Telegram คืออะไร ปลอดภัยแค่ไหน มีอะไรเด่น | Techsauce

Telegram คืออะไร ปลอดภัยแค่ไหน มีอะไรเด่น

ในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันส่งข้อความให้เลือกใช้หลายแอป ไม่ว่าจะเป็นแอปยอดฮิตในไทยอย่าง LINE แอปสากลอย่าง WhatsApp หรือแอปสายจีนอย่าง WeChat และอีกแอปหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ใครก็คือ Telegram

Telegram คืออะไร

Telegram เป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ก่อตั้งโดยสองพี่น้องชาวรัสเซีย ชื่อ Pavel Durov และ Nikolai Durov ในปี 2013 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ให้กำเนิด "VK" เครือข่ายสังคมออนไลน์สัญชาติรัสเซียมาแล้ว

ด้านโมเดลธุรกิจ Telegram เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้ฟรี 100 เปอร์เซ็นต์โดยไม่มีทางเลือกให้ต้องจ่ายค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น โดยมี Pavel เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนจำนวนมหาศาล Telegram ให้ข้อมูลว่าเงินจำนวนนี้ยังเพียงพอ แต่หากประสบปัญหาในอนาคตก็อาจเพิ่มทางเลือกแบบเสียเงินเข้ามา อย่างไรก็ตาม Telegram จะไม่พุ่งเป้าที่การแสวงผลกำไร

เมื่อเดือนเมษายน 2563 Telegram มีผู้ใช้ต่อเดือนอยู่ที่ 400 ล้านคน มีผู้ใช้ใหม่อย่างต่ำ 1.5 ล้านคนต่อวัน และมีสติ๊กเกอร์ให้ใช้งานกว่า 2 แสนชุด

Telegram ปลอดภัยแค่ไหน

Telegram โฆษณาตัวเองว่ามีความปลอดภัยกว่าแอปพลิเคชันกระแสหลักอย่าง WhatsApp และ LINE แม้ว่าทั้ง WhatsApp และ LINE ต่างก็มีการเข้ารหัสแบบปลายทางเป็นค่าตั้งต้นก็ตาม ต่างจาก Telegram ที่จะเข้ารหัสปลายทางก็ต่อเมื่อใช้ฟีเจอร์ Secret Chats

ในการสนทนาทั่วไป (ส่วนตัวและแบบกลุ่ม) Telegram ใช้รูปแบบการส่งและเข้ารหัสข้อมูลแบบฉบับของตัวเองในชื่อ MTProto (รุ่น 2.0 ณ วันที่เขียนบทความ) ซึ่งมีการเข้ารหัสระหว่างเซิร์ฟเวอร์และเครื่องผู้ใช้ ก่อนที่จะมีการรับ-ส่งข้อมูลหากัน ด้วยกุญแจเข้ารหัสหลายระดับ โดยตัวข้อความจะได้รับการเข้ารหัสแบบ SHA-256 ก่อนเป็นขั้นแรก และมีการประกอบกับอีกหลายกุญแจทั้งแบบ 64, 128 และ 256 บิตในขั้นถัดๆ ไป สุดท้ายแล้วจะใช้การเข้ารหัสแบบ AES-256 ก่อนส่งข้อมูลออกไป

กุญแจ 2048 บิตที่เครื่องผู้ใช้ใช้ในการคุยกับเซิร์ฟเวอร์นั้นจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เชื่อมต่ออุปกรณ์ใหม่เข้ามาเป็นครั้งแรก โดยจะไม่มีการส่งกุญแจนี้ข้ามผ่านเครือข่ายแต่อย่างใด

นอกจากการเข้ารหัสแล้วก็ยังมีตัวแปรด้านเวลามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เวลาของเครื่องผู้ใช้ต่างกับเวลาเซิร์ฟเวอร์มากเกินไป เซิร์ฟเวอร์ก็จะไม่สนใจข้อความดังกล่าว และมีการใช้ salt (ชุดข้อมูลสำหรับการยืนยันและเข้ารหัสข้อมูล) ที่เปลี่ยนแปลงทุก 24 ชั่วโมง

สำหรับการสนทนาที่เป็นโหมด Secret Chats และการโทรนั้นจะเสริมความปลอดภัยขึ้นมาอีกชั้น ใช้การเข้ารหัสแบบปลายทาง (end-to-end encryption) ซึ่งจะเป็นการเข้ารหัสตั้งแต่ผู้ส่ง แล้วไปแกะเอาที่ผู้รับ ด้วยกุญแจที่สร้างขึ้นในการสนทนาแต่ละครั้งสำหรับแต่ละเครื่อง โดยไม่มีการแกะข้อความเมื่อผ่านตัวกลาง (เซิร์ฟเวอร์) และใช้การเข้ารหัสแบบ AES-256 เช่นเดียวกัน

telegram native apps

ด้านความโปร่งใส ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูโค้ดต้นฉบับของแอปเวอร์ชันสำหรับระบบปฏิบัติการต่างๆ และดูรายละเอียดของโปรโตคอล MTProto ได้

ตั้งแต่ปี 2014 ถึงปัจจุบัน มีรายงานช่องโหว่ของ Telegram ปรากฏบนเว็บไซต์ CVE Details จำนวน 9 รายการ ซึ่งร้อยละ 78 นั้นเป็นความรุนแรงระดับต่ำ

แม้จะมีการระงับเนื้อหาสาธาณะ (สติ๊กเกอร์, แชตกลุ่ม และบอท) ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามคำขอเมื่อมีการรายงานเข้ามา แต่ Telegram มีจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยจะ 'ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเซ็นเซอร์ที่มีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง' (Telegram won't be a part of such politically motivated censorship)

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

Telegram มีฟีเจอร์พื้นฐานสำหรับแอปแชต อย่างเช่นการส่งข้อความแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม การส่งรูปภาพ ส่งไฟล์ อัดเสียง ส่งสติ๊กเกอร์ โทรด้วยเสียง โทรแบบวิดีโอ เป็นต้น และยังมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิ

  • Secret Chats สนทนาในแบบเข้ารหัสปลายทาง ตั้งเวลาลบข้อความได้
  • ใช้งานได้หลายอุปกรณ์พร้อมกัน (ยกเว้น Secret Chats จะได้เพียงเครื่องต่อเครื่อง)
  • ส่งข้อความแบบตั้งเวลา ส่งข้อความเมื่ออีกฝ่ายออนไลน์ ส่งข้อความแบบไม่ต้องแจ้งเตือน
  • สติ๊กเกอร์ฟรีทั้งหมดทั้งแบบนิ่งและเคลื่อนไหว และสร้างสติ๊กเกอร์เองได้
  • สร้างกลุ่มที่มีแอดมินได้ สมาชิกสูงสุดได้ 200,000 คน และซ่อนแอดมินเป็นแบบไม่ระบุตัวตนได้
  • สร้างชาแนลสำหรับส่งข้อความหาผู้รับพร้อมกันได้ไม่จำกัดสมาชิก
  • ส่งพิกัดแบบสดๆ ได้
  • ส่งวิดีโอคลิปสั้นๆ ได้เหมือนอัดเสียง
  • แบ่งแชตออกเป็นหมวดหมู่ได้
  • ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้หลากหลาย ใครเห็นเบอร์โทรได้บ้าง ใครเห็นรูปโปรไฟล์ได้บ้าง ใครเห็นเวลาออนไลน์ได้บ้าง เป็นต้น
  • สร้างธีมเองได้ มีโหมดมืดอัตโนมัติทั้งแบบตั้งเวลาและแบบตามแสงภายนอก
  • เข้าใช้งานผ่านเบราว์เซอร์ได้
  • แอนิเมชั่นและทรานซิชั่นลื่นไหล
  • ลบแคชของภาพ วิดีโอ เสียง ไฟล์ดาวน์โหลด แยกกันได้ และตั้งเวลาลบอัตโนมัติได้
  • ลิงก์ที่ส่งในแชตบางลิงก์จะแสดงในแบบ Instant View ได้ คือแสดงเนื้อหาโดยไม่ต้องแสดงเป็นหน้าเว็บนั้นๆ ขึ้นมา ทำให้เปิดเนื้อหาได้เร็วแทบจะทันที
  • เพิ่มบอทเข้าสู่กลุ่มได้ เช่น บอทแปลภาษา บอทเกม UNO บอทนับเวลาถอยหลัง เป็นต้น
  • มีลูกเล่นซ่อนไว้หลายรายการ เช่น ส่งอิโมจิลูกเต๋าเพื่อทอยลูกเต๋า

นอกจากกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว Telegram ยังเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชุมนุมในการประท้วงต่างๆ ด้วย เช่น ในฮ่องกง เบลารุส และในประเทศไทยเอง ซึ่ง Telegram ก็รับทราบถึงกลุ่มผู้ใช้นี้และได้พัฒนาฟีเจอร์ให้รองรับการใช้งานประเภทนี้ด้วย เช่น ซ่อนแอดมินกลุ่มเป็นแบบไม่ระบุตัวตน เป็นต้น

แหล่งข้อมูล: Telegram

อ่านเพิ่มเติม วิธีปกปิดตัวตนบน Telegram เปลี่ยนชื่อและซ่อนเบอร์โทรอย่างไร?

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...