พลิกฟื้นช่อง 3 ฝ่าใต้ฝุ่น Digital Disruption โดยอริยะ พนมยงค์ | Techsauce

พลิกฟื้นช่อง 3 ฝ่าใต้ฝุ่น Digital Disruption โดยอริยะ พนมยงค์

Digital Disruption ที่ดึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ให้หันไปเลือกเสพสื่อออนไลน์ เป็นดังพายุใต้ฝุ่นที่กวาดล้างผู้เล่นในธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมหลายรายต้องสูญสลายไป หรือแม้จะยังอยู่ได้แต่ก็ต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อให้สามารถต้านทานแรงเหวี่ยงได้อย่างแข็งแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งสถานีโทรทัศน์ยืนหนึ่งด้านกระแสนิยมอย่างช่อง 3 ที่วันนี้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยกลยุทธ์ที่ครอบคลุมทั้งด้านการปรับ content และวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ตามวิถีของอริยะ พนมยงค์  

digital-disruption-bec

ธุรกิจสื่อบันเทิงทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 หรือที่ใครหลายคนเรียกติดปากว่า “ช่อง 3”  อยู่ภายใต้การบริหารงานของ BEC ซึ่งเริ่มก้าวแรกจากก่อตั้งบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จำกัด โดยครอบครัว “มาลีนนท์”  เมื่อปี 2510 ที่ผ่านการฟูมฟักและผ่านร้อนผ่านหนาวมาโดยผู้นำที่ล้วนแต่เป็นสมาชิกครอบครัวของผู้ก่อตั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่าน


กระทั่งวันนี้ที่ธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมถูกท้าทายด้วย Digital Disruption ซึ่งส่วนหนึ่งของผลกระทบสะท้อนมาที่ตัวเลขกำไรสุทธิของ BEC เริ่มติดลบตั้งแต่เมื่อปี 2561 และยังคงขาดทุนอยู่จนถึง ณ ไตรมาสของปีนี้ ทำให้ต้องหาทางกอบกู้ธุรกิจช่อง 3 ให้มายืนหยัดได้ดังที่เคย จึงจำเป็นต้องพลิกองค์กรด้วยกลยุทธ์ที่ฉีกจากกฎเกณฑ์เดิม 

โดยเริ่มจากการคัดสรรผู้นำคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้บริหารมืออาชีพจากแวดวงธุรกิจอื่นและไม่ใช่สมาชิกครอบครัวมาลีนนท์ ดังเช่น อริยะ พนมยงค์ ผู้มาสวมหมวก กรรมการผู้อำนวยการ แห่ง บมจ.บีอีซี เวิล์ด อย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนเมษายน 2562 ซึ่งนับจากวันนั้นจุดหมายที่ช่อง 3 กำลังจะก้าวไปเริ่มชัดเจนขึ้น แต่มีจุดใดบ้างที่เป็น pain point หลัก และจะหาทางออกเช่นไร พบคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์นี้ 

Digital Disruption ส่งผลต่อธุรกิจช่อง 3 อย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นต้องพูดถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อก่อน เพราะถือว่าเป็นอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่ถูก disrupt จริงๆ ทำให้ภารกิจที่สำคัญคือต้องมารับมือกับเรื่อง disrupt ซึ่งแน่อนอยู่แล้วว่าเราต้องปรับตัวเองค่อนข้างมาก

ผลกระทบมี 2 มุมมองคือ มุมมองด้านธุรกิจและด้านผู้บริโภค ซึ่งต้องแยกออกจากกัน 

ถ้าเราพูดในมุมมองของธุรกิจ แสดงว่ากำลังพูดถึงเม็ดเงินโฆษณาของวงการสื่อทั้งหมด ถ้าลองกลับไปดู สิ่งที่เรียกว่า Added (Add Experience) ซึ่งก็คือ Media Budget ของทั้งประเทศไทยในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมาลดลง แต่ถ้าดูลึก ๆ แล้วเม็ดเงินที่ลดลงคือ ด้านสื่อที่เป็น traditional media นั่นคือ ทีวี หนังสือพิมพ์ และ Magazine ทุกคนมักจะมองว่ามาจากเรื่องของ Digital Disruption ซึ่งจริง ๆ ก็คือส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด 

กลับมาที่มุมมองด้านธุรกิจมี 3 ปัจจัยหลักดังนี้ 

(ปัจจัยแรก) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก ด้วยจำนวนสถานีโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นแต่เม็ดเงิน (โฆษณา) ไม่ได้เพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามคือลดลงด้วยซ้ำ ทำให้ต้องแบ่งสัดส่วนชิ้นเค้กมากขึ้น จึงทำให้ยากขึ้น นี่คือสิ่งที่มากระทบด้วยส่วนหนึ่ง 

(ปัจจัยที่สอง) นอกจากนี้เรื่องภาวะเศรษฐกิจก็มีส่วน เราก็ต้องเข้าใจว่ากลุ่มแบรนด์ที่ลงโฆษณาก็ใช้เงินที่มาจากยอดขายของเขา ซึ่งมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็มาจากเศรษฐกิจ เมื่อลดลงก็ไปกระทบกับยอดขาย จากนั้นสิ่งแรกที่ทำกันก็คือการลดต้นทุนที่มีอยู่ 2 ส่วนที่จะถูกตัด คือ คนและการตลาด  

“ปัจจัยที่สามคือ Digital Disruption ก็มีผลด้วย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด”

ในส่วนมุมมองด้านผู้บริโภค แน่นอนว่า Digital Disruption จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่นเดียวกับที่จำนวนช่องทีวีก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะตอนนี้ทุกคนกำลังแย่งเวลาของผู้บริโภค ซึ่งคงที่ 24 ชั่วโมง ฉะนั้น attention ของผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ทุกสื่อพยายามแย่งกันอยู่แล้ว แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปบริโภคสื่อออนไลน์มากขึ้น จึงอยากให้เห็นภาพชัดเจนว่าอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงอยู่ 2 มุมมองคือ ด้านธุรกิจและผู้บริโภค 

มีแผนการปรับองค์กรเพื่อให้ตอบโจทย์ในแต่ละมุมมองอย่างไรบ้าง

ในมุมธุรกิจมีอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ traditional media  ยังไม่ได้ปรับตัวเองมากนักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนี่คือสิ่งแรกที่เราต้องปรับ โดยต้องผันตัวเองเป็นสื่อในรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ที่ไม่แพ้หรืออาจจะใกล้เคียงกับสื่อแบบใหม่ให้มากที่สุด  

ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่สื่อดิจิทัลมีความน่าสนใจคือ เห็นผลเร็วกว่า เพราะเมื่อก่อนต้องเปิดทีวีดูโฆษณาแล้วยอดขายขึ้นทันที แต่ตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง อาจจะไม่ได้เห็นผลทันทีหรือเหมือนเดิม 

ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำให้ได้คือต้องเปลี่ยนรูปแบบสื่อของเราเอง ต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่ลดลงคือรูปแบบของสื่อโฆษณาที่เป็นรูปแบบเดิม ไม่ได้หมายความว่าโฆษณาจะหายไป เพราะสุดท้ายแบรนด์ก็ต้องมีโฆษณา ต้องเข้าถึงผู้บริโภค จะเห็นว่าความต้องการยังมีอยู่ แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือรูปแบบของสื่อมากกว่า 

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือต้องสร้างธุรกิจใหม่ เพราะต่อให้เปลี่ยนสื่อ ก็จะเห็นว่าเม็ดเงินโฆษณายังลดลงอย่างต่อเนื่อง เหมือนกำลังสร้างบ้านบนพื้นที่ซึ่งไม่นิ่งแล้ว เป็นพื้นฐานของธุรกิจที่เสี่ยง ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ มองหาโอกาสและธุรกิจใหม่ที่อยู่บนอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังแก้อยู่ 

“เราต้องสร้าง new business new service new business model อีกทั้งเป็นการกระจายความเสี่ยงของเราด้วย”

ส่วนด้านผู้บริโภค ต้องกลับไปที่พื้นฐาน นั่นคือต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างไร และต้องการอะไร ถ้าเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของผมที่มาจากโลกใหม่ สิ่งที่เราทำคือสร้างบริการใหม่ 

ตอนสร้างบริการใหม่คือเรากำลังสร้างให้กับผู้บริโภคในวันนี้ ฉะนั้นเราต้องศึกษาว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แต่ธุรกิจดั้งเดิมที่มีในประเทศไทยถูกสร้างมาเมื่อ 50 ปีหรือ100 ปีที่แล้ว ซึ่งคำถามพื้นฐานคือ แล้วบริการที่ถูกสร้างขึ้นยังตอบโจทย์ผู้บริโภคในวันนี้หรือไม่ 

ที่ผ่านมาเราไม่ได้ปรับเนื้อหาหรือบริการของเราให้ตอบสนองชีวิตของคนรุ่นใหม่ นี่คือสิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนว่าวันนี้ผู้บริโภคต้องการอะไร ถ้าเข้าใจในจุดนี้ ก็จะง่ายต่อการตอบสอนองพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น

แล้วในวันนี้ช่อง 3 เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้นหรือยัง

เราต้องลงไปดูและต้องใส่ใจมากขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือจะตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างไร ทั้งรูปแบบของเนื้อหาและช่องทางที่จะนำเสนอ 

ในส่วนของ business model คืบหน้าอย่างไรบ้าง และผู้บริโภคจะได้สัมผัสเมื่อไร

เรามีแผนและวางกลยุทธ์ไว้อยู่ 6 กลยุทธ์ด้วยกันคือ 

1.TV Plus สื่อออฟไลน์และออนไลน์ต้องเดินไปคู่กัน 2.Distribution หรือ ช่องทาง นำเสนอ Content & Entertainment Platform ร่วมกับทุกพันธมิตร 3. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ช่อง 3 ที่สะสมมาตลอด 49 ปี ซึ่งหลัก ๆ คือ “ละคร” ที่สามารถสร้างรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ 4. Artist กลุ่มดารา นักแสดง ที่มีกว่า 200-300 คน  ที่สามารถต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ ๆ  5.Content ด้วยการปรับโฉมละคร ข่าว และวาไรตี้  และ 6.Technology  โดยพัฒนา digital platform ของช่อง 3 เช่น Mello และการทำงานร่วมกับพันธมิตร

โดยมองว่าบนพื้นฐานของธุรกิจสื่อโทรทัศน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นฐานรายได้หลัก ต้องปรับใน 2 ส่วนคือ รูปแบบของสื่อที่เป็น traditional media ที่ต้องผันให้เป็น new media ให้ได้ ต่อมาคือพื้นฐานของเนื้อหาที่ต้องตอบสนองผู้บริโภค 

ฉะนั้นสิ่งที่จับต้องและมองเห็นได้ ก็คือผังรายการ ไม่ว่าจะเป็นผังรายการแบบที่จะนำเสนอ content ใหม่ ๆ หรือเป็น content เดิมแต่ในรูปแบบใหม่ ซึ่งละครยังคงอยู่ ไม่ได้หายไป ถือว่าเป็นจุดขายของเราและคนไทยยังคงบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่อาจจะปรับเนื้อหาหรือรูปแบบของละครให้เข้ากับพฤติกรมของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มที่ยังดูทีวีอยู่ เช่นเดียวกับที่ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สลับไปมาระหว่างโทรทัศน์และออนไลน์ 

ทั้งนี้ธุรกิจออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เราต้องการเจาะเข้าไปแน่นอน โดยมีบริการที่ชื่อว่า “Mello” (https://mello.me)  ซึ่งกำลังปรับอยู่เพื่อให้ดีขึ้น และต้องทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น Facebook YouTube LINE แต่ก็ยังต้องหาพันธมิตรใหม่ ๆ ด้วย เพราะผลลัพธ์ที่ต้องการคือยอด view ที่เพิ่มขึ้น และรายได้ที่เพิ่มขึ้น 

ในขณะเดียวกันก็ต้องหาว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะเชื่อมต่อทีวีกับออนไลน์ให้มากขึ้น ด้วยเชื่อว่าทีวีและออนไลน์ไม่ได้แยกกันแต่ไปด้วยกัน สุดท้ายแล้วไม่ใช่โลกของออนไลน์หรือออฟไลน์อย่างที่เข้าใจ จริง ๆ คือโลกเดียวกัน แต่อยู่ที่เราต้องปรับตัวให้อยู่ด้วยกันให้ได้ 

ในส่วนตลาดต่างประเทศ จะเห็นว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เช่น จีน ก็กำลังเจาะตลาดเข้าไป แต่ล่าสุดเราเพิ่งประกาศว่าเจาะตลาดเกาหลีได้ มีรายหนึ่งที่ซื้อละครเราไปประมาณ 10 เรื่อง ซึ่งเราก็พอใจ เพราะปกติเกาหลีจะเป็นคน export สื่อ แต่เราไปขายได้ ซึ่งก็ถือว่าไม่ง่ายแต่เราทำได้

โดยพื้นฐาน content ของไทยหรือละครช่อง 3 เริ่มมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง ด้วยนักแสดงที่ถูกจริตและเป็นที่ชื่อชอบของประเทศเพื่อนบ้านหลาย ๆ ประเทศ (ในทวีปเอเชียกลุ่ม CLMV, Korea, China) จากที่มีวัฒนธรรมคล้ายกัน 

นอกจากนี้เราก็เพิ่งปิดดีลกับ Netflix ไปกว่า 20 ประเทศ ซึ่งเริ่มเห็นแล้วว่าเรานำ content ไทยออกไปสู่ตลาดโลก จึงดีสำหรับช่อง 3 และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย เพราะมองว่าตลาดใหญ่และมีโอกาส 

อย่างไรก็ตามมองว่าตลาด content กำลังเปลี่ยนแปลง โดยที่มีผู้เล่นอยู่ 2 แบบ คือ เป็น platform กับ เจ้าของ content แต่มองว่าคนที่มี content ถือไพ่เหนือกว่า เพราะการแข่งขันในระดับกลุ่มที่เราเรียกว่า OTT (Over-the-top media services)สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราบริโภคก็คือ content โดยที่ platform ก็คือส่วนหนึ่ง แต่จะไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มี content ดังนั้นคนที่มี content จะถือไพ่ที่เหนือกว่าในบางสถานการณ์ 

“ตัวอย่างที่ดีคือสิ่งที่ Disney กำลังทำอยู่ อยู่ในจุดเริ่มต้นและน่าจับตามอง เพราะเขาคือยักษ์ใหญ่ที่มาจาก traditional media แต่เขาจะสู้กลับ ส่งผลกับ platform ที่เป็น OTT ผมกล้าบอกได้เลยว่าในอีก 2-3 ปี จะมี OTT บางรายที่ไปไม่รอด”

Digital Disruption

การปรับรูปแบบ content ที่ผู้บริโภคหรือผู้ชมจะได้สัมผัสว่าตอนนี้ช่อง 3 เปลี่ยนแล้วจริง ๆ จะได้เห็นเมื่อไรและเป็นไปในแง่มุมไหน 

content ที่คนไทยบริโภคก็มีไม่กี่อย่าง ก็จะมีละคร รายการบันเทิง และข่าว ตอนนี้จุดเริ่มต้นที่เริ่มปรับคือ รายการข่าว หลังจากประกาศนโยบายไปตั้งแต่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็กลับมาทบทวนว่าการที่จะตีตลาดของข่าวนั้น ควรมีกลยุทธ์อย่างไร ซึ่งเหตุผลที่เริ่มจากข่าว เพราะข่าวเป็นสิ่งที่ช่อง 3 ทำได้ดี 

ถ้าย้อนมาดูจะเห็นว่าเราเป็นอับดับหนึ่งทุกรายการ เรามีพื้นฐานที่ดี แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ refresh ตัวเอง ซึ่งวางไว้ 3 positioning คือ ข่าวต้องเป็นข่าวจริง ทันเหตุการณ์และพึ่งพาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยและผู้บริโภคน่าจะอยากได้ 

เพราะทุกวันนี้มีข่าวที่ไม่จริงเป็นจำนวนมาก บทบาทของทีวีเราต้องการยึด positioning นี้ แน่นอนว่าทุกคนที่เป็นช่องข่าวก็ต้องบอกข่าวของตัวเองก็เป็นข่าวจริง ฉะนั้นเราก็ต้องมีวิธีที่เราจะเฉือนแซงคนอื่นได้ ส่วนทันเหตุการณ์คือต้องเร็ว ซึ่งต้องเร็วทั้งหน้าจอทีวีและออนไลน์ด้วย 

ต่อมาคือต้องพึ่งพาได้ ผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ แต่เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีในสมัยคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ตอนนี้ก็ต้องหาผู้ประกาศข่าวคนใหม่ที่เห็นว่าน่าจะพึ่งพาได้ เช่น คุณหนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย และ คุณหมวย อริสรา กำธรเจริญ 

นอกจากนี้ก็มีรายการเช้าของทนายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ จากรายการครอบครัวข่าว 3 ที่เขาเป็นทนายอยู่แล้ว จึงมีประชาชนทั่วไปที่มีปัญหาและไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือที่ไหน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีกำลังจ้างทนาย นี่คือความหมายของการพึ่งพาได้ที่เรากำลังสร้าง 

นอกเหนือจาก positioning ที่เราวางไว้ ในแง่ของกลยุทธ์ เราเลือกสนามรบ เพราะเราไม่สามารถทำข่าวได้ทุกรูปแบบและต้องเก่งทุกอย่าง ที่สำคัญคือเราเลือกโฟกัสไปที่ข่าวสังคม อาชญากรรม และบันเทิง เพราะเรื่องเหล่านี้มีความ mass ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย และเป็นสิ่งที่ตรง อีกทั้งยังเหมาะกับความเป็นช่อง 3 ของเราด้วย 

สิ่งที่จะตามมาทีหลังคือ ผังละครที่เรากำลังปรับให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งเราจะได้เห็นภาพในช่วงต้นปี ในส่วนที่เป็นรายการบันเทิงที่เรากำลังปรับและหาอยู่ คือรูปแบบของรายการใหม่ ๆ แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ได้ละทิ้งข่าวส่วนอื่น ๆ อย่าง ข่าวกีฬา หรือการเมือง แต่คิดว่าสิ่งที่เราโดดเด่นและสามารถชนะคู่แข่งได้คือ ข่าวสังคมและบันเทิง ฉะนั้นเราจึงโฟกัส 3 หมวดนี้เป็นหลักก่อน  

เป้าหมายในระยะใกล้ ต้องการเห็นอะไรในสิ่งที่กำลังพยายามปรับเปลี่ยน

ถ้าในระยะสั้น ต้องกลับมาทำกำไรให้ได้ ซึ่งก็ต้องเป็นเป้าหมายแรก ๆ ของผู้ที่เป็น stakeholder แต่ถ้ามองในระยะที่ไกลกว่านั้น กำไรก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจยั่งยืนด้วย 

ฉะนั้นการปรับธุรกิจของเรา ไม่ใช่แค่ธุรกิจดั้งเดิม แต่ยังเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ด้วย ซึ่งเราเริ่มแล้ว ซึ่งการสร้างธุรกิจใหม่ก็ต้องใช้เวลาและหวังว่าจะเริ่มจับต้องบริการได้ในปีหน้า แต่จะเริ่มเห็นผลก็ต้องใช้เวลา 

ทั้งหมดนี้ คือกำลัง transform ตัวเราจากดั้งเดิมคือธุรกิจทีวี เป็นธุรกิจ content ที่เน้นด้านบันเทิง ซึ่งผลิต content และละครมาถึง 49 ปี ละครที่ดัง ๆ ก็มาจากช่อง 3 ทั้งหมด ผู้จัดที่มีฝีมือรวมทั้งดาราและศิลปินที่ดัง ๆ ก็อยู่ช่อง 3 ทั้งหมด นี่คือ Core DNA ของช่อง 3 ที่แท้จริง 

ขึ้นอยู่ที่มุมมองด้วยว่า ถ้าเรามองตัวเองเป็นธุรกิจทีวีดั้งเดิม แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมเติบโตลดลง ไม่ได้หมายความว่าจะทิ้งธุรกิจทีวี แต่เราต้องเปลี่ยน mindset ของเราเป็นธุรกิจ content 

“ต่อมาคือเรื่อง IT และศิลปิน ด้วยพื้นฐานที่มีอยู่ เรากำลังสร้างธุรกิจและโอกาสใหม่ ๆ และเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็เป็นโอกาสใหม่ของทั้งเราและ partner ที่เป็นศิลปินและดารา” 

นอกจากมีแผนและกลยุทธ์แล้ว ในเรื่องคนได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อมา support และมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่านี่ก็เป็นภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กลยุทธ์ เพราะสุดท้ายแล้วกลยุทธ์ที่เรากำหนดและการขับเคลื่อนก็อยู่ที่คนและทีมงาน ในช่วงนี้เราใช้ทั้งคนของเราและ partner ค่อนข้างมาก อยากให้ทุกคนเข้าใจนโยบายและสิ่งที่ดำเนินอยู่ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าสำเร็จก็ต้องสำเร็จด้วยกันหมดทั้งองค์กร  ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายที่จะทำให้ทุกคนเห็นภาพที่เป็นภาพเดียวกัน 

เพราะเราต้องเข้าใจว่าคนที่อยู่มานาน ย่อมยึดติดกับความสำเร็จแบบดั้งเดิมอยู่ แต่ต้องมาคิดว่าจะสร้างความสำเร็จในรูปแบบใหม่อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก เหมือนกับทุกคนต้องกลับไปเรียนหนังสือใหม่ แต่ถ้าเราผ่านมาได้องค์กรก็จะเริ่มดำเนินไปได้ 

ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากทุกคน ทั้งคนเก่าและคนที่เพิ่งเข้ามา ยกตัวอย่าง แผนหรือกลยุทธ์ข่าวที่เพิ่งประกาศออกไป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาแค่เดือนครึ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วมาจากทีมเดิม 

สิ่งสำคัญคือเรากำลังบอกกับคนทั้งองค์กรว่ามันคือผลงานของคนเดิม แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่มีความพร้อมที่จะเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนได้ด้วย นี่ถือว่าเป็นการแสดงออกที่ powerful 

“การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะแค่คนเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนทั้งองค์กรได้แน่นอน แต่เราอาจจะจุดประกายได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ทั้งองค์กรต้องไปด้วยกัน”

DNA ของคนในช่อง 3 ที่อยากสร้างให้เกิดขึ้น เพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ในแง่ของ culture หรือ mindset สิ่งที่คุยกันมากในระดับผู้บริหาร และต้องสื่อสารไปสู่คนทั้งองค์กรด้วย ก็คือต้องทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ ต้องมีความกล้าในการทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ถ้ายังทำทุกอย่างเหมือนเดิม ก็จะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม อันนี้คือพื้นฐานของความคิดผมเอง 

ในรูปแบบของการทำงาน ผมจะเน้นการทำงานในแบบ collaboration คือทำงานด้วยกัน จริง ๆ ทุกส่วนที่เราทำต่างเชื่อต่อกันหมดอยู่แล้ว รายการที่ทำก็ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบกับผู้ชมหรือรายได้ก็ตาม จึงต้องคุยและช่วยกันกำหนดให้ไปทิศทางเดียวกัน 

อะไรเป็นแรงจูงใจให้ตัดสินใจมาร่วมงานกับช่อง 3  

ในแง่ของธุรกิจของช่อง 3 ผมมองว่ามีของดีอยู่แล้ว แต่สำคัญกว่านั้นคือเราอยู่ในวงการ technology มานานพอสมควร ที่ผ่านมาเราพูดถึงเรื่อง disruption และ transformation กันค่อนข้างมากว่าองค์กรในประเทศไทยที่เป็นองค์กรใหญ่ ๆ มีรูปแบบธุรกิจที่เป็นแบบดั้งเดิมต้องเปลี่ยนแปลง แต่มีไม่กี่คนที่สามารถทำได้ ก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ทั้งนี้ที่ยากก็อยู่ที่คนและวัฒนธรรมขององค์กรด้วย ทำให้เราต้องการพิสูจน์ในสิ่งที่เราเคยบอกว่าควรจะปรับอะไรบ้าง แล้วเมื่อมาอยู่ในจุดนั้นจริง ๆ แล้วจะทำได้หรือไม่ 

“อีกอย่างคือผมนับถือในความคิดของครอบครัวมาลีนนท์ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความกล้าหาญ และผมรู้สึกว่าได้ใจผมในการที่เขากล้าเปิดให้คนนอกเข้ามาบริหาร แน่นอนว่าทุกคนมีความกดดันและเครียด แต่ก็เป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอ” 

การเข้ามาทำงานในช่อง 3 ถือว่าเป็นความท้าทายที่สุดในชีวิตการทำงานหรือไม่

แน่นอนอยู่แล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดเท่าที่เคยทำมา ด้วยทั้งตัวอุตสาหกรรม องค์กร และ disruption ที่กำลังเกิดขึ้น และอยู่บนอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 

การเข้ามาอยู่ในธุรกิจบันเทิง ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้ววงการบันเทิงถือว่าไม่ใช่สิ่งที่เราต้องปรับตัวมากที่สุด ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสพบเจอกับคนสายบันเทิงมาแล้ว ทั้งตอนที่ทำ YouTube หรือ LINE TV จึงมีการสร้างความเข้าใจกับวงการนี้อยู่พอสมควร และเป็นคนที่เชื่อใน content ด้วย ว่า content ที่มีคุณภาพไม่ใช่ว่าแค่ใช้โทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายแล้วจะทำเป็นหนังได้เลย เพราะการผลิต content ที่มีคุณภาพ เป็นธุรกิจที่ใช้เงินมาก ฉะนั้นผมถึงเชื่อใน content ที่มีคุณภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ มีความสำคัญและมีเสน่ห์

แต่สิ่งที่ต้องปรับตัวมาก ๆ คือ องค์กร เพราะเรามาจากองค์กรที่ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ตอนอยู่ Google และ LINE ก็สร้างทั้ง office และทีมขึ้นมาใหม่ เราเริ่มจากศูนย์มาตลอด และสร้างในรูปแบบที่เราต้องการตามความคิดและตามวิสัยทัศน์ของเราได้ แต่การที่ต้องมาอยู่ในองค์กรเดิม จึงไม่ใช่ว่าสามารถลบทุกอย่างแล้วสร้างขึ้นใหม่ได้ ซึ่งก็ถือเป็นความยากและความท้าทายในการบริหาร 

ฟัง Techsauce Podcast ได้ที่

  • Apple Podcast : https://apple.co/36ZYfct
  • SoundCloud : http://bit.ly/2MjHG4b
  • Spotify : https://spoti.fi/31iy7Xy
  • Podbean : http://bit.ly/31iydhS
  • Youtube : http://bit.ly/2MP6ekE

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...

Responsive image

Tech talent คืออะไร ทำไมองค์กรถึงต้องการตัวมากขึ้นในทุกๆ ปี

Tech Talent คือ คนหรือกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญ และทักษะทางเทคโนโลยีในการสร้าง และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางดิจิทัล ซึ่งมีความสามารถที่จะทำงานกับเทคโนโลยี และเครื่องมือต่าง ๆ ที่เ...