Work From Home ซอฟต์แวร์ฟรี ทำงานที่บ้าน ลดความเสี่ยง COVID-19 | Techsauce

Work From Home ซอฟต์แวร์ฟรี ทำงานที่บ้าน ลดความเสี่ยง COVID-19

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 หลายองค์กรได้ปรับตัวรับวัฒนธรรมการทำงานแบบ "รีโมต" หรือการทำงานระยะไกล ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดและแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 จากการพบปะกับผู้คนซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นพาหะของเชื้ออยู่หรือไม่ ดังนั้นเราขอแนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจที่สร้างมาเพื่อการทำงานโดยเฉพาะ อยู่ที่ไหนก็คุยงาน-ประชุมงานกันได้ ให้องค์กรพร้อมสำหรับการทำงานเสมอ ไม่ต้องหยุดชะงักจากสถานการณ์ที่ไม่อาจรู้ได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไร และไม่ต้องฝ่าไวรัสเผชิญฝุ่นออกไปประชุมงานกัน

Microsoft Teams

Microsoft Teams เป็นซอฟต์แวร์สำรับการติดต่อสื่อสารภายในทีม ที่สามารถแบ่งผู้ใช้งานออกเป็นห้องได้ เช่น ห้องสำหรับทีมโปรแกรมเมอร์ ทีมพีอาร์ ทีมดีไซน์เนอร์ เป็นต้น รองรับสมาชิกไม่จำกัด (สำหรับแพลน Office 365 E3) สามารถสนทนา 1 ต่อ 1 ทั้งแบบเสียงและแบบวิดีโอได้ แต่หากต้องการประชุมสายต้องใช้แพลน Office 365 Business ขึ้นไป โดยรองรับสูงสุด 250 คนพร้อมกัน จุดเด่นของการสนทนาแบบวิดีโอคือสามารถบันทึกวิดีโอเก็บไว้ได้, มีการแพนกล้องหรือซูมไปหาผู้พูดโดยอัตโนมัติ, เบลอพื้นหลังออกไปได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ Microsoft Teams ยังรองรับการทำงานร่วมกับบริการภายนอกอื่น ๆ มากกว่า 250 บริการ เช่น Asana, Trello, Zenkit, Intercom, Zendesk, Jira และบริการของไมโครซอฟต์เองอย่าง Word, SharePoint และ PowerBI เป็นต้น

Microsoft Teams ยังรองรับการเพิ่มผู้ใช้นอกองค์กรเข้ามาภายในทีมเพื่อเข้าถึงการสนทนาทั้งข้อความและการโทร เอกสาร และไฟล์ต่าง ๆ ได้

Microsoft Teams ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจด้วยความที่มีคุณสมบัติค่อนข้างครบครันอยู่แล้วในแพลนฟรี และหากในองค์กรใช้ Office 365 อยู่แล้ว Microsoft Teams ก็จะเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ราคา: เริ่มต้นที่ฟรี
เว็บไซต์, เปรียบเทียบแพลน 

Slack

รายชื่อซอฟต์แวร์สำหรับการคุยงานคงจะขาด Slack ไปไม่ได้ในฐานะผู้เล่นรายแรก ๆ Slack นั้นเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการติดต่อสื่อสารที่โฆษณาว่าต้องการจะมาแทนที่อีเมลสำหรับการสื่อสารภายใน สามารถแบ่งสมาชิกออกเป็นห้อง ๆ ได้ สามารถปักหมุดข้อความไว้ด้านบนสุดได้ สามารถโทรด้วยเสียงหากันแบบ 1 ต่อ 1 ได้ หรือถ้าหากต้องการประชุมสายหรือสนทนาแบบวิดีโอจะต้องอัปเกรดแพลนเป็น Standard ขึ้นไป 

Slack รองรับการทำงานร่วมกับบริการอื่นมากมายกว่า 2,000 รายการ เช่น Asana, Trello, Jira, IFTTT, Zoom, Dropbox และ Google Drive เป็นต้น ถือว่ารองรับเยอะกว่า Microsoft Teams อย่างมาก

Slack รองรับเพิ่มลูกค้าหรือบุคคลภายนอกเข้ามาสนทนาภายใน Slack ขององค์กรและเข้าถึงไฟล์ร่วมกันได้

ราคา: เริ่มต้นที่ฟรี
เว็บไซต์, เปรียบเทียบแพลน

Zoom

เดิมที Zoom เป็นบริการสำหรับการประชุมโดยเฉพาะ สามารถสร้างการประชุมแบบเสียงหรือวิดีโอได้ในความละเอียดระดับ HD รองรับการแชร์หน้าจอหลายจอพร้อมกัน มีระบบสลับภาพไปหาผู้พูดอัตโนมัติ รองรับการบันทึกการสนทนาเป็นวิดีโอ จุดเด่นคือผู้ร่วมประชุมสามารถเข้าร่วมประชุมได้ทันทีโดยไม่ต้องมีบัญชีของ Zoom โดยในแพลนฟรีรองรับการซูมพร้อมกันสูงสุด 100 คน แต่มีการจำกัดระยะเวลาการประชุมไว้ที่ 40 นาทีต่อครั้ง

นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ อย่างการแบ่งห้องประชุมออกเป็นห้องย่อย ๆ, มีระบบการยกมือเพื่อแสดงตนว่ามีคำถาม, มีกระดานไวท์บอร์ดในตัว, สามารถแชร์หน้าจอของ iPhone และ iPad ได้ เป็นต้น

สำหรับการสนทนาด้วยข้อความก็กระทำได้ผ่าน Zoom Chat ซึ่งก็มีความสามารถในการแบ่งสมาชิกออกเป็นห้อง ๆ ได้เช่นเดียวกับบริการอื่น ๆ อีกทั้งยังรองรับการส่งไฟล์ด้วย

หากกำลังมองหาซอฟต์แวร์สำหรับการประชุมทางไกลโดยเฉพาะ Zoom ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจด้วยคุณสมบัติในแพลนฟรีที่มีให้มากมาย อย่างที่กล่าวมาข้างบนนี้ก็เป็นของแพลนฟรีทั้งสิ้น แต่หากต้องการคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น URL พิเศษหรือขยายเวลาการประชุม ก็สามารถอัปเกรดได้

ราคา: เริ่มต้นที่ฟรี
เว็บไซต์, เปรียบเทียบแพลน

Cisco Webex

ด้วยชื่อ Cisco หลายคนอาจจะติดภาพอุปกรณ์เครือข่ายหรืออุปกรณ์สำนักงานระดับโปรต่าง ๆ แต่ Cisco เองก็มีชุดซอฟต์แวร์สำหรับการคุยงานที่สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานที่บ้านกันได้อย่างง่ายดายด้วย ในชื่อ Webex

Webex Teams เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการติดต่อสื่อสารภายในทีมที่ใช้งานได้ฟรี สามารถแบ่งสมาชิกออกเป็นทีมและแบ่งย่อยเป็นห้อง ๆ ได้ เวลาส่งข้อความก็สามารถดูได้ว่าใครอ่านแล้ว สามารถแชร์ไฟล์ และมีฟีเจอร์ไวท์บอร์ดให้ใช้งาน

Webex Teams รองรับการทำงานร่วมกับบริการอย่าง Asana, Trello, Zendesk, Jira, SharePoint และ Google Drive ได้ เป็นต้น

สำหรับการประชุมก็มี Webex Meetings ให้ประชุมร่วมกันสูงสุด 100 คนโดยไม่จำกัดเวลา (สามารถอัปเกรดได้หากต้องการเพิ่มจำนวน) รองรับการแชร์หน้าจอ การบันทึกการสนทนาเป็นวิดีโอ การสลับภาพไปยังผู้พูดอัตโนมัติ มีระบบโพลล์และยกมือ ฟีเจอร์เหล่านี้สามารถใช้งานได้เลยในแพลนแบบฟรี

หากใช้อุปกรณ์ของ Cisco ภายในองค์กรอยู่แล้ว ก็จะสามารถเริ่มการประชุมหรือเข้าร่วมการประชุมผ่านอุปกรณ์วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของ Cisco หรือโทรศัพท์ SIP ได้โดยตรงด้วย

ราคา: เริ่มต้นที่ฟรี
เว็บไซต์, เปรียบเทียบแพลน

Hangouts/Hangouts Meet

สำหรับการสนทนาง่าย ๆ Google Hangouts ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้งานได้รวดเร็วและฟรี ไม่ได้มีฟีเจอร์มากมายซับซ้อน รองรับการสนทนาด้วยวิดีโอพร้อมกันสูงสุด 25 คน รองรับการแชร์หน้าจอและการพิมพ์ข้อความแชต หรือหากใช้ G Suite อยู่ก็จะสามารถเข้าไปใช้งาน Hangouts Meet ได้ ซึ่งรองรับถึง 100-250 คนตามประเภทแพลน และยังเพิ่มความสามารถในการบันทึกการสนทนาเข้ามาด้วย

ราคา: เริ่มต้นที่ฟรี
เว็บไซต์, เปรียบเทียบแพลน

ด้วยซอฟต์แวร์เหล่านี้ ไม่ว่าจะองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ก็สามารถค่อย ๆ ขยับเข้าสู่วิถีการทำงานแบบรีโมตกันได้ไม่ยาก นอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อไวรัสจากการออกไปพบปะกับผู้คนในที่สาธารณะแล้ว ก็ยังเป็นการโอกาสในการเตรียมความพร้อมองค์กรเข้าสู่ยุคที่สามารถทำงานจากที่ใดก็ได้อีกด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...