Digital Transformation ถูกนำมาใช้กับธุรกิจผลิตเหล็กยุคใหม่ที่มีคลื่น Disruption ผลักดันให้ต้องขับเคลื่อน เช่นเดียวกับ บมจ. มิลล์คอน สตีล (MILL) ก็ไม่อาจหลีกพ้น ทั้งการใช้ JUBILI by Builk เป็น App ที่ดูแลการขายและ CRM รวมถึงมีระบบ Bar Counting System มาช่วยทำงานที่ต้องพึ่งพาความแม่นยำทดแทนแรงงานคน กระทั่งล่าสุดที่มองหาโซลูชั่นติดตามและตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำผ่านระบบ Blockchain
บมจ. มิลล์คอน สตีล เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2541 เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กชั้นนำของไทย ควบคู่กับเป็นศูนย์บริการด้านผลิตภัณฑ์เหล็กแบบครบวงจร โดยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กรูปพรรณ ภายใต้แบรนด์ “มิลล์คอน" ที่สามารถทำรายได้ทะลุ 2 หมื่นล้านบาทไปเมื่อสิ้นปี 2560
ด้วยภาวะอุตสาหกรรมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายแง่มุม MILL จึงต้องปรับตัวเพื่อให้เดินหน้าต่อได้ โดยร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตเหล็กทั้งกระบวนการห่วงโซ่ โดยแทรกอยู่ในทุกมิติของอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในอนาคต
ไม่ว่าจะมีดีลร่วมทุนกับ Kobe Steel, Ltd. ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด เพื่อผลิตเหล็กลวดและเหล็กลวดเกรดพิเศษ รวมถึงลงขันกับ Thiha Group และบริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (GEL) จัดตั้งบริษัท มิลล์คอน ทิฮา จีอีแอล จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กรูปพรรณในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (The Thilawa Special Economic Zone) ในประเทศเมียนมา
ด้วยพลังจาก Digital Transformation ที่เข้ามาสั่นสะเทือนในแทบทุกอุตสาหกรรมไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจค้าเหล็ก ส่งผลให้ในปี 2560 MILL จึงปรับกลยุทธ์องค์กรด้วยแนวคิด ‘Think Beyond Steel’ เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค Digital อย่างเต็มรูปแบบ และขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ปรับเปลี่ยนองค์กรใหม่ที่เรียกว่า ‘TRANFORMILLCON’ จากการบอกเล่าของ สุรีรัตน์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและสื่อสารองค์กร แห่ง MILL
เริ่มเห็นตั้งแต่ปีที่แล้วว่า Digital Transformation กำลังจะมามีบทบาทมากขึ้น จึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยน vision และ mission ใหม่ เพื่อให้เราหลุดออกจากกรอบเดิมที่เน้นแข่งขันกันในด้านราคาและสอดคล้องกับการแนวทางที่เราเลือกที่จะเป็น จึงเกิดกลยุทธ์ที่เรียกว่า TRANFORMILLCON (Transformation Millcon)
TRANFORMILLCON เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งพัฒนาธุรกิจหลัก 3 ด้าน เพื่อให้บริษัทมีต้นทุนลดลงและดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ดีในการผลักดันผลประกอบการของกลุ่มบริษัทมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นและยั่งยืนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง
หนึ่ง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (Construction Material) ที่ต้องการเน้นเสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มขึ้นโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งมอบให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้บริษัทมุ่งเน้นการส่งสินค้าที่มีคุณภาพให้ทันกับความต้องการของลูกค้าในราคาที่แข่งขันได้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการต่อต้นทุนและลดความเสี่ยงในแง่ค่าขนส่ง อีกทั้งเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
สอง กลุ่มเหล็กเกรดพิเศษ (Special Steel) เนื่องจากบริษัทต้องการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น จากที่เคยทำกำไรต่อชิ้นได้เพียง 1-2 บาทแต่เมื่อผลิตเหล็กเกรดพิเศษจะทำไรได้ 30-50 บาทต่อชิ้น โดยมุ่งป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์จากเดิมที่มีเพียงกลุ่มลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรมก่อสร้างเพียงกลุ่มเดียว
สาม การลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ (Supporting Core Business) เพื่อเป็นการสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัท และการหาโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในธุกิจอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท
Supporting Core Business เป็นการไปลงทุนในธุรกิจที่จะมาสนับสนุน 2 ธุรกิจแรก เช่น การลงทุนในธุรกิจ Logistics Technology Construction Technology และ Factory Technology
ปีที่ผ่านมา ในส่วนของการผลิตของโรงงาน 3 แห่งมีการนำ Technology ใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อทำให้เครื่องจักรลดใช้พลังงานลงและเสริมให้เป็นระบบ Automation มากขึ้น ควบคู่กับการใช้เครื่องจักรเพื่อมาทำงานบางส่วนแทนแรงงานคน ซึ่งช่วยให้คนสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ด้าน lean organization
อาทิ ลงทุนเรื่อง Bar Counting System ซึ่งเป็นระบบนับจำนวนเหล็กด้วย Digital Technology โดยให้คนเป็นผู้ควบคุมเครื่อง จึงใช้แรงงานเพียง 2 คนก็เพียงพอ จากเดิมที่ต้องมีถึง 6 คน ซึ่งสามารถนำแรงงานที่เหลือไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากขึ้นได้
นอกจากนี้ได้ใช้โปรแกรม ERP (Enterprise Resource Planning) ที่เสริมโมดูลใหม่ ๆ เช่น SAP Analytics Cloud (SAC) ที่มีระบบ Business Intelligence หรือ BI ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างรายงานด้านธุรกิจต่าง ๆ ได้รวดเร็วด้วยตนเอง ทำให้การนำข้อมูลทางธุรกิจไปใช้งานนั้นเกิดขึ้นได้อย่างคล่องตัว และเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ในทุกที่ทุกเวลา
เริ่มจากเมื่อปี 2558 ที่ MILL เคยลงทุนราว 40% ของหุ้นทั้งหมดกับ Lonkong Studio Co., Ltd. (ปัจจุบันคือ บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ BUILK ซึ่งเป็น Startup ที่พัฒนาช่องทางจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไทยผ่านออนไลน์
ปัจจุบันมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง SMEs ที่บริหารงาน อยู่บนระบบของ BUILK กว่า 18,000 บริษัทใน 5 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สปป. ลาว เมียนมา และ กัมพูชา
ลูกค้าของ Builk ก็คือลูกค้าที่เป็น final destination ของเราอยู่แล้ว
ทั้งนี้ปัจจุบันการลงทุนดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนจากในนามของ MILL เป็นการขายหุ้นให้แก่บริษัท มูนช็อต เวนเจอร์แคปปิตอล จำกัด ในอัตราราว 34% นอกจากนี้ล่าสุด สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ได้ก้าวลงจากสถานะ CEO แล้วถอยไปเป็นที่ปรึกษาของ MILL แทน (โดยสิทธิชัยลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2561 )
เรายังใช้ JUBILI by BUILK ในด้านการบริหารงานขายและความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ซึ่ง JUBILI เป็นโปรแกรมบริหารงานขายสำหรับร้านค้าวัสดุก่อสร้าง และ Construction Graph ที่ให้บริการเช็คราคาวัสดุก่อสร้างจากฐานข้อมูลการสั่งซื้อจริง
“ JUBILI เป็น App ที่พัฒนาต่อยอดมาเพื่อให้ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างใช้ โดยเราให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าที่ซื้อเหล็กกับเราด้วยการออกค่า fee สำหรับการใช้งาน JUBILI ให้ จึงเป็นเหมือนมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า ดังนั้นนอกจากส่งเสริมให้ BUILK เจริญเติบโตแล้วทาง MILL ก็ได้ประโยชน์ด้วย ”
ตอนนี้เป็นเพียงแนวคิดอยู่ เพราะยังไม่สามารถหาคู่ค้าหรือผู้พัฒนาระบบที่เหมาะสมได้ แต่ก็มีความคืบหน้าในระดับหนึ่งตรงที่ใกล้จะได้ที่ปรึกษาเพื่อมาคัดเลือกแล้ว ซึ่งเราเชื่อว่าแนวทางนี้ต้องเกิดขึ้นแน่ แค่ในวันนี้ยังไม่เห็นใครที่พัฒนาระบบนี้ขึ้นมา 100%
โดยคอนเซ็ปต์ของระบบที่วางไว้คือ ข้อมูลทุกอย่างจะอยู่บน Cloud Computing ซึ่งข้อมูลที่เคยเป็นเอกสารจะกลายเป็นรูปแบบ paperless โดยต้องการให้ระบบสามารถตรวจสอบและติดตามข้อมูล หรือ tracking ได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ นับตั้งแต่ข้อมูลของวัตถุดิบที่นำมาผลิตสินค้าชิ้นนี้ ข้อมูลการผลิตของสินค้าชิ้นนั้น ข้อมูลสินค้าที่ถูกส่งไปยังลูกค้าของเรา และข้อมูลสินค้าที่ลูกค้าของลูกค้านำไปใช้ หรือสินค้านี้อยู่ที่ตึกหรือถูกนำไปใช้ที่ไหน รวมถึงยังมีแผนผนึก QR Code บนเหล็กทุกชิ้น เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลวัตถุดิบและการผลิตได้ด้วย
สำหรับแผนพัฒนาในระยะแรกจะเริ่มที่การทำ e-billing ด้วยแนวคิดที่ให้เราใช้อย่างง่ายดายก่อนแล้วค่อยต่อยอดให้ลูกค้า ไม่เพียงเท่านั้นยังเชื่อมโยงกับสถานบันการเงินในแง่การทำ e-payment ด้วย
ไม่สามารถเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ เพราะลูกค้าหรือ supplier บางรายก็ยังต้องการเอกสารที่เป็น paper อยู่ แต่ขอให้ภายในของเราเริ่มที่ e-billing ก่อนแล้วค่อย connect แต่ละระบบเข้ามาด้วยกันในเฟสต่อ ๆ ไป หลังจากที่คู่ค้าของเราเห็นประโยชน์ของการใช้ระบบแบบนี้แล้ว
ประโยชน์โดยตรงสำหรับเราคือสามารถตรวจสอบวัตถุดิบที่นำมาใช้ ข้อมูลตัวสินค้าที่ผลิต การจำหน่ายและขนส่งสินค้า ขณะที่ลูกค้าที่นำเหล็กไปใช้ก็จะมีข้อมูลเพื่อตรวจสอบสาเหตุในกรณีที่เกิดความผิดพลาดได้
“กรณีที่เกิดปัญหา ทางผู้รับเหมาปลายน้ำที่นำสินค้าไปใช้สามารถ tracking กลับมาที่ต้นทาง เพื่อจะตรวจสอบถึงสาเหตุหรือ error ต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน เพราะรู้ได้แม้กระทั่งเศษเหล็กที่นำมาผลิตมีที่มาจากไหน”
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร ที่เป็น Traditional Business มองว่าการเริ่มปรับเปลี่ยนที่คนก่อนเป็นเรื่องยากที่สุด
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด