คำภีร์ Self-made จาก OfficeMate สู่ COL ฉบับวรวุฒิ อุ่นใจ | Techsauce

คำภีร์ Self-made จาก OfficeMate สู่ COL ฉบับวรวุฒิ อุ่นใจ

Self-made ที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นบนเส้นทางของผู้ประกอบการทุกคน ดังเช่นผู้ที่สร้างตัวจาก OfficeMate อย่าง วรวุฒิ อุ่นใจ จนยืนหยัดบนโลกธุรกิจได้แข็งแกร่งผ่านกลยุทธ์ catalog sales กระทั่งเนื้อหอมจนเป็นที่สนใจของกลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Central Group แล้วนำไปสู่การรวมกิจการขึ้นใหม่ในร่างของ บมจ. ซีโอแอล (COL) ที่ตัวเขาสวมหมวกประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยครั้งนี้ได้มาแบ่งปันวิชาที่ตัวเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ตลอดจนแจกจ่ายคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่นักสู้บนโลกธุรกิจในปัจจุบัน


อะไรคือที่มาให้ริเริ่มการเป็น Self-made

เริ่มจากต้องมาช่วยพยุงกิจการค้าส่งเครื่องเขียนของครอบครัวคือร้านขายเครื่องเขียนกิจวิทยา ที่เริ่มมีปัญหาจนแทบต้องปิดกิจการ แม้ว่าจริง ๆ มีฝันที่ต้องการเป็นอาจารย์ แต่ก็ตัดสินใจนำความรู้ด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด มาหาทางออกให้กิจการได้ไปต่อ โดยร่วมกับสมาชิกครอบครัว price list ที่รวบรวมทั้งหมวดหมู่ของสินค้า แบรนด์ ประเภท สี และ ขนาด แล้วไปแจกตามสำนักงานต่าง ๆ ที่นับว่าเป็นการเก็บฐานข้อมูลครั้งแรกที่นำไปสู่มาตรฐานของการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องเขียนอุปกรณ์และสำนักงาน

อย่างไรก็ตามระหว่างทำกิจการของครอบครัว ได้มีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จึงเริ่มคิดการใหญ่ในการเริ่มทำโปรเจคจบที่ชื่อว่า “OfficeMate” และนำมาพัฒนาต่อเป็นกิจการของตัวเองในรูปแบบของธุรกิจจำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานผ่านระบบแคตตาล็อก และรับคำสั่งซื้อผ่านระบบ Call Center ในขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน

ปัจจัยที่ทำให้โมเดล catalog sales สำเร็จคืออะไร?

ในการทำธุรกิจที่เป็น catalog sales ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของ e-commerce นั้น สิ่งที่ยากที่สุดคือการบริหาร stock หรือระบบ logistic ทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพ นั่นคือทำอย่างไรให้ไม่จมไปกับสินค้า และให้จัดส่งได้รวดเร็ว คุ้มทุน ตรงเวลา

ทั้งนี้ catalog sales ได้เปรียบ e-commerce ในเรื่องการกำหนดพื้นที่ขายได้ แต่หากจะให้คุ้มทุนคือต้องมีลูกค้าให้ได้ 400-500 ราย ต่อพื้นที่ นั่นคือใน 1 วันจะมีลูกค้าสั่งเข้ามี 20-25 ราย ซึ่งเท่ากับรถกระบะ 1 คันจึงถือว่าคุ้มทุน

“ถ้าเราทำ (catalog sales) ได้ ก็สามารถต่อยอดเป็น e-commerce ได้”

อีกปัจจัยคือต้องมีระบบ IT ที่แข็งแรง เราเริ่มจากการที่มี programmer แค่คนเดียว จนเป็นบริษัทที่ใช้ programmer จำนวนมาก ตอนที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มีทีม IT ประมาณร้อยคนได้ ถ้าเทียบกับบริษัทที่มียอดขายประมาณ 1 พันล้านบาท เรามี programmer มากที่สุด แต่ก็คุ้ม เพราะเราเขียนซอฟท์แวร์เองทั้งหมด ทำให้ปรับเปลี่ยนตัวเองได้เร็วและสามารถนำเอาเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน เพราะเรามองเทคโนโลยีในแง่ของ competitive weapon หรืออาวุธในการแข่งขัน

อะไรคือตัวชี้วัดผลสำเร็จของ OfficeMate

ในเวลาที่เราทำธุรกิจ ไม่ว่าโมเดลธุรกิจจะพิสดารขนาดไหน แต่สุดท้ายวัดกันที่ยอดขายและกำไร ถ้ายอดขายไม่โต กำไรไม่มี โมเดลธุรกิจสวยขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นเวลาเราวัดความสำเร็จพื้นฐานง่าย ๆ คือการวัดยอดขายก่อน

ในช่วงที่ระบบทุกอย่างเริ่มลงตัว การเติบโตของ OfficeMate สูงถึง 40-50% ต่อเนื่องกัน 7-8 ปี นั่นคือนับแต่ก่อตั้งบริษัททำได้ยอดขาย 20 กว่าล้าน เพิ่มขึ้นเป็นเป็นละ 1 พันล้านบาท ในช่วงก่อนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI เมื่อปี 2553

ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการเติบโตดังกล่าว

การเติบโตมีความยากตรงที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรองรับการเติบโต โดยเฉพาะระบบการทำงาน ถ้าเราใช้แบบเดิมก็รองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ แต่ที่ยากกว่านั้นคือเรื่องของ คนหรือบุคลากร ที่จะบริหารอย่างไรให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะถ้าเรามีคนจำนวน ๆ ต้องมีหลักการควบคุมและตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ซึ่งรากฐานใหญ่ที่สุดคือระบบบัญชี เพราะทำให้เรารู้สุขภาพของธุรกิจ เพราะโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเรียน ต้องหาความรู้ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถขยายธุรกิจได้

ถ้าถามว่า OfficeMate หรือ COL โตมาอย่างไร อย่างแรกคือ เราโตมากับความยืดมั่นของการทำระบบบัญชีเดียว (Single Account) ด้วยระบบบริหารที่ถูกต้อง โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ อย่างที่สองคือ การใช้เทคโนโลยี เพราะจะช่วยให้เราทำในสิ่งที่คู่แข่งยักษ์ใหญ่ไม่ทำได้

self-made-COL -ceo

จับสัญญาณอย่างไรว่าถึงเวลาปรับระบบการทำงานแล้ว

อย่างที่บอกคือระบบการทำงานแต่ละระบบจะเหมาะสมกับยอดขายระดับหนึ่ง แล้วยอดขายระดับไหนจึงควรจะเปลี่ยนระบบ ก็จะมีตัวชี้วัดง่าย ๆ เช่น ตอนที่ยอดขาย 100 ล้าน ยังใช้ระบบนี้ได้ แต่พอยอดขายเป็น 150 ล้าน แต่กำไรลดลง แทนที่ขายได้มากแล้วกำไรจะเพิ่มตามไปด้วย นั่นแสดงว่าระบบของเรากำลังมีปัญหา หรือ ประสิทธิภาพของระบบการทำงานถดถอย

สิ่งที่ยากคือแม้รู้แล้วว่าระบบมีปัญหา แต่ไม่รู้ว่าจะเอาระบบไหนมาใช้ ซึ่งเราต้องลองผิดลองถูก และหาข้อมูล ผมก็ลองทำโดยการเอาข้อมูลในหนังสือ MBA ที่เรียนอยู่มาใช้ นอกจากนี้ก็ต้องดูโลกภายนอกด้วยว่าตอนนี้เขากำลังทำอะไรกันอยู่ มีเทคโนโลยีอะไร และศึกษา จากนั้นก็ลองทำขึ้นเองเพื่อให้ customize ตรงกับตลาดในไทยได้

แล้วอะไรที่บ่งบอกว่าการบริหารคนต้องเริ่มเปลี่ยน

อันดับแรกคือต้องหา benchmark ซึ่งก็คือตัวเทียบที่อ้างอิง เช่น ต้องไปหาข้อมูลจากบริษัทต่างประเทศว่ามีค่าใช้จ่ายแต่ละส่วนเป็นเท่าไรเมื่อเทียบกับยอดขาย เช่น HR cost 8% พอมาดูของเรา 16% นั่นแสดงว่าเรากำลังบริหารคนผิด จากนั้นเราก็เริ่มตั้งเป้าหมายแล้วว่า HR cost จะต้องลงมาให้ต่ำที่สุด จึงจะสามารถแข่งขันได้

แนวทางการบริหารคนในปัจจุบันควรเป็นเช่นไร

เรายึดถือหลักการสร้างคน สิ่งที่เราต้องทำเสมอไม่ว่าพนักงานจะเป็นอย่างไรคือทำให้เขาเก่งขึ้น ฉะนั้นการฝึกอบรมจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก รวมถึงมีการวัดผลตามหลักความเชื่อว่าถ้าทำดีก็ได้ดีทำชั่วก็ได้ชั่ว เช่น ฝ่ายคลังสินค้า ถ้าดูแลโซนไหนแล้วของไม่หาย ก็ให้เรายได้เพิ่มอีก 2,000 บาท ฉะนั้นถ้าเราทำแบบนี้ทุกคนก็จะพยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ซึ่งหากไม่มีการวัดผลก็พิสูจน์ได้ยากว่าใครทำได้ดี จึงพยามยามทำออกมาเป็นตัวเลขให้จับต้องได้ และใช้ incentive มาช่วย

"แต่การวัดผลแบบนี้ ต้องดูตามขนาดของธุรกิจและตามสภาพแวดล้อมด้วย และที่อยากจะฝากไว้คือ เมื่อไรก็ตามที่นำ KPI มาใช้จะต้องมีเรื่อง team building มาช่วยด้วย"

สิ่งที่ยากคือการสร้าง corporate culture ซึ่งทำให้ทุกคนรับรู้ถึงทิศทางของบริษัทโดยไม่ต้องบอกกล่าว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตการทำงานของเขา ทำให้รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของที่นี่เป็นเรื่องปกติ เพราะถ้ายอดขายโตตลอดเวลาแล้วเราไม่เปลี่ยนมันเป็นไปไม่ได้ แต่บางบริษัทไม่เคยเปลี่ยนมาเป็นสิบๆ ปี พอวันหนึ่งจะมาเปลี่ยนก็กลายเป็นเรื่องใหญ่

กระนั้นหลักการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นสิ่งที่ได้ผลตลอด แต่ยุคนี้มีปัญหาในเรื่องคนหลายรุ่นมาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะต้องมาปรับให้เข้ากันใหม่ เแต่บริษัทของเราเป็นการรวมคนหลายแบบมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เราเรียนรู้ที่จะรวมคนได้ อย่างไรก็ตามเรื่อง Generation gap เป็นปัญหาใหญ่ของหลาย ๆ องค์กร เพราะมี mindset คนละแบบ แต่ถ้าใช้ team building ก็ยังช่วยให้ปรับเข้าหากันได้ นอกจากนี้สิ่งที่พยายามทำมาตลอดให้ที่ทำงานเป็น happy workplace เพราะต้องการให้พนักงานตื่นมาแล้วอยากมาทำงาน

ผมมี 4 คำที่ใช้ในการบริหารจัดการคน คือ Fast เร็ว Fun สนุก Flexible ยืดหยุ่น Firm มั่นคง

จะเลือกคนแบบไหนมาร่วมงาน

เป็นคนเปิดกว้าง ยอมรับเหตุผล และเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะธุรกิจในยุคนี้ถ้าเราไม่เรียนรู้ตลอดเวลา ก็เปลี่ยนแปลงหรือทำ digital transformation ไม่ได้ ฉะนั้นก็ต้องเปลี่ยน mindset คนของเราให้ได้ก่อน ซึ่งผู้นำคือคนสำคัญที่จะนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสร้างบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงที่สนุกสนาน คนก็รู้สึกดีขึ้น ฉะนั้นอย่าทำให้พนักงานในองค์กรรู้สึกว่าเป็นแค่เฟืองตัวหนึ่ง

เป็นคนทัศนคติดี บางคนเก่งแต่อาจมีทัศนคติไม่ดี เช่น รู้สึกว่าการทำงานเกินหน้าที่คือการเสียเปรียบ เพราะบริษัทก็ให้เงินเดือนเท่าเดิม แต่มุมมองของบริษัทเวลาจะพิจารณาเลื่อนขั้น จะให้ลองทำงานเกินหน้าที่ก่อนว่าสามารถรับมือได้ไหม ถ้าทำได้ก็ได้เงินเพิ่ม ได้เลื่อนตำแหน่ง ถ้าคิดว่าเสียเปรียบก็อยู่ที่เดิม ขณะที่บางคนพอได้ลองทำงานใหม่ ๆ ก็วิ่งเข้าใส่

ฉะนั้นผมให้ความสำคัญกับ attitude มากกว่าความสามารถ

self-made-COL -ceo

COL เริ่มขึ้นอย่างไร

ต้องบอกว่าพอสร้างกิจการประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ก็จะกลายเป็นคนเนื้อหอมย่อมมีคนเข้ามาหาเข้ามาจีบ อยากร่วมธุรกิจ อยาก joint venture ด้วย แต่ผมมีแนวคิดว่าจะไม่ joint venture กับใครถ้ายังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระหว่างนั้น Central Group ได้ติดต่อก่อนเราเข้าตลาด 2 ปี แต่กว่าจะดีลกันจบก็กินเวลาไป 4 ปี หรือจบในปี 2555

ตอนนั้น Central Group มี Office Depot ขณะที่เรามี OfficeMate เขาเก่งระบบหน้าร้าน แต่เราเก่งระบบหลังร้าน ระบบ catalog กับ website แล้วเขายังมี B2S ซึ่งผมเสนอไปว่าอยากให้รวม B2S กับ OfficeMate แล้วให้ผมบริหาร ซึ่งทาง Central Group ก็สงสัยว่าทำไมผมถึงอยากได้ร้านหนังสือ เพราะในยุคนั้นร้านหนังสือกำลังร่วง

"เรารู้สึกว่า Education & Entertainment น่าทำและอยากทำมานานแล้ว เพราะ 2 ธุรกิจนี้ไม่มีวันตาย เพียงแต่เราต้องเปลี่ยนมัน"

หลังจากรวมกันแล้ว ก็มองว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการรวมบริษัทอยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1. ลูกค้า ซึ่งได้ประโยชน์ จากระบบหน้าร้านและหลังร้าน ตลอดจนบริการที่จะดีขึ้น 2. พนักงาน เพราะเขาอยู่กับเรามานานและฝากชีวิตไว้กับบริษัท ถ้าไปรวมแล้วก็จะได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น ตำแหน่งงานก็กว้าง และยังสามารถย้ายหมุนเวียนไปอยู่บริษัทใน Central Group ได้ 3. ผู้ถือหุ้น การรวมกันน่าจะทำให้มูลค่าของหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น แม้ไม่รูว่าจะขึ้นเท่าไร เพราะเป็นกิจการที่ภาพลักษณ์ดีทั้งคู่ เมื่อจับมือการทำงานร่วมกันก็ย่อมดีขึ้น จะได้บุกตลาดต่างประเทศ และไม่ต้องมานั่งแข่งขันกันเอง

“วันที่รวมกัน Central Group มีราคาหุ้นอยู่ที่ 37 บาท หลังจากรวมกันได้ 3 เดือน ราคาหุ้นเพิ่มไปที่ 80 บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเราคิดถูก”

ต้องบอกว่า 6-7 ปีที่รวมกับเขา ผมฉลาดและเก่งขึ้น เพราะได้เห็นระบบการทำงานของบริษัทขนาดเป็นแสนล้านบาท ได้เห็นคนเก่ง ๆ มีระบบที่ดี และอื่น ๆ อีก ทำให้เราได้เรียนรู้

เราเป็นเถ้าแก่ที่ไม่ได้ยึดติดความเป็นเถ้าแก่ แต่เราอยากให้บริษัทนี้ยั่งยืน อยู่ได้เป็นร้อย ๆ ปี คู่กับประเทศไทย

ภาพรวมและเป้าหมายสำหรับ COL

ปัจจุบัน COL ทำธุรกิจครอบคลุม 3 ส่วนได้แก่ ส่วนแรกคือ OfficeMate ธุรกิจค้าปลีกสินค้าที่ครบครันในประเภทอุปกรณ์สำนักงาน และให้บริการที่เกี่ยวเนื่องในการประกอบธุรกิจ ส่วนที่สอง B2S ธุรกิจค้าปลีกหนังสือ อุปกรณ์เครื่องเขียน ศิลปะ สื่อการเรียนรู้ สำหรับเด็กทุกช่วงวัย และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ และสุดท้าย MEB Corporation ธุรกิจการจัดจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และให้คำ ปรึกษาเรื่องการจัดทำ E-Book และการจัดหาอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reader)

หลังจากควบรวมกิจการได้ 6-7 ปี ยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 80% ทำให้จากก่อนรวมอยู่ที่ประมาณหลักพันล้านบาท ตอนนี้อยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่ามีการเติบโตในอัตราที่น่าพอใจ และยังได้บุกตลาดต่างประเทศที่เวียดนาม ตลอดจนเปิดโมเดลธรกิจใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังพัฒนาเว็บไซต์ของ OfficeMate ให้เป็น B2Bmarket place คาดว่าน่าจะได้เห็นในปลายปีนี้ สำหรับเป้าหมายายในอีก 5 ปีข้างหน้าคิดว่าน่าจะมีการเติบโตเพิ่มอีก 1 เท่าตัว แต่ถ้าระยะไกล ๆ ยังบอกไม่ได้ เพราะทุกวันนี้มันเปลี่ยนเร็วมาก

“การที่เรามารวมกับ Central ทำให้เราไม่ต้องห่วงอะไร เพราะบุคลากรมีคุณภาพ ระบบการทำงานที่ดี ฐานลูกค้าที่แข็งแรง มั่นใจได้ว่าบริษัทจะยั่งยืนไปอีกนาน “

มีอะไรที่จะแตกยอดจากเดิมบ้าง

เราเปลี่ยนตัวเองจาก vendor office supply และพยายามให้เป็น vendor of everything จึงขยายขอบเขตสินค้าที่จะเริ่มเปิด 3 หมวดใหม่ในปีนี้ เช่น หมวดสินค้า Factory อะไรที่ใช้ในโรงงาน เราขายหมด ซึ่ง market size ใหญ่กว่าเครื่องเขียนเสียอีก อีกอย่างคือหมวด hotel restaurant café ขนาดตลาดใหญ่มาก และสุดท้ายคือ Healthcare แต่ยังมีอีกเป็นสิบหมวดรออยู่ เมื่อเราปรับ website เป็น market place อยากได้อะไรก็เข้ามาใน OfficeMate ได้เลย โดยทุกวันนี้เรามีฐานลูกค้าที่เป็นองค์กร 400,000-500,000 บริษัท อยู่ในระบบฐานข้อมูลของเรา และยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายจัดซื้อทุกองค์กร

สำหรับฐานรายได้หลักของ COL มาจาก OfficeMate ประมาณ 8 พันล้าน B2S ประมาณ 4 พันล้าน และ MEB Corporation ประมาณ 5-6 ร้อยล้าน แต่สำหรับปีนี้ในส่วน B2S จะเติบโตดีเกือบเป็นตัวเลขสองหลัก ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตโดยที่ไม่ต้องสนใจภาวะเศรษฐกิจ เพราะเราทำได้ดีกว่าเศรษฐกิจเสมอ ซึ่งถ้ามัวแต่รอเศรษฐกิจ ก็มีแต่จะไหลไปกับมัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดคือเราต้องทำอย่างไรในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

อะไรคือเคล็ดลับในการเป็น Self-made ที่ประสบความสำเร็จ

การเป็น Self-made จะต้องอึด ถึก ทน เพราะความกดดันมีมาก ไม่เหมือนตอนเป็นพนักงานบริษัท ตอนนั้นคุณรับภาระเพียงแค่ในขอบเขตของตัวเอง แต่พอมาทำกิจการของตัวเองแล้วทุกปัญหาในฝ่ายต่าง ๆ คือปัญหาของคุณ อีกอย่างคือจะต้องใฝ่รู้และหมั่นเรียนรู้ไม่หยุด ปรับตัวเร็ว ถัดมาคือการสร้างทีม บางคนเป็นพนักงานที่ดี แต่เป็นผู้ประกอบการที่แย่ เพราะบริหารทีมไม่เป็น

การจะเป็นผู้นำ อันดับแรกคือต้องช่วยคนอื่นก่อน เพื่อให้เขาทำงานตามที่คุณต้องการได้ ต้องรู้จักใช้คน รู้จักเลือกคนและดูคน สิ่งเหล่านี้ไม่มีบอกในตำรา คุณจะต้องเรียนรู้เอง

มีวิธีรับมือกับความล้มเหลวอย่างไร

ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ตลอด ยิ่งเวลาเราทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน วันแรกจะให้ถูกเลย แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเรา fail อันดับแรกจะต้องหาสาเหตุให้เจอก่อนว่า fail เพราะอะไร อันดับสองคือวิธีแก้ไข จะแก้โดยใครและแก้อย่างไร

การบริหารความล้มเหลวก็คือพื้นฐานในการบริหารความสำเร็จ ซึ่งเปรียบเสมือนยอดเล็ก ๆ บนพีระมิด แต่จุดเล็ก ๆ นี้มีความล้มเหลวเป็นฐานรองรับอยู่ คุณจะต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว เรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ แล้วจากที่ผิดก็จะกลายเป็นถูก

"การบริหารความล้มเหลวคือพื้นฐานในการบริหารความสำเร็จ ถ้าบริหารความล้มเหลวไม่เป็นก็สำเร็จไม่ได้"

ทำอย่างไรให้เวลาที่ท้อแล้วลุกขึ้นมาสู้ได้ใหม่

การทำงานมันจะมีจุดที่ท้อเป็นระยะ ๆ ไม่มีใครประสบความสำเร็จตลอดเวลา แม้แต่คนที่คิดว่าประสบความสำเร็จ เขาก็ผิดพลาดมาตั้งมากมาย แต่อย่างที่บอกว่าการบริหารความล้มเหลวเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ อย่างเวลาทำโปรเจคแล้วมัน fail ก็จะพยายามขึ้นโปรเจคใหม่ ไปโฟกัสกับโปรเจคใหม่ เพื่อให้ลืมโปรเจคเก่า และต้องเรียนรู้ด้วยว่าที่มัน fail เพราะอะไร อย่าไปจมอยู่กับความล้มเหลว เรื่องบางเรื่องแค่เราคิดถึงก็หมดแรงแล้ว แต่ถ้าไม่ให้คิดเลยก็พูดยาก

จัดการเรื่อง Work-life balance อย่างไร

ไม่ค่อยเชื่อเรื่อง Work-life balance เพราะผมทำงานหนัก ไม่อย่างนั้นคงไม่มีทุกวันนี้ แต่เชื่อเรื่องหนักเบาช้าเร็ว ปกติการทำธุรกิจมันจะมีช่วงหนัก ช่วงที่ต้องเบา ช่วงที่ต้องเร็ว ช่วงที่ต้องช้า จังหวะที่มันเบาและช้าคือจังหวะที่เราจะพักผ่อน อย่างช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ก็จะใช้เวลาใน training คน ปรับระบบการทำงาน ถ้าถามว่าหนักไหม ก็ยังหนักอยู่ แต่ก็ยังดีกว่าทำงานไม่ทัน พอช่วงเศรษฐกิจดีเราก็ต้องมาแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ส่งของทันเวลา ขายของแล้วไม่โดนลูกค้าตำหนิ แต่มองว่าจังหวะหนักเบาช้าเร็วมันเกิดขึ้นตลอดเวลาในการการทำงาน ไม่มีใครเจอช่วงหนักตลอด

ฉะนั้นสำหรับผม Work-life balance แฝงอยู่ในจังหวะหนักเบาช้าเร็ว ต้องปรับตามสถานการณ์และตัวเราเองด้วย

อยากให้ฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเป็น Self-made

อย่างแรกคือ คิดดีแล้วใช่ไหม สองคือการที่จะเป็นผู้ประกอบการคือคุณพร้อมที่จะทุ่มทั้งชีวิต เพราะจะเลือกธุรกิจอะไรต้องดูให้ดี อย่างที่ผมเลือกธุรกิจอุปกรณ์สำนักงาน เพราะคิดแล้วว่าจะทุ่มชีวิตให้ และเชื่อว่า office supplies ก็ไม่มีทางตัน และจะไปได้เรื่อย ๆ เพราะคนยังต้องทำงานอยู่ และต้องใช้สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยในการทำงาน

แต่ถ้าหากคุณอยากจะทำชานมไข่มุก แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าอีก 2 ปีข้างหน้าคนยังจะกินชาไข่มุกเหมือนวันนี้ เพราะถ้าคุณเลือกทำชานมไข่มุกแล้วต้องอยู่กับธุรกิจนี้ไปอีก 10 ปี และมีความสุข ก็ถือว่าโอเค แต่ถ้าคิดจะทำแบบฉาบฉวย ก็ไม่คุ้ม ยิ่งถ้าเอาเงินก้อนมาลงแล้วชีวิตครอบครัวขึ้นอยู่กับเงินก้อนนี้ คุณจะล้มไม่ได้ ถ้าล้มคือพังหมด ฉะนั้นเลือกให้ดี แต่จะเป็นอะไรให้ดี ก็ไม่ง่าย ต้องทุ่มชีวิตเพื่อไปเอามันมาให้ได้

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...