Corporate Innovation ของ AP ที่ HR มิติใหม่เป็นแรงสนับสนุน | Techsauce

Corporate Innovation ของ AP ที่ HR มิติใหม่เป็นแรงสนับสนุน

Corporate Innovation เป็นเสาหลักที่บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ยึดถือ และหล่อหลอมขึ้นผ่านกลุ่ม Disruptive Business ด้วยมองว่าเป็นรากฐานสู่การสร้าง solution ซึ่งจะมาคลายปม pain point และส่งมอบบริการที่ดีแก่ผู้อยู่อาศัย ตลอดจนต้องสามารถสร้างผลกำไรได้ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญนอกเหนือไปจากการปั้นแบรนด์ AP ให้ยืนหยัดบนแผนที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างแข็งแกร่ง โดยวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ ที่เชื่อว่าด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยปรับมุมมองด้านบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) ให้สอดผสานไปกับเส้นทางพัฒนานวัตกรรมได้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมของค์กรให้ไปถึงจุดหมายนั้น แรงผลักดันเริ่มตั้งแต่ระดับผู้นำองค์กรอย่างอนุพงษ์ อัศวโภคิน ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่มีนโยบายให้เริ่มจัตตั้งทีมด้าน Corp Innovation ประมาณต้นปี 2561 

โดยดำเนินการผ่านบริษัทในเครือที่เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ (Disruptive Business) ได้แก่ บริษัท เคลย์มอร์ จำกัด (ดำเนินธุรกิจการพัฒนานวัตกรรมดีไซน์) บริษัท วาริ จำกัด (ดำเนินธุรกิจสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต หรือ LIFE MANAGEMENT ECOSYSTEM และ SEAC (เอสอีเอซี) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (ดำเนินธุรกิจในการดิสรัปวิธีการเรียนรู้ของคนในองค์กรและคนในสังคมด้วยกระบวนการใหม่)       

จนปัจจุบันเริ่มเห็นโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยบริษัท เคลย์มอร์ ฯ ไม่ว่าจะเป็น ‘KATSAN’ ซึ่งเป็น solution ที่เหมือนผู้คุ้มกันส่วนตัวอัจฉริยะ (Personal Guardian) มาช่วยดูแลความปลอดภัยของการอยู่อาศัยภายในหมู่บ้านจัดสรร หรือแม้แต่ ‘HOMEWISER’ นวัตกรรมดีไซน์ที่จะมาช่วยเรื่องการดูแลและบำรุงรักษาที่อยู่อาศัยในแบบผู้เชี่ยวชาญประจำบ้าน (Personal Home Advisor) 

สำหรับเรื่องราวของการสร้าง Corporate Innovation ที่ผ่านมาได้ถูกบ่มเพาะเช่นไรแล้วจะไปต่อในทิศทางไหน หาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มาสานต่อภารกิจโดยตรง

Corporate InnovationAP ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption อย่างไร

ถ้าเราพูดถึงการ disruption ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ อสังหาริมทรัพย์อาจจะเป็นธุรกิจหลัง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ แต่ที่แน่ ๆ คือ เรามีความเชื่อว่าในอนาคตมันจะต้องเกิดขึ้น แต่จะไปในทิศทางไหน ทุกคนก็พยายามค้นหาอยู่ 

ทั้งนี้จะเห็นว่าปัจจุบันธุรกิจที่โดน disrupt ส่วนใหญ่จะเป็นด้านบริการ ขณะที่ทางด้าน real sector ยังไม่โดนมาก แต่ในอนาคตเชื่อว่าในฝั่งด้านก่อสร้างของธุรกิจอสังหาฯ น่าจะได้รับผลกระทบแน่ ๆ 

ถ้ามองระหว่างธุรกิจอสังหาฯ กับ Airbnb ที่หากต้องการสร้างคอนโดมิเนียมมาแข่งกับผู้พัฒนาอสังหาฯ ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะมีข้อมูลสถานที่หรือทำเลซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หรือแม้แต่รู้ว่าลูกค้าสามารถซื้อได้ในราคาเท่าไร ฉะนั้นเมื่อ Airbnb เล็งเห็นโอกาสตรงนี้ แล้วสามารถจัดการและควบคุมต้นทุนในการก่อสร้างได้ดีกว่า ก็จะ disruption ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่พัฒนา ไม่รู้จักข้อมูลอะไรเลย แล้วถ้าวันหนึ่งคู่แข่งเหล่านี้เข้ามาในตลาด ก็จะทำให้เราไม่สามารถสู้กับธุรกิจเหล่านี้ได้

สำหรับภาพรวมของ innovation ในธุรกิจอสังหาฯ นั้น จะค่อนข้างไปทางด้านการอยู่อาศัยมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น smart home หรือ IoT แต่ที่ยังไม่ค่อยเห็นคือแล้วจะทำอย่างไรในส่วนการก่อสร้าง เพราะทุกวันนี้ยังไม่ถูก disrupt  แต่เราเริ่มเห็นแล้วว่าการก้าวเข้ามาของกระบวนการออกแบบ 3 มิติ ที่ทำให้ต้องคิดว่าจะสามารถ implement อย่างไร เพื่อให้ต่อยอดในอนาคตได้ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องคิดและทำให้ทันเวลา 

เพราะความยากในการพัฒนาเรื่องพวกนี้คือมีกระบวนการเดิม ๆ ที่ยังประสบความสำเร็จอยู่ หากจะเข้าไปเปลี่ยน อย่างแรกที่จะต้องเจอคือไปเพิ่มกระบวนการทำงานที่ไม่คุ้นเคย สองคือไปเปลี่ยนกระบวนการทำงานทั้งหมด ซึ่งจะไปย้อนแย้งกับวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ในองค์กร 

อย่างไรก็ตาม บริษัทอสังหาฯ กำลังเริ่มกระบวนการเหล่านี้อยู่ และขึ้นกับความเร็วของแต่ละบริษัทที่อาจจะไม่เท่ากัน แม้รู้ว่าต้องเปลี่ยนแน่ ๆ แต่ที่เป็นความท้าทาย คือไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

“ผมคิดว่าเราทุกคนเห็นภาพของ FinTech ที่ทุกอย่างถูกนำมาวางไว้บนโต๊ะหมดแล้ว ขึ้นอยู่ว่าจะตามทันหรือไม่ แต่ธุรกิจอสังหาฯ เปรียบเสมือนของที่ยังอยู่ใต้โต๊ะ จึงไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน ทุกคนก็พยายามทำออกมาในมุมมองของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน” 

Corporate Innovationอะไรคือ Pain point ของผู้อยู่อาศัยที่หนักหนาที่สุด แล้วต้องเข้าไปแก้

หลัก ๆ คือเรื่อง security แน่นอนว่าผู้อาศัยก็ต้องการเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งหลายคนที่ย้ายเข้ามาอยู่คอนโดมิเนียมด้วยเหตุผลหลัก คือรู้สึกว่ามันปลอดภัยกว่าบ้าน ทั้ง ๆ ที่หมู่บ้านเองก็เป็น gated community แต่คนก็ยังรู้สึกว่ยังไม่ปลอดภัยเพียงพอ

นั่นคือเราต้องหาทางออกว่าจะมีการป้องกันอย่างไร เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากเรามีข้อมูลที่ดี มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะไม่พูดถึงเรื่องที่มันเกิดขึ้นไปแล้วแต่จะพูดถึงเรื่องการป้องกันมากกว่า 

นวัตกรรมมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยหรือไม่

ผมเชื่อว่าคนที่ซื้อบ้านทุกวันนี้ตัดสินใจเลือกทำเล ราคา และความน่าเชื่อถือ ซึ่ง innovation ที่เราสร้างมาทั้งหมด เพราะต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจ นั่นคือสิ่งที่แตกต่างระหว่างแบรนด์ใหญ่กับแบรนด์เล็ก 

ส่วนเรื่องทำเลและราคา ก็เป็นเรื่องของผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด นั่นคือซื้อที่ดินเก่ง ในแง่ของการต่อรอง และการพัฒนาได้ดี เพราะเรามีตัวเลือกและอำนาจต่อรองในการเลือกซื้อที่ดิน 

แต่จะมีผลมากกว่าเรื่องเทคโนโลยีที่จะเติมเข้ามา คือ จะทำอย่างไรให้เรื่องราคาสามารถแข่งขันได้มากที่สุด และทำได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด นี่คือสิ่งที่ลูกค้ามองมากกว่าเรื่อง IoT และถ้าเราพูดถึงเรื่องนวัตกรรมจริง ๆ คือการที่จัดหาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับมากกว่า เช่น การให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ทุกบ้าน และทุกห้องในคอนโด เพื่อมาใช้งาน IoT ตามที่ผู้อยู่อาศัย/ลูกค้าต้องการ

นอกจากนี้เทคโนโลยีที่เราจะเติมเข้ามาเพื่อพัฒนาคุณภาพหรือพัฒนาเรื่องการแข่งขันด้านราคา คือสิ่งที่กำลังให้ความสำคัญอยู่ตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยี prefabricate คือการสร้างนอกพื้นที่โครงการ (off-site construction) เป็นการสร้างจากโรงงานแล้วนำมาต่อเติมในโครงการ เพราะได้คุณภาพที่ดีกว่าการใช้ฝีมือแรงงาน เช่น ทำห้องน้ำสำเร็จรูปมาแล้ว ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับที่ดีและแก้ปัญหาในเรื่องจุดบกพร่องต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากระบบน้ำ และ ระบบไฟไปได้ 

อีกอันหนึ่งที่จะพูดถึงคือ BIM (Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวงการงานสถาปัตยกรรม และการก่อสร้าง ที่เริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารไปจนถึงการก่อสร้างโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ) ที่ต้องมาคิดว่าจะต่อยอดเรื่องการพัฒนาคุณภาพอย่างไร ทั้งนี้ในต่างประเทศพัฒนาไปถึงขั้น เริ่มออกแบบเป็น 3 มิติ ส่งเข้าโรงงาน และทำออกมาให้เป็นของจริงได้ ซึ่งวันนี้เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่อย่างน้อยก็สามารถจัดการภายในของเราได้ 

“ผมเชื่อว่าจุดเปลี่ยนที่ธุรกิจอสังหาฯ จะอยู่ต่อหรือจะหายไปในอนาคต ขึ้นอยู่กับการใช้ BIM”

เคยมีผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างว่า AP  ถือเป็นองค์กรที่ทำ Corporate Innovation ได้ดี แล้วเราประเมินตัวเองอย่างไร และมีจุดไหนที่ต้องการทำให้ดีกว่านี้

ถ้าเป็นเรื่องให้คะแนน ถือว่ายังสอบตกอยู่ เพราะ innovation จะประสบความสำเร็จหรือสร้าง impact จริง จะต้องสามารถสร้างผลกำไร หรือ commercialize ได้ ซึ่งทุกวันนี้โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังไม่มีอันไหนที่เป็นแบบนั้น  

ทั้งนี้คำว่า commercialize อาจจะไม่จำเป็นต้องได้กำไรในวันนี้ เพราะในโลกของ Startup ต้องมีช่วงขาดทุนอยู่แล้ว แต่ต้องมีโอกาสทำกำไรได้ในอนาคต แต่โครงการพัฒนานวัตกรรมของเรายังอยู่แค่ ideate ไปถึง prototype แต่ยังไม่สามารถ commercialize ได้จริง ๆ 

“ผมเชื่อว่าถ้าในช่วงแรกทำได้ดี เริ่มสร้างทีมและวัฒนธรรมในการทำงานได้ในระดับหนึ่งแล้ว แม้ยังมีบางอย่างที่ยังข้ามไปไม่ได้ ซึ่งผมก็ยังเชื่อว่าในโลกของ corporate startup ทุกคนต่างเป็นแบบนี้หมด คือสร้างขึ้นมาแล้วยังก้าวข้ามจุดตรงนี้ไปไม่ได้” 

Corporate Innovation

การบริหารบุคลากรและสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต มีการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง

มีสองเรื่องหลักที่ผู้บริหารเน้นย้ำกับทาง HR อย่างแรกคือการที่ทุกคนต้องเข้าใจกระบวนการและลูกค้าผ่าน Design Thinking (ตัวช่วยในด้าน Hard Skill ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยถือเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ให้พนักงานของ AP ต้องเรียน เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมดีไซน์) 

อย่างที่สองคือ นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาด Outward Mindset (กลไกในการเชื่อมโลกเก่ากับโลกใหม่ และเชื่อมคนจากหลายหน่วยงานให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น) ที่สำคัญคือต้องรู้จักพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน

"นวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่กล้าพูดและไม่กล้ารับฟัง โดยต้องไม่กลัวว่าจะผิด ซึ่งปัจจุบันต้องเรียนรู้ความผิดพลาด และแก้ไขให้เร็ว"

เช่นเดียวกับเรื่องการวัดผล แม้เมื่อก่อนอาจจะใช้ KPI (Key Performance Indicator หรือเครื่องมือวัดประสิทธิภาพการดำเนินงาน) แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว นั่นคือต้องเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ได้ลองทำก่อน ถ้าทำผิดแล้วแก้ให้ดีขึ้นให้เร็วที่สุด 

ฉะนั้นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยได้อย่างมากคือ Outward Mindset โดยคนที่เป็นผุ้ใหญ่กว่าก็ต้องรับฟังคนรุ่นใหม่ ต้องเข้าใจและให้ feedback ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องรับฟังด้วยเหมือนกัน กลายเป็นว่ามันมีสองวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นคือนวัตกรรมและประสบการณ์ 

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าต้องมีความหลากหลายของช่วงอายุภายในองค์กร จะเห็นว่ามีน้อง ๆ อายุต่ำกว่า 35 ปี ขณะที่ผู้บริหารโดยเฉลี่ยจะอายุ 45 ขึ้นไป จึงมีช่วงวัยที่ห่างกันมาก โดยเฉพาะน้อง ๆ ในทีม innovation ที่เข้ามาก็จะมีอายุตั้งแต่ 28-30 ปี ทำให้ในการทำงานจะเจอคนที่หลากหลายมาก ๆ 

แม้กระทั่งตัวผมเองที่เวลาคุยเรื่อง innovation กับน้อง ๆ ก็จะพบว่าพวกเขาไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานร่วมกับคนที่อยู่ในองค์กรก็ต้องเกิดความขัดแย้งกันบ้าง แต่เราก็ต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ 

ส่วนใหญ่แล้วเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรมและการบริหารด้าน HR มักจะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะ HR จะมี KPI ในการวัดผลอีกแบบหนึ่ง เรามีวิธีการอย่างไรให้ทั้งสองฝั่งไปด้วยกันได้

ผมคิดว่า HR ของ AP เองค่อนข้างเปิดกว้างและรับได้เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาด้านนวัตกรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดในปัจจุบันนี้คือการสื่อสาร ซึ่งกระบวนการทุกอย่างที่เราสร้างขึ้นมาต้องมีการพูดคุยกับ HR ตลอดเวลาว่าวัตถุประสงค์คืออะไร สิ่งที่เราจะให้คืออะไร แน่นอนที่สุดว่าในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็ต้องรับฟัง HR ด้วยเหมือนกันว่าประมาณเท่าไรที่เหมาะสม จากนั้นก็มาร่วมกันเสนอความเห็นและพูดคุยกันว่าควรจะเป็นแนวทางไหน 

แต่ปัญหาคือแล้วจะวัดผล innovation อย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องให้ทาง HR เข้าใจในกระบวนการวัดผล เพื่อให้สามารถอธิบายและชี้แจงกับทีมงาน innovation  ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถอธิบายให้คนอื่นฟังได้ด้วย 

เนื่องด้วยกระบวนการทำงานและวัดผลที่ต่างกันระหว่างพนักงานทั่วไปและฝั่งทีม innovation เพราะผลงานจะขึ้นกับศักยภาพของตัวเขาเองเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือถ้าผ่านก็ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ตกลง แต่ถ้าตกก็เริ่มใหม่ตั้งแต่กระบวนการแรก 

นอกจากนี้การทำงานในปัจจุบันคือการร่วมมือกันของแต่ละฝ่าย โดยที่อาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละคน นั่นคือความเชี่ยวชาญของ HR ซึ่งมีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ทำให้ทุกอย่างสมเหตุสมผลได้ ขณะที่มีส่วนแนวคิดใหม่ ๆ ฉะนั้นเมื่อมารวมกันก็จะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น แม้กระทั่งการวัดผลของทีม innovation ก็ถือเป็น innovation ด้วย

แล้วใช้เกณฑ์ใดการวัดผลทีม innovation 

เรายึดรูปแบบจากระบบของ Startups ที่ค่อย ๆ พัฒนาไปทีละขั้น ซึ่งพิจารณาผลงานจากโอกาสที่จะเติบโตและสร้างผลกำไรได้ในอนาคต จึงต่างจากบริษัททั่วไปที่จะให้โบนัสปีละครั้ง แต่ของเราไม่มีเวลามากำหนด นั่นคือคุณจะได้โบนัสก็ต่อเมื่อทำงานได้ผ่านตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพราะหากมัวแต่มานั่งรอโบนัส การสร้างนวัตกรรมก็คงจะไม่ขยับไปไหนเลย 

เช่นเดียวกันที่ AP ก็สร้างมาได้จากผู้ก่อตั้ง Startups สองคนคือคุณอนุพงษ์และคุณพิเชษฐ์ (พิเชษฐ วิภวศุภกร ผู้ก่อตั้งร่วมและกรรมการผู้อำนวยการ)  ซึ่งถือว่าผู้ประกอบการโดยสายเลือดอยู่แล้ว เมื่อให้ทั้งสองท่านเป็นคนตัดสินว่าจะให้ผ่านหรือไม่ ก็เหมือนกับ VC  ว่าจะเลือกลงทุนใน  Startups นั้น ๆ หรือไม่


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...