ประเทศไทย กับบทเรียนจากประเทศที่มีสตาร์ทอัปหนาแน่นที่สุดในโลก | Techsauce

ประเทศไทย กับบทเรียนจากประเทศที่มีสตาร์ทอัปหนาแน่นที่สุดในโลก

บทเรียนจากอิสราเอล และการปรับใช้กับประเทศไทย - จากช่วงเสวนากับเหล่า "Big Four" ในงาน Techsauce Summit 2016 ที่รวมเอา (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศไทย หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าจากสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และประธานกรรมการบริหารทรูคอร์ปอเรชั่น สรุปได้ว่าถ้าเราจะเปรียบเทียบความเหมือนความต่างระหว่างอิสราเอล กับประเทศไทย ทั้งคู่เป็นประเทศที่มีอัตรา GDP พอๆกัน และประเทศไทยก็มีทุกอย่างที่อิสราเอลมี ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ แต่เมื่อมองถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น ประเทศขวานทองของเรายังคงล้าหลังอยู่มาก และสิ่งสำคัญหลักที่จะทำให้เติบโตได้ คือการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดให้ทำงานอย่างฉลาดขึ้น และสร้างคุณค่าให้กับสินค้าได้มากขึ้น

ช่วงเสวนากับคุณกรณ์ จาติกวณิช - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศไทย, คุณศุภชัย เจียรวนนท์ - ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), และ คุณบารัค ชาราบี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าจากสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ดำเนินรายการโดย คุณสุทธิชัย หยุ่น - กรรมการบริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น

เปรียบเทียบความต่างเชิงเศรษฐกิจของอิสราเอล และไทย

ถึงแม้อิสราเอลจะเป็นประเทศน้องใหม่ ที่มีประชากรแค่ 8 ล้านคน (หรือน้อยกว่าหนึ่งในสิบของประชากรไทย) แต่อิสราเอลมี GDP ประมาณ 305 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2015 ใกล้เคียงกับของไทยที่ 395.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีเดียวกัน [Source: Tradingeconomics.com] ไม่เพียงแค่นั้นเพราะอิสราเอลมีอัตราความหนาแน่นของจำนวนสตาร์ทอัปมากที่สุดในโลก และในแง่ของเงินร่วมลงทุนหรือ VC ที่เมือง เทลอาวีฟ ก็ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากแค่ซิลิคอนแวลลีย์อีกด้วย ลองมาดูกันว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรบ้างระหว่างการเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยมาก กับการมีอัตราสตาร์ทอัปและ GDP สูง

“ประเทศไทยมีศักยภาพมากในฐานะประเทศผู้ผลิตอันดับ 23 ของโลก” คุณบารัค ชาราบี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าจากสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าว

“ผมเชื่อว่า ประเทศไทยควรจะนำเอาบางอย่างจากอิสราเอลมาปรับใช้ ทั้งการจัดการอย่างทรัพยากรและความคิดสร้างสรรค์ พวกคุณมีมหาวิทยาลัยที่น่าอัศจรรย์อย่างจุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ และอื่นๆ พวกคุณแค่ต้องรู้วิธีการสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้”

“ในอิสราเอล เราเรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งสามหน่วยควรร่วมมือกันให้การสนับสนุน ecosystem ของวงการสตาร์ทอัป” นายบารัคกล่าว

ในปี 1993 ค่าจ้างแรงงานในอิสราเอลเริ่มเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนสำหรับ VC ชื่อ Yozma เพื่อเป็นความริเริ่มและความหวังใหม่สำหรับประชาชน และด้วยการสนับสนุน คำแนะนำ และการเงิน จากภาครัฐสู่ภาคธุรกิจนี้เองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

“ในช่วงปี 1980 มีประชากรอิสราเอลถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกษตรกร เทียบกับในปัจจุบันที่มีเพียงแค่  1-1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้อิสราเอลสร้างผลผลิตได้เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า จากที่เคยทำได้ในช่วงที่มีเกษตรกร 20 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยก็ควรจะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงแบบนั้นเช่นกัน ในตอนนี้ประเทศไทยมีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ทำงานเชิงเกษตรกรรม พวกคุณต้องเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและพืชผล สำหรับประเทศไทย นี่คืออาหารก็จริง แต่คุณก็ยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ” เขาย้ำ “พวกคุณต้องเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ยิ่งเมื่อประเทศอย่างเวียดนาม หรือพม่า กำลังผลิตสินค้าคล้ายๆ กันด้วยค่าแรงที่ถูกกว่า ถึงแม้ว่าคุณภาพจะต่างกัน แต่ก็นับว่าเป็นการแข่งขันทางธุรกิจ”

IMG_2808

วิกฤตการณ์สังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า และข้อมูลสถิติอื่นๆ ของประเทศไทย

ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างร้ายแรง ในตอนนี้ อัตราส่วนระหว่างกลุ่มคนทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานคือ 4 ต่อ 1 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย และอัตราส่วนกำลังจะลดลงเหลือเพียง 2 ต่อ 1 ในเวลาไม่ถึง 20 ปี

ประเทศไทยเหลือเวลาไม่มากแล้ว “จากตัวเลขระบุว่า คุณต้องทำงานหนักขึ้นเป็นสองเท่า หรือไม่ก็ฉลาดขึ้นเป็นสองเท่า ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว” คุณกรณ์ จาติกวณิช - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศไทยกล่าว “ผมคงเลือกทำงานให้ฉลาดขึ้นเป็นสองเท่าดีกว่า เพราะถ้าเลือกทำงานหนักขึ้นสองเท่า หมายความว่าคุณต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นสองเท่าด้วยเช่นกัน เพื่อไปจ่ายค่าดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทางเดียวที่จะทำได้คือการทำงานอย่างฉลาดขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยใช้เทคโนโลยี"

คุณกรณ์พูดถึงสถิติอีก 2 ข้อ

  • ปัจจุบันมี 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทำเกษตรกรรม แต่ทำมูลค่าเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งหมด
  • ประเทศไทยเป็นประเทศแห่ง SME มีประชากรที่ทำงานในธุรกิจ SME ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกัน SME เอง กลับเป็นกลุ่มที่เข้าถึงเงินทุนได้ยากที่สุด

สำหรับคุณกรณ์ ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่พอเหมาะพอดีกับธุรกิจสตาร์ทอัป โดยเฉพาะประเภทฟินเทค (เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงิน) ที่จะช่วยพัฒนาระบบเศรฐกิจประเทศไทยได้อีกมาก และยังมีศักยภาพที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์สังคมผู้สูงอายุได้อีกด้วย

“ผมคิดว่าฟินเทค คือการปฏิวัติประเทศไทย” คุณกรณ์ จาติกวณิช - ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ก่อตั้งชมรมฟินเทคแห่งแรกของประเทศไทย (The FinTech Club of Thailand) กล่าว “สำหรับประเทศที่มีบัญชีกว่าหลายล้านบัญชีที่ยังต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ มีอีกหลายอย่างที่สตาร์ทอัป และฟินเทคจะช่วยพัฒนา ช่วยลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพของระบบการเงินได้”

คุณกรณ์ถือว่าฟินเทคเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ถึงเราจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่ดีเลิศ และอัตราการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกขึ้น แต่ฟินเทคจะทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์และทำเงินจากข้อมูลเหล่านั้นได้

“สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้นคือการสร้างมูลค่าให้กับข้อมูลเหล่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ Alibaba ทำมาโดยตลอด พวกเขาเห็นการค้าทั้งหมดผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ และสิ่งที่พวกเขาทำช่วยให้สามารถระบุเจ้าบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งมีทั้งข้อมูลการค้าขาย และข้อมูลทางการเงิน ในตอนนี้พวกเขาก็ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท SME และสามารถทำได้อย่างราบรื่นเพราะได้เห็นข้อมูลการซื้อขายทั้งหมดในระบบแล้ว นั่นหมายถึงพวกเขาเข้าถึงข้อมูลทางการเงินแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนคือระดับบุคคล สิ่งที่อาลีบาบาทำคือวิธีการทำเงินจากข้อมูล นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่เราก่อตั้งชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย เพราะจริงๆแล้วมันมีข้อมูลอยู่แล้ว แค่ยังไม่ได้ถูกรวบรวมมาให้เราเข้าถึง สามารถใช้ประโยชน์และทำเงินจากตรงนั้นได้”

IMG_2812

อะไรคือสิ่งที่อิสราเอลทำไปแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่ม

ประเทศไทยจะสามารถเป็นประเทศสำหรับสตาร์ทอัปเหมือนกับอิสราเอลได้หรือไม่ และเราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เป็นแบบนั้นได้ ผู้ร่วมอภิปรายให้คำแนะนำว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศสำหรับสตาร์ทอัปอยู่แล้ว แต่ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยพัฒนาให้เราไปถึงจุดนั้นได้เร็วขึ้น

  • บุคคลากรที่มีความรู้ - คุณกรณ์ได้ไปเยี่ยมชมอิสราเอลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากการดูแลของคุณบารัค เขาสังเกตว่าภูมิประเทศของอิสราเอลไม่ได้มีส่วนช่วยนำไปสู่ระบบการชลประทาน แต่ชาวนาที่นั่นมีน้ำใช้ตลอดวันตลอดปี “เรามีน้ำเหลือใช้มากมาย แต่ก็ยังประสบปัญหาภัยแล้ง” คุณกรณ์ให้ความเห็น “ทั้งสองประเทศสามารถทำหลายสิ่งร่วมกันได้ และสิ่งที่อิสราเอลทำสำเร็จไปแล้ว เราก็ทำได้เช่นกัน เพราะว่าเรามีทรัพยากร สิ่งที่อิสราเอลมีแต่ประเทศไทยยังไม่มี ก็คือบุคลากรที่ได้รับการศึกษาในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีชาวนาน้อยลง แต่ชาวนาของเราควรใช้เทคโนโลยีได้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพ ซึ่งตรงนี้สามารถนำไปใช้ได้กับหลายภาคส่วนเช่น โทรคมนาคม ยังมีอีกหลายอย่างที่เราสามารถทำได้ดีขึ้น”

 

  • ความกระตือรือร้นและการตระหนักรู้ - ประเทศไทยยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ เช่น ระบบชลประทานและระบบโลจิสติกส์ การจัดการการส่งสินค้า ข้อมูล หรือทรัพยากร เพราะการที่อิสราเอลขาดแคลนทรัพยากร และยังมีความเสี่ยงอื่นๆอีก ทำให้พวกเขาต้องเข้มแข็งและส่งเสริมการริเริ่มนวัตกรรม แต่ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่สวยงาม มีพร้อมทั้งสิ่งแวดล้อม และความสมบูรณ์ทางทรัพยากร ทำให้เราขาดความกระตือรือร้นไป“ประเทศไทยเป็นแหล่งรวมของประชากรที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ เป็นประเทศเปิดที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ซึ่งนั่นเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับการเป็นประเทศแห่งสตาร์ทอัป ฮวงจุ้ยของเราถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราจัดการระบบ ecosystem ให้เหมาะสม และส่งเสริมกลุ่มคนที่มีความสามารถทั่วประเทศ เราก็จะสามารถเป็นประเทศแห่งสตาร์ทอัปได้”

 

  • ความอดทนต่อความล้มเหลว - คุณบารัคชี้ให้เห็นว่า อีกสิ่งที่ทำให้อิสราเอลประสบความสำเร็จคือพลังใจ เพราะอิสราเอลมีความอดทนสูงต่อความล้มเหลว “นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก” คุณบารัคกล่าว “สตาร์ทอัปมีอัตราความสำเร็จต่ำมาก มีหลายคนที่ไม่สำเร็จ ผมเชื่อมั่นมากในคนและวิธีการปฏิบัติงาน ถึงแม้ว่าเราล้มเหลว แต่มันก็โอเค เพราะเราได้เรียนรู้ และเราจะกลับมาใหม่ เรามีสิ่งที่เรียนว่า ‘ช่วงเวลาที่รุ่งเรือง’ คนที่ทำเงินได้จะกลับไปลงทุนกับเพื่อน หรือลงทุนในธุรกิจอื่นๆ คุณเข้ามาและเปลี่ยนแปลงตลาดได้ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด คุณจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก พวกเขาต้องการคุณ เพราะเขาไม่สามารถสร้างทุกอย่างเองได้”

 

  • "สิ่งที่อิสราเอลมีแต่เราไม่มี... ผมคิดว่ามันก็คือแรงกระตุ้น หรือความรู้สึกเป็นหมู่คณะในประเทศ" คุณศุภชัย เจียรวนนท์ - ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว “ไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่สามารถพัฒนาไปแบบอิสราเอลได้ แต่จะโตในแบบที่แตกต่างออกไป ประเทศเราต่างไปตรงที่ว่า เราเข้มแข็งมาก เราสามารถจั๊มพ์สตาร์ทได้ โดยที่เราไม่ต้องไปคิดค้นล้อแบบใหม่ คนไทยสามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ หรือเจ้าของกิจการที่อายุน้อยได้ทั่วภูมิภาค เราสามารถตามทันได้เร็วมาก เรามีมันสมองเท่ากัน สิ่งที่เหลือคือการเรียนรู้ เราต้องละทิ้งการแบ่งกลุ่มพวกพ้อง แล้วมีสังคมกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น และใหญ่พอจะทำให้เรียนรู้อย่างเข้มแข็ง เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและความแข็งแกร่งของเรา อิสราเอลก็มีความแข็งแกร่งและสไตล์ของเขา เราถูกสร้างมาอย่างแตกต่าง แต่เราจะสามารถบรรลุผลสำเร็จจากวิธีที่ต่างไปแล้วให้ผลลัพธ์แบบเดียวกันได้” คุณศุภชัยกล่าว เขายังบอกอีกว่า เราจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้และแรงจูงใจที่เหมาะสม  มันจะไม่ตื่นเต้นที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในวงการเทคโนโลยี ถ้าไม่มีแรงจูงใจ เช่น เงินทุน Seed Fund หรือ Accelerator“เราต้องทำให้ผู้คนเห็นว่า พวกเขาสามารถทุ่มเทและโฟกัสที่ธุรกิจเหล่านี้ แล้วเติบโตได้ ซึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เพื่อดึงดูดเงินทุนจากไทย แต่จากทั่วโลก และเพื่อให้เป็นที่สนใจของคนไทย รวมถึงสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ในประเทศ เหมือนกับที่คุณกรณ์ได้พูดถึงชาวนา เรามีชาวนาปลูกพืชผลเดิมๆ ทุกปีเพราะเขารู้ว่ารัฐบาลสนับสนุนและรับประกันราคา พวกเขาก็ยังคงปลูกอยู่ถึงแม้ตลาดไม่ได้ต้องการผลผลิตเหล่านั้นก็ตาม แต่ถ้ารัฐบาลสนับสนุนเงินจูงใจให้ปลูกพืชผลตามให้เหมาะความต้องการของตลาด พวกเขาก็จะเริ่มเปลี่ยน เราต้องสร้างการตระหนักรับรู้อย่างต่อเนื่อง ผ่านแรงจูงใจที่ถูกต้อง” คุณศุภชัยสรุป

IMG_2843

ความเห็นปิดท้าย

ในช่วงท้าย คุณบารัคได้ความเห็นที่น่าสนใจอีกสองสามข้อสำหรับวงการสตาร์ทอัปไทย พร้อมเชิญชวนให้ไปชม startup ecosystem ของอิสราเอล และเรียนรู้จากตรงนั้น

“อิสราเอลอยู่ตรงนี้ตลอด เราเป็นพันธมิตรที่ดีของไทย เราจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนสตาร์ทอัปไทย ให้คำปรึกษา มาดูที่อิสราเอล เรามี ecosystem สำหรับสตาร์ทอัป หยิบโอกาสในชีวิตไว้ แล้วกล้าที่จะทำ” เขากล่าว “และสุดท้าย รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ (FPIs) นี่คือกลุ่มคนรุ่นต่อไปของประเทศไทย เราต้องแสดงให้เห็นว่าเราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร “สตาร์ทอัปจะช่วยแบ่งเบาภาระเศรษฐกิจได้อีกมาก และพวกเขาต้องการการสนับสนุน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดมุมมอง เมื่อการตลาดรวมเข้ากับเทคโนโลยี กับ Jeff Titterton CMO จาก Stripe

เปิดมุมมอง เมื่อการตลาดรวมเข้ากับเทคโนโลยี กับ Jeff Titterton CMO จาก Stripe...

Responsive image

AI ดมกลิ่นจาก osmo นวัตกรรมจมูกดิจิทัลเปลี่ยนโลก

หากเรามี AI ที่สามารถดมกลิ่นและแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ โลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร? นี่คือโจทย์ที่ Alex Wiltschko และทีม osmo กำลังพยายามพัฒนา...

Responsive image

รู้จัก AIS EEC ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล ที่พร้อมช่วยธุรกิจไทยทำ Digital Transformation และเติบโตอย่างยั่งยืน

AIS Business ขออาสาเป็นพันธมิตรช่วยธุรกิจไทยนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรอย่างราบรื่น และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจหรือ AIS EEC เป็นศูนย์กลางเรียนรู้และ...