GC ธุรกิจปิโตรเคมีไทย กับการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy 'กลยุทธ์แห่งความยั่งยืน' | Techsauce

GC ธุรกิจปิโตรเคมีไทย กับการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy 'กลยุทธ์แห่งความยั่งยืน'

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกใบนี้ ถือเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นที่ทำให้มนุษย์ตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงได้มีการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาปรับใช้ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่หลายอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบดังกล่าว เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด  รวมถึงต้องไม่สร้างผลกระทบเชิงลบกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยังเป็นการแก้ไขวิกฤติด้านทรัพยากรที่เกิดขึ้นอีกด้วย เช่นเดียวกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ผู้นำอันดับหนึ่งของธุรกิจปิโตรเคมีของไทย ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC หนึ่งในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจร ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นบริษัทชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน มีความแข็งแกร่งด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ภัณฑ์ปิโตรเคมี อาทิ โอเลฟินส์อะโรเมติกส์ ที่สามารถแข่งขันและลดความผันผวนทางธุรกิจได้ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างครบวงจร มุ่งเน้นการขยายไปสู่ธุรกิจปลายน้ำ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ GC เป็นผู้ผลิต เป็นการนำผลิตภัณฑ์จากการขุดเจาะน้ำมันมาผ่านกระบวนการกลั่นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงให้เป็นวัตถุดิบต้นน้ำของทุกอุตสาหกรรม ที่จะต้องนำเคมีภัณฑ์ที่ได้มาไปแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสีและเคลือบผิว บรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ หรือแม้กระทั่งวัสดุก่อสร้าง  ดังนั้นจากที่ GC เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่เป็นต้นน้ำของ Supply Chain กระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจจึงต้องดำเนินไปด้วยการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม 

ในบทความนี้ Techsauce ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ‘ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งมาสานต่อ และต่อยอด การดำเนินงานของ GC ไปในทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการทำงานที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม  และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถสร้างผลกระทบที่ดีไปในวงกว้าง 

กลยุทธ์หลักในการดำเนินงานของ GC เป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับ GC มีกลยุทธ์หลักอยู่ 3 เรื่องใหญ่ ๆ ที่จะดำเนินการภายใน 3-5 ปีข้างหน้านี้ เป็น 3 Steps ด้วยกัน 

หนึ่ง Step Change สร้างบ้านให้แข็งแรงด้วยนวัตกรรม : GC เป็นบริษัทปิโตรเคมีอันดับ Top 30 ของโลก มีฐานการผลิตและตลาดหลักอยู่ที่ประเทศไทย และในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งเปรียบเสมือนบ้าน ดังนั้นจึงต้องมีการทำบ้านให้แข็งแรง ทำผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยใช้การวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับการจะทำบ้านให้แข็งแรงนั้น ต้องบอกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วเราแข่งขันกันด้วยเรื่องต้นทุนต่ำ วัตถุดิบต้องแข่งขันได้อย่างเดียว แต่ปัจจุบันเราเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต ขยายตลาดไปใน SEA มากขึ้น นำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงขึ้น ตรงตามความต้องการของลูกค้าทั้งในเรื่องคุณสมบัติและบริการ

ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสภาวะการแข่งขัน การเข้ามาของผู้ผลิตใหม่รายใหญ่ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าเราอยู่กับที่หรือทำในสิ่งเดิม ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว จะทำให้เราเดินถอยหลัง

สอง Step Out ต้องออกไปแข่งขันในตลาดโลก : เนื่องจาก GC มีฐานการผลิตและตลาดในประเทศไทย และในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) มากอยู่แล้ว การขยายตัวทำได้จำกัด GC จึงต้องมองหาฐานธุรกิจแห่งที่ 2 (Second Home Base) โดยเราตั้งเป้าที่จะขยายฐานการผลิตไปยังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีสภาวะตลาดหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เอื้ออำนวยให้ทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างถูก และมีตลาดที่ใหญ่ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจปิโตรเคมี  

เนื่องด้วยสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ และเป็นสถานที่ที่มีโอกาสทางธุรกิจมากมาย ดังนั้น  GC จึงมีแผนที่จะใช้เป็นศูนย์กลางในการเข้าซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) หรือการทำ  Venture Capital เพื่อลงทุนในด้านที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลต่าง ๆ Biotechnology, Advanced Material เป็นต้น ซึ่งการเข้าซื้อกิจการนั้นเรามองหาบริษัทที่มีกระบวนการวิจัยและพัฒนาที่ดี ซึ่งอาจจะไม่ใช่บริษัทที่คิดค้นเทคโนโลยีโดยตรง แต่เป็นบริษัทที่ดำเนินการอยู่แล้ว และมีเทคโนโลยีที่ดี เราก็ไปซื้อบริษัทนั้น ซึ่งจะได้ทั้งคน, องค์ความรู้, เครื่องมือ รวมไปถึงแบรนด์ด้วย 

สาม  Step Up สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) : GC  เป็นองค์กรที่ต้องการจะยกระดับในเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) โดยในปี 2562 เราได้รับการจัดอันดับจาก DJSI ให้เป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกลุ่มเคมีภัณฑ์ จากการที่ได้นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ในการทำธุรกิจครบทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่ง GC ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลัก ที่จะต้องทำให้ลึกและกว้าง ได้แก่ Greenhouse Gas Reduction หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Circular Economy  หรือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

 ‘การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก’ ถือเป็นความรับผิดชอบหลักของอุตสาหกรรม ดังนั้น  GC  มีวิธีการดำเนินการอย่างไรในส่วนนี้

สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถือเป็นเรื่องของความสมัครใจของแต่ละประเทศ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะต้องเป็นข้อบังคับหรือเป็นกฎหมายหรือเป็นอะไรก็ตามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้มีแต่จะถดถอยลงไป โดย GC ได้เริ่มมีการดำเนินการเรื่องนี้ก่อนคนอื่น และทำอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ให้ครอบคลุมทั้งหมด 3 ส่วนหลักในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่  

    •    Smart Operating : ในการผลิตและการทำงานของเราทั้งหมด จะต้องลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยของเสีย รวมถึงสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเราด้วย 

    •    Responsible Caring : ผลิตภัณฑ์ของเราจะมีการคำนวณ Carbon Footprint ทุกตัว และมีเป้าหมายว่าแต่ละตัวจะต้องลดลงเท่าไร รวมถึงการปรับ Portfolio ให้เป็น Performance product ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นคุณสมบัติของการใช้งานมากขึ้น นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับการทำ Green product ซึ่งผู้ผลิตปิโตรเคมีมีน้อยรายที่จะมี Green Chemical หรือ Biochemical

    •    Loop Connecting : การเชื่อมต่อกันใน Supply Chain ตั้งแต่ต้นทาง ตัวเรา ลูกค้าปลายทาง Brand Owner สังคม หน่วยงานภาครัฐ เราจะต้องเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกันให้ครบวงจร ซึ่ง GC เองก็ให้การสนับสนุนและร่วมกับหน่วยงานภายนอกในการทำ Upcycling Plastic Waste หลากหลายโครงการ อาทิ การทำงานร่วมกับวัดจากแดงในโครงการคุ้งบางกะเจ้า (Our KhungBangKachao) โครงการทิ้งไซเคิล (ThinkCycle Bank)

Case Study ของการใช้แนวคิด Circular Economy มาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมของ GC มีอะไรบ้าง 

GC ได้ทำโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ซึ่งเป็นความร่วมมือกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ เพื่อจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล โดยเราได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากชาวบ้านและอาสาสมัครดำน้ำลงไปเก็บขยะใต้ท้องทะเลขึ้นมา และเก็บขยะบริเวณชายหาด แล้วนำมาคัดแยก และนำขยะพลาสติกเหล่านั้นไปเข้ากระบวนการ Upcycle ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อตัดออกมาให้เป็นเส้นใย แล้วนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีคุณภาพและมีมูลค่าสูง ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระเป๋าถือ กระเป๋าเป้ โดยที่ผ่านมา เราได้ดำเนินโครงการที่เกาะเสม็ดและจังหวัดภูเก็ต 

โครงการนี้ก็เป็นหนึ่งใน Case Study ที่เราใช้แนวคิด Circular Economy ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ทรัพยาการหมุนเวียนอย่างมีคุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งทำให้เห็นความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นราชการและชุมชน ผู้นำความคิดที่เขาไม่รู้จักเรา เขาก็ไปช่วย นอกจากภายในประเทศแล้ว ทุกวันนี้ก็มีการนำไปขยายผลต่อไปในระดับภูมิภาค เช่น ในงาน ASEAN Summit 2019 ที่ทาง GC ได้ไปจัดนิทรรศการและบรรยายให้แก่ภริยาผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อให้เขาเข้าใจและเห็นภาพ สามารถนำไปขยายผลต่อในประเทศของเขาได้

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว เราก็ได้มีการนำขยะพลาสติกที่ได้มา Recycle ให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ดูน่าใช้มากยิ่งขึ้นไปด้วย  เพราะเรามองว่าจริง ๆ แล้วพลาสติกถือว่าเป็นของดี เพราะมันเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เมื่อพิจารณากระบวนการผลิตทั้งหมดถือเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด (Environmental Friendly Material) เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการปลายทาง เช่น การทิ้งหรือการคัดแยกที่ไม่ถูกวิธี 

ในการแก้ปัญหาเรื่องพลาสติกนั้น GC จึงมองว่าเราต้องมีทางออกให้กับทุกคน คือ กลุ่มแรก สำหรับคนที่ต้องการใช้พลาสติก แต่ในขณะเดียวกันก็อยากจะรักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วยนั้น ก็อาจจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Bioplastic ซึ่งเมื่อฝังกลบอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ กลุ่มที่สอง คือ คนที่ไม่อยากใช้ Bioplastic และไม่อยากจ่ายเงินเพิ่ม อยากจะดำเนินวิถีชีวิตเหมือนเดิม ก็ยังสามารถกลับไปใช้พลาสติกปกติ แต่ขอให้ทิ้งให้ถูกที่ รู้จักการแยกขยะ เพราะจะมีผลดีต่อการที่เราสามารถนำไป Recycle และ Upcycle ใช้ประโยชน์ต่อได้  อย่างไรก็ตามระบบนี้มันจะไม่ได้ผลถ้าระบบการบริหารจัดการไม่ดี ดังนั้น GC จึงต้องทุ่มเทในเรื่องของการสร้าง Ecosystem ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่สาม โดยการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาต่าง ๆ และให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด กลุ่มสุดท้าย คือ ลูกค้าซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทายที่สุด หน้าที่ของเรานอกจากจะเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกส่งให้ลูกค้านำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว เราจะต้องไปร่วมกับลูกค้าในการหานวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตของเขาด้วย เพราะเรามีสโลแกนว่า “เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ตอนนี้ GC เป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีครบวงจร รวมทั้งผลิตภัณฑ์ Bioplastic เช่น PBS, PLA ที่นำไปเคลือบแก้ว แก้วเครื่องดื่มเย็น หลอด ฯลฯโดยส่วนใหญ่จะได้มาจากบริษัทที่เราไปซื้อกิจการในต่างประเทศ โดยเรามีบริษัท Bioplastic ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา  ต่อมาคือการ Recycle หรือ Upcycle โดย GC กำลังก่อสร้างโรงงาน Recycle พลาสติกที่มีคุณภาพสูง สามารถนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารได้ (Food Grade) เรามองว่าการทำ Recycle หรือ Upcycle อาจจะไม่ใช่เรื่องยากมากนัก แต่เรื่องที่ท้าทายกว่าคือการทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์นั้นน่าสนใจ ต้องมีเรื่องการออกแบบ การเข้าใจตลาด ดังนั้นเราจึงไปจับมือกับหลายส่วน ตั้งแต่ต้นกระบวนการคือทำอย่างไรให้พลาสติกใช้แล้วนั้นสามารถนำมา Recycle หรือ Upcycle ได้ในรูปแบบที่ต้องการ ไปจนถึงลูกค้าหรือ Partner เพื่อให้ได้ Final Product ที่ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ 

GC มุ่งมั่นผลักดันแนวคิด GC Circular Living ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก ออกสู่สังคมในวงกว้าง สร้างการตระหนักรู้ไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ เริ่มต้นด้วยของใกล้ตัว

จากการที่ GC เป็นองค์กรอันดับ 1 ของโลกในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน Chemical sector มองว่าอะไรที่เป็นปัจจัยให้เราทำได้ดีในแง่นี้และเราจะรักษาอย่างไร 

การที่ GC ได้รับการจัดอันดับเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI (Dow Jones Sustainability Indices)  ปี 2562 เป็นอันดับ 1 ของโลก เราคิดว่าปัจจัย คือ การลงมือทำอย่างจริงจังไม่ใช่ทำเป็นงานเสริม แต่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเรา ซึ่งเรามีทีมที่รับผิดชอบและช่วยกระตุ้นเรื่องนี้โดยตรง ประกอบกับองค์กรของเรามี Mindset และความเชื่อในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ยั่งยืนแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่ง GC ทำเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ทุกคนช่วยกันทำด้วยความตั้งใจและมีความเชื่อขยายไปทั้งองค์กร 

ดังนั้นการที่เราจะรักษาตรงนี้ไว้ได้ คือ เราต้องยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นไปอีก ต้องมีความมุ่งมั่นและเป้าหมายที่ชัดเจน โดยปี 2020 จะเป็นปีแรกที่ตั้งเป้าเรื่อง Greenhouse Gas Reduction อย่างชัดเจน รวมทั้งตั้งเป้าที่จะขยายผลเรื่อง Circular Economy ไปสู่ส่วนรวมมากขึ้น สุดท้ายแล้วเราต้องทำให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน สำหรับ GC นั้น การจะรักษาตำแหน่งไปตลอดไม่สำคัญเท่ากับการเห็นความสำเร็จในการสร้างแนวร่วมเพิ่มขึ้น

GC มีวิธีการสร้าง Mindset ในองค์กรให้แข็งแรง และมีเป้าหมายของการสร้างความยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกันอย่างไร 

แน่นอนว่าต้องมีการปรับกันพอสมควร โดยที่ผ่านมา GC ได้เน้นเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยเราร่วมกันสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ 4 อย่างในองค์กร ได้แก่  การกล้าคิดกล้าทำ การทำงานเป็นทีม นึกถึงความต้องการลูกค้า และการคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เมื่อมีพื้นฐานที่ดีเหล่านี้แล้ว เราก็สามารถต่อยอดในเรื่องของ  Circular Mindset ได้ไม่ยาก ซึ่งผู้บริหารก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและทำให้ทุกคนเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน คือ คนที่เป็นผู้นำต้องแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้ทีมงานทุกคนเห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ

ปัจจุบันการเข้ามาของคลื่น Disruption ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัวด้วยการทำ Digital Transformation เพื่อให้สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ GC ได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง 

ต้องยอมรับว่าเราเห็น Disruption ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าบางเรื่องอาจจะยังมาไม่ถึงเราโดยตรงเหมือนกับภาคธนาคาร แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจ และหาวิธีการในการเตรียมความพร้อม โดย GC จะให้ความสำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อที่เตรียมพร้อมเรื่อง ‘คน’ ก่อนสิ่งอื่นใด เมื่อเราพร้อมด้วยการสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้มาแล้ว ก็จะนำไปสู่การทำ DigitalTransformation ซึ่งมี 3 steps คือ

  •      Fundamental Uplift: เริ่มต้นจากการปรับฐาน จากการที่คนในองค์กรเรามี 5 พันกว่าคน พื้นฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความรู้เรื่องดิจิทัลไม่เท่ากัน จึงต้องทำให้คนมีความรู้ด้านดิจิทัลที่จำเป็นและเหมาะสมกับการปฏิบัติงาน
  •      Digital Transformation of Function: การนำดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงาน ซึ่งเราเริ่มทำมาประมาณ 2 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภายในและภายนอก หรือการดีลกับลูกค้า โดยที่ภายใน จะเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ ระบบ Customer ระบบโรงงานที่นำ Digital มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 
  •      Digital Transformation of Business: ซึ่งสำหรับธุรกิจของ GC ซึ่งเป็นแบบ B2B (Business to Business) อาจจะยังมองไม่เห็นภาพนัก แต่เราก็ต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมเสมอที่จะ Disrupt ตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นมา Disrupt เรา โดยไม่ทันตั้งตัว 

ในฐานะผู้นำองค์กรมองว่าอะไร คือ ความท้าทายสูงสุดในปัจจุบัน 

เป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่จะมีทั้งขาขึ้นและขาลง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทายระยะสั้นที่เราจัดการได้ แต่สำหรับเรื่องที่ท้าทายที่สุดในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘คน’  โดยจุดเปลี่ยนผ่านระหว่าง Generation มันค่อนข้างเห็นได้ชัด การที่องค์กรอยู่มานานมีความมั่นคงแข็งแรงก็มีข้อดี แต่ข้อที่ยาก คือ เรามีคนจำนวนมากที่จะต้องไปด้วยกันให้ได้ 

ในองค์กรก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ ที่อาจจะมีความผูกพันกับองค์กรน้อยกว่า และมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบอยู่องค์กรขนาดใหญ่เป็นเวลานาน ดังนั้นจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้คนทุก generation สามารถไปด้วยกันได้ ในขณะเดียวกัน เรื่องของ Digital Disruption ก็มีผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องปรับคนรุ่นก่อนให้สามารถเรียนรู้และปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆให้ได้ 

สิ่งที่จะมาลดความแตกต่างระหว่าง Generation ผมคิดว่ามันอยู่ที่ Culture การที่เรากล้าคิดกล้าทำ ทำงานเป็นทีม เข้าใจลูกค้า และการเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ถ้าเรามีพื้นฐานเหล่านี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหน ผมเชื่อว่าเราจะสามารถทำงานด้วยกันได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...