สัมภาษณ์พิเศษ Fastwork: ตลาดงานฟรีแลนซ์ หน้าใหม่ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ Fastwork: ตลาดงานฟรีแลนซ์ หน้าใหม่ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ช่วงนี้มีกระแสคนอยากออกมาจากกรอบการทำงานที่ต้องนั่งในสำนักงาน มาประกอบอาชีพอิสระหรือ Freelance มากขึ้น แต่การจะได้มาเป็นจริงๆ มันยากตั้งแต่การตัดสินใจและการหางานเพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีงานที่ได้คิดและได้ทำ เมื่อปัญหาจุดนี้มีอยู่จริงก็เลยมีทีมที่พัฒนาตัวกลางในการที่จะช่วยให้ Freelance และผู้ว่าจ้างได้สามารถหางานได้ง่ายและมีความน่าเชื่อถือ เราจะมาคุยกับ Fastwork กันในบทความนี้ถึงที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นจุดนี้ ซึ่งมีหลายๆ อย่างน่าสนใจมาก

Landing Page

ตัวแทนของ Fastwork.co ที่จะมาพูดคุยในวันนี้คือ 2 Founding Partners คุณใหม่ อาพร พลานุเวช (Apon Palanuwech) และคุณตั๊บ วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์ (Vasa S. Iamsuri)

จากอเมริกาสู่กรุงเทพ จาก 0 สู่ Fastwork ใน 10 อาทิตย์

เล่าจุดเริ่มต้นของการมาเจอกันของสองคนให้ฟังหน่อยครับ

ตั๊บ - จุดเริ่มต้นของเราเริ่มต้นที่นิวยอร์คครับ เราไปเรียนที่นั่นทั้งคู่ พี่ใหม่โตกว่าผม 3 ปี เขาไปเรียน Design Technology ผมไปเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ NYU ตัวผมเองไม่ได้มีความรู้เรื่อง Startup อะไรจนมาวันนึงมีเพื่อนชวนทำที่นู่น ทำไปได้สักเดือนสองเดือนก็เลยไปชวนพี่ใหม่ทำบ้างก็เลยเริ่มมีความสนิทกัน ทำไปเรื่อยๆ ประมาณ 9 เดือนก็เจ๊ง คราวนี้เราสองคนก็เลยคิดว่า เรายังสนิทกันและชอบทำงานด้วยกัน อยากทำอีกรอบไหม ก็เลยชวนกันทำ แต่ตัวผมต้องเรียนต่อ ก็เลยเรียนต่อให้จบในนิวยอร์ค

ใหม่ - ตอนที่บริษัทเจ๊ง ตั๊บก็โทรมาหาผม คุยกันยาวเลยเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเศร้าๆ ไม่รู้จะเอาอย่างไรกับชีวิตดี

ตั๊บ - ต้องบอกว่าผมเสียสละอะไรไปเยอะมาก ตอนที่ทำ Startup ที่เจ๊งไป เพราะตอนแรกคิดไว้ว่าจะอยู่ที่นิวยอร์ค ได้งานแล้ว ได้ที่พักทุกอย่างแล้ว กำลังจะได้สปอนเซอร์วีซ่าแล้ว และคิดว่าจะไม่กลับไทยแล้ว รักเมืองนี้มาก แต่พอไปทำบริษัทนั้นก็ยอมสละทุกอย่างเพื่อไปทำ แล้วก็เจ๊งเลยเศร้าๆ

ใหม่ - ตั๊บก็เลยโทรมาหาผมว่ายังอยากจะทำอยู่ด้วยกันไหม ผมก็บอกว่าผมอยากทำอยู่แล้ว เพราะส่วนตัวอยากทำธุรกิจ แล้วผมจะต้องกลับไทยเพราะแม่อยู่บ้านคนเดียว ยังไงชะตากรรมผมก็ต้องมาลงเอยที่ไทยแน่นอน ก็เลยบอกว่า พี่น่ะอยากทำนะ พี่เห็นตั๊บตั้งใจ พี่ก็เลยอยากจะลงเรือลำเดียวกัน แต่พี่ต้องกลับไทย ตั๊บโอเคไหม ตั๊บก็เลยบอกว่าตั๊บโอเค ตั๊บจะอยู่ในที่ที่ทีมอยู่ คือถ้าผมกลับไทย ตั๊บก็จะกลับมาด้วย

ตั๊บ - ตอนนั้นผมก็เลยเริ่มทำ Fastwork เลยตั้งแต่ที่นู่น แล้วก็เรียนจนจบ โดยอาศัยว่านอนและตื่นเวลาไทย แต่ตัวอยู่นิวยอร์ค และไม่สนใจว่าวันไหนคือเสาร์และอาทิตย์ เพราะทุกวันเราทำงานกันตลอด 10 อาทิตย์ก็เสร็จ ช่วงนั้นทำอยู่ 2 คนบวกกับมีน้องฝึกงานมาช่วยทำด้วย จนถึงตอนนี้เราก็ปล่อย Fastwork ให้ใช้งานกันมาแล้ว 10 อาทิตย์

Past Team before Fastwork

แล้วเรานิยาม Fastwork คืออะไร

ตั๊บ - Fastwork คือตลาดความสามารถครับ เพราะเรามีความฝันอยากให้คนไทยทุกคนมีอิสระในการทำงาน คนไทยฉลาดจะตาย ความคิดสร้างสรรค์สุดยอด ผมอยากให้คนไทยทุกคนหาเงินได้ และทำงานที่ตัวเองอยากทำ แต่ที่สำคัญที่สุดคืออยากให้ทุกคนได้ทำงานที่ตัวเองรักครับ

ใหม่ - เหมือนเอาความสามารถมาทำเป็นเงินได้

ตั๊บ - แล้วดูแลตัวเองได้ด้วย ไม่เจ๋งเหรอ? ความอิสระคือสิ่งที่เจ๋งที่สุดในโลก อยากจะตื่นกี่โมงก็ได้ อยากไปทะเลเมื่อไหร่ก็ได้ อยากทำอะไรก็ทำ นี่คือสิ่งที่เราจะทำให้คนไทยทุกคนอิสระในการทำงาน

เรามาจับจังหวะช่วงที่ Freelance และหนัง Freelance เป็นกระแสด้วยหรือเปล่า?

ตั๊บ - ผมว่ามันบังเอิญมากนะ ตอนนั้นผมยังถามพี่ใหม่ด้วยว่า ช่วงนี้มีหนังเรื่อง Freelance ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ด้วยเหรอวะ เฮ้ย งั้นเรารีบทำขึ้นมาเลยดีกว่าจะได้ตามกระแสได้ด้วย

ใหม่ - ตอนนั้นเราพยายามจะทำให้ทัน แต่ก็ไม่ทัน

ตั๊บ - เรา Launch จริงๆ ช่วงธันวาคม 2558 ซึ่งห่างจากหนังฉายไปเกือบๆ 2 เดือน

ใหม่ - ช่วงที่หนังฉายเป็นช่วงที่เราเริ่มเขียน Code พอดี

ตั๊บ - แต่เราก็เริ่ม Recruit คนผ่าน FanPage บ้างแล้วและมี Pre-Launch Landing Page ให้คนมาลงอีเมลและเบอร์โทรศัพท์ของตัวเองไว้ก่อน ใครสนใจจะใช้ตอนที่เรา Launch จะได้เข้ามาใช้ได้เลย ตอนนั้นมีคนมาลงเยอะเหมือนกัน 5,000-6,000 คน ในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

แล้วเราโปรโมทยังไงบ้าง

ตั๊บ - ทั้งปากต่อปาก, บอกเพื่อน, ยิง Facebook Ads นิดหน่อยวันละ 40 บาท คนก็แห่มาของเขาเอง จนสุดท้ายคุยกับพี่ใหม่ บอกว่า เราไม่ต้องเสีย 40 บาทหรอก ไหนๆ เขาก็มาของเขาอยู่แล้ว พอเราเปิดตัว เราก็มีฐานข้อมูลที่เป็น Freelance ที่สนใจจะใช้ระบบอยู่แล้ว

ใหม่ - ความต้องการงานของตลาด Freelance ในเมืองไทยมันมีเยอะมากอยู่แล้ว มันไม่ใช่ว่าเราไม่มีคู่แข่งเลยนะ จริงๆ เรามีคู่แข่งเยอะมาก แล้วเขาก็ทำกันมานานแล้ว แต่เราก็มองเห็นว่า ยังมีอะไรที่สามารถทำได้ดีกว่านี้ ที่มันอำนวยความสะดวกของผู้ใช้ได้ดีกว่านี้ ที่ทำให้ประสบการณ์การใช้งานของทั้งคนจ้างและคนถูกจ้างมัน Match กันได้ง่ายๆ และไม่ Painful ทั้งสองฝ่าย

คู่แข่งที่ว่า เยอะขนาดไหน?

ตั๊บ - มีเยอะมากครับ มากกว่า 10 เจ้า ถ้าลอง Google ด้วยคำว่า “หา Freelance” มีแบบต่ำๆ 30 แห่ง ส่วนใหญ่แล้วเว็บหางานประเภทที่ใกล้เคียงกัน มันจะมีส่วนที่เหมือนๆ กันอยู่ส่วนหนึ่งได้แก่ Freelance ด้าน Graphic กับด้านเว็บ ทุกเว็บจะมีเป็นท่ามาตรฐาน นอกจากนั้นก็จะมี นักเขียน นักแปล แต่เราจะมีอยู่ส่วนหนึ่งที่ไม่มีใครมี นั่นคือ “อื่นๆ” และ “แปลกๆ” นี่คือส่วนที่จะให้แสดงความสามารถของตัวเองจริงๆ ล่าสุดผมเพิ่งไปจ้างคนพับนกกระเรียน 100 ตัว ใครจะมานั่งพับให้ในราคา 300 บาท โดยต้องการเดี๋ยวนี้ ผมจะไปหาคนแบบนี้ได้ที่ไหนที่เชื่อใจได้, ผลงานเห็นแล้วสวย, เขาจะส่งงานมาให้ผมจริงๆ และปลอดภัยในเรื่องการจ่ายเงิน

ตั้งใจจะเน้นความสามารถด้าน "อื่นๆ" ไหม

ใหม่ - ตอนแรกถ้าเราไปเน้นส่วนนี้ ถ้าเขาเข้ามาเจองานอะไรก็ไม่รู้มันจะดูว่าเว็บเราเป็นตลาดนัดมากๆ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเราก็จึงต้องมีส่วนที่เป็นงานจริงๆ จังๆ อย่างงานกราฟฟิก, งานเขียน เอาส่วนนี้เพื่อมาดึงคนเข้ามาที่เว็บของเรา และส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาก็จะได้ผลพวงจากการที่เรามีงานหลากหลายประเภทให้เลือก เขาก็จะเห็นว่าที่นี่มีหลายๆ อย่างที่อาจจะตอบความต้องการของเราได้

Business Model เป็นอย่างไรบ้าง

ตั๊บ - เราคิดทั้ง 2 ขาครับ คือ 7% จากผู้ว่าจ้าง และ 10% จาก Freelance ถึงแม้จะดูว่าคิดเยอะ แต่จริงๆ แล้วพอมาเป็นตัวเงินเราได้น้อยมาก ด้วยอัตราการจ้างงานเรามีตั้งแต่ 200-5,000 บาท ดังนั้นพอคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วมันไม่เท่าไหร่เลย เงินส่วนที่เราได้มาเราก็เอามาทำในส่วนของการตลาดช่วยให้กับ Freelance เพราะเท่าที่เราศึกษามาปัญหาหลักๆ ของ Freelance คือการที่เขาไม่สามารถหางานได้เพราะเขาไม่สามารถทำการตลาดให้ตัวเองได้ ไม่รู้วิธีว่าจะทำอย่างไรบ้าง ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ส่วนนี้เราจะช่วยเขาได้ เราทำทุกช่องทางให้ Facebook, Google, Instagram, LinkedIn, Pinterest ออฟไลน์เราก็ไปตามมหาวิทยาลัย, คุยกับ SME เป็นต้น

ใหม่ - แต่ส่วนนึงเองก็คือ Freelance เป็นคนช่วยดึงให้คนเข้ามาใช้งานในเว็บด้วย เพราะเรามีส่วนที่กระตุ้นให้เกิดการใช้งานด้วย เช่น หากกด Share งานของเขาเองที่โพสต์ขึ้นไปจะดูดีบนหน้าจอที่แสดงบน Facebook ของเขา ซึ่งมันก็กระตุ้นให้เกิด Viral ได้ด้วยตัวเอง

ตั๊บ - ปกติเราไม่เคยใช้คำศัพท์นี้นะ แต่หลังๆ Freelance ก็มาใช้คำศัพท์กับเราว่า อยากมีหน้าร้านของตัวเอง เขาเห็นว่าพื้นที่ ที่เรามีให้มันคือหน้าร้านของเขา เพราะเขาสามารถลงผลงานของตัวเองได้ เขียนบรรยายสิ่งที่เราทำได้หมด เรียนที่ไหน จบที่ไหนมา นี่คือหน้าร้านของเขาเลย ซึ่งโดยปกติแล้ว Freelance ไม่ค่อยมีที่ๆให้บอกอะไรแบบนี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มมาเป็น ซึ่งเราก็คุยกันแล้วว่าคนที่เราอยากจะช่วยมากที่สุดคือคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ซึ่งนั่นก็คือเด็กๆที่ยังไม่มี Port งาน ยังไม่มีใครมาช่วย อยากจะโตแต่โตไม่เป็น ไม่รู้จะหาความช่วยเหลือจากไหน

ราคาที่เราเห็นอยู่บนหน้าเว็บ เป็นราคาที่ Freelance เป็นคนตั้งขึ้นมาทั้งหมดหรือเปล่า?

ตั๊บ - ข้อมูลทุกๆอย่างที่อยู่บนเว็บ เป็นสิ่งที่คนประกาศบอกเอง การตั้งราคาก็อยู่ที่เขาจะตั้ง เราไม่มีสิทธิจะไปเปลี่ยนสิ่งที่เขาต้องการจะตั้งได้ แต่สิ่งที่เราทำคือ เราจะต้องทำการ approve งานที่เขาและทุกคนมาลงใน Fastwork ทุกครั้ง เราจะทำการ screen ตั้งแต่แรกเลย

นอกจากการ Screen ที่ทำแล้ว เราทำอะไรอีกเพื่อ Verify คนที่เข้ามาขายงาน?

ตั๊บ - สิ่งที่ผมทำเองคือ ผมโทรหาทุกคน ทุกคนที่มาลงงานกับเว็บ ไม่มีใครไม่รู้จักผม และถามทุกคนถึงรายละเอียดของแต่ละคนว่า ประสบการณ์การใช้งานเป็นอย่างไรบ้าง กล่าวขอบคุณมากๆ ที่เขามาใช้งาน เราเป็น Startup ที่ทำกันอยู่ 2 คน ดีใจมากๆ ที่คุณมาให้โอกาสให้เราได้รับใช้ ทั้งผู้ว่าจ้าง ทั้ง Freelance ถามแม้กระทั่งทำไมถึงมาขาย Logo ทำไมถึงมาเขียนบทความเกี่ยวกับเมืองน่าน เป็นคนน่านหรือเปล่า ทำไมถึงต้องน่านด้วย ทำไมไม่เขียนอย่างอื่น สิ่งนี้จะช่วยให้เราพูดได้ว่า Freelance ที่อยู่กับเรามีคุณภาพ นั่นคือ Customer Service ของเรา ถ้าใครมีปัญหา ไม่เข้าใจระบบ ก็พูดคุยได้กับเรา คือคุยได้ทุกเรื่อง ขอให้เขาเข้าใจก็พอ

ตอนนี้บริษัทที่มาว่าจ้างเป็นบริษัทประเภทไหน Scale ไหน

ใหม่ - น่าจะทุกระดับแล้ว เรามีตั้งแต่เด็กๆ วัยรุ่น ยันผู้ใหญ่, SME เล็กๆ, กลางๆ และ Corporate เลยก็มี

เมื่อช่วงต้นปีมีกระแสบนโซเชียลเรื่องที่บน Fastwork มีประกาศงาน "รับเป็นแฟนทาง Facebook" ซึ่งทำให้คนแชร์กันเยอะมากๆ ณ ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นกับ Fastwork

ตั๊บ - ณ ตอนนั้น พี่ใหม่กำลังนั่งกินข้าวกับแฟนอยู่ ส่วนผมนั่งอยู่บ้านประมาณ 2 ทุ่ม เราก็จ้องหน้าจอคอมอยู่ ซึ่งเราก็มีระบบที่คอย Monitor ว่าใครเข้ามาที่เว็บบ้าง ถ้าใครมาถามคำถามเราก็จะตอบได้ทันที ซึ่งปกติเราจะมีคนออนไลน์บนเว็บอย่างเก่งเลย 15 คน สักพักเราก็ได้ยินเสียงระบบมันเด้งเตือนตลอดเวลา จนเราเข้าไปดูก็พบว่ามีมากถึง 150 คน ตั๊บก็บอกเลยทันทีว่า ระบบผิดแล้ว (หัวเราะ) เชคดูอีกทีก็ยัง 150 เลยถามพี่ใหม่ขึ้นมาว่า “คนมันมาจากไหนวะ”

ใหม่ - ตอนนั้นตกใจมาก มันเกิดอะไรขึ้น ผมก็เลยเข้าไปเชคใน Google Analytic ผมก็เห็นคนเข้ามากราฟมันชันขึ้นมาก

ตั๊บ - คิดว่ามีคนมาพยายามทำอะไรกับเว็บเราหรือเปล่า พยายามนั่งดูอยู่ 2 ชั่วโมง จนสุดท้ายมีคนส่ง Screenshot มาให้ดูว่า เพจ จบข่าว เอาเรื่องนี้ไปลง จนเราก็มาเอะใจว่า เรามีงานนี้อยู่ในเว็บด้วยเหรอวะ เลยเข้าไปเชคก็ปรากฎว่ามันมีจริงๆ เราก็ไล่ไปดูตั้งแต่ว่าคนลงโพสต์คือใคร มาลงงานนี้ได้อย่างไร แล้วผมก็กดโทรศัพท์โทรไปถามเลยทันที สุดท้ายคนที่ลงก็บอกว่า เขารับจริงๆ ผมรับเป็นแฟนบน Facebook จริงๆ 2 อาทิตย์ 200 บาท มีเพิ่ม option ด้วยว่าถ้าอยากทำอย่างนี้เพิ่มเท่าไหร่ ทำกิจกรรมด้วยกันคิดกี่บาท สุดท้ายแล้วเราก็เห็นว่า งานนี้ไม่ใช่เพิ่งจะตั้ง แต่มันมีมาสักพักนึงแล้ว เพราะตอนที่เขาสมัครตอนแรกแล้วตั๊บโทรคุย เขาลงงานแรกเกี่ยวกับโลโก้แล้วลบไป ก็เลยมานึกได้ทีหลังว่าเป็นคนนี้

ตอนแรกที่เราว่านี่คือการจงใจทำ Growth Hacking เสียอีก

ใหม่ - ไม่เลยครับ มันเป็น Accident ล้วนๆ

ตั๊บ - แล้วเดี๋ยวนี้มีตั้งเป็นอาชีพแปลกๆ อีกเพียบเลย ส่วนใหญ่จะมาแนวให้คำปรึกษา, แอบดูว่ามีกิ๊กไหม อะไรอย่างนี้

ตัวอย่างงานประเภท "อื่นๆ"

แล้วเคยเจอตัวจริงไหม

ตั๊บ - เคยสิครับ หลังจากนั้นขอเจอเลย

แล้วเขามีลูกค้าจริงไหม

ตั๊บ - มี 3 คนครับ

ใหม่ - คนนึงจะเป็นเพื่อนเขา เหมือนมาลอง แต่อีก 2 คนนี่ ลูกค้าจริงๆ

ระบบในการใช้งานเมื่อมีการจ้างงานเป็นอย่างไรบ้าง

ตั๊บ - เรามีตั้งแต่ระบบการ Chat, ระบบการตรวจดูงาน, ระบบการ Keep Track ดู Progress ว่าตอนนี้ Freelance ที่จ้างส่งงานอะไร ถึงไหนแล้ว โดยเราจะมี Dashboard แสดงให้เห็นเป็น Timeline เลยว่ามีข้อมูลอะไรอย่างไร อยู่ขั้นตอนไหน เป็นการบอกให้ทั้งสองฝั่งรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร หรือรออะไรอยู่ ซึ่งมันจะเหมาะมากและอำนวยความสะดวกให้กับงานที่ต้องลงรายละเอียด เช่น การออกแบบ

ใหม่ - คือในอนาคตเราคาดหวังว่า Freelance ทุกคนจะไม่ค่อยมีระบบระเบียบในการจัดการชีวิตเขาเท่าไหร่ ระบบที่เราทำขึ้นมาก็คือจะมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขาสามารถจัดการเรื่องงานได้ดีขึ้น

แสดงว่าเราก็บังคับให้ทั้งผู้ว่าจ้างและ Freelance ต้องทำในระบบเราอย่างเดียว?

ตั๊บ - ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า เราสามารถให้ผู้ว่าจ้างและ Freelance สามารถไปคุยข้างนอกได้ หลังจากผู้ว่าจ้างจ่ายเงินแล้ว ด้วยปัญหาที่ปกติทั้ง 2 ฝ่ายจะเจอก็คือเรื่องความเชื่อถือ กลัวเรื่องการจ่ายเงินไม่ครบตามจำนวน ซึ่งมันเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ในชีวิตจริง ส่วนผู้ว่าจ้างก็ไม่รู้จะไปหา Freelance จากไหนที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเราตอบโจทย์ทั้งสองฝ่ายในการดูแล แต่ว่างานบางงานมันต้องคุยกัน เลยเป็นที่มาของการให้ผู้ว่าจ้างให้เงินกับทางเราไว้ก่อน Freelance จะได้สบายใจว่าเงินทั้งหมดอยู่กับเว็บ ไม่หนีหายไปไหน จากนั้นก็ค่อยโทรคุยกัน ซึ่ง Freelance ก็จะกลับมาเขียนใน Chat อีกทีนึงถึงรายละเอียดของการพูดคุยข้างนอกว่ามีการ Brief อย่างไรบ้างเพื่อที่จะเก็บไว้เป็นหลักฐานอยู่ในระบบ

แล้วอย่างนี้เราจะมีวิธีจัดการอย่างไรให้คนเข้ามาที่ Fastwork ของเราอีก

ตั๊บ - ความน่าเชื่อถือครับ เพราะเรามีระบบ Rating และ Review ใครยิ่งมีเยอะยิ่งดี ถ้าเขาจ้างข้างนอกก็จะไม่ได้ส่วนนี้ เพราะระบบเปิดให้เมื่อเกิดการว่าจ้างแล้วเท่านั้น ซึ่งทำได้ทั้ง 2 ฝั่ง

หมวดอื่นๆ ในอนาคตน่าจะเป็นอย่างไร

ใหม่ - เราน่าจะมีการจัดหมวดหมู่ที่มันชัดเจนมากกว่านี้ เช่น หากเป็นการสอน ก็จะแยกไปเลยว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับสอนจะมาอยู่ในนี้ เป็นต้น มันก็อาจจะช่วยคัดกรองงานให้ดูเป็นระบบมากขึ้น ช่วงนี้เรากำลังทดสอบหมวดนี้อยู่ว่าคนให้การตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นเราก็จะจัดเป็นโซนต่อไป

แชร์ได้หรือเปล่าว่า Stat ที่เกิดขึ้นจากคนที่เข้ามาใช้งานเป็นอย่างไร

ตั๊บ - ทั้งหมดคงบอกไม่ได้ แต่เราสามารถบอกได้บางส่วน คนที่เป็น Freelance ที่ลงงานอย่างน้อย 1 งานมีอยู่ประมาณ 3,000 คน และถ้าเป็น Freelance ทุกๆ 4 คนจะได้งาน 1 งานภายใน 10 วัน ซึ่งบอกได้เลยว่าไม่มีที่ไหนทำได้ Freelance ของเราถึงกับโทรเข้ามาบอกว่า เราเป็นตลาดฟรีแลนซ์ที่เติบโตเร็วที่สุดแล้วในไทยตอนนี้

มองตลาดเมืองนอกไว้บ้างหรือเปล่า

ตั๊บ - เรามองไว้ครับ แต่คงยังไม่เร็วๆ นี้ เพราะเราเองก็เกิดได้แค่ 10 อาทิตย์เอง มีอยู่คำนึงครับจาก Jack Ma ที่ผมยึดเอาไว้คือ Global Vision, Local Win คือเขาต้องการเป็นจระเข้ตัวใหญ่ในแม่น้ำแยงซีเกียงก่อน ก่อนที่จะไปมหาสมุทรที่รายใหญ่อย่าง Amazon เขาครองอยู่ ดังนั้นเราอยากจะ Win ในไทยให้ได้ก่อน เพราะเมืองไทยคือบ้านเกิดของเรา ดังนั้นเราจึงต้องดูแลคนของเราให้ดีที่สุดก่อนครับ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...