ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้

อย่างที่เราได้เคยเล่าไปในบทความ ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI ถึงความสำคัญของนวัตกรรม ในฐานะเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ธุรกิจ โดยมีสถิติชี้ชัดว่าบริษัทที่ลงทุนในนวัตกรรมอย่างจริงจัง จะเติบโตได้ดีกว่าแม้จะเจอช่วงเวลายากลำบาก วันนี้เราจะมารู้จักวัฒนธรรมพื้นฐานที่จะช่วยให้องค์กรคิดค้นนวัตกรรมได้กัน 

Innovation Culture คืออะไร ?  

Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม หมายถึงรูปแบบของวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้พนักงานได้ คิดต่าง คิดสร้างสรรค์ กล้าเสี่ยง เพื่อค้นหาโอกาสใหม่ๆ ในขณะที่องค์กรคอยสนับสนุนเครื่องมือ ทรัพยากร และสร้างระบบการทำงานที่เอื้อให้พนักงานได้ออกนอกกรอบ

การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม นอกจากจะช่วยองค์กรให้ค้นหานวัตกรรมได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตและกำไร อีกทั้งช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานเก่งๆ ไว้ได้

ทำไมต้องมีวัฒนธรรมนวัตกรรม ? 

ต้องย้อนกลับไปถามก่อนว่า ทำไมธุรกิจต้องการนวัตกรรม ? ก็เพื่อหาวิธีใหม่ ความคิดใหม่ หรือผลิตภัณฑ์บริการใหม่ มาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายและรวดเร็ว ทั้งจากผู้บริโภคและเทคโนโลยีใหม่ หรือวิกฤตใหม่ ทั้งโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เศรษฐกิจ ฯลฯ 

และนี่คือประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับ ถ้ามีวัฒนธรรมนวัตกรรมที่แข็งแกร่ง 

  • เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน : บริษัทที่มีนวัตกรรมจะสามารถสร้างความแตกต่าง และอยู่เหนือคู่แข่งในตลาดได้ มีสถิติจาก McKinsey ชี้ว่าบริษัทที่ส่งเสริมการสร้าง Innovation Culture จะมีประสิทธิภาพเหนือบริษัทอื่นๆ ถึง 3.5 เท่า 
  • ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า : ผ่านการปรับปรุงผลิตภัณฑ์บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีและเสริมความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แข็งแกร่ง 
  • ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น : นวัตกรรมจะช่วยสร้างกระบวนการทำงาน เทคโนโลยี หรือวิธีแก้ปัญหาใหม่ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 
  • เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน : บริษัทที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมกับโครงการสำคัญ ให้พนักงานได้แสดงศักยภาพ ผ่านการคิดต่าง คิดสร้างสรรค์ พนักงานจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทมากขึ้น 
  • ช่วยรักษาพนักงานมีคุณภาพไว้กับองค์กรได้ : การรู้สึกเป็นส่วนสำคัญขององค์กร เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการรักษาและดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถ เพราะพนักงานจะรู้สึกมีขวัญกำลังใจในการทำงาน รู้สึกถึงคุณค่าในสิ่งที่ทำ 
  • รายได้เพิ่ม ความสามารถในการทำกำไรเพิ่ม : แน่นอนว่าด้วยศักยภาพธุรกิจที่มากขึ้น ฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรให้ดีกว่าเดิม ย่อมตามมาด้วยเม็ดเงินและโอกาสในการทำกำไรที่มากขึ้น 

เราจะสร้าง Innovation Culture ยังไง 

การสร้างวัฒนธรรมเป็นเรื่องง่ายที่จะพูดยากที่จะทำ หลายองค์กรต้องตกม้าตายเพราะไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมในแบบที่ตัวเองต้องการได้ การจะสร้าง Innovation Culture จึงต้องการวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ผู้นำที่พร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และแนวทางที่มีโครงสร้าง มีแผนการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ซึ่งองค์กรอาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยวิธีเหล่านี้ 

เปิดโอกาสให้คิด ผ่านการระดมสมอง 

หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อเปิดพื้นที่และกระตุ้นให้พนักงานได้ออกความเห็น คือการจัดเซสชั่น Brainstroming อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีมไปในตัว 

เคารพและให้อิสระกับความคิดของพนักงาน

ถ้าพนักงานช่วยกันออกไอเดีย แต่หัวหน้าบอกปัด ไอเดียนั้นก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นจริง ซ้ำร้ายจะซ้ำเติมให้พนักงานหมดกำลังใจ เพราะรู้ว่าถึงมีความคิดแปลกใหม่ องค์กรก็ไม่รับไปปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้ออกความเห็น และนำความเห็นนั้นไปทำให้เกิดขึ้นจริงด้วยตัวเขาเอง สิ่งนี้จะช่วยปลูกฝังความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of ownership) ที่พนักงานมองว่าตนเป็นเหมือนเจ้าของกิจการนี้ และต้องการช่วยธุรกิจให้เติบโต และช่วยเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น

นอกจากนั้น การให้อิสระกับความคิดของพนักงานจะช่วยกระตุ้นให้พนักงานคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานมากขึ้นจากการได้คิดและลงมือทำเอง 

ไอเดียที่ดีไม่ได้จำกัดในแผนกเดียว  

พนักงานที่แตกต่าง ยอมนำมาสู่ไอเดียที่แตกต่าง และอาจจะกลายเป็นไอเดียแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน การสร้างโปรเจกต์ที่รวมพนักงานจากหลายแผนกมาทำงานร่วมกัน เป็นการเปิดมุมมองใหม่ และอาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม 

คนทำดีต้องมีรางวัล

ระบบรางวัลอาจเป็นหนึ่งแรงจูงใจให้พนักงานอยากแสดงความสามารถ เมื่อความคิดของพวกเขาได้รับการยอมรับ ได้นำไปปฏิบัติจริงและเกิดผลลัพธ์ที่ดี และสุดท้ายได้ผลตอบแทนเป็นรางวัล จะทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น และผลักดันให้พนักงานอยากมีส่วนร่วมกับสิ่งที่บริษัททำต่อไป นอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

สำคัญคือต้องมีเวลา

ในหนึ่งวันพนักงานบางคนมีหน้าที่หลายอย่าง ถ้าการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ตามความหน้าที่รับผิดชอบกินเวลาส่วนใหญ่ไปแล้ว การจะให้พนักงานมาคิดสร้างสรรค์อีกเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าองค์กรต้องการไอเดียที่ดี ก็ต้องจัดสรรให้พนักงานมีเวลาได้คิด หรืออาจจัดกิจกรรมอย่าง Hackathon ในหนึ่งวันก็ได้ 

จัดให้มี Side Project

Side Project หรือโครงการที่ไม่เกี่ยวกับงานหลักที่พนักงานทำ เป็นได้ทุกเรื่องที่พนักงานสนใจ บางคนอาจชอบเขียนหนังสือ บางคนอยากทำพอดแคสต์ ออกกำลังกาย เขียนโค้ด หรือวาดรูป ฯลฯ การส่งเสริมให้พนักงานมีโครงการที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ อาจเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาคิดไอเดียแปลกใหม่ออกมาได้ 

พาพนักงานไปเจอคนเก่ง

กิจกรรม Networking เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยเปิดมุมมองความคิด และสร้างความสัมพันธ์ที่ช่วยพัฒนาพนักงาน และอนาคตอาจต่อยอดไปถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ การจัดกิจกรรมให้พนักงานได้เจอเพื่อนต่างแผนก ผู้บริหารต่างแผนก หรือบริษัทอื่นๆ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ 

อ้างอิง : techtarget , quixy.com, adevait.com

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

พาเดินเล่น Microsoft (ประเทศไทย) ย้ายออฟฟิศแห่งใหม่ในรอบ 30 ปี ออกแบบจากเสียงของพนักงานตอบโจทย์ Hybrid Work

Microsoft Thailand เปิดตัวออฟฟิศใหม่ที่ One Bangkok รองรับ Hybrid Work อย่างเต็มรูปแบบ ออกแบบจากข้อมูลพนักงาน พร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัย พื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น และแนวคิดเพื่อความยั่งยื...

Responsive image

4 วิธีเสริมแกร่งองค์กร เตรียมพร้อมสู่ยุคคนทำงานร่วมกับ AI สร้างสรรค์นวัตกรรมและเติบโตอย่างยั่งยืน

การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างเหมาะสม ด้วย 4 ว...

Responsive image

"Founder Mode" วิถีแห่งผู้นำยุคใหม่หรือแค่ One-Man Show ที่กำลังจะล้าสมัย?

Silicon Valley ดินแดนแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ซึ่งไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ท่ามกลางกระแสแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้เอง กลับมีคำศัพท์ใหม่ที่จุดประกายความขัดแย้งขึ้น นั่นค...