได้นำแพลตฟอร์มนี้มาเป็นตัวช่วยในการพัฒนาและแก้ปัญหาเมือง ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมนักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (nectec) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้รับผิดชอบและพัฒนา Traffy Fondue เท้าความถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแพลตฟอร์มตั้งแต่ 6-7 ปีก่อนว่า
“จริงๆ แล้ว Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับทุนในการพัฒนาเริ่มทำ Smart City ในจังหวัดภูเก็ต เป็นแอปฯ เทคโนโลยีเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ พัฒนาเซ็นเซอร์สำหรับติดรถขยะ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตอนนี้รถขยะมีเส้นทางการปฏิบัติงานอย่างไร จดเก็บขยะที่ไหนบ้าง แต่ละจุดจอดนานแค่ไหน หรือจอดครั้งละกี่นาที เป็นแอปฯ ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร
“ทว่า ในระหว่างนั้นก็เจอปัญหาในเรื่องที่เซ็นเซอร์ไม่สามารถตรวจจับได้ เช่น ปัญหาขยะล้นถุง ถังขยะชำรุด กลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นต้น เราจึงพัฒนาแอปฯ ให้ผู้ใช้สามารถแจ้งปัญหาที่เจอเข้ามาได้ ผลคือได้รับการตอบรับที่ดี ประชาชนแจ้งปัญหาเข้ามาเยอะทั้งคนไทยและต่างชาติ”
ระหว่างที่แอปฯ ในภูเก็ตกำลังไปได้สวย ดร.วสันต์ มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาเมืองในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น
“พอเราเห็นว่าเทคโนโลยีนี้สามารถจัดการปัญหาในภูเก็ตได้ เมืองอื่นๆ ก็ต้องทำได้เหมือนกัน”
พื้นที่แรกในการนำ Traffy Fondue มาใช้นอกภูเก็ตคือ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ช่วงแรกยังเป็นแอปฯ ที่ใครอยากใช้ก็ต้องโหลด ปัญหาที่พบครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นการใช้งาน เนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่ในเวลานั้นเป็นผู้สูงอายุที่ไม่เคยชินกับการโหลดแอปฯ จำรหัสไม่ได้ หรือบอกว่าการใช้งานยากเกินไป ทำให้ขั้นตอนเหล่านี้ยุ่งยากกว่าการแก้ปัญหาเสียอีก
ดร.วสันต์และทีม จึงเปลี่ยนช่องทางการใช้งานเป็น LINE เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการใช้ LINE ราว 70-80% และเทรนด์การใช้เมสเซจจิ้งแอปพลิเคชันก็สูงไม่แพ้กัน ที่สำคัญผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกับการส่งข้อความ ซึ่งในการแจ้งปัญหาผ่าน Traffy Fondue ใช้ข้อมูลเพียง 3 ส่วนคือ รายละเอียดปัญหา ภาพถ่าย และตำแหน่ง สามารถติดตามเรื่องร้องเรียนได้ทุกขั้นตอน และไม่ต้องยืนยันตัวตน ทำให้การใช้ LINE จึงตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกเพศทุกวัย
นอกจากนี้ ดร.วสันต์ยังได้แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้ใช้งาน Traffy Fondue ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ตามด้วยกลุ่มคนทำงานวัย 30 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาในวันทำงานส่วนใหญ่อยู่ในตัวเมือง จึงพบเห็นปัญหาได้ง่าย และเมื่อแจ้งเข้ามาแล้ว ปัญหาก็ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน Traffy Fondue มีผู้ใช้งานมากกว่า 550,000 คน และมียอดการแจ้งปัญหาเข้ามาต่อวันอยู่ที่ 1,000 เรื่อง 60% ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่อยู่ในกรุงเทพฯ และที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัด
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ Traffy Fondue รับปัญหาในกรุงเทพฯ มียอดแจ้งปัญหาเข้ามากว่า 620,000 เรื่อง และปัญหาได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วกว่า 500,000 เรื่อง คิดเป็น 79% ของจำนวนเรื่องทั้งหมด
เมื่อถามว่าพื้นที่ไหนในกรุงเทพฯ ที่มียอดแจ้งปัญหาเข้ามาสูงสุด ดร.วสันต์บอกว่า “เขตจตุจักรครับ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีคนใช้งานเยอะที่สุด มีทั้งตลาด และห้างสรรพสินค้ามากมาย แต่ทางเขตก็แก้ไขได้เร็ว ส่วนปัญหาที่ได้รับการแจ้งเข้ามามากที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องกายภาพ เช่น ถนนชำรุดทางเท้า ฝาท่อ ต้นไม้ ขยะ จอดรถขวางถนน ฟุตบาต แผงลอย สายสื่อสาร และแสงสว่าง”
ดร.วสันต์ เล่าว่าการทำงานงานของ Traffy Fondue ไม่ต่างจากแอปฯ สั่งอาหารหรือบริการแท็กซี่ ที่แพลตฟอร์มจะเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ในที่นี้หมายถึงประชาชนผู้แจ้งปัญหาและเจ้าหน้าที่กทม. ซึ่งนอกจากจะแจ้งปัญหาและแก้ไขได้อย่างรวด ยังติดตามความคืบหน้าได้ง่าย
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาเร็วก็จริง แต่เป็นการแก้แบบชั่วคราวหรือไม่ ดร.วสันต์ เล่าว่า “ทุกครั้งที่ปัญหาได้รับการแก้ไข ผู้แจ้งปัญหาจะสามารถให้คะแนนหรือเรตติ้งได้ ทั้งการให้ดาวและคอมเมนต์ จาก 500,000 เรื่องที่แก้ไขแล้ว 40% หรือประมาณ 200,000 เรื่องได้รับเรตติ้งที่ดี หากคิดเป็นการให้ดาวอยู่ในระดับ 4-5 ดาว ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีและน่าพึงพอใจ
“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสถิติหลายอย่างน่าสนใจ หลังจากเปิดให้ใช้งานกว่า 2 ปี เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น 31 เท่า ลดเวลาการแก้ไขได้ 97% ช่วงเดือนแรกใช้เวลาเฉลี่ย 2 เดือนในการแก้ปัญหา ปัจจุบันเหลือเพียง 2 วันหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งก็ยังมีบางเคสที่ใช้เวลาหลักเดือนแต่ก็เป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะ”
จากปัญหาที่หลั่งไหลเข้ามาในแต่ละวันไม่ใช่จำนวนน้อยๆ Traffy Fondue ใช้เทคโนโลยี ส่งต่อปัญหาเหล่านั้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดูจากตำแหน่งที่ผู้แจ้งแชร์เข้ามา
ล่าสุด Traffy Fondue ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ใช้ AI คัดกรองเนื้อหาหรือข้อความที่ไม่สุภาพ เลือกใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี เจ้าหน้าที่มีกำลังใจ มีสุขภาพจิตที่ดี และสื่อสารได้ดีขึ้น
จากเดิมที่เมื่อเจอปัญหาประชาชนจะใช้วิธีการถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเชียลฯ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาถูกแก้ไข แพลตฟอร์ม Traffy Fondue จึงเข้ามาตอบโจทย์การเป็นสื่อกลางให้ประชาชนและหน่วยงาน
ในฝั่งของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ การใช้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ก็ส่งดีต่อการทำงานพวกเขาเช่นกัน เนื่องจากประชาชนสามารถคะแนนความพึงพอใจได้ เจ้าหน้าที่ก็มีผลงานชัดเจน และผลงานเหล่านี้จะถูกนำไปประเมินผลงานประจำปี ดร.วสันต์ เล่าว่า “จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ทำงานเหมือนเดิม เพียงแต่เมื่อก่อนไม่มีใครรู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไร และมีจำนวนเท่าไร”
นอกจากเรื่องความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก ความคาดหวังของผู้ใช้งานก็เป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน
“การมีโซเชียลฯ ถือเป็นเรื่องดีในแง่ของการสร้างการรับรู้ ผู้คนสามารถแจ้งปัญหาได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ความคาดหวังที่สูงขึ้น เพราะที่ผ่านมาปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อประชาชนแจ้งปัญหาเข้ามา เขาก็คาดหวังว่าจะได้รับการตอบสนองที่รวดเร็ว เช่น ร้านอาหารริมถนน ตั้งโต๊ะบนฟุตบาทเกินเขตที่กำหนด มีคนถ่ายรูปแจ้งปัญหาเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็ลงพื้นที่แก้ไขได้ใน 3 นาที นั่นหมายความว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นว่า Traffy Fondue ช่วยได้ แม้จะเป็นปัญหาเล็กน้อย ถ้าเขาคิดว่าการแจ้งเข้ามาจะทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น เจ้าหน้าที่ก็พร้อมให้บริการ”
“สำคัญที่สุดก็คือ ผู้บริหารระดับสูงต้องเอาจริง การพัฒนาให้เมืองให้สะอาด หรือมีคุณภาพชีวิตดีไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าผู้บริหารเอาจริงก็จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ เหมือนอย่างทุกวันนี้ที่กทม. สามารถเปลี่ยนฝาท่อได้ภายใน 2 ชั่วโมง จากเดิมที่รอเป็นวันๆ
“อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองคือ การเปิดใจของประชาชน จากเดิมที่เขาอาจไม่เชื่อว่าแจ้งแล้วจะมีคนมาแก้ไข การที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เร็ว ก็ทำให้ประชาชนกล้าแจ้งปัญหาเข้ามา เช่น ถังขยะหน้าบ้านแตกมา 5 ปีแล้วไม่มีใครมาเปลี่ยน พอเขาส่งเรื่องมาที่ Traffy Fondue ไม่กี่วันถังขยะก็ถูกเปลี่ยนใหม่ แค่นี้ก็ทำให้เขารู้สึกดี บอกต่อไปยังครอบครัวหรือคนรอบตัว ส่งต่อมาสู่บรรยากาศเมืองที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดร.วสันต์ เล่าว่า Traffy Fondue มี Pain Point ที่อยากแก้ไขให้ได้คือ เรื่องการบาลานซ์ความคาดหวังของประชาชนและร้านค้า เช่น กรณีแผงลอยและการใช้ทางเท้า เนื่องจากพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง มีการติดตั้งป้ายโฆษณา ป้ายรถเมล์ จุดจอดรถจักรยาน วินมอเตอร์ไซค์ และร้านอาหาร ซึ่งมีประชาชนบางส่วนมองว่าทางเท้าควรเป็นพื้นที่สำหรับสัญจรด้วยเท้า ห้ามขายของ ทั้งที่จริงๆ แล้วแชร์กันได้ และได้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
ถัดจากเรื่องความคาดหวัง อีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือทำให้ Traffy Fondue ตอบโจทย์ผู้ใช้คือเรื่อง การพัฒนาให้ใช้งานง่าย
วันนี้ Traffy Fondue ค่อยๆ เติบโตและทยอยปล่อยฟีเจอร์ต่างๆ ออกมาเพื่อให้ประชาชนใช้งานได้ง่าย เช่น การลดจำนวนคำถามสำหรับแจ้งปัญหา จาก 5 คำถามเหลือเพียง 3 คำถาม (ระบุปัญหา, ภาพ และตำแหน่ง) ใช้ AI คัดกรองคำไม่สุภาพ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตอบคำถามประชาชนได้ง่ายขึ้น มีแนวทางการตอบคำถามแบบเร่งด่วน ลดเวลาการส่งเรื่องระหว่างหน่วยงาน จัดลำดับความสำคัญของปัญหา เสนอแนวทางแก้ไข เพิ่มปุ่มไฟสำหรับเรื่องเร่งด่วน และเปิดให้ผู้ใช้คอมเมนต์เพื่อฟีดแบคการทำงานได้
และก้าวถัดไปคือ การวิเคราะห์คำชมและข้อมูลของประชาชนว่ารู้สึกอย่างไรกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งด้านคุณภาพและความรวดเร็ว รวมถึงส่งเสริมให้แพลตฟอร์มถูกใช้งานมากขึ้น ทั้งในส่วนของการแจ้งปัญหา และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้เมืองได้รับการพัฒนาให้มากที่สุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แน่นอนว่าถ้าในวันนี้มีคนแจ้งปัญหาข้ามา 100 คน ไม่ใช่แค่คนแจ้งจะได้ประโยชน์ แต่อีกยังมีคนอีกนับพันที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้
สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้ Traffy Fondue “ถ้าอยากให้เมืองดีขึ้นทุกคนต้องร่วมมือกัน เมื่อเจอปัญหาต้องแจ้ง เพราะเราเป็นคนเจอปัญหาคนแรก การใช้แพลตฟอร์มจะทำให้ปัญหาถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลองให้โอกาสเราแล้วคุณจะรู้ว่ากรุงเทพฯ แก้ปัญหาได้เร็วแค่ไหน อย่างที่กล่าวไป 80% ของปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วและ 20% อาจจะช้าหน่อยเป็นสิ่งที่เราพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นพยายามปรับปรุง”
ทั้งนี้ Traffy Fondue มาจากคำว่า ท่านพี่ฟ้องดู เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นคนที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวง เมื่อเจอปัญหาเรื่องเมือง ลองฟ้องดู
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด