Paper Company คือ บริษัทที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารทางกฎหมายครบถ้วน แต่ไม่มีการดำเนินงานจริง เช่น ไม่มีอาคารที่ตั้ง ไม่มีพนักงาน รวมถึงไม่มีการสร้างรายได้เข้าบริษัท จึงถูกเรียกว่า Paper Company หรือบริษัทที่มีอยู่จริงแค่บนกระดาษ
เนื่องจากประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า (Progressive Taxation) คือ มีการกำหนดฐานการเก็บภาษี เพราะฉะนั้นถ้าบริษัทไหนมีกำไรมาก = มีฐานภาษีสูง ก็จะต้องเสียภาษีสูงตามไปด้วย
หลายบริษัทจึงใช้ Paper Company ในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสูง ๆ ซึ่งมักจะไปจดทะเบียนบริษัทกันในประเทศที่เก็บภาษีน้อยหรือปลอดภาษี เช่น การที่บริษัทแม่ที่มีผลกำไรสูง อาจย้ายผลกำไรไปไว้ที่ Paper Company ของตัวเองในประเทศที่เสียภาษีต่ำกว่า เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน, หมู่เกาะเคย์แมน, หรือในเอเชียอย่างสิงคโปร์
บางบริษัทก็ใช้เป็นทางผ่านในการนำเงินไปลงทุนในตลาดต่างประเทศเพื่อประหยัดภาษี เพราะในบางประเทศ ธุรกิจหรือการลงทุนบางประเภทมีอัตราการเสียภาษีต่ำกว่า ทำให้การจัดตั้ง Paper Company ในประเทศเหล่านี้ นักลงทุนหรือบริษัทใหญ่ ๆ จึงนิยมใช้เพื่อลดค่าภาษี
ตัวอย่างเหตุการณ์ Paper Company ที่ดังไปทั่วโลก คือ Panama Papers เหตุการณ์เริ่มต้นจากเอกสารกว่า 11.5 ล้านฉบับรั่วไหลจากสำนักงานกฎหมาย Mossack Fonseca โดยบริษัทนี้เป็นที่ปรึกษาการเงิน และรับจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company) ในเอกสารที่หลุดออกเปิดเผยข้อมูลที่เศรษฐีและนักการเมืองหลายร้อยคนทั่วโลกหลบเลี่ยงภาษี และซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ที่ต่างประเทศ
โดยมีบริษัท Mossack Fonseca ช่วยดำเนินการจดทะเบียนบริษัท ปกปิดธุรกรรม และซุกซ่อนทรัพย์สิน ซึ่งจะเก็บค่าธรรมเนียมกับลูกค้าเป็นรายปี มีผู้นำ นักการเมือง และคนมีชื่อเสียงระดับโลกมากมายที่มีรายชื่ออยู่ในเอกสาร เช่น Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย, Petro Porochenko ประธานาธิบดียูเครน หรือ Lionel Messi นักฟุตบอลผู้โด่งดัง
พบว่าพวกเขาเหล่านี้โยกย้ายทรัพย์สินบางส่วนมาไว้ที่บริษัท Paper Company ที่จดทะเบียนไว้ที่เกาะ British Virgin และปานามา โดยปกปิดชื่อเจ้าของทรัพย์สินและบางกรณีใช้ชื่อผู้แทน เพื่อไม่ให้ตัวเองเชื่อมโยงกับทรัพย์สินโดยตรง เพราะต้องการเลี่ยงภาษี
การจดทะเบียนบริษัทของ Paper Company ไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นบริษัทที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารทางกฎหมายครบถ้วน เพียงแค่ไม่ได้มีการดำเนินงานภายในเท่านั้น
แต่สิ่งที่จะชี้ได้ว่าผิดกฎหมายคือ เจตนาที่นำไปใช้ หากนำไปใช้เพื่อทำทุจริต เช่น ใช้เพื่อเลี่ยงภาษี ซุกซ่อนทรัพย์สิน ก็จะถือว่าผิดกฏหมาย ดังนั้นการที่ Paper Company จะผิดกฎหมายจึงขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ใช้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของบริษัทนั่นเอง
ถึงแม้ว่า Paper Company จะถูกใช้เพื่อเลี่ยงภาษีมากที่สุด แต่ยังคงมีอีกแง่มุมที่หลาย ๆ ธุรกิจใช้มันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การใช้ Paper Company เพื่อเป็นเครื่องมือจัดเก็บและจัดการเงินทุนก่อนที่บริษัทตัวจริงจะเปิดอย่างเป็นทางการ ซึ่งบริษัท Startup บางแห่งใช้วิธีนี้ในการแยกเงินทุนออกจากค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มันช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนการใช้เงินได้ง่ายกว่าการทำธุรกรรมจากบัญชีเจ้าของโดยตรง
หรือบางบริษัทใช้เพื่อแบ่งแยกและจัดระเบียบทรัพย์สิน เมื่อบริษัท 2 แห่งต้องการควบรวมกิจการมักจะมีทรัพย์สินบางส่วนที่ไม่ต้องการควบรวมกัน ดังนั้น Paper Company จะถูกใช้เพื่อให้บริษัททั้ง 2 โยกย้ายทรัพย์สินส่วนตัวของบริษัทไปเก็บเอาไว้ ทำให้เมื่อควบรวมกิจการแล้วแต่ละบริษัทจะรู้ว่าทรัพย์สินส่วนไหนเป็นของส่วนกลาง และทรัพย์สินส่วนไหนเป็นของส่วนตัวของบริษัท
สุดท้ายแล้ว Paper Company ก็ไม่ใช่ธุรกิจสีเทา เพียงแต่ว่านักการเมืองหรือนักธุรกิจส่วนใหญ่ใช้มันเพื่อการทุจริตและเลี่ยงภาษี จนทำให้เกิดภาพจำว่า Paper Company เป็นกลโกงของนักธุรกิจ ทั้งที่จริง ๆ แล้วสามารถนำไปใช้ในทางที่ถูกกฎหมายได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิง: thelawdictionary, businessinsider, investopedia, theguardian, wallstreetmojo, smartasset
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด