ด้วยสถานการณ์ตลาดโลกในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากในทุกแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอย่าง ML (Machine Learning) และ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยียอดนิยมที่หากธุรกิจรายไหนยังไม่ได้นำไปประยุกต์ใช้งานอาจทำให้ธุรกิจต้องตามหลังผู้แข่งรายอื่น ๆ ในโลกได้ ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้นั้นเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ถูกวิจัยและพัฒนาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อสามารถปรับความเหมาะสมให้เข้ากับธุรกิจตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การทำความเข้าใจทั้งด้านข้อจำกัดและความสามารถของ AI และ ML จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ICHI ผู้ให้ความรู้ด้าน Digital Solution จึงอยากนำเสนอเรื่องราวอนาคตของ AI และ ML ว่าจะดำเนินและเติบโตไปอย่างไร และในฐานะผู้ประกอบการสามารถปรับทิศทางธุรกิจได้อย่างไรบ้าง ผ่านความเห็นจาก ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association CEO บริษัท ZTRUS
ดร. พณชิต ได้เล่าถึงความเป็นมาของการนำ AI และ ML มาใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งมีการเริ่มต้นมากตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1960 - 1970 โดยนับได้ว่ามีระยะมากว่า 60 ปีจนถึงในปัจจุบันนี้ โดยการใช้งานนั้นก็แตกต่างไปตามยุคสมัยและบางคอนเซปต์หรือกระบวนความคิดบางอย่างของ AI ก็ยังคงอยู่ และสามารถนำมาปรับใช้กับสาขาธุรกิจต่าง ๆ ได้
ในยุคเริ่มต้นนั้นการใช้งาน AI ได้มีการเริ่มป้อนข้อมูลให้กับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ แต่ติดปัญหาด้านข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณข้อมูลที่ไม่สามารถให้ได้ในจำนวนมากเนื่องจากระบบมีความสามารถในการคำนวณค่อนข้างต่ำ และเป็นการเรียนรู้แบบชั้นเดียว จนเมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ที่ Digital Network มีบทบาทสำคัญกับทุกการใช้งานในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดการเร่งพัฒนา AI และ ML ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘Deep Learning’
“‘Deep Learning’ เป็นตัวช่วยในการเพิ่มพลังความสามารถในการคำนวณข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้ ML สามารถเรียนรู้หลักคิดได้อย่างลึกซึ้ง นำไปสู่ AI ที่มีกระบวนการความคิดซับซ้อนมากขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้เราได้เห็นเทคโนโลยีที่มีความฉลาดใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น” ดร. พณชิต กล่าว
ทุกวันนี้เราต่างได้เห็นการนำ AI และ ML เข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่นำ AI มาใช้ในส่วนหุ่นยนต์เครื่องจักร เพื่อเรียนรู้สภาพแวดล้อม ช่วยตัดสินใจและช่วยรักษาความปลอดภัยภายในโรงงาน รวมไปถึงการใช้งานอย่าง Speech Recognition หรือการสั่งการด้วยคำสั่งเสียง ที่ปัจจุบันคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในการใช้ Siri หรือ Alexa
นอกจากนี้ยังมีระบบ Recommendation ที่ Netflix นำมาใช้งานในการแนะนำซีรีส์ ภาพยนตร์ต่าง ๆ ผ่านการติดตามจากพฤติกรรมการดูของผู้ชมที่ผ่านมา หรือการนำไปใช้งานในธุรกิจ E-commerce เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันนี้การทำงานของ AI และ ML ไม่เพียงแค่วิเคราะห์ข้อมูลจากอดีตแต่ล้ำหน้าไปจนถึงสามารถคาดการณ์แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตได้อีกด้วย และประโยชน์ส่วนนี้อีกทำให้ธุรกิจมองเห็นทิศทางที่จะผลิตและสรรหาบริการที่ตอบสนองมาให้ผู้บริโภคได้ทัน
ดร. พณชิต ยังได้ยกตัวอย่างการใช้งานของ AI ในบริษัท แอ็คโคเมท จำกัด โดยทางบริษัทได้มีการนำเอาโปรแกรม AI มาใช้ในแผนกบัญชี เพื่อช่วยในการอ่านใบเสร็จต่าง ๆ เป็นการทุ่นแรงในการทำงาน สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากโดยปกติแล้วการทำงานบัญชีจำเป็นที่จะต้องคีย์ข้อมูลเข้าระบบ และเทียบความถูกต้อง ซึ่งทำการทำงานล่าช้าเนื่องจากพนักงานบัญชีจะต้องมานั่งตรวจสอบตัวสะกด แทนที่จะนำความรู้และทักษะไปทำงานด้านอื่น ๆ โดยไม่ต้องมาเสียเวลา นี่คือหนึ่งในประโยชน์ของ AI คือการควรเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุนและระยะเวลาต้นทุนในการทำงานให้กับมนุษย์
หลายธุรกิจทุกวันนี้ต่างนำเอา AI เพื่อเข้าไปลดภาระหน้าที่ของพนักงาน ทำให้ได้ผลงานที่รวดเร็วพร้อมแข่งขันในตลาดจนกระทั่ง AI และ ML เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในทุกแวดวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของผู้ประกอบการทุกฝ่าย ที่จะต้องเรียนรู้ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง
“ต้องเข้าใจว่า AI จะเข้ามามีบทบาทอยู่ในทุกอุตสาหกรรม 5-6 ปีที่แล้วใครมี AI ถือว่าได้เปรียบกว่าคู่แข่ง แต่ปัจจุบันใครไม่มี AI โอกาสรอดต่ำ”
ดร.พณชิต อธิบายเพิ่มเติมว่าย้อนกลับไปในช่วง 2015 - 2016 AI เป็นแค่เพียงสิ่งใหม่ที่หลายอุตสาหกรรมยังไม่คุ้นชิน ส่งผลให้ในช่วงนั้นภาคธุรกิจไหนมีการนำมาใช้ ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญและมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งเป็นอย่างมาก แต่ในขณะที่ปัจจุบันนี้ การมี AI ในธุรกิจถือเป็นเทคโนโลยีที่ควรมีและเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ และหากธุรกิจไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ อาจส่งผลเสียจนไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และมีโอกาสรอดต่ำในตลาดโลก เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องมองว่า AI จะสามารถเข้าไปช่วยงานในรูปไหนได้บ้าง
การทำงานที่ต้องพึ่ง AI นั้น ดร.พณชิต เสริมว่า เหมาะสำหรับรูปแบบการทำงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ และสม่ำเสมอ เช่น งานกรอกข้อมูลลงในเอกสาร ที่มีขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องซ้ำ ๆ หรือการทำงานที่ต้องอาศัยการเคลื่อนที่สินค้าในตำแหน่งเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งงานเหล่านี้เป็นรูปแบบการทำงานที่การกินเวลาทำงานของบุคลากรที่มีทักษะสูงเป็นอย่างมาก
“หากคนที่ทำงานเพียงทำตามสั่งก็จะไม่ต่างกับหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์รู้เรื่องทำงานตามคำสั่งได้แม่นยำกว่าเรา แต่ถ้าเรารู้วิธีการสั่งงานหุ่นยนต์ เราจะเป็นคนที่เก่งขึ้น สิ่งที่มนุษย์ต้องพยายามเข้าใจคือ ต้องไม่กลัวการมาของ AI เนื่องจาก AI และมนุษย์ต่างก็ไม่สามารถทำงานได้แม่นยำ 100% แต่สิ่งที่มนุษย์มีคือ ‘ความเชื่อใจ’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ เพราะ AI มาจาก Artificial Intelligence คือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้ แต่ Artificial Responsibility หรือความรับผิดชอบแบบประดิษฐ์ ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ เพราะความรับผิดชอบเกิดจากจิตใจมนุษย์เท่านั้น”
สิ่งที่แตกต่างจาก AI คือการที่มนุษย์มีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบต่อการที่จะต้องผลิตผลงานให้ออกมาดีที่สุด เพราะมีความสามารถในการคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ซึ่ง AI ไม่ได้ถูกโปรแกรมให้เข้าใจสิ่งนี้ ฉะนั้นแทนที่มนุษย์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานรูปแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ มนุษย์ควรนำเวลาที่มีค่าไปควบคุม และพัฒนา AI ให้สามารถใช้งานได้มีสิทธิภาพ เพื่อผลลัพธ์ระยะยาวที่ดีกว่า
ท้ายสุดแล้วอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ต้องเรียนรู้การใช้งาน เข้าใจข้อจำกัด เพื่อบรรลุเป้าหมายของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและตามทันกับอนาคตของ AI และ ML ต่อไปในฐานะผู้ควบคุมดูแลการทำงานของ AI และ ML ที่มีสิ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่มี และปล่อยให้การทำงานของ AI และ ML เป็นเพียงเครื่องมือที่เข้ามาลดภาระของเรา
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ AI และ ML ได้ทาง https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/07/20/1221/
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด