ผู้เล่นระดับโลกใครร่วมมือกับใครลงสนามรถยนต์ไฟฟ้า - ยานยนต์ไร้คนขับบ้าง ? | Techsauce

ผู้เล่นระดับโลกใครร่วมมือกับใครลงสนามรถยนต์ไฟฟ้า - ยานยนต์ไร้คนขับบ้าง ?

ก้าวขึ้นมาอีกขั้นสำหรับกระแสของ รถยนต์ไฟฟ้า ที่ตอนนี้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเร่งหาพันธมิตรร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือยานยนต์ไร้คนขับอีกที่กำลังเป็นสเตปต่อมาที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลาย ล่าสุด โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ด้วยการประกาศเปลี่ยนรถของรัฐบาลกลางสหรัฐทั้งหมด ที่มีอยู่กว่า 650,000 คัน มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด จากการที่รัฐบาลชุดใหม่นี้ได้ให้ความสำคัญกับเมกะเทรนด์ขอบโลกอย่างพลังงานสะอาดค่อนข้างมาก 

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าประเด็นของสิ่งแวดล้อม ถือเป็นส่วนหลักที่ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันเรื่องของยานยนต์ไร้คนขับ ก็ตามมาด้วย Pain Point ในอีกมิติหนึ่งเช่นกันที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง จากการเติบโตอย่างรวดเร็วเรวของเทคโนโลยีทำให้มีสตาร์ทอัปทั่วโลกพากันพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างก็พากันกรูเข้าหาการลงทุนที่มองเห็นความคุ้มค่าตรงปลายทาง  ในบทความนี้ Techsauce จึงได้รวบรวมความร่วมมือของบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกที่ได้มีการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไร้คนขับมาให้ได้ติดตามกัน 

รถยนต์ไฟฟ้า

Apple - Hyndai อยู่ระหว่างเจรจา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า  Apple - Hyndai กำลังเจรจาเพื่อที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกันในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในเดือนมีนาคมนี้ และจะเริ่มการผลิตราวปี 2024 ในสหรัฐอเมริกา  โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการใช้โรงงานของ Kia Motor ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Hyndia ในรัฐจอร์เจีย หรืออาจลงทุนร่วมกันในโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐ เพื่อผลิตรถยนต์จำนวน 100,000 คันในปี 2024 โดยขีดจำกัดในการผลิตของโรงงานที่เสนอไว้จะอยู่ที่ 400,000 คันต่อปี  อย่างไรก็ยังคงรอข้อสรุปอย่างเป็นทางการประกาศออกมาอีกครั้ง

NIO ร่วมทีมกับ NVIDIA และ Qualcomm 

NIO บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่มีจุดยืนแข็งแกร่งสำหรับตลาดภายในประเทศ เปิดเผยว่า เตรียมนำแพลตฟอร์มประมวลผลตัวใหม่จาก NVIDIA ที่มีชื่อว่า Drive AGX Orin มาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะรุ่นต่อไป ซึ่งจะออกในปี 2022 

สำหรับ NVIDIA ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าวในปี 2019 โดยระบุว่าแพลตฟอร์ม Orin มีศักยภาพรับรองระบบขับขี่รถยนต์ทั่วไปได้ตั้งแต่ระดับ 2 จนถึงระดับ 5 ที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ขับ 

ทั้งนี้ NIO ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีจาก NVIDIA เท่านั้น แต่ยังพึ่งพา Qualcomm ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมสหรัฐ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ โดยจะใช้ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon Automotive Cockpit กับแพลตฟอร์มในเครือข่าย 5G อีกด้วย

Microsoft ลงทุนและเป็นพันธมิตรกับ GM

Microsoft ได้เข้าร่วมความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในระยะยาวกับเจเนรัล มอเตอร์ส (General Motors, GM) และ ครูซ แอลแอลซี (Cruise LLC) ฝ่ายผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพื่อเร่งการจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ

ในการเป็นพันธมิตรร่วมกันนั้น Microsoft จะร่วมมือกับ GM Honda Motors และนักลงทุนจากสถาบันอื่น ๆ ในการรวมเงินทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ลงในครูซ จึงทำให้มูลค่าบริษัทของครูซเติบโตเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์

จากการประกาศเมื่อวันอังคารที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา บริษัทกล่าวว่า Microsoft จะเป็นผู้ให้บริการคลาวด์แก่จีเอ็มและครูซ ภายใต้โปรแกรมที่มีชื่อว่า Azure โดยทั้งหมดจะทำงานร่วมกันในระบบนิเวศของซอฟต์แวร์ วิศวกรรมฮาร์ดแวร์ และบริการคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งครอบคลุมการใช้กำลังประมวลผล หน่วยจัดเก็บข้อมูลทางออนไลน์ 

Alibaba เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ความร่วมมือกับ SAIC

Alibaba Group Holding ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนได้เข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นซีดานด้วยคุณสมบัติชาร์จไร้สาย ภายใต้ความร่วมมือกับ SAIC Motor ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เมื่อวันพุธที่ 13 ม.ค.  ที่ผ่านมา

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นซีดานคันนี้เปิดตัวภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อว่า IM ย่อมาจาก “intelligence in motion” พัฒนาโดยกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่าง Alibaba  SAIC และ Shanghai Zhangjiang Hi-Tech Park Development ซึ่งเป็นหน่วยงานการลงทุนที่สนับสนุนโดยภาครัฐ

ทั้งนี้ แบรนด์ IM จะเปิดให้มีการซื้อล่วงหน้าในเดือนเม.ย. ในงาน Auto Shanghai ส่วนโมเดลรุ่นที่สองจะเป็นรถสปอร์ตตั้งว่าจะส่งมอบในปี 2022

Baidu ร่วมกับ Geely เจ้าของแบรนด์ Volvo ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

Baidu บริการช่วยสืบหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ของจีน ร่วมพันธมิตรกับ Geely บริษัทผลิตรถยนต์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นท่าทีล่าสุดของบริษัทเทคโนโลยีในการหล่อหลอมอนาคตของวงการรถยนต์ไฟฟ้า

ตามรายงานระบุว่า Baidu กำลังสร้างบริษัทเพื่อมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ อีกทั้งได้จับมือร่วมกันกับ Geely ในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ โดยบริษัทใหม่ที่กล่าวมาจะใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Baidu ร่วมกันกับแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ Geely ทั้งนี้  Baidu จะมุ่งเน้นไปที่การผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและเน้นใช้ความสามารถของ AI และระบบแผนที่ ขณะที่ Geely เจ้าของรถยนต์ยี่ห้อ Volvo พยายามเปลี่ยนจากผู้ผลิตรถยนต์ เป็น Tech Company ที่มุ่งเน้นไปที่ “การขนส่งอย่างอัจฉริยะด้วยไฟฟ้า”

Foxconn ร่วมมือกับ Byton สตาร์ทอัปรถ EV จีน 

Foxconn Technology Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple ของไต้หวัน ได้ลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Byton Ltd. สตาร์ทอัปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน 

จากรายงานระบุว่า Byton ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนานกิง ดิเวล็อปเมนต์ โซน และ Foxconn ได้ลงนามร่วมมือกันผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Byton รุ่น M-Byte จำนวนมากภายในไตรมาสแรกของปี 2022 ทั้งนี้ Foxconn วางแผนจะลงทุนในกิจการร่วมค้าราว 200 ล้านดอลลาร์ โดยภายใต้ข้อตกลง Foxconn จะช่วยเหลือด้านการผลิตด้วยเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการการผลิต และแหล่งห่วงโซ่อุปทานให้กับ Byton

Lucid Motors  อยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลซาอุฯ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

สื่อต่างประเทศรายงานว่า Lucid Motors สตาร์ทอัปผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน อยู่ในระหว่างการเจรจากับกองทุนรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย (กองทุน Public Investment Fund (PIF))ว่าด้วยการตั้งโรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ดียังไม่มีรายงานว่าจะตั้งโรงงานเมื่อใด

สำหรับ Lucid Motors เดิมมีโรงงานอยู่แล้วในมลรัฐแอริโซน่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่มีชื่อว่า แอร์ ซีดาน รวมถึงกำลังจะทดลองผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทเอสยูวี โดยอาศัยแพลตฟอร์มเดียวกันกับที่ผลิตในรุ่นแอร์

ด้านกองทุนรัฐบาลซาอุดิอาระเบียนั้น จะเป็นเจ้าของ Lucid ผ่านการซื้อหุ้นในบริษัทมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ โดยกองทุน PIF จะลงทุนใน Lucid กรณีที่บริษัทจะตั้งโรงงานในพื้นที่ของประเทศซาอุดิอะระเบีย เนื่องจากประเทศประสบวิกฤติทางการเงินเป็นเวลาหลายปีจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ประกอบกับการแทรกแซงราคาจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ประเทศจึงมองหาแนวทางลดการพึ่งพาจากน้ำมันมากขึ้น ในขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก ที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก กองทุนรัฐบาลซาอุฯ ได้ ทยอยซื้อหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาหลายราย เช่น Facebook, Boeing, Citigroup, Disney และ Berkshire Hathaway

สำหรับดีลของ Lucid กับรัฐบาลซาอุฯนั้น ยังมีความน่าติดตามตรงที่ Lucid เองพยายามที่จะระดมทุนหลายวิธีการ โดยมีข่าวว่าอยู่ระหว่างเจรจาที่จะเสนอขายหุ้นแก่สาธารณะ ผ่านวิธีการขายให้ SPAC (Special-purpose acquisition company) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าซื้อกิจการอื่น ณ ที่นี้เจ้าของบริษัทคือนักลงทุนที่มีชื่อว่า Micheal Klein โดยข้อตกลงดังกล่าวมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดย Klein เป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของบริษัทหลักทรัพย์เครดิต สวิส และมีความเกี่ยวข้องกับกองทุน PIF ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตกับดีลดังกล่าวว่า หนึ่งในธุรกิจ SPAC ของเขาจะนำ Lucid เข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยข้อตกลงประเภทนี้จะช่วยให้การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นเร็วกว่าวิธีทั่วไปนั่นเอง 

รถ EV ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติไม่ใช่แค่อเมริกา - จีนที่เคลื่อนไหว แต่ SEA ด้วย 

จากหลายบริษัทที่ Techsauce ได้รวบรวมมานั้น เราจะเห็นได้ว่าจะมีการเข้าไปลงทุนสตาร์ทอัปรถยนต์ไฟฟ้า และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติกันค่อนข้างมากในภูมิภาคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และจีนแผ่นดินใหญ่ แต่โอกาสยังมีค่อนข้างมากสำหรับตลาดนี้ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ในงาน Techsauce Global Summit ได้เชิญสองพี่น้อง Daniel และ Justin Kan จาก Silicon Valley โดย Daniel เป็นผู้ก่อตั้ง Cruise Automation สตาร์ทอัประบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ GM หรือ General Motors เข้าซื้อกิจการไป ส่วน Justin Kan นั้นเป็นหุ้นส่วนกับ  Y Combinator ทั้งสองได้ให้มุมมองเมื่อ 5 ปีที่แล้วว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจากการที่ประชากรล้วนสามารถเข้าถึง Internet ได้มากขึ้น และในวันนี้เราเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวนี้ชัดเจนมาก จากการที่ล่าสุดบริษัท VinFast ของเวียดนาม แซงหน้าทุกประเทศในภูมิภาคเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 3 และเตรียมวางจำหน่ายทั่วโลกแล้ว

อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เราเห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้า และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราอย่างรวดเร็วในชนิดที่ว่าไม่ทันตั้งตัวเลยก็ว่าได้ 





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ปลดล็อกศักยภาพท่องเที่ยวไทยสู่ Global Destination ยกระดับประเทศผ่านเอกลักษณ์และความร่วมมือ

ร่วมวิเคราะห์เชิงลึกจากการเสวนาของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และ ดร. วิทวัส สิทธิเวคิน Moderator ใน session นี้ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายข...

Responsive image

ความท้าทาย โอกาส และการปรับตัวของประเทศไทย เจาะลึกยุทธศาสตร์นำทัพไทยในพายุภูมิรัฐศาสตร์ 2025

โลกกำลังเผชิญกับ Turbulent Times หรือยุคแห่งความผันผวนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความผันผวนนี้ส่งผลกระทบต่อทุกมิติ ตั้งแต่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปจนถึงสิ่งแว...

Responsive image

ก้าวสู่สังคมสูงวัย เป็นโอกาสทองของไทยหรือความท้าทายที่ต้องเผชิญ ?

เพราะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ไปจนถึงการลดลงของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ...