คุยกับ Wongnai, BUILK และ CLASS café กับวิธีรับมือ COVID-19 ด้วยโหมดพร้อมรบ | Techsauce

คุยกับ Wongnai, BUILK และ CLASS café กับวิธีรับมือ COVID-19 ด้วยโหมดพร้อมรบ

ช่วงเวลานี้คือช่วงที่ยากลำบากของคนทำธุรกิจทุกคน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น startup หรือ SME ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต COVID-19  ตอนพิเศษของ Techsauce Virtual Conference 2020 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ เราได้รับเกียรติจากตัวแทน startup จากหลากอุตสาหกรรม คือ คุณไผท ผดุงถิ่น CEO, BUILK One Group, คุณยอด ชินสุภัคกุล CEO, Wongnai และ คุณมารุต ชุ่มขุนทด CEO, CLASS café มาร่วมสนทนาภายใต้หัวข้อ “ธุรกิจขนาดเล็กจะรับมือเพื่อให้ผ่านวิกฤตการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ไปได้อย่างไร” โดยทั้งสามได้แสดงทัศนะเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการท่านอื่นๆ เรามาดู Key Takeaway จาก session นี้กัน 

คลิกเพื่อดู Session ย้อนหลัง

ผลกระทบในแต่ละวงการ

จากมุมของคุณไผท ผ่านธุรกิจ BUILK ยังมองว่า ภาพรวมของธุรกิจก่อสร้างยังคงพอจะประครองตัวไปได้อยู่ และยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงนี้ โดยยังมีงานจากทางภาครัฐล่อเลี้ยง สิ่งที่รู้สึกได้ชัดคือ การที่ลูกค้าหลายรายต้องชะลอเรื่องการตัดสินใจ หรือเลื่อนโปรเจกออกไป แต่ก็มองว่าหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป อาจทำให้โดนกระทบใน stage ถัดไปมากขึ้น แต่ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จากเดิมเงียบมาอยู่แล้วในช่วงปีที่แล้ว ก็ยิ่งนิ่งสนิทในช่วงนี้ ดังนั้นคุณไผทจึงต้องอาศัยการโยกย้าย resource มาเติมในส่วนที่ยังเดินหน้าไปได้ 

คุณยอด Wongnai กล่าวแสดงความกังวลถึงภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารที่โดนผลกระทบโดยตรงอย่างหนักในช่วงนี้ ว่ารายได้โดยรวมเฉลี่ยแล้วหายไปประมาณ 80-90% หลังจากที่มีการประกาศให้ปิดห้างและร้านอาหาร โดยอนุญาตแค่ในลักษณะ Take home หรือเดลิเวอรี่ เนื่องจากมีร้านอาหารอีกหลายประเภทที่ไม่ได้เหมาะกับการทำเดลิเวรี่ เช่น ร้านที่เป็น Fine dining หรือ Buffet นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยต่อหัวที่ใช้จ่ายสำหรับการสั่งอาหารก็น้อยลงเช่นกัน 

สำหรับธุรกิจกาแฟและ Space จากฝั่งคุณมารุต CLASS cafe กล่าวว่า ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มาร้านกาแฟย่อมคาดหวังประสบการณ์ และความสุนทรีจากการเสพบรรยากาศของร้าน เมื่อหน้าร้านไม่สามารถเปิดทำการได้ปกติ จึงต้องกลับมาตีโจทย์ใหม่ทั้งหมด และโฟกัสที่ตัว product เป็นหลัก 

ปรับตัวอย่างไร? 

  1. ปรับ mindset ให้อยู่ในโหมดออกรบ

“ที่ Wongnai เราให้ความสำคัญกับเรื่อง mindset เป็นพิเศษ โดยเรามีการสื่อสารด้วยการส่งจดหมายออกไป แจ้งต่อพนักงานว่า Core Value ที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ การออกศึก และให้ลืมเรื่องอื่นๆ ไปก่อน ตอนนี้ไม่มีข้ออ้างว่าไม่อยากทำอะไร เราต้องทำงานแบบเข้าตาจน เพื่อช่วยกันรักษา ‘หม้อข้าว’ ไว้ก่อน” 

สิ่งสำคัญคือต้องมีความเด็ดขาดและกล้าตัดสินใจ บริษัทควรมี Command Center ที่ทุกคนต้องมีรายงานและอัพเดทสถานการณ์ของแต่ละทีมรายวัน หากงานส่วนไหนที่มีงานน้อยลง และมีกำลังเหลือก็ให้ย้ายมาช่วยทีมที่งานล้น 

  1. คลี่กระดานออกมาดู โยกย้าย resource มายังส่วนธุรกิจที่ยังไปได้ 

“ BUILK มีทั้งธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งนิ่งมาตั้งแต่ปีที่แล้ว กลยุทธ์ของเราตอนนี้คือ Hyper Focus เราเจาะลงไปที่ที่ยังมีโอกาสอยู่ อะไรที่ดูไม่มีโอกาสก็ต้องมาปรับโครงสร้างบริษัท โดยการย้าย resource ของฝั่งอสังหาริมทรัพย์ มาเพิ่มที่งานก่อสร้างภาครัฐ เช่น สร้างถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง หรืองานที่มีงบประมาณลงมาแล้ว และยังสามารถเดินได้ต่อเนื่องอยู่ 

นอกจากนี้เราก็ต้องสื่อสารกับพนักงานตรงไปตรงมา หากมี BU ไหนที่มีปัญหา ก็ต้องบอกให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง อาจต้องเปลี่ยนฟังก์ชัน เช่น จากที่เคยดูด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็เปลี่ยนมาช่วยดูวัสดุก่อสร้าง หรือจากที่ทำ marketing ก็ให้มาช่วยงานขายก่อน” 

  1. ลด Cost ในส่วนที่ไม่จำเป็น 

แน่นอนว่าเรื่อง cashflow คือปัญหาสำคัญที่สุดในช่วงวิกฤต จากที่คุณยอดกล่าวว่า ทุกคนต้องช่วยกันรักษาหม้อข้าวเอาไว้ก่อน ดังนั้นการทำ Cost management ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำเป็นอย่างแรกๆ เช่น งบด้านการตลาดให้ตัดออกไปก่อน เพราะไม่จำเป็นต้องทำการตลาดในตอนนี้ 

คุณมารุต CLASS Cafe ให้คำแนะนำต่อผู้ประกอบการว่า ให้กล้าเจรจากับเจ้าหนี้ทางการค้าและผู้เช่าอย่างตรงไปตรงมา เช่น การขอลดค่าเช่าลงชั่วคราวหรือขอผ่อนจ่าย รวมไปเจ้าหนี้เงินกู้ ธนาคาร และแม้แต่การไฟฟ้า 

  1. เตรียมตัวสำหรับ Worst-case scenario ไว้ตลอด

ความไม่ประมาทและการเตรียมพร้อมคือสิ่งที่หลายบริษัทจะต้องระมัดระวังมากขึ้นหลังจากนี้ 

“ถ้า CEO ติดโรคแล้วจะทำอย่างไร หรือ core team ติดแล้วจะเป็นอย่างไร แผนการคืออะไร จะมีใครมารับช่วงต่อ? สิ่งเหล่านี้ต้องคิดเผื่อไว้ทั้งหมด” 

การสื่อสารกับคนในบริษัทจะต้องชัดเจนและเป็นพลังบวกเพื่อให้พร้อมรับกับปัญหาในอนาคต และมีโครงสร้างที่มีศักยภาพยิ่งกว่าเดิม

การช่วยเหลือ Community ของตัวเอง

แบรนด์จะอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อสังคมอยู่ได้ เราจึงต้องรวมพลังและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คุณมารุตกล่าวว่า “ในภาวะที่เหนื่อยที่สุด ให้เราไปช่วยคนอื่น นำสิ่งที่เรามีไปช่วยคนอื่นก่อน นั่นจะสร้าง value ที่แท้จริง หลังจากนั้นรายได้ถึงจะย้อนกลับมาหาเรา”

CLASS Cafe ได้เริ่มให้ทีมออกแบบมาช่วยออกแบบห้องตรวจเชื้อ รวมถึงได้จัดตั้งทีมเป็นตัวกลางเพื่อให้คนที่มีจิตอาสานำอาหารมาฝากไว้ที่ CLASS Cafe แล้วนำไปส่งให้ที่โรงพยาบาลต่างๆ 

ขณะที่ Wongnai มีการออกแคมเปญเพื่อช่วยเหลือร้านค้าหลายอย่าง เช่น การขยายระบบให้ร้านค้าเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถทำรายได้ได้ การออกแคมเปญ Gift Voucher ของร้านอาหารให้ลูกค้าเลือกซื้อเอาไว้ก่อน โดยสามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้ 1 ปี ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับร้านค้า 

ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ

ทิ้งท้ายสำหรับผู้ประกอบการ ในช่วงวิกฤตนี้หากมองให้ดีย่อมเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ ที่ผ่านมามี startup หลายรายที่เกิดขึ้นจากช่วงเหตุการณ์วิกฤต เช่น LINE ที่เกิดจากตอนเกิดแผ่นดินไหวในญีุ่่นเมื่อปี 2554 ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิด คือเราต้องมองให้เห็นถึงความต้องการจริงๆ ในตอนนี้ว่าคืออะไร ใครคือคนที่ต้องการความเชื่อเหลือ และใครที่พร้อมให้ความช่วยเหลือนั้นได้ 

หลังจากเหตุการณ์นี้ หลายคนกล่าวว่าโลกจะเปลี่ยนไปมากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมคนที่จะเปลี่ยนไป แต่รวมถึงกระบวนการทำงานต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปตลอดกาล มันจะยิ่งแน่น เร็ว และ lean มากขึ้น เพราะตอนนี้มองเห็นแล้วว่ากระบวนการต่างๆ มันสามารถทำให้เร็วขึ้นได้ นี่จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะมีพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีความรอบคอบและไม่ประมาท 

“เราต้องเดินหาพลังบวก และหาคนที่คิดดีเข้าไว้ ตัวเราเองก็ต้องสร้างพลังบวกให้กับคนอื่นในฐานะผู้นำ ถ้าผ่านเรื่องนี้ไปได้ เราก็ไม่ต้องกลัวอะไรอีก”, คุณมารุต 

“ต้องคิดว่าถ้าวันนี้รอดไป เราจะเล่าเรื่องนี้ให้ลูกหลานฟังอย่างไร เราต้องมีความหวังเสมอ เมื่อเศรษฐกิจกลับมาแล้ว ตัวเราจะไปอยู่ตรงไหน”, คุณไผท

“นี่เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ขอให้ทุกคนร่วมกันสู้ ไม่โทษกันเอง เพราะตอนนี้สังคมค่อนข้างเปราะบาง พยายามปล่อยพลังบวก ให้ทุกคนใน ecosystem รอดไปด้วยกัน”, คุณยอด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

สรุปเทคโนโลยีในปี 2025 เทรนด์ไหนกำลังจะมา ? ฟังความเห็นจาก 3 มุมมองสำคัญ : นักพัฒนา ผู้ประกอบการ และนักอนาคตศาสตร์

ปี 2025 กำลังจะมาถึงพร้อมกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี บทความนี้สรุปและอธิบายเทรนด์สำคัญจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของ Techsauce เพื่อให้เห็นภาพรวมแ...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...