คุ้มไม่คุ้ม? ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหันมาลงทุนกับงานอาร์ต | Techsauce

คุ้มไม่คุ้ม? ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหันมาลงทุนกับงานอาร์ต

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ตลาดผลงานศิลปะยังน่าสนใจเสมอ จากรายงาน Art Market Report 2024 ของ Art basel และ UBS ระบุว่า ปีที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายศิลปะทั่วโลกอยู่ที่ 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการประมูลงานศิลปะทั่วโลกอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 7% เนื่องจากการทำธุรกรรมที่มีมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีจำนวนลดลง ส่งผลให้มูลค่าตลาดลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าราคาขนาดกลางและขนาดเล็กยังคงเติบโตต่อเนื่อง 

สหรัฐฯ ครองตำแหน่งตลาดศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกา จีน และสหราชอาณาจักร ยังคงเป็นประเทศที่มียอดขายงานศิลปะจากประมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสหรัฐฯ ครองตำแหน่งประเทศที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดศิลปะทั่วโลกมากที่สุด คิดเป็น 42% ขณะที่จีนอยู่ในอันดับที่ 2 โดยมีสัดส่วน 19% ตามด้วยสหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยส่วนแบ่ง 17% และฝรั่งเศสอยู่ในอันดับที่ 4 อยู่ที่ 7% ของยอดขายทั่วโลก 

แม้จีนจะอยู่ในอันดับที่ 2 ทว่า มูลค่าการซื้อขายผลงานศิลปะเพิ่มขึ้น 9% ราว 12.2 พันล้านดอลลาร์ และเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด 19 ในรายงานยังพบอีกว่าปี 2024 นักสะสมศิลปะจากจีนมีรายจ่ายสูงกว่านักสะสมทั่วโลก

เครดิต: https://theartmarket.artbasel.com/

สำหรับความนิยมการลงทุนงานอาร์ตแถบบ้านเรา ช่วงที่ผ่านมาตลาดงานศิลปะมีความคึกคักมากขึ้น ทั้งงานประเทศจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ประติมากรรม ดนตรี หรือแม้แต่ Art Toy ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ โดยหนึ่งในประเทศที่แสดงความหลงใหลออกมาอย่างชัดเจนคือ สิงคโปร์ที่ไม่ว่าจะเดินไปในห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร หรือสถาบันทางการเงิน จะเห็นงานศิลปะปรากฏอยู่ทุกที่ ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ชิ้นงานศิลปะกำลังมีบทบาทมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่มองข้ามไม่ได้

ทำไมการลงทุนกับงานศิลปะถึงน่าสนใจ

ที่ผ่านมาเราได้เห็นวิกฤตเศรษฐกิจมานับไม่ถ้วน ทั้งหุ้น พันธบัตร ความผันผวนของอสังหาริมทรัพย์ หรือค่าครองชีพที่สูงขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายทั้งสิ้น ผู้คนยุคนี้จึงมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่มั่นคงและปลอดภัย ทำให้ในช่วงหลายปีมานี้การลงทุนศิลปะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อาจทำกำไรได้ในระยะยาว เหมือนเสือนอนกิน แต่ก็มาพร้อมกับความกังวลด้านการบำรุงรักษาและซ่อมแซม ทำให้การลงทุนงานศิลปะน่าดึงดูดใจมากขึ้น Art Works Advisory ประเมินว่า ในปี 2024 มูลค่าการซื้อขายผลงานศิลปะจะเพิ่มขึ้น 22% ต่อปี และนักลงทุนส่วนใหญ่ยังลงทุนเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขจาก Knight frank Luxury Investment Index เผยว่า งานศิลปะเป็นสินทรัพย์หรูหราที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปี 2023 ทั้งนี้ 10 อันดับประกอบด้วย ศิลปะ รถคลาสสิก เครื่องเพชร เหรียญ เฟอร์นิเจอร์ กระเป๋า เครื่องประดับ นาฬิกา ไวน์ และวิสกี้ 

ในมุมของการเพิ่มมูลค่าสินค้า ระหว่างที่ครอบครองงานศิลปะก็สามารถให้เช่าผลงานไปแสดงตามที่ต่างๆ ได้ โดยรับประกันผลตอบแทน 6% ต่อปี รวมถึงได้เป็นเงินก้อนเมื่อตัดสินใจปล่อยหรือนำของไปประมูล

ผู้ที่สะสมงานศิลป์อายุน้อยลงเรื่อยๆ

ปัจจุบันนักลงทุนรุ่นใหม่อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิมที่อยู่ระหว่าง 35 - 40 ปี เหลือเพียง 25- 35 ปี โดยบริษัทประมูลในสิงคโปร์ Christie’s ระบุว่านักลงทุนในสิงคโปร์ 30% อยู่ในกลุ่ม Millennial เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 26% ที่น่าสนใจคือ การซื้อขายในหมวดงานศิลปะ 97% มาจากกลุ่ม Millennial จากข้อมูลของ Great Eastern ระบุว่านักลงทุนในสิงคโปร์ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีจะลงทุนกับผลงานศิลปะไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี บางคนเน้นสะสมผลงานศิลปะในท้องถิ่น ในขณะที่บางคนเน้นเก็บงานศิลปินระดับโลก หรือเก็บงานในรูปแบบ NFT 

อย่างไรก็ตาม คอลเลกชันงานศิลปะสำหรับการสะสมก็ไม่ใช่ของราคาถูก บางคอลเลกชันอาจเริ่มต้นตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน ปัจจัยการขึ้นลงของราคางานศิลปะมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความนิยม เทรนด์ตลาด เทคนิคที่ใช้ ชื่อเสียงของศิลปิน ช่วงเวลาของการสร้างผลงาน จำนวน และคุณภาพของงาน

จากรายงานของ Nikkei เผยว่า หนุ่มสาวชาวเอเชียส่วนใหญ่กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการเติบโตของตลาดศิลปะในภูมิภาคนี้ ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยยอดขายของงานศิลปะประเภทนี้เพิ่มขึ้น 25 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 

และกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีและมีทรัพย์สินมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์ยังมีแผนที่จะลงทุนกับสินทรัพย์ด้านศิลปะ นาฬิกา ไวน์ ประมาณ 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ในขณะที่คนทั่วไปมองว่า การลงทุนของคนมีฐานะกับงานศิลป์เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีในการสร้างความหลากหลายให้พอร์ตการลงทุน เพราะทุกวันนี้โลกต้องเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การแบ่งเงินก้อนมาลงทุนกับงานศิลปะจึงถือเป็นการลงทุนในระยะยาว 

ไทยอยู่ส่วนไหนของตลาดนี้

สำหรับในไทยเวลานี้ต้องบอกว่าเทรนด์การลงทุนกับผลงานศิลปะก็มาแรงไม่แพ้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม Art Toy ที่มีศิลปินหลายคนปล่อยผลงานออกมาดึงดูดเงินจากนักสะสม หลายคนพยายามตามหาตัว Secret ยอมลงทุนไปต่อแถวข้ามวันข้ามคืน ทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อให้ได้ Art Toy มาครอบครอง จนทำให้ตอนนี้ Art Toy กลายเป็น pop culture แห่งยุค

จากกระแสดังกล่าว ยังต่อยอดไปถึงความนิยมในการเก็บสะสม Art Toy คอลเลกชั่นต่างๆ ใน Pop Mart ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ เนื่องจากการสะสมของเล่นราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับงานศิลปะประเภทอื่นๆ หรือในกรณีที่สินค้ามีการร่วมมือกับศิลปินและแบรนด์ดังๆ ออกสินค้า limited edition กระตุ้นความสนใจ จึงดึงดูดความสนใจกลุ่มลูกค้าใหม่ได้มาก

ทว่า เมื่อเทียบกับประเทศแถบเอเชีย ราคาเฉลี่ยของงานศิลปะไทยยังถูกกว่าอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ เช่น ผลงานศิลปะจากประเทศจีน Twelve Landscape Screens โดย Qi Baishi ถูกประมูลในราคา 5 พันล้านบาท หรือประเทศเวียดนามที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงไทยก็มีผลงานศิลปะที่ถูกประมูลด้วยมูลค่าสูงถึง 77 ล้านบาทคือ Portrait de Mademoiselle Phuong ของศิลปิน Mai Trung Thu ส่วนของไทย ภาพที่ถูกประมูลสูงสุดคือ ภาพของอ.ถวัลย์ ดัชนี ในราคา 26 ล้านบาท ซึ่งก็ยังน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

เทคโนโลยีส่งผลต่องานศิลป์

ปัจจุบันภาพรวมการซื้อขายชิ้นงานศิลปะในไทยมีความคล่องตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานชิ้นใหญ่ ชิ้นเล็ก ราคาถูกหรือราคาแพง ทุกอย่างสามารถซื้อขายได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ฝั่งศิลปินก็สามารถโปรโมทผลงานตนเองได้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีตัวกลาง หรือต้องพึ่งพาการจัดแสดงในแกลลอรี่เพื่อประมูลผลงานแบบเดิม

นอกจากนี้ยังมีศิลปะในรูปแบบดิจิทัล หรือ NFT ที่ทำให้การซื้อขายชิ้นงานศิลปะเป็นไปได้อย่างโปร่งใสและปลอดภัย และยังช่วยสร้างความมั่นใจในเรื่องความเป็นเจ้าของและความหายาก สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาและประวัติเจ้าของผลงานได้ง่ายขึ้นทั้งหมดนี้ล้วนทำให้วงการศิลปะไทยเริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ 

ท้ายที่สุดแล้ว การเก็บสะสมคอลเลกชันผลงานศิลปะถือเป็นความหลงใหล และนักสะสมส่วนใหญ่คาดหวังให้สินทรัพย์ที่อยู่ในมือมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ถือเป็นหนึ่งในศาสตร์การลงทุนที่น่าสนใจ หากผู้ลงทุนมีข้อมูลและความรู้มากพอที่จะลงทุนอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุด  


อ้างอิง UBS , Artbasel , Channelnewsasia , ตลาดศิลปะ , Investopedia , arttank , cnaluxury , nikkei asia


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อินโดนีเซีย เปิดรับเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ ถอดบทเรียนจากงาน Bali International Airshow

อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่บิ๊กเทคฯ ต่างประเทศแห่เข้าไปลงทุนมากมาย ซึ่งหากนับแค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เพียงปีเดียวอินโดนีเซียสามารถสร้างมูลค่าถึง 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ...

Responsive image

รู้จัก “Phygital” การตลาดยุคใหม่แห่งอนาคต ผ่านเทคโนโลยี Immersive Experience ของ Translucia

Techsauce จึงอยากพาไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยี ‘โลกเสมือน’ ผ่านหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญอย่าง Translucia บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนา Immersive Experience ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการเ...

Responsive image

ต้นกำเนิด Panpuri ศึกษาจากตำราอายุ 300 ปี ปั้นแบรนด์หรูสัญชาติไทยมูลค่าพันล้านบาท

ตั้งแต่ก่อตั้งมา Panpuri เติบโตอย่างน่าทึ่ง มีอายุกว่า 20 ปีและทำรายได้ทะลุพันล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่ได้รับการตอบรับดีเยี่ยม บทความนี้ Techsauce จะพาไปสำรว...