นวัตกรรมไม่ใช่แค่ห้อง lab บทเรียนจากผู้พัฒนา Mouse ทำไมงานวิจัยมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ | Techsauce

นวัตกรรมไม่ใช่แค่ห้อง lab บทเรียนจากผู้พัฒนา Mouse ทำไมงานวิจัยมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

บริษัทส่วนใหญ่ที่ตื่นตัวด้านนวัตกรรม เพราะทุกๆ คนพูดถึงกันเลยทำบ้าง มักจะเริ่มต้นด้วยการตั้งแล็บ หรือตั้งบริษัทใหม่ขึ้นลงทุนด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลว มาเรียนรู้กันจากประวัติศาสตร์กันครับ

เคสแรกที่อยากเล่าให้ฟัง คือ mouse ที่ไม่ใช่ mouse อุปกรณ์ที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำที่ทำงาน จริงๆ แล้วเป็นผลงานวิจัยของนาย Douglas Engelbart แห่ง Stanford Research Institute

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 ขณะกำลังก่อตั้ง Augmentation Research Center ได้ยื่นขอสิทธิบัตรฝนปี 1967 และได้สิทธิบัตรในปี 1970 ของ xerox lab ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (input device) เริ่มแรกเป็นอุปกรณ์ปุ่มกดหนึ่งปุ่ม และมีล้ออยู่สองล้อวางแนวตั้งและแนวนอนด้านล่าง และใช้เซนเซอร์ในการตรวจสอบการขยับของล้อ เพื่อที่จะนำข้อมูลนั้นไปควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวชี้ (pointer)

โดยตอนแรกเรียกมันว่า bug ก่อนจะมาเรียกว่า mouse เพราะมีสายเหมือนกับหางหนู ในขณะที่ตัวอุปกรณ์รูปทรงคล้ายๆ ตัวหนู ก่อนที่จะถูก Xerox PARC นำไปพัฒนาต่อ และ Steve Jobs และ Steve Wozniak นำไปพัฒนาต่อ เพื่อใช้สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (personal computer) ซึ่งใช้ระบบเชื่อมต่อกับผู้ใช้แบบกราฟฟิก(graphic user interface) จนถูกนำไปใช้ทั่วโลกจนมียอดขายนับพันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาต่อปี

แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นั้น นาย Douglas Engelbart เนี่ยไม่ได้คิดค้นแค่ mouse นะครับ จริงๆ แล้วเขาเป็นหนึ่งในผู้คิดค้น Personal Computer แบบที่มี user interface 

โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1946 ที่เขาได้แรงบันดาลใจจากบทความ As we may think ของ Vannevar Bush ที่ลงในนิตยสาร The Atlantic ขณะที่เขาประจำการเป็นนักเทคนิคเรดาร์ในฟิลิปปินส์ พอช่วงปี 1960 ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กันอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นเริ่มเข้าถึงคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบบัตรตอก (punch card) นาย Douglas ก็คิดไปไกลถึงการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อการสื่อสาร การหาข้อมูล และช่วยเสริมความฉลาดของมนุษย์ และเป็นที่มาของชื่อแล็บของเขา

ในปี 1968 เขาก็ได้จัดงานเพื่อแสดงผลงานของเขาขึ้นมา ซึ่งถูกเรียกชื่อให้เกียรติในภายหลังว่า The Mother of All Demos  เพราะนายคนนี้โชว์ผลงานล้ำยุคมากๆ ในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็น windows, hypertext, graphics, mouse, word processing, video conference, dynamic file linking, version control, collaborative realtime editor อยู่ในระบบเดียว ในระบบที่ชื่อว่า oN-Line System (NLS) ซึ่งโชว์ผลงานเสร็จ คนเข้าชมถึงกับลุกปรบมือให้เลยทีเดียว เพราะเป็นสิ่งที่คนคาดไม่ถึงว่าจะทำได้ถึงขนาดนี้เลยทีเดียว

ฟังดูแล้ว อีตาคนนี้ควรจะเป็น Steve Jobs ได้เลยใช่ไหมครับ แต่ปรากฏว่าถึงแม้งานของเขาจะมีอิทธิพลมากๆ กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปัจจุบัน แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้จักเขาเหมือน Steve Jobs เพราะในช่วงนั้น งานของเขาถูกแสดงให้กับนักวิจัยในยุคนั้น ซึ่งไม่เข้าใจว่าจะเอา graphical user interface ไปใช้ทำอะไร และในที่สุดถูกเก็บเข้ากรุ มีบ้างที่ผู้ที่เคยร่วมงานกับเขาที่ ARC ซึ่งภายหลังไปทำงานที่ Xerox PARC จะนำผลงานเขาไปพัฒนาต่อ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นสิ่งที่ Clayton Christensen ได้สื่อไว้ในหนังสือ Innovator’s Dilemma และ Competing against Luck ไว้เป็นอย่างดีว่า

นวัตกรรมเปลี่ยนโลก (disruptive innovation) คือกระบวนการ (process) มันไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ ไอเดียอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีกระบวนการที่จะหาลูกค้าของนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ได้ เพราะหลายๆ ครั้งนวัตกรรมเปลี่ยนโลกแบบนี้ เป็นของที่ไม่มีใครเข้าใจ ไม่รู้ว่าใช้ทำอะไร และตัวเองจะต้องการมันไปทำไม ไอเดียของ Douglas กว่าที่จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ก็ต้องรอเวลาอีกเกือบ 20 ปีกว่าที่ Steve Jobs จะพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ Apple ทั้งนี้เป็นเพราะ Steve Jobs มีความสามารถด้านการตลาด และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าตัวลูกค้าเองเสียด้วยซ้ำ

ในขณะที่ Xerox PARC มีของเจ๋งแบบนี้อยู่ในมือตั้งนานแต่ก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์จากมัน (จริงๆ แล้ว Xerox PARC เองก็คิดค้นของเจ๋งๆ อีกมากมาย ไว้ถ้ามีเวลาจะมาเล่าให้ฟังภายหลัง แต่ Xerox เองก็ตกรถไฟเกือบทั้งหมดทั้งๆ ที่คิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้มากมาย เหลือเพียงแต่เทคโนโลยีเครื่องถ่ายเอกสาร ที่นับเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่คนสมัยผมต้อง “ซีรอกซ์เล็กเชอร์” ของเพื่อนกันเป็นว่าเล่น จนร้านถ่ายเอกสารรวยเป็นล่ำเป็นสัน และทำให้ผมรอดเรียนจบออกมาได้ทุกวันนี้)

Clayton Christensen จึงแนะนำว่า สภาพของการทำศูนย์วิจัยหรือห้องแล็บนี้ไม่ได้มีแรงจูงใจให้นวัตกรรมเกิดความสำเร็จ คนคิดก็เอาแต่คิด ไม่ได้เอาไปทำการตลาดต่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เปลี่ยนโลกได้ หากจะทำให้ดี Clayton แนะนำให้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นเพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ เพื่อตั้งจุดหมายความอยู่รอดขององค์กรอยู่ที่ผลสำเร็จของการนำนวัตกรรมไปใช้ เพราะพอไม่มีแรงกระตุ้นเรื่องการอยู่รอด ก็จะไม่มีแรงผลักดันที่นอกกรอบเพียงพอให้นวัตกรรมนั้นๆ ประสบความสำเร็จ ซึ่งถ้ามาเป็นในสมัยนี้ก็คงเปรียบได้กับการนำงานวิจัยมาทำเป็น start-up เหมือน series หนังเกาหลีที่กำลังดังชื่อว่า Start-up

นี่คงเป็นสาเหตุว่าทำไมงานวิจัยส่วนใหญ่ของไทยถึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้ ผมจะได้มีโอกาสช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้บ้างครับ

บทความนี้เป็น Guest Post โดย ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...