เงินกู้นอกระบบหลีกไป! Credit OK สตาร์ทอัพไทย ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงแหล่ง Working Capital | Techsauce

เงินกู้นอกระบบหลีกไป! Credit OK สตาร์ทอัพไทย ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงแหล่ง Working Capital

Working Capital หรือเงินทุนหมุนเวียน ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการรายย่อย หรือ Micro Entrepreneur ที่เป็นคนกลุ่มหลักของประเทศ แต่มีปัญหาจากการที่คนกลุ่มนี้อาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่ง Financial ที่จะช่วยเหลือด้านการเงิน เพียงเพราะว่ายังไม่มีระบบที่รองรับการให้เครดิตคนกลุ่มนี้ได้ จึงทำให้ 'ยิ่งยง ตันธนพงศ์พันธุ์' มองเห็นช่องว่างในการทำธุรกิจที่จะสามารถช่วยเหลือการให้เครดิตในการกู้เงินกับคนกลุ่มนี้ ด้วยการสร้าง Start Up ชื่อว่า Credit OK  ขึ้นมา โดยใช้ Data จากพฤติกรรมในการใช้จ่าย และการประกอบอาชีพ นำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ และทำเป็น Credit Scoring ออกมาเพื่อใช้ในการประเมิน 

working-capital-creditOKเริ่มต้นทำ Credit OK ได้อย่างไร 

หลังจากที่ผมจบปริญญาโททางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐเอมริกา เมื่อปี 2006 ก็ได้กลับมาทำงานในเครือของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย  (เอสซีจี) ผมได้กลับมาดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โดยโจทย์หลักตอนนั้น คือ ทำอย่างไรที่จะสร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดขึ้นจากงานวิจัยของเอสซีจี ก็ได้ดูแลในส่วนนี้มาประมาณ 10 ปี ปัจจุบันผมยังเป็นที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กับเอสซีจี

ระหว่างนั้นก็มีเพื่อนเรียนหนังสือทีเดินทางกลับมาจากบอสตัน สหรัฐอเมริกา ก็เลยมาเริ่มต้นตั้งบริษัทแรกด้วยกัน ซึ่งเป็น Financial Service Provider ชื่อว่า Cartrust ซึ่งเป็นบริษัทที่จะทำหน้าที่คล้าย ๆ กับการบริการลูกค้าให้กับสถาบันการเงิน โดยเป็นลูกค้าที่มีความต้องการสินเชื่อประเภท Car for Cash ซึ่งเราก็ทำหน้าที่เป็น Service Provider ที่จะคอยไปปิดบัญชีให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าปลอดภาระหนี้สินตรงนั้น และสามารถนำรถของตัวเองมารีไฟแนนซ์ หรือมาขอสินเชื่อ Car for Cash กับสถาบันการเงินได้

จากการทำธุรกิจตรงนี้จึงทำให้ผมเห็นว่าจริงๆแล้ว ในสังคมไทยยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการเงินหมุน หรือ เงินที่นำมาใช้ในการทำธุรกิจ หรือ Working Capital เมื่อเห็น Demand ที่ชัดเจน ผมก็คิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรที่สามารถสร้าง Product ใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากการที่ใช้รถยนต์มากู้เงิน แต่ผมอยากให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มที่ไม่มีใช้ยนต์มาใช้กู้ แต่ต้องการเงินไปหมุนเวียนในการทำกิจการ ก็เลยมาตั้งเป็น Startup ชื่อว่า Credit OK

ซึ่งมาจากความคิดที่ว่าเราอยากจะช่วยคนที่ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย แต่ต้องการเงินหมุนโดยที่เราคิดไปไกลว่าไม่อยากใช้หลักทรัพย์มาเป็นตัวค้ำประกันในการปล่อยเงินกู้ แต่เราอยากจะใช้ Data มาเป็นตัววิเคราะห์เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับคนกลุ่มนี้หรือที่เรียกว่า Micro-entrepreneur และอีกกลุ่ม คือ เกษตรกร ซึ่งสองกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย แต่การที่จะทำให้สำเร็จได้นั้นต้องอาศัย Data ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงที่จะให้เครดิตพวกเขาได้  

"เหตุผลที่ผมมาทำ Credit OK ก็เพราะว่าต้องการจะช่วยให้กลุ่มอาชีพอิสระที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย และเกษตรกร สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ถ้าเราช่วยสองกลุ่มนี้ได้ มันก็จะหมายถึงว่าเราช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ โดยสิ่งที่พวกเขาต้องการมันมีหลายอย่าง แต่ความจำเป็นอันนึงในชีวิตเขา คือ การมีเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจด้วยขั้นตอนที่รวดเร็วและดอกเบี้ยที่เหมาะสม"

working-capital-creditokลักษณะของ Data ที่จะช่วยบริหารความเสี่ยงในการให้เครดิตสำหรับ Working Capital Loan ได้ต้องเป็นอย่างไร

ต้องบอกว่าเราโชคดีตรงที่ได้มาร่วมมือกับทางเอสซีจี ซึ่งทางเอสซีจีเองมีความคิดริเริ่ม และความต้องการที่จะช่วยเหลือคู่ค้าหรือคนที่อยู่ใน Ecosystem ของเอสซีจี โดยเริ่มต้นที่กลุ่มช่าง หรือผู้รับเหมารายย่อยที่มาซื้อสินค้ากับเอสซีจี โจทย์ คือ เราจะต้องสร้างระบบเครดิตที่จะประเมินความเสี่ยงของช่างหรือผู้รับเหมารายย่อยได้ ทำให้ผู้แทนจำหน่ายของเอสซีจีสามารถนำมาใช้กำหนดวงเงินเครดิตการค้า

เพื่อให้ช่างหรือผู้รับเหมารายย่อยสามารถมาซื้อของกับเอสซีจีได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเพราะว่าโดยธรรมชาติของอาชีพนี้ผู้ประกอบการต้องการมีเงินหมุนเวียนตลอด ระบบเครดิตจะทำให้ช่างสามารถเอาของออกไปทำงานก่อนอาจจะ 30 วันหรือ 45 วัน หลังจากนั้นถึงจะเอาเงินสดมาจ่าย ซึ่งทางเอสซีจีก็มีแนวคิดริเริ่มที่อยากจะทำเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้วและเราก็เข้าไปทำให้แนวคิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง 

ส่วน Data ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญนั้น เราก็ได้จากการที่ผู้แทนจำหน่ายที่ขายของให้กับเอสซีจีทั่วประเทศ ซึ่งเวลาที่ช่างหรือผู้รับเหมาไปซื้อของทางผู้แทนจำหน่ายก็จะมีการเก็บประวัติในการซื้อขายไว้ แล้วเราก็นำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์เพิ่มเติม ก็จะทำให้เห็นเป็นโมเดลคร่าว ๆ  ได้ว่า คนกลุ่มนี้มีประมาณเท่าไหร่ มีระดับเครดิตอยู่ในระดับไหน และเราควรจะปล่อยเครดิตได้ในระดับใด  

นอกจากนี้เราก็ได้มีการเพิ่ม Alternative Data เข้าไป นั่นคือ เราจะมี Psychometric Data จากการที่เราจะได้มีการทดสอบเชิงจิตวิทยากับกลุ่มผู้รับเหมารายย่อยในอนาคตก็จะทำให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการทดสอบกับตัวของผู้ที่จะมากู้เงินโดยตรง ตรงนี้ก็จะเป็น Data Source ใหม่ ๆ ที่สถาบันการเงินไม่เคยมีและใช้ในการวิเคราะห์มาก่อน และในอนาคตเราก็จะมีการพัฒนาให้สามารถมี Data Source อื่น ๆ เพิ่มเติมอีก

working-capital-creditokซึ่งทั้งหมดจะสามารถ Output ออกมาเป็น Credit Scoring คล้าย ๆ กับเครดิตบูโร แต่ไม่เหมือนกัน เพราะเครดิตบูโรจะเป็นข้อมูลในลักษณะพฤติกรรมของการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก แต่ของเราจะเป็นจะมีทั้งส่วนของการประวัติการซื้อขาย และพฤติกรรมของผู้กู้  โดยผ่านการวิเคราะห์ให้ออกมาเป็น Score ที่สามรถแบ่งเกรดของช่างแต่ละกลุ่มออกมาได้

โดยในปัจจุบันกระบวนการทำ Score ก็เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตอนนี้ก็เริ่มที่จะ ดำเนินการกับฝั่งของผู้แทนจำหน่ายไปแล้วประมาณ 10 กว่าร้าน ซึ่งเป็นการใช้งานแบบระบบเครดิตการค้าหรือ Trade Finance หรือ การที่ผู้แทนจำหน่ายมาใช้ระบบของเราเพื่อให้เครดิตการค้ากับผู้รับเหมาที่มาซื้อของ พร้อมกันนี้ในอนาคตอันใกล้เราจะร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้งกลุ่ม Bank และ Non-Bank เพื่อเข้ามาปล่อยกู้ในรูปแบบของ Working Capital Loan อีกด้วย 

จุดประสงหลักของเราไม่ได้เน้นที่ Consumption แต่เราอยากที่จะทำให้คนสามารถนำเงินไปต่อยอดธุรกิจ และทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ หรือที่เรียกว่า Productive Working Capital

ซึ่งในอนาคตนอกจากลุ่มผู้รับเหมาแล้ว ก็ยังมีคนกลุ่มอื่นที่ต้องการเงินมาหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ แน่นอนว่ามันต้องมีระบบประเมินความเสี่ยงก่อน เพราะถ้าให้ง่ายเกินไปมันก็อาจจะส่งผลให้เกินหนี้เสีย หรือ NPL ตามมา ซึ่งเราก็ต้องมาคิดอีกว่าจะทำอย่างไรให้คนสามารถเข้าถึงระบบตัวนี้ง่ายและเร็วขึ้น

โดยเราก็พยายามที่จะศึกษาที่จะขยายไปกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ซึ่งเน้นเฉพาะที่เป็นกลุ่มอาชีพหลัก ๆ  ของประเทศ ที่ต้องใช้ Scoring คนละแบบ เพราะแต่ละอุตสาหกรรม การประกอบอาชีพนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน จะใช้ Score เดียวกันมันก็ไม่ Work

Stepถัดไปจะมีการขยายการประเมินเครดิตอย่างไร

นอกจากกลุ่มผู้รับเหมาแล้ว เราก็พยายามที่จะจับกลุ่มเกษตรกรด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทำงานของเราไม่ได้ทำทีเดียวแล้วใช้กับคนทุกกลุ่มแต่เราเลือกจากการทำสิ่งที่เล็กๆก่อนให้เห็นผลลัพธ์ แล้วก็ค่อยขยายไปยังกลุ่มอื่นต่อไป นอกจากนี้เราพยายามที่จะทำให้ครอบคลุมอีกหลากหลายอาชีพที่เรากำลังมองหา Data ที่มีจำนวนมากพอของแต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะสามารถนำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ และทำเป็นโมเดลที่เหมาะสมออกมา และหา Partner ที่ต้องการจะปล่อยเงินกู้โดยใช้ Score ของเราด้วย 

ทั้งนี้เราก็พร้อมที่จะร่วมกับทั้งกับ Bank และ  Non-Bank ด้วย แต่อย่างที่บอกว่าช่วงแรกจะทำ Working Capital Loan ให้เก่งก่อน แล้วค่อยไปพัฒนาเงินกู้ประเภทอื่นๆ ซึ่งโครงการกับทางเอสซีจีก็มีความท้าทายหลายอย่าง เราได้เห็นข้อมูล และทำการวิเคราะห์ ให้ออกมาเป็นโมเดล และมุ่งหวังที่จะทำให้เกิดคววามสำเร็จให้ได้

คนที่เครดิตดี ๆ ในเมืองไทยมีอีกมาก  โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย หรือผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนไม่ดี แต่ว่ามันไม่มีระบบเครดิตรองรับที่เหมาะกับอาชีพเขาเท่านั้นเอง

working-capital-creditOKมี Passion ในการทำธุรกิจนี้อย่างไรบ้าง

ณ ตอนนี้เราต้องการที่จะทำกับกลุ่มผู้รับเหมาให้สำเร็จก่อน แล้วจึงจะขยายไปสู่กลุ่มอาชีพอื่น ๆ ต่อไป และในอนาคตเราต้องการที่จะขยายไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในแถบ CLMV หรือในอาเซียนที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับประเทศไทย โดยแต่ละประเทศต่างก็มีประชากรกลุ่มที่เรียกว่า Micro-entrepreneur ค่อนข้างมาก และมี Financing Gap มหาศาล ซึ่งก็จะมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งการเงิน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เพราะมันสามารถช่วยคนได้  ดังนั้นธุรกิจนี้มันจึงน่าทำ 

อย่างไรก็ตามในต่างประเทศก็มี Startup ที่เก่ง ๆ ทำเรื่องนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน แต่เรามีความคิดว่า เราต้องการที่จะทำให้ Startup ไทย สามารถไปต่อสู้ในระดับระหว่างประเทศได้ ดังนั้นเราเห็นแล้วว่าในตลาดที่ใหญ่ แม้จะมีผู้เล่นหลายราย แต่ก็มีช่องว่างที่เราจะเข้าไปได้  แต่ต้องใช้เวลาสักระยะ จากการที่ Runway ของธุรกิจนี้มันค่อนข้างยาว เพราสิ่งที่เราทำมันยาก มันไม่ได้เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถตอบรับได้ทันที โดยเฉพาะฝั่งของผู้ที่ให้เงินกู้กับเรา มันต้องใช้เวลากว่าที่จะพิสูจน์ได้ว่า Score ของเรามันดีจริง ๆ   

สำหรับผมในการทำธุรกิจนั้น ต้องให้เวลาในการศึกษาว่าสิ่งที่เราอยากทำมันสามารถตอบโจทย์ได้จริง ๆ หรือไม่ ซึ่งถ้าตอบได้ว่ามันใช่ และเรามี Conviction กับมันจริง ๆ ก็ลงมือทำเลย ซึ่งมันก็มันยากเหมือนกันกว่าที่ะหาตัวเองตัวเจอ เพราะตอนที่ผมมาทำ ผมก็คิดอยู่ว่าอยากจะมาทำอะไรจริงจังสักอย่าง ซึ่งผมก็สนใจในเรื่อง Financial inclusion  อยู่แล้ว ที่เหลือก็ตอบตัวเองให้ได้ว่าเราชอบ หรืออยากทำจริง ๆ หรือไม่ 

ในบางครั้งที่เราไปเห็น Story ของคนอื่นที่ประสบความสำเร็จ เราก็ไม่ควรทำ เพียงแค่เพราะเห็นว่าเขาร่ำรวยจากการทำสิ่งเหล่านั้น เพราะจริงๆแล้วเราอาจทำได้ไม่ดีเท่าเขาก็ได้ ต้องคิดดีๆ และไม่หลอกตัวเอง

ในช่วงที่รู้สึก Fail มีวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร 

ผมว่าจริง ๆ ก็ต้องลองจินตนาการดูว่า ถ้าวันหนึ่งเราล้มเหลวเราจะรับตัวเองได้หรือไม่ ทุกคนพอถึงจุดหนึ่งก็ คิดว่าทุกอย่างมันจะไปถึงฝั่งฝันอย่างราบรื่น ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกอย่างมันอาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ไม่ได้มีพรมแดงให้เราเดิน ดังนั้นเราต้องกล้าที่จะยอมรับความจริงกับชีวิตได้ และพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ หรือในบางครั้งระหว่างวัน ผมจะพยายามคิด ในเวลาที่เราเจอเรื่องต่าง ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีและไม่ดี ทำอย่างไรที่เราจะจัดความคิดหรือจิตใจของเราได้ให้อยู่ในภาวะที่มันเป็นกลางได้  ไม่ใช่ว่าพอผิดหวังแล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือพอได้ความสำเร็จก็หลงไปกับมัน 

ก่อนที่จะมาทำกิจการของตัวเองนั้น ผมได้จินตนาการสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในหัวแล้ว ว่าถ้ามันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ เราจะสามารถรับได้หรือไม่ และพร้อมที่จะเริ่มต้นกับชีวิตใหม่ได้เลยไหม ถ้าคิดแล้วว่ารับได้ก็ OK แต่ถ้ารับไม่ได้ก็อย่าเพิ่งทำ เพราะจริง ๆ แล้วงานดี ๆ หรือ บริษัทดี ๆ อีกมากมายมีอีกมาก ที่คุณสามารถไปทำได้ แต่ถ้าคุณอยากเป็นผู้ประกอบการก็ต้องยอมรับให้ได้ 

บางอย่างมันเป็นเรื่องของสภาวะจิตใจ ที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก บางคนเจอปัญหาแล้วปัญหาเล่ายังรับได้ บางคนผิดหวังแค่นิดเดียวหรือเจอแค่อุปสรรคแรกกลับล้มเลิก ดังนั้นคนที่จะทำกิจการของตัวเองได้ ต้องรับในความล้มเหลวได้ สุดท้ายถ้าเรามีจิตใจที่เข้มแข็งจริงๆก็จะมีโอกาสที่จะสำเร็จในท้ายที่สุด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...