MVP จาก Mobile Event สู่ service provider ครบวงจร | Techsauce

MVP จาก Mobile Event สู่ service provider ครบวงจร

Mobile Event ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของไทยอย่าง Thailand Mobile Expo ที่สร้างสรรค์โดย MVP เป็นรากฐานสำคัญสู่ธุรกิจอื่น ๆ ตามมาในรูปแบบของ service provider แบบครบวงจรที่เกี่ยวเนื่องกับโทรศัพท์มือถือ ตลอดจนการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เติบโตสู่ธุรกิจใหม่ ๆ แบบแตกแขนงไปด้วยการลงทุนในลักษณะ JV และบริษัทย่อย คือแนวทางที่โอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็ม วิชั่น เลือกสร้างอนาคตแก่กิจการที่ตัวเขาและเพื่อน ๆ ก่อตั้งขึ้น

Mobile Event คือจุดเปลี่ยน

MVP หรือ บมจ. เอ็ม วิชั่น ก่อตั้งและบริหารงานโดยกลุ่มเพื่อนสมัยเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อราว 20 ปีก่อน ที่ประกอบด้วยโอภาส เฉิดพันธุ์ ผู้รับภารกิจเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งต้องรับบทผู้ตัดสินใจคนสุดท้าย ที่ร่วมหัวจมท้ายกับผู้ก่อตั้งคนอื่นไม่ว่าจะเป็น ธีรวัฒน์ สุวรรณพินิจ ธราธร ยวงบัณฑิต และประพิมพรรณ เลิศสิริสิน ซึ่งปัจจุบันต่างก็รับหน้าที่ผู้บริหารในตำแหน่งต่าง ๆ กันไป

เวลาทำงานกับเพื่อนคนที่เป็น leader จะกดดันมาก เพราะจะตัดสินใจพลาดไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ดีก็เสมอตัว ซึ่งเมื่อใดพลาดก็ต้องเป็นตัวเราที่แบกรับการแก้ปัญหา

โดยเริ่มแรกมุ่งบริษัทดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์ในการผลิตสื่อ ผู้ผลิตเนื้อหา และสิ่งพิมพ์โทรศัพท์มือถือภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘WHATPHONE’ ‘Smart Phone guide’ และ ‘The Edge’ ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทออฟไลน์ จนกระทั่ง 1 ปีต่อมาจึงขยายขอบเขตไปยังธุรกิจจัดงาน event ในนาม Thailand Mobile Expo ซึ่งประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดงาน

โอภาสย้อนกลับไปถึงวันแรกที่เริ่มเข้าสู่วิถีคนทำสิ่งพิมพ์ โดยไร้ซึ่งทักษะและประสบการณ์อย่างสิ้นเชิงแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจล้วน ๆ ทั้งตัวเขาและเพื่อน ๆ ผู้ร่วมก่อตั้งจึงรวบรวมเงินทุนจากการรูดบัตรเครดิตมาสร้างกิจการ เช่นเดียวกับที่ปีกกล้าไปสู่ฝั่ง event ก็ด้วยพลังใจล้วน ๆ จนยอมเทหมดเงินเก็บหมดหน้าตัก เพียงเพื่อเดิมพันกับความชื่นชอบและแรงบันดาลใจที่ต้องการทำในสิ่งที่ยังไม่เคยมีผู้กล้าริเริ่มมาก่อน

ความสำเร็จของ Thailand Mobile Expo ที่เกิดขึ้น โอภาสให้เครดิตกับประสบการณ์เทียบชั้นว่าเป็นระดับเทพของการเดินงาน event ด้าน technology ทำให้ตัวเขารู้ว่าควรวางรูปแบบการจัดงานให้แตกต่างและปิดทุกข้อด้อยจากงานแสดงสินค้าเดิม ๆ เช่น ไม่มีพิธีเปิดงาน ไม่มีเวทีกลางเพระต้องการให้บริษัทที่มาออกงานใช้เวทีของตัวเองเพื่อดึงคนแทน

“ตอนนั้นไม่มีสื่อที่ทำเรื่องโทรศัพท์มือถือเลยอยากทำ เช่นเดียวกับที่ชอบเดินงาน event มากแต่ก็ไม่เห็นมีใครทำ mobile expo จึงอยากทำขึ้นมา โดยตอนนั้นไม่ได้หวังว่าจะร่ำรวย”

อย่างไรก็ตามแม้จะประสบความสำเร็จตั้งแต่แรกเริ่มเปิดตัว แต่ระหว่างทางก็มีปัญหาเข้ามาให้ต้องฝ่าฟันอยู่ตลอด ด้วยความเชื่อที่ว่าเพราะเป็นธุรกิจที่ดีและมาถูกทาง จึงมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดทำให้โอภาสและผู้ร่วมอุดมการณ์ยังเดินหน้าสร้างกิจการมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ท้อถอยไปก่อน แม้กระทั่งเคยพบกับคำดูถูกที่ว่าการมาลงโฆษณาในหนังสือของบริษัทจะทำให้แบรนด์เสียภาพลักษณ์ ก็ไม่ได้ทำให้เสียกำลังใจ แต่เลือกที่จะเปลี่ยนคำพูดด้านลบมาเป็นแรงผลักดัน

แม้จะจัดงาน Thailand Mobile Expo มาหลายครั้งแต่ที่ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในแง่ของรายได้คือเมื่อปีก่อน หรืองาน Thailand Mobile Expo 2018 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่ใช้สถานที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพราะสามารถทำรายได้แทบจะทุกจุดของการจัดงานไม่เว้นแม้กระทั่งบันได หรือ บางจุดภายในห้องน้ำก็ตาม

จนต้องการขยายพื้นที่จัดงานให้ใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่าตัว จึงเลือกมาใช้พื้นที่ของศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งนอกจากทำให้มีรายได้ทะยานขึ้นเป็นสองเท่าแล้ว ก็ยังได้รับการตอบรับดีเช่นเคยแม้ในวันที่จัดงานจะไม่มี event อื่น ๆ มาช่วยดึงผู้ชมร่วมด้วยเลยก็ตาม

ช่วงนั้นไม่มีงานอื่นมาจัดพร้อมกันเลย แปลว่าทุกคนตั้งใจมางานเราจริง ๆ

mobile event-mvp-ceo

ปรับใหญ่สู่ service provider

ปัจจุบันหลังจาก MVP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2561 จึงได้ปรับโครงสร้างกิจการใหม่เป็นธุรกิจให้บริการ หรือ service provider ที่แบ่งเป็นสองขาหลักคือกลุ่มธุรกิจให้บริการด้านมือถือและเทคโนโลยีครบวงจร (Mobile Related Provider) และกลุ่มธุรกิจด้านกีฬาและท่องเที่ยวครบวงจร (Sport Solution Provider) ที่บริษัทจะขยายการเติบโตโดยวิธีการไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ โดย MVP เริ่มดำเนินธุรกิจในแนวทางนี้เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและน่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

เราปรับบทบาทจาก organizer เป็น provider โดยไปร่วมกับพันธมิตรด้านต่าง ๆ แล้วไปให้บริการแทน ซึ่งพบว่า work มาก ที่ไปจัดตั้งบริษัทใหม่ทำธุรกิจกับคู่แข่ง แล้วเราเป็นผู้ให้เช่าอุปกรณ์ต่าง ๆ แทน

โอภาสเล่าถึงที่มาและแรงกระตุ้นที่เลือกจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ว่า ในส่วน Mobile Related Provider เป็นฐานธุรกิจเดิมที่บริษัทเชี่ยวชาญดีอยู่แล้ว ขณะที่ Sport Solution Provider นั้นมาจากกระแสความนิยมในเรื่องกีฬาและการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องการสร้างสรรค์งานวิ่งมาราธอนในแบบที่ตัวเขาชื่นชอบ จึงตัดสินใจจัดงาน Samsung 10K Thailand Championship ขึ้นแล้วประสบความสำเร็จทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่จัด

อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของ Sport Solution Provider ที่สร้างความแตกต่างคือบริการให้เช่ารถบ้านในนาม MV Caravan ที่ได้ไปปรากฏโฉมในงาน event มากมาย เช่น Wonderfruite Bigmountain Music Festival เป็นต้น ที่แม้จะนำเสนอในราคาที่ค่อนข้างสูงเพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างที่เน้นตอบโจทย์ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงเป็นหลัก จนทำให้ขณะนี้มีจำนวนรถบ้านให้บริการสูงสุดในเอเชียที่ราว 100 คัน

ที่จัดงานวิ่งมาราธอนเพราะตัวเองชอบและมั่นใจมากด้วย กว่าจะจัดได้ก็วิ่งมากว่า 200 งานแล้วยังนอนรถบ้านมาถึง 2 ปี

mobile event-mvp-ceo

สู่น่านน้ำใหม่ในแบบร่วมทุน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่นั้น บริษัทยังมีแผนที่จะแตกย่อยไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile Related Provider ตามที่โอภาสขยายความว่า “ทุกอย่างที่ใส่ sim” ในรูปแบบของกิจการร่วมค้า (JV) กับพันธมิตรที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการภายในเดือนพฤษภาคม 2562

ในส่วนของธุรกิจ e-Sports จะเป็นการลงทุนร่วมกับกับบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. คอมเซเว่น โดยร่วมกันจัดงาน e-Sports Expo ที่มีพื้นที่จัดงานใหญ่กว่าเดิมมาก ไม่เพียงเท่านั้น MVP ยังรุกไปยังการทำแพลตฟอร์มจักรยานยนตร์ไฟฟ้า EV ที่มาในร่างของ JV เช่นเคย โดยจับมือกับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บมจ. ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส

“เมื่อเราเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็ไม่ควรเสี่ยงคนเดียว แต่ควรดึงจุดแข็งของพันธมิตรแต่ละรายมาทำงานร่วมกัน”

ขณะที่ยังฉีกไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ในรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการในบริษัทย่อย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของธุรกิจให้คำปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ที่ดำเนินการกับค่าย Idol Master และธุรกิจให้บริการด้านแข่งขันกีฬาครบวงจรที่ร่วมมือกับ Running Connect และอยู่ระหว่างเจรจากกับพันธมิตรที่จะมาดูแลในส่วนธุรกิจขายและให้บริการด้านสารสนเทศ

สำหรับแผนงานใหม่ ๆ ของ MVP ในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทจะขยายการจัดงาน Thailand Mobile Expo ภายในศูนย์แสดงสินค้าไบเทค ฯให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีก 6,000 ตารางเมตรหรือเพิ่มกว่า 30%

รวมถึงต่อไปจะร่วมมือกับองค์กรภาครัฐจัดงานท่องเที่ยวในต่างจังหวัดโดยเฉพาะกลุ่มเมืองรองให้มากขึ้น เพื่อใช้จุดแข็งของบริษัทช่วยดึงนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ และกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงให้มาร่วมงาน เช่น บริการให้เช่ารถบ้านที่มีความสะดวกสบาย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

จับสัญญาณก่อนพายุมา

แม้จะมีผลงานที่ประสบความสำเร็จมามากมายให้ได้ภาคภูมิใจ แต่ก็มีหลายครั้งที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง เพราะ MVP มักจะทำงานร่วมมกับพันธมิตรรายใหญ่เป็นหลัก แต่ด้วยความไม่แน่นอนและปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป จึงทำให้พันธมิตรหรือลูกค้ารายใหญ่โดยเฉพาะด้านธุรกิจมือถือที่เคยพึ่งพาเป็นฐานรายได้หลักแต่เดิมต้องมีอันหายไปอย่างไม่เคยคาดฝันมาก่อน

ทั้งนี้ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้โอภาสเริ่มเรียนรู้ว่า จำเป็นต้องหาแผนสำรองไว้เสมอในเวลาที่เริ่มรู้สึกหรือมีสัญญาณว่าอยู่ในจุดที่ธุรกิจกำลังดำเนินไปอย่างดีหรือสบาย เพราะเป็นลางบอกเหตุว่ากำลังจะมีเหตุการณ์หรือวิกฤติที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในเร็ววัน

“จากอุปสรรคในการทำธุรกิจมาตลอด 20 ปี ทำให้เราเรียนรู้ที่จะมองไปข้างหน้า เพื่อเตรียมแผนสองเสมอ เมื่ออยู่ในจุดที่กำลังสบายเป็นสัญญาณที่บอกว่าปัญหากำลังจะมาเร็ว ๆ นี้”

นอกจากนี้สิ่งที่โอภาสค้นพบจากการเป็นเจ้าของกิจการคือ ในบางครั้งการสร้างธุรกิจไม่สามารถศึกษาหาข้อมูลให้ถ่องแท้จนรู้จริงก่อนแล้วค่อยเริ่มต้นได้ แต่หากเชื่อและเล็งเห็นโอกาสก็ให้ลงมือทำเลย พร้อมกับเผยสูตรลับของการทำธุรกิจอีกอย่างคือการหาคนเก่งมาทำงานให้จะช่วยแบ่งเบาภารกิจต่าง ๆ ลงได้มาก ซึ่งต้องเคยทำงานร่วมกันมาก่อนและใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควรก่อน

ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็ภูมิใจกับสิ่งที่ทำมา ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะถ้าคิดว่าเจ๋งแล้วอาจทำให้เราหยุดพัฒนา


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...