คู่มือทางลัดนำธุรกิจเข้าสู่โลก Metaverse ได้ภายใน 3 ขั้นตอน จาก Accenture | Techsauce

คู่มือทางลัดนำธุรกิจเข้าสู่โลก Metaverse ได้ภายใน 3 ขั้นตอน จาก Accenture

Metaverse ศัพท์ที่มาแรงตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและบรรดาธุรกิจต่างหันมาสนใจพื้นที่นี้มากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นข่าวบริษัทชั้นนำสร้างสำนักงานหรือสร้างความร่วมมือเพื่อจัดกิจกรรมในโลกเสมือนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การจะนำ Metaverse มาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจนั้นมีอะไรที่ควรรู้บ้าง จะมีวิธีพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจให้ลูกค้าและพนักงานมีประสบการณ์ที่สมจริงยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าที่ในพื้นที่ Metaverse ที่มีโอกาสอย่างไม่จำกัด วันนี้ Techsauce ได้สรุปคำตอบมาให้แล้วจากการบรรยายในหัวข้อ Metaverse Checklist: A Quick Guide to Metaverse for Business ในงาน Techsauce Global Summit 2022 โดยคุณปฐมา จันทรักษ์, Country Managing Director at  Accenture Thailand ผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไอทีกว่า 30 ปี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บริหารธุรกิจชั้นแนวหน้า และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของ Digital Transformation 

คำจำกัดความของ Metaverse คือการไม่มีขีดจำกัด

Metaverse เป็นสถานที่ที่ทำให้คนพบปะพูดคุยและโต้ตอบกันได้ แม้จะอยู่กันคนละซีกโลก ซึ่งทุกอย่างในนั้นอย่างที่ดิน (land) สิ่งปลูกสร้าง สิ่งของ รูปประจำตัว และแม้กระทั่งชื่อ ก็ถือเป็น Digital Asset ซึ่งสามารถสร้างสรรค์เองและนำไปซื้อขายได้ 

Metaverse เป็นการผสานโลกกายภาพและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้มีโอกาสในการใช้งานที่หลากหลายและไม่มีขีดจำกัด ธุรกิจจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากโลกเสมือนนี้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงอุตสาหกรรมเกม แฟชั่น หรือการเงิน การธนาคารเท่านั้น โดย Accenture ได้จัดทำ Consumer Pulse Survey ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งมีผู้บริโภคมากกว่า 11,000 คนใน 16 ประเทศเข้าร่วมในการทำแบบสอบถามนี้ พบว่า 64% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเคยซื้อสินค้าเสมือนจริงและมีประสบการณ์ในโลกเสมือนแล้ว ส่วน 56% ของผู้ที่เคยซื้อสินค้าและบริการเสมือนแล้วมีแนวโน้มที่จะซื้ออีกครั้ง และ 83% แสดงความสนใจในการซื้อสินค้าใน Metaverse 

นอกจากนี้จากข้อมูลของ Statista และ Accenture’s Tech Vision 2022 พบว่า 71% ของผู้บริหารทั่วโลกมองว่า Metaverse จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกิจการของพวกเขา และภายในปี 2024 ทั่วโลกจะมีการนำ VR headsets กว่า 34 ล้านชิ้นมาใช้ โดย Gartner มีการประมาณการณ์ว่าในปี 2026 คนกว่า 25% จะใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวันใน Metaverse สำหรับการทำงาน ช้อปปิ้ง เรียนรู้ เข้าสังคม หรือเพื่อความบันเทิง และ 30% ขององค์กรต่างๆ จะมีความพร้อมในการมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าใน Metaverse

Brands and Beyond

ข้อดีอย่างหนึ่งของสินค้าและบริการในโลกเสมือนคือสามารถใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของเทคโนโลยีของ NFT ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ เพื่มความ Rare ของสินค้า และใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในโอกาสหรือเทศกาลต่างๆ ให้คนได้เข้ามาสะสมและสร้าง royalty ทั้งนี้ตัวองค์กรเองก็สามารถสร้างพันธมิตรไปพร้อมกันได้ด้วย อย่างเช่น Gucci กระเป๋าระดับ Luxury ที่ร่วมมือกับแพลตฟอร์มเกมอย่าง Roblox ขายกระเป๋าในเกม (Virtual Bag) โดยราคาสูงกว่ากระเป๋า Gucci ที่สามารถใส่ของถือได้ในชีวิตประจำวัน (Physical Bag) ถึง 1 พันเหรียญสหรัฐ หรืออย่าง Coca-Cola ที่ทำการประมูล NFT ของแพคเกจเวอร์ชั่นแรกบน Opensea โดยจบที่ราคาสูงถึง 5.75 แสนเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21 ล้านบาท)

กล่าวคือตอนนี้ Metaverse กำลังเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผสมผสานของพื้นที่ทางกายภาพและดิจิทัล ทั้งในการทำงาน การเข้าสังคม และการสื่อสาร ซึ่งผู้บบริโภคเริ่มมีความคาดหสังและจับตามองในพื้นที่นี้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะต้องเข้ามาใน Metaverse แบรนด์จำเป็นต้องสำรวจทั้งโลกดิจิทัลและ Physical World เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ สร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น และสะดวกสบาย

เริ่มเดินทางธุรกิจในโลก Metaverse ได้ภายใน 3 ขั้นตอน

1. Discover 

แน่นอนว่าจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจว่าพื้นที่ Metaverse คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และวิธีที่ธุรกิจคิดใหม่เกี่ยวกับการดำเนินงานของตนด้วย เนื่องจาก Metaverse มีขอบเขตที่กว้าง และจะส่งผลกระทบต่อทุกส่วนของ Value Chain เพราะ Metaverse สามารถเข้ากับโครงสร้างของธุรกิจทุกรูปแบบ ตั้งแต่การจัดการ การปฏิบัติการ ไปจนถึงประสบการณ์ของพนักงาน โดยหลักๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น การชำระเงิน ประสบการณ์ของลูกค้า ประสบการณ์พนักงาน ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ ซัพพลายเชน และ การจัดการองค์กร

2. Do

เมื่อทำการสำรวจแนวทางแล้วก็เริ่มลงมือเพื่อพัฒนาจุดแข็ง และสร้างแนวทางให้ทุกคนร่วมเดินทางไปกับ metaverse ของธุรกิจ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการดำเนินการที่ดีก็คือการตั้งคำถามเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมในมิติต่างๆ ผ่านเลนส์ของฟังก์ชันทางธุรกิจเพื่อช่วยจุดประกายความคิดใหม่ๆ 

ตัวอย่างคำถามเช่น

  • จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มตลาดใด?

  • แผนธุรกิจระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่บริษัทต้องการบรรลุคืออะไร?

  • บริษัทควรเข้าสู่ Metaverse เมื่อใด และตั้งหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์แบบใด

  • เข้าร่วมแพลตฟอร์มที่กำลังจะออกหรือพัฒนาพื้นที่ที่แบรนด์เป็นเจ้าของ?

  • ฟังก์ชันใน Metaverse จะสามารถร่วมมือและชี้นำข้อมูลประจำตัวของบริษัทที่มีอยู่ได้อย่างไร?

3. Build

การจะสร้างโลกเสมือนขึ้นมานั้นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ “ความรับผิดชอบ” เพื่อปลอดภัยและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ คือ มิติด้านความน่าเชื่อถือ และมิติด้านมนุษยธรรม ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นได้อีกดังนี้

มิติด้านความน่าเชื่อถือ

  • ความเป็นส่วนตัว - ลดการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้ให้น้อยที่สุด มีการรับรองความโปร่งใสในการควบคุมผู้ใช้และการเคลื่อนย้ายข้อมูล

  • ความยืดหยุ่น - สร้างและปรับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเพื่อให้แน่ใจว่ามีความซ้ำซ้อนน้อยที่สุด และมีความสามารถในการปรับขนาด เพื่อรองรับข้อมูลและผู้ใช้งานที่มากขึ้น

  • ความปลอดภัย - ใช้การรักษาความปลอดภัยโดยการออกแบบใน XR, web3 และเทคโนโลยี metaverse อื่นๆ

  • การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา - ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของทรัพย์สินดิจิทัลและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

มิติด้านมนุษยธรรม

  • ความปลอดภัย - กีดกันพฤติกรรมและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จำกัดการแพร่กระจายข้อมูลเท็จ การบิดเบือนข้อมูล และการปลอมแปลง

  • ความยั่งยืน - วัดและจัดการการใช้พลังงานจากประสบการณ์และเทคโนโลยี metaverse เช่น การใช้พลังงานทดแทน ควบคุมพลังงานในการขุด crypto

  • ความเป็นอยู่ที่ดี - สร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่ส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจและเป็นส่วนเสริมของประสบการณ์ทางกายภาพ

  • ความเสมอภาค - ประสบการณ์การออกแบบที่มีความหลากหลาย ครอบคลุม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย

สุดท้ายนี้แม้ว่า Metaverse จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา หรือเรียกว่า metaverse continuum แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะให้ธุรกิจได้ลองสำรวจสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ใช้เวลาในการเรียนรู้ และเตรียมความพร้อม


THINK BIG
START small
SCALE Fast

โดยหัวใจสำคัญของการจะ Transformation สำหรับคุณปฐมาคือ “คิดให้ใหญ่ เริ่มต้นจากเล็ก และขยายอย่างรวดเร็ว ”เพราะเศรษฐกิจแบบ metaverse คืออนาคตของการมีส่วนร่วม ความบันเทิง โซเชียลมีเดีย การช็อปปิ้ง คืออนาคตที่ “ประสบการณ์คือราชา” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเติบโตของมูลค่าธุรกิจที่ยืนยาว


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สงครามห้างไทย: ใครจะครองตำแหน่ง Landmark แห่งกรุงเทพ?

ห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยนั้นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว บทความนี้ Techsauce จึงอยากชวนมาจับตามองสงครามห้างใหญ่ใจกลางเมืองของไทยจาก 4 ผู้เล่นหลักอย่าง Siam Piwat , Central, เครือ TCC ...

Responsive image

จาง อีหมิง เจ้าของ TikTok ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในจีน!

ปี 2024 ดูเหมือนเศรษฐกิจจีนจะไม่สู้ดีนัก ส่งผลให้จำนวนมหาเศรษฐีจีนเติบโตช้าที่สุดในรอบ 20 ปี รายงานจากสถาบันวิจัย Hurun เผยว่าในปีนี้มีเศรษฐีหน้าใหม่เพียง 54 คนที่ได้เข้าสู่รายชื่อ...

Responsive image

PwC นำประสบการณ์ผสานเทคโนโลยี SAP สร้างเครื่องมือ ‘ESG Solution’ ช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน

PwC ร่วมมือกับ SAP สร้างโซลูชันด้าน ESG เพื่อช่วยลูกค้าองค์กรเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ชื่อว่า ‘SAP Sustainability Control Tower’...