สูตรลับ Entrepreneurship แบบ ThyChef | Techsauce

สูตรลับ Entrepreneurship แบบ ThyChef

  • มนุษย์เงินเดือนผู้ไม่หยุดวิ่งตามฝันจนก่อตั้งบริษัท โฟร์ฟูดส์ จำกัดขึ้นเมื่อปี 2545 มุ่งสร้างสรรค์ผงปรุงรสป้อนลูกค้าอุตสหกรรมขนาดใหญ่
  • ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังสารพัดรสอร่อยไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือแม้แต่น้ำซุปในร้านอาหาร
  • หลังจากกิจการเดินได้อย่างมั่นคงจึงเริ่มพัฒนาแบรนด์ ThyChef สูตรเฉพาะของบริษัท เพื่อตอบโจทย์ SME และผู้ประกอบการรายเล็ก
  • ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 20% ต่อปี รวมถึงพัฒนาช่องทาง Online ให้ทำรายได้เพิ่มขึ้นมากขึ้น

Entrepreneurship ในจิตวิญญาณของ สมเจตน์ ปัญจวัฒนางกูร เจ้าของบริษัท โฟร์ฟูดส์ จํากัด ผู้ผลิตผงปรุงรสหรือ seasoning ที่อยู่เบื้องหลังความอร่อยของขนมและอาหารที่หลาย ๆ คนชื่นชอบจนประสบความสำเร็จ แล้วต่อยอดปรุงแต่งแบรนด์ ThyChef ให้ไปเสริมศักยภาพพร้อมสร้างโอกาสแก่ผู้ค้ารายย่อย ตลอดจนพัฒนาช่างทางขาย Online ให้ส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือลูกค้าแบบทันใจ

Entrepreneurship-4food-thychef

บริษัท โฟร์ฟูดส์ฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2545 (ที่ชื่อบริษัทได้แรงบันดาลใจมาจากวงบอยแบรนด์ F4 ที่กำลังมีชื่อเสียงมากในยุคนั้น และ 4 ยังเป็นเลขมงคลของคนจีนด้วย) โดยปัจจุบันมีสถานะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสูงให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ผงปรุงรสต่าง ๆ ซึ่งเหมาะกับหลากหลายประเภทอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรสสำหรับขนมขบเคี้ยว ผงหมักหลากรสสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และ สัตว์ปีก รวมถึงสูตรผสมเฉพาะของวัตถุเจือปนอาหารเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย (Yield) และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังมีส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ที่เป็นสูตรเฉพาะให้กับลูกค้าอีกด้วย

สำหรับอาหารและขนมที่มีผลิตภัณฑ์ของบริษัท ฯ เป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังความอร่อยมากมายไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือแม้แต่น้ำซุปในร้านอาหาร

กระทั่งในปี 2557 จึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรเฉพาะของบริษัทฯ เอง สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม (SME) และผู้บริโภครายย่อยภายใต้แบรนด์ ‘ไทเชฟ’ (ThyChef) เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มกิจการขนาดเล็กและผู้บริโภคที่ต้องการปรุงอาหารเพื่อรับประทานเองภายในบ้าน ได้แก่ ผงปรุงรสไก่ ผงหมักเนื้อนุ่ม ผงหมักรสนิวออรีนส์ เป็นต้น

ทว่าความมุ่งมั่นที่ต้องการทำธุรกิจของตัวเอง เป็น passion ที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของเด็กบ้านสวนจากจังหวัดชลบุรี อย่าง สมเจตน์ ปัญจวัฒนางกูร ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท บริษัท โฟร์ฟูดส์ จํากัด มาตั้งแต่ตัวเขาเริ่มเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน หลังจากจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

โดยสมเจตน์มีโอกาสใช้ความรู้ที่ได้รํ่าเรียนมาเข้าทํางานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านเคมีอาหาร วัตถุแต่งกลิ่นและรสชาติหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทร่วมทุนต่างชาติชั้นนําผู้อยู่เบื้องหลังความสําเร็จของอุตสาหกรรมอาหาร

แต่จุดกำเนิดแห่งฝันที่จะเป็นเจ้าของกิจการ เริ่มตั้งแต่ก้าวสู่เส้นทางสายอาชีพในฐานะฝ่าย Production บริษัท เขาช่องอุตสาหกรรม 1979 จํากัด (ผู้ผลิตกาแฟผงสําเร็จรูปเขาช่อง) ซึ่งตัวเขาชื่นชอบที่จะทุ่มเทและคิดหาวิธีสร้างให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอยู่เสมอ จนมักถูกเพื่อนร่วมงานมองว่าทุ่มเทกับงานประหนึ่งเป็นลูกชายเจ้าของกิจการ เช่นเดียวกับที่ย้ายไปอยู่บริษัทอื่น ๆ ก็ยังคงยึดมั่นในวิถีการทำงานแบบทุ่มเทเช่นเดิมมาตลอด ตัวอย่างเช่น เคยยอมนั่งรถสิบล้อไปซื้อผงชูรสที่ต่างจังหวัด เพื่อนำมาขายให้ลูกค้าจะได้มีวัตถุดิบมาผลิตซุปก้อน แม้ว่าเงินที่ขายได้จะเป็นของบริษัทก็ตาม

“ทุกบริษัทที่ไปทำ ผมไม่ค่อยคิดว่าเป็นลูกจ้าง แต่ชอบคิดเหมือนเป็นลูกเจ้าของ เพราะเวลามีปัญหาก็มักจะไปช่วยคิดแก้ไขจนสุดความสามารถ ไม่ได้สนใจว่าจะได้ผลตอบแทนมากหรือน้อย คิดแค่ทำอย่างไรให้สินค้าออกมาดี ให้ธุรกิจออกมาดี ”

กระทั่งมีจุดเปลี่ยนที่สมเจตน์ได้เข้าสู่วงการธุรกิจผลิตผงปรุงรส ในฐานะ Technical Sale Seasoning and Flavor ของ บริษัท บุช โบค เอเลน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้จําหน่ายวัตถุปรุงแต่งรสชาติอาหาร แต่หลังจากที่ทำอยู่หลายปีและสร้างยอดขายได้มหาศาลจนสร้างรายได้จากค่าคอมมิชชั่นแซงหน้าเงินเดือน แต่ด้วยด้วยการปรับโครงสร้างบริษัท เนื่องจากผู้ถือหุ้นต่างชาติต้องการขายกิจการ ทำให้ตัวเขาเลือกออกจากงานเดิมแล้วไปเป็น Sale Manager Savory flavor ที่ บริษัท วี.เมน ฟิลส์ (ประเทศไทย) จํากัด (ผู้จําหน่ายวัตถุแต่งกลิ่นอาหาร)

อย่างไรก็ตามระหว่างที่สมเจตน์ทำงานในธุรกิจจำหน่ายวัตถุแต่งกลิ่นอาหารนั้น ลูกค้าเก่า ยังคงติดต่อมาถามหาผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสจากเขาอยู่สม่ำเสมอ เพราะบริษัทเดิมของเขาผลิตสินค้าได้ไม่พอกับจำนวนที่ลูกค้าต้องการ ทำให้สมเจตน์เกิดแนวคิดจะเริ่มทำธุรกิจจำหน่ายผงปรุงรสของตัวเองขึ้น

บวกลบคูณหารแล้วก็พบว่าด้วยลูกค้าเดิม 3-4 รายแรกก็น่าจะพอทำรายได้เลี้ยงกิจการได้ จึงทำสัญญาใจกันว่าถ้าเราออกมาทำเองแล้วเถ้าแก่ต้องมาเป็นลูกค้าเหมือนเดิม ซึ่งจากวันนั้นผ่านมา 17 ปี ลูกค้าเหล่านี้ก็ยังซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทอยู่กันอย่างเหนียวแน่น

สมเจตน์ย้อนเรื่องราวในช่วงแรกของการดําเนินธุรกิจของบริษัท โฟร์ฟูดส์ ฯ ว่า จะเป็นไปในลักษณะซื้อมา-ขายไป เกี่ยวกับเคมีอาหาร ต่อมาลูกค้าต้องการวัตถุที่ผสมสําเร็จรูปเขาจึงตัดสินใจมองหาโรงงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และลงทุนเครื่องจักรเพื่อดําเนินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ แต่ในเบื้องต้นได้ว่าจ้างโรงงานที่มีความพร้อมให้ผสมวัตถุดิบให้ก่อนแล้วจึงนํามาเก็บในทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์รอการแพ็คสินค้าในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อพร้อมขายในวันเปิดทําการแต่เนื่องจากถูกชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นรบกวนบ่อยครั้งและพื้นที่ค่อนข้างคับแคบ ไม่สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตได้

พอดําเนินธุรกิจได้ราว 1 ปี สมเจตน์จึงลงทุนซื้อที่ดินแถวคลอง 8 กว่า 200 วา เพื่อสร้างโรงงานใกล้กับกรุงเทพฯ ที่ใช้งบลงทุนก่อสร้างโรงงานพร้อมเครื่องจักรในการผลิตไปทั้งสิ้น 16 ล้านบาท

จากก้าวสำคัญครั้งนั้น บริษัท โฟร์ฟูดส์ฯ ก็เริ่มขยายงานในแต่ละแผนก อาทิ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายขายและการตลาดจากพนักงานที่เริ่มต้นเพียง 4 คน วันนี้มีการจ้างงานพนักงานเพิ่มขึ้นรวม 70 คน โดยสมเจตน์รับหน้าที่มองภาพรวมการเติบโตของธุรกิจและขยายตลาดไปในทิศทางต่างๆ ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ด้วยโรงงานที่สะอาด มีเทคโนโลยีเครื่องจักรทันสมัย มีความพร้อมในการผลิต โดยได้รับการรับรองมาตรฐานทั้ง GMP, HACCP, FSSC 22000 และ HALALยิ่งทําให้ลูกค้ามั่นใจที่จะทําธุรกิจร่วมคิดและพัฒนาสินค้า โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสําคัญกับมาตรฐานการผลิตค่อนข้างสูง

Entrepreneurship-4food-thychef

Entrepreneurship ฝังลึก

สมเจตน์ยืนยันว่าก่อนที่ใครก็ตามจะเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา อย่างน้อยเขาเหล่านั้นต้องจุดประกายความเป็น Entrepreneurship ขึ้นด้วยตัวเองก่อนตั้งแต่ยังเป็นลูกจ้าง อีกทั้งควรมีความคิดสร้างสรรค์ที่ฉีกแนวจากมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ขณะที่ตัวของสมเจตน์เองมักมีมุมมองในฝั่งของเจ้าของกิจการ เช่น เตรียมตั้งคำถามกับตัวเองในใจก่อนว่าลูกค้าจะมีข้อสงสัยอะไรบ้าง เพื่อเตรียมทำการบ้านหรือหาคำตอบไว้ล่วงหน้าก่อนพบลูกค้า

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการมีทัศนคติแบบ Entrepreneurship คือการมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสรรค์ธุรกิจ นั่นคือมองในมุมของลูกค้าว่าหากจะสร้างธุรกิจใดขึ้นมาก็ตามต้องถามตัวเองก่อนกว่าหากเป็นตัวเราแล้วจะซื้อ/ใช้บริการผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือไม่

เพราะถ้าเรายังไม่ซื้อแล้วจะไปขายใครได้

กระนั้นเมื่อถึงวันที่เป็นเจ้าของกิจการจริง ๆ แม้เก็บเกี่ยวประสบการณ์นับแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของธุรกิจผงปรุงรสมาเป็นสิบ ๆ ปีก่อนจะก่อตั้งบริษัทก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้สมเจตน์ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เช่น ด้านการเงิน การบริหารเงินสด ระบบบัญชี เป็นต้น

ปัญหาเรื่องขาดกระแสเงินสดจึงเป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งบริษัท โฟร์ฟูดส์ ฯ ต้องเผชิญอยู่แทบตลอดเวลาในช่วง 2 ปีแรกที่เปิดกิจการ เพราะนอกจากเงินเก็บสมัยเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ร่วมลงขันกับหุ้นส่วนอีก 6 คนที่เคยเป็นเพื่อนร่วมงานกันมาก่อน ก็ไม่สามารถระดมทุนจากแหล่งอื่นได้อีก นอกจากนำทรัพย์สินส่วนตัวมาเป็นหลักประกันเงินกู้จากธนาคาร

ผมไม่เคยกู้นอกระบบ ใช้วิธีอ้อนวอนลูกค้าให้จ่ายเร็วขึ้นหรือขอให้สั่งสินค้าจำนวนมาก ๆ เพื่อให้คุ้มกับที่นำไปส่ง ต้องประหยัดให้ได้มากที่สุดและหาเงินเข้าบริษัทให้ได้เร็วที่สุด

ปรุงแต่ง ThyChef

สำหรับจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การพัฒนาแบรนด์ ThyChef  ขึ้นนั้น สมเจตน์เฉลยว่าเริ่มจากได้พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการ SME หรือพ่อค้าแม่ค้ารายเล็ก ๆ ขาดปัจจัยที่จะเป็นเครื่องมือให้สามารถต่อยอดหรือเสริมให้ขายสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งด้วยจรรยาบรรณของการทำธุรกิจที่ต้องไม่นำสูตรของลูกค้ารายใดก็ตามไปขายให้รายอื่น ๆ ต่อ จึงตัดสินใจที่จะพัฒนาสูตรของบริษัทขึ้นเองเพื่อป้อนกลุ่มผู้ค้ารายเล็กที่มีกำลังซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้ในจำนวนไม่สูงมากเท่าธุรกิจรายใหญ่

ทว่าต้นเรื่อง ๆ ที่จุดให้เกิดไอเดียทำ ThyChef เริ่มที่แม่ค้าขายไก่ทอดแถวโรงงานมาขอแบ่งซื้อผงปรุงรส ซึ่งปรากฏว่าพอเริ่มขายแล้วมีการตอบรับดีมาก ก็ปรึกษากันกับผู้ร่วมหุ้นว่าน่าจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของบริษัทเอง ซึ่งมีขนาดแพ็คเกจไม่ใหญ่ และวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตามหลังจากเริ่มผลิตสินค้า ThyChef มาแล้วก็ยังหาช่องทางวางจำหน่ายไม่ได้ พอดีกับที่ช่วงนั้นมันเกรียวทอดกรอบเริ่มแพร่หลาย จึงลองนำผลิตภัณฑ์ไปตั้งวางในย่านที่มีการขายส่งมันฝรั่งต่อให้กับผู้ขายรายย่อยอย่างตลาดไท

แต่แรกเริ่มที่ไปติดต่อขอวางสินค้ากลับมีการตอบรับที่ไม่ได้ราบรื่นนัก กระทั่งสมเจตน์ตื๊อจนเถ้าแก่ร้านขายส่งมันฝรั่งยอมให้วางผลิตภัณฑ์ได้แค่ 2 ลังก่อน แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงเมื่อร้านปิดแล้วทางเถ้าแก่ก็โทรมาบอกว่าผลิตภัณฑ์ขายดีมาจดหมดแล้วทั้ง 2 ลังให้นำมาส่งเพิ่มอีกในพรุ่งนี้ ซึ่งนี่คือลูกค้ารายแรกสำหรับ ThyChef ที่ทำให้ตัวเขาหัวใจพองโตมาก และจากวันนั้นก็ยังคงค้าขายกันอยู่ถึงวันนี้

ลูกค้าที่มาซื้อมันฝรั่งบอกกับเฮียเจ้าของร้านว่าว่าอยากได้ผงโรยแบบนี้มานานแล้ว เป็นของหายากมาก

สมเจตน์บอกเล่าถึงความคาดหวังต่อ ThyChef ว่าถ้ามองในแง่นักธุรกิจก็คงไม่มีจุดเพียงพอเพราะไม่ว่าใครก็ต้องการสร้างยอดขายให้สูงขึ้นไปเรื่อย แต่ความภาคภูมิใจของเขากลับอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการชื่นชมอย่างจริงใจ โดยยกตัวอย่างว่าเคยเจอแม่ค้าขายไก่ทอดแล้วลองชิมดูก็รู้ว่าเป็นผงปรุงรสของบริษัท แล้วถาม feed back ว่าเป็นอย่างไร พอได้รับคำตอบว่าพอใช้ผงปรุงรสของ ThyChef แล้วขายดีได้กำไรงาม ก็ยิ่งทำให้มีความสุข เพราะประหนึ่งได้ต่อยอดธุรกิจให้ผู้ค้ารายย่อย

สินค้าตัวท็อปของ Thy Chef ที่ยอดขายไม่เคยร่วงเลยมี 4 ตัวคือผงปาริกา บาบีคิว ชีส และต้มยำ

สูตรลับส่วนหนึ่งที่ทำให้กิจการเดินเครื่องมาอย่างต่อเนื่องคือ “ไม่เคยหยุดพัฒนา” โดยสมเจตน์ย้ำว่าหัวใจหลักของธุรกิจคือการที่สามารถสร้างสูตรของผงปรุงรสให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมีนโยบายที่เปิดโอกาสให้ฝ่าย R&D ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งการส่งไปสัมนาหรือดูงาน

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำเครื่องมือด้านเทคโนโลยีมาเสริมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย เช่น ใครอุปกรณ์วัดค่าตรวจเกลือหรือความชื้นมาแทนแรงงานคน เพื่อให้ทำงานง่ายและแม่นยำมากขึ้น

รวมถึงพยายามผลักดันให้พนักงานทุกคนเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แต่เขาก็ยอมรับว่าแม้จะเคี่ยวเข็ญอย่างไรก็มีทั้งที่ส่วนที่ตื่นตัวตามและที่นิ่งเฉย เช่นเดียวกับที่พยายามส่งเสริมให้พนักงานที่มีศักยภาพได้โอกาสเติบโตในเส้นทางสายอาชีพอย่างเต็มพลังความสามารถของแต่ละคน

ผมพยายามบอกพนักงานทุกคนว่าต้องพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโลกเปลี่ยนตลอด ถ้าอยู่เฉย ๆ ก็จะโดนคนอื่นแซง จึงต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ดีที่สุด

Entrepreneurship-4food-thychef

น้ำท่วมใหญ่สร้างโอกาส

สมเจตน์เล่าอีกว่าในช่วง 10 ปีแรกที่เปิดบริษัท ไม่เคยมีโอกาสได้แบ่งปันผลกำไรให้กับหุ้นส่วนเลย เพราะจะนำผลกำไรที่ได้มาลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการให้เติบโต กระทั่งเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่โรงงานได้รับผลกระทบบางส่วน เพราะน้ำท่วมถึงแค่ฟุตบาทรอบโรงงานเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถดำเนินการผลิตได้ ขณะที่โรงงานของผู้ผลิตรายอื่นต้องปิดหรือหยุดผลิต ควบคู่กับต้องหาลูกค้ารายใหม่มาเพิ่ม เพื่อทดแทนลูกค้าบางส่วนที่ปิดโรงงานเพราะน้ำท่วม ทำให้พลิกจากวิกฤติเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับบริษัท โฟร์ฟูดส์ฯ จึงดันยอดขายจากเคยอยู่ที่ 14-15 ล้านบาทเป็น 18 ล้านบาท

แม้จะยุ่งยากเรื่องการเดินทางของพนักงานและการขนส่งวัตถุดิบบ้าง แต่โรงงานยังเดินเครื่องผลิตได้ ลูกน้องก็ช่วยกันสู้เต็มที่เพื่อให้ขายได้และลูกค้าได้รับของ

อย่างไรก็ตามแม้จะรอดพ้นน้ำท่วมมาได้ แต่สมเจตน์ก็สารภาพว่าตัวเขาต้องตกอยู่ในภาวะตึงเครียดมาก เพราะนอกจากต้องหาทางให้ยังผลิตและขายได้แล้ว ก็ต้องปวดหัวกับการบริหารเงินสด เพราะทั้งบริษัทและตัวเขาเองต่างก็ที่ไม่มีเงินทุนสำรองไว้ใช้เพียงพอยามฉุกเฉิน

ด้วยวิกฤติครั้งนี้ทำให้ความคิดของสมเจตน์เปลี่ยนไปและเรียนรู้ที่จะเก็บออมเงินทั้งสำหรับบริษัทและตัวเขาเอง เพื่อที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น

สําหรับอนาคตของบริษัท โฟร์ฟูดส์ ฯ นั้น สมเจตน์วางแผนที่จะใช้ความรู้และเทคโนโลยีต่อยอดสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ในส่วนของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะเน้นการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้ประเทศเพื่อนบ้านพึงพอใจ

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายตําแหน่งงานเพื่อรองรับการเจาะตลาดเพื่อนบ้านที่มีความต้องการในเรื่องของรสชาติที่แตกต่างจากคนไทย หากอ่านความต้องการของลูกค้าได้ขาดแล้วจะใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต อีกทั้งวัตถุดิบจําพวกสมุนไพรเครื่องเทศคุณภาพที่บ้านเรามีพร้อมอย่างอุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ขณะที่ในส่วนของ ThyChef คือทำทุกวิธีเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่นล่าสุดมีโครงการ “นักขายออนไลน์ไทเชฟ” ที่ชวนสร้างรายได้แบบง่ายๆ สำหรับแม่บ้านและผู้ที่มีไลฟ์สไตล์ชอบอยู่ในโลกออนไลน์เป็นเวลานาน ๆ ที่หากโพสต์ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ เช่น ผงปรุงรสและผงเครื่องดื่มสำเร็จรูปรสชาติต่าง ๆ พร้อมแนะนำวิธีการทำและเมนูจากผลิตภัณฑ์เพื่อเชิญชวนเพื่อน ๆ ให้รู้จักกับกับแบรนด์ ผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนตัว เช่น Facebook LINE Instagram ฯลฯ ซึ่งจะได้รับค่าคอมมิชชั่นคิดเป็น 7% จากยอดขาย

นอกจากนี้ยังปรับปรุงระบบหลังบ้านของช่องทาง Online เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจที่สามารถมีผลิตภัณฑ์ถึงมือได้เร็วขึ้น ซึ่งนับจากที่เริ่มเปิดตัวมาเมื่อ 2 ปีก่อนถึงวันนี้ก็มียอดขายเติบโตขึ้น 100% ซึ่งฐานผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังเป็นแถบกรุงเทพและปริมณฑลมากกว่าต่างจังหวัด

ทั้งนี้ ปัจจุบันฐานรายได้หลักของบริษัท โฟร์ฟูดส์ ฯ เฉลี่ย 70% ยังมาจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่ 20-30 % มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ ThyChef โดยเป้าหมายตัวเลขสำหรับบริษัทคือขอให้รายได้รวมต่อเดือนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ถือว่าพอใจแล้ว ไม่ว่าจฝั่งไหนจะดีขึ้นหรืออัตราการขยายตัวของรายได้จะอยู่ที่เท่าใดก็ตาม

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี เพราะลูกน้องช่วยกันทำงานขยันแข็ง ถ้าอยากรักษาอัตราการเติบโตเช่นเดิมก็ต้องดิ้นให้มากขึ้น”

สมเจตน์ยังทิ้งท้ายถึงเส้นทางของบริษัท โฟร์ฟู้ดส์ฯ ในระยะไกลอีกว่า

พี่ไม่ได้อยากเอาโรงงานเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อยากเข้าตลาดสดมากกว่า


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Gartner คาด Everyday AI จะบูม! ใน Digital Workplace ภายใน2 ปี องค์กรต้องปรับตัวรับด้วย DEX

Gartner บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาชั้นนำ ได้เผยแพร่รายงาน Hype Cycle for Digital Workplace Applications, 2024 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ...

Responsive image

Techsauce ประกาศความร่วมมือ Outcome เปิดตัว Innovation Accounting Service เพื่อช่วยองค์กรวัดผลด้าน Innovation อย่างมีประสิทธิภาพ

Techsauce ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Outcome ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม เพื่อนำเสนอบริการ Innovation Accounting Service ภายใต้ชื่อ SATORI...

Responsive image

Thrive Among Uncertainties: เปิดแนวคิดผู้นำองค์กรแห่งอนาคตกับ Michelle Bligh

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้นำจะพาองค์กรอยู่รอดได้อย่างไร? Michelle C. Bligh ผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัย Claremont ได้มาร่วมแบ่งปันแนวคิดสำคัญสำหรับผู้นำอ...