ทำไมต้องไปงาน Tech Conference? คุยกับ System Stone เตรียมตัวอย่างไรเมื่อไปงานใหญ่ในต่างประเทศ | Techsauce

ทำไมต้องไปงาน Tech Conference? คุยกับ System Stone เตรียมตัวอย่างไรเมื่อไปงานใหญ่ในต่างประเทศ

ถ้าถามถึงเป้าหมายในระยะยาวของ startup ส่วนใหญ่ แน่นอนว่าหลายคนต้องตอบว่าอยากขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะคาแรกเตอร์หนึ่งของ startup คือธุรกิจที่สามารถสเกลและนำ business model ไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ แต่อุปสรรคสำคัญของการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ คือไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน หรือไม่รู้กติกาและลักษณะเฉพาะของ ecosystem ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ startup ต่างมองหาโอกาสออกไปเปิดโลก และหา partner ในประเทศที่ตัวเองหมายมั่น ซึ่งวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยม คือการไปร่วมงาน Tech Conference แหล่งรวมความรู้ เทรนด์เทคโนโลยี และ network จากนานาชาติ

หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริม startup ไทยให้ขยายสู่ต่างประเทศ อย่าง True Incube ก็ได้พา startup ในโครงการไปร่วมงาน Web Summit ณ เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย Techsauce มีโอกาสคุยกับ คุณบาส สิทธิกร นวลรอด CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง System Stone หนึ่งใน startup ในโครงการ เพื่อล้วงลึกถึงเคล็ดลับการเตรียมตัว วางแผนจัดการเวลาเพื่อเข้าร่วมงานใหญ่ระดับโลก รวมถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่วมงานในครั้งนี้

System Stone ทำอะไร ทำไมถึงมองหาโอกาสในต่างประเทศ?

System Stone เป็น Industrial Tech Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมมีเทคโนโลยีดีๆ ใช้ โดยผลิตภัณฑ์ของเรา มีทั้ง Mobile Application ที่ช่วยให้วิศวกรในโรงงานทำงานได้ง่ายขึ้น และระบบ IoT ติดตามการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร โดยเครื่องจะส่งข้อมูลขึ้นไปบนคลาวด์ เพื่อให้ AI วิเคราะห์ ตรวจสอบการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรและป้องกันการ break down หรือเครื่องจักรเสียระหว่างการผลิต ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโรงงาน

ปัจจุบัน System Stone มีลูกค้าอยู่ 1,300 โรงงานในประเทศไทย โดยเรามีแผนขยายแพลตฟอร์มไปยังต่างประเทศในปีหน้า เช่น พม่า ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย

มีอะไรที่ต้องคำนึงถึงในการขยายไปต่างประเทศบ้าง?

จริงๆ เรื่องการขยายสู่ต่างประเทศเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อยู่ที่กลยุทธ์ของเราว่าเราจะไปวาง footprint ที่ประเทศนั้นอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น System Stone มีผลิตภัณฑ์เป็น Software as a Service ดังนั้นการกระจายสินค้าก็จะต้องผ่าน distributor เป็นหลัก อย่างในประเทศไทยเรามี distributor อยู่ประมาณ 9-10 ราย ดังนั้นการไปต่างประเทศ เราก็ต้องไปหา key partner ที่อยู่ในประเทศนั้นก่อน และหา local distributor ที่เข้ากับเรา

เราเลยพยายามไปงาน event ที่จัดอยู่ในแต่ละประเทศ เพื่อไปทำความรู้จักบริษัทที่นั่นให้มากที่สุด โดยสิ่งที่ต้องรีบทำตามมาหลังจากได้ partner ก็คือการสร้าง pilot ที่ประเทศนั้นให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายต่อไป

ทำไมถึงต้องไปงาน Tech Conference ?

ผมมองว่าการไปร่วมงาน Tech Conference ที่ต่างประเทศ มีเป้าหมายสำคัญหลักๆ อยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก คือ การพัฒนาตัวเองราไปฟังเนื้อหา หรือ หัวข้อที่น่าสนใจเพื่อยกระดับความรู้ของเราเอง และอัพเดทเทรนด์ให้รอบรู้มากขึ้น

อีกเรืองหนึ่ง คือ การเข้ามาดูบริบทและวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ เพื่อให้เราเข้าใจว่าต่างประเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะถ้าพูดถึงประเทศอย่าง โปรตุเกส สเปน หรือ ตลาดยุโรป เรามักจะคิดไม่ออกว่าเราจะไปตีตลาดนั้นอย่างไร และ startup ที่อยู่ในประเทศนั้นเขาทำอะไรกันบ้าง หรือ คนในประเทศนั้น มีวัฒนธรรมอะไร เขาชอบอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากเอเชียไหม เขาเปิดกว้างให้กับคนเอเชียขนาดไหน ซึ่งถ้าเราไม่เคยลองไปให้เห็นเลย เราก็จะนึกภาพไม่ออก

จริงๆ แล้ว ตลาดต่างประเทศไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อน เขาก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ไฮเทคขนาดนั้น บางประเทศก็ low tech กว่าเราด้วยซ้ำ พอเราเห็น เราก็กล้าที่จะขยายไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น

งานใหญ่ระดับนี้ มีเทคนิคในการเตรียมตัวก่อนมางานอย่างไร และแบ่งเวลาอย่างไรถ้าไปคนเดียว?

การเตรียมตัว แบ่งได้เป็น 3 ช่วง;

วางเป้าหมาย: คิดให้ออกว่าเป้าหมายเราคืออะไรในการมางาน เช่น เราอยากขยายตลาด อยากเก็บความรู้ หรือ อยากรู้จักคนใหม่ๆ พอเรารู้ว่าเป้าหมายคืออะไร ก็เลือกงานที่มันตอบโจทย์ อย่างงาน Web Summit ก็ตอบโจทย์เรื่องเนื้อหา การอัพเดทเทรนด์เทคโนโลยี ไปจนถึงเรื่องของการ networking ด้วย เพราะมีคนมาร่วมงานจากทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสให้เราเจอคนใหม่ๆ

ศึกษารูปแบบงาน: พอเรามีเป้าหมายแล้ว ก็ต้องศึกษารูปแบบและรายละเอียดของงาน เพราะในงานใหญ่ๆ เขาจะมีการแบ่ง stage ไว้หลาย stage เลย ซึ่งแต่ละ stage ก็จะพูดในหัวข้อที่แตกต่างกัน และในตอนเย็นก็มี networking อีกด้วย เราจึงต้องเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ เช่น เราต้องเลือกมาก่อนว่าอยากไปฟังหัวข้อไหนบ้าง จัดตารางเวลาของเราให้ตรงกับในงาน หากเขามีลิสต์ว่ามีใครมาร่วมงานบ้าง ก็ต้องดูว่าคนไหนที่มีพื้นฐานความสนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งเราสามารถคุยกันก่อนได้เลย เพื่อที่ตอนเจอกันใน dinner หรือ session networking จะได้เข้าไปแนะนำตัวและทำความรู้จัก

ตกผลึกข้อมูล และติดตามผล: เมื่องานจบ ก็ต้องมีการจัดเรียงและรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะ contact ที่ได้มาจากงาน ควรรีบติดตามโดยการส่งอีเมลหา เพราะบางครั้งเราอาจติดภารกิจอื่นจนลืมและไม่สามารถต่อยอด partnership ได้

มางานแล้วได้อะไรที่ตอบโจทย์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองได้บ้าง?

ในงานมีการแบ่งหัวข้อหลายประเภทที่น่าสนใจทั้งในระดับที่ใช้งานได้ กับระดับที่เป็นวิสัยทัศน์ เช่น เนื้อหาด้าน Marketing และ Investment ที่เอามาใช้ต่อได้ง่าย โดยส่วนตัวชอบเรื่อง Automotive ที่เขานำเสนอเรื่อง flying car ที่รู้สึกค่อนข้างน่าตื่นเต้น  

แต่ส่วนที่สร้างความแตกต่างมาก ๆ คือ เรื่องของ network ที่แข็งแรง เพราะเราได้เจอคนจากทั่วโลกที่พร้อมคุยกับเราและนำไปต่อยอดธุรกิจได้จริง ๆ ซึ่งภายในงานเราได้เจอ startup ด้านอุตสาหกรรมจากประเทศสโลเวเกีย ซึ่งทำระบบจำลองโรงงานทั้งโรงงานมาดูแบบดิจิทัลใน PC และมือถือ เราจึงนำไปเสนอลูกค้าของเราและได้รับความสนใจมาก ตอนนี้เลยกำลังพูดคุยเพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกันต่อไป

นอกจากนั้น ก็ได้คุยกับ Speaker ที่เป็นผู้บริหารการลงทุนของ LEGO ซึ่งได้ให้แนวคิดและมุมมองของ VC และเล่าความต้องการในการยกระดับการศึกษาให้แก่เด็กๆ ทั่วโลก ทำให้เราได้เรียนรู้ทิศทางและสิ่งที่ VC กำลังมองหามากขึ้นด้วย ก็ต้องขอขอบคุณ True Incube ที่พาเรามาที่ลิสบอนและช่วยผลักดันให้เปิดโลกกว้าง เพิ่มโอกาสขยายไปต่างประเทศ เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าและหาได้ยากจริงๆ ครับ

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...