ย้อนเวลากลับไปเมื่อราวๆ ปี 1999 - 2001 มีบริการฟังและดูดเพลงบนอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่าง Napster ผู้เขียนเป็นคนนึงที่ติดตั้งซอฟแวร์ดังกล่าวไว้บนเครื่อง ภาพบรรยากาศในห้องแลปตอนทำวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยหวนกลับคืนมาอีกครั้ง ในเวลานั้นเพลง mp3 กำลังเฟื่องฟู ซึ่งเราสามารถแชร์ให้กับเพื่อนๆ ทั่วโลกที่ลงโปรแกรม Napster ไว้ในเครื่องเหมือนกันได้ดูดและนำไปฟังได้ เพลงไหนว่าหายากๆ ลองค้นหาไป มันต้องเจอสักเครื่องสินะที่มีรสนิยมเพลงแบบเรา แต่แน่นอนเพลงเหล่านั้นไม่ถูกลิขสิทธิ์ ธุรกิจมีปัญหาตามมาอีกมากมาย สุดท้าย Napster ก็ถูกซื้อกิจการไปในเวลาต่อมา
Napster เกิดจากคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าสุดๆ ในเวลานั้นอย่าง Sean Parker ชื่อคุ้นๆ ไหม? ใช่แล้วเค้าก็คือคนที่เห็นโอกาสการเติบโตของ Facebook ตั้งแต่ยุคแรกๆ และมาเป็น Board of Directors ที่นั่น และยังเป็นนักลงทุนในบริษัทอย่าง Spotify, Asana, Yammer (ขายไปให้กับ Microsoft) เป็นต้น Napster เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการนำโมเดล Peer-to-Peer มาใช้ในวงการอุตสหกรรมเพลงเลยทีเดียว ที่ไม่ต้องมีการรวมศูนย์ (decentralization) ทุกคนดึงเพลง แชร์เพลงจากเครื่องของแต่ละคน และเมื่อพูดถึง decentralization การไม่รวมศูนย์ในยุคนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาขับเคลื่อนบริการใหม่ๆ ในปัจจุบันอย่าง Blockchain
Jamie Burke Founding Partner แห่ง Blockstars ธุรกิจด้าน Blockchain Business Production Studio กล่าวถึงบทเรียนที่ Blockchain สามารถเรียนรู้ได้จากยุค Napster ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่า ในช่วงแรก Napster ก็เป็นแค่เพียง Algorithm ง่ายๆ ที่เปิดให้คนสามารถแชร์เพลงในรูปแบบของ Peer-to-Peer Network กันโดยตรง หลังจากที่มีการเติบโตของผู้ใช้กว่า 30 ล้านคนต่อเดือน แน่นอนก็เป็นที่จับตาของธุรกิจค่ายเพลงในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ วงดังอย่าง Metallica ก็โดนเข้าไปเต็มๆ กับเพลง I Disappear ซึ่งถูกเผยแพร่บน Napster ก่อนที่ทางค่ายจะวางขายจริงเสียเอง มารู้อีกที เอ้าาา! เปิดตามคลื่นวิทยุกันเพียบเลย... สุดท้ายโดนฟ้องอย่างจังจาก สมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น
สำหรับ Blockchain Startups แล้ว ช่วงเวลานี้หลายๆ บริษัทก็ยังอยู่ในโซนเทาๆ เป็นการให้ผู้ใช้เชื่อมต่อกันโดยตรงในสภาพแวดล้อมแบบ Peer-to-Peer ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าท้ายและจำกัดความกฏหมายใหม่ที่อาจจะมาในอนาคต เขายกตัวอย่างเช่น ถ้าทำให้ธนาคารทั้งหมดเป็นแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized bank) และใช้แต่ Crypto-Currency อย่างเดียว ถ้าเป็นในอังกฤษต้องขอใบอนุญาตจาก FCA (Fincial Conduct Authority) หรือไม่? ก็คิดว่าคงต้องขอ..
Napster อาจต้องใช้ความพยายามในการให้โมเดล Decentralized แอปพลิเคชั่นสามารถเกิดขึ้นได้ แบบถูกต้อง แน่นอนว่า Napster ปฏิวัติวงการธุรกิจเพลง แต่ iTunes กับเปลี่ยนให้การปฏิวัติวงการให้กลายเป็นโมเดลธุรกิจได้ อันนี้สิน่าสนใจกว่า คนที่ปฏิวัติวงการและทำให้เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจได้คือ Deal Makers อย่าง Jobs บทเรียนนี้อาจสะท้อนถึงธุรกิจ Blockchain ในอนาคตว่าจะเติบโตอย่างไร เริ่มจากกลุ่มสาย Early Adopters กลุ่ม Geek กลุ่ม Hacker และจะมี Deal Makers เข้ามาผลักดันให้เกิดวิวัฒนาการในเชิงธุรกิจได้ตามหลัง
ว่าไปแล้วรายที่มาฆ่า Napster ไม่ให้เกิดต่อ เป็นเพียงเพราะแค่เขาถือสิทธิการเป็นศูนย์กลาง (Centralization) ที่จะโจมตีได้ แต่สำหรับ Blockchain Startups มีศักยภาพและโอกาสเติบโตมากกว่านั้น แต่ก็มาพร้อมความท้าทายว่าจะสร้างให้เกิดโมเดลธุรกิจได้อย่างไรบ้าง แม้ Napster จะออกมาอ้างว่ามันเป็นเครื่องมือ แต่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้หารายได้ แต่เราคงไม่ได้อยากซ้ำรอยแบบนั้นจริงไหม Jamie Burke ยังทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า "More renovation than disruption. More reformation than revolution" การงัดข้อตรงๆ อาจจะไม่ดีเสมอไปก็เป็นได้ หาโมเดลที่มีจุดร่วมและสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจจริงสิน่าสนใจกว่าโดยยึดเอาประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าเป็นที่ตั้ง
เรียบเรียงจาก blockstars.io ภาพจาก Mashable
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด