วิธีปั้นคนในยุค AI ในแบบฉบับ SCBX บริษัทที่ตั้งเป้าใน 3 ปี รายได้ 75% จะมาจาก AI | Techsauce

วิธีปั้นคนในยุค AI ในแบบฉบับ SCBX บริษัทที่ตั้งเป้าใน 3 ปี รายได้ 75% จะมาจาก AI

ปัจจุบันแรงงานกำลังก้าวเข้าสู่ “โลกแห่งอนาคตของ AI” ความเข้าใจถึงการเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ AI จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เคยสงสัยไหมว่าการทำงานในยุคที่ AI เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก องค์กรจะสร้างบุคลากรอย่างไรให้เหมาะสมกับยุค ? 

บทความนี้ Techsauce จะมาสรุป Session: Building Talents to Fit in the AI-led Organizational Culture จากงาน Techsauce Global Summit 2024 ซึ่งมี ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB DataX และ ดร. กัง ลู่ ผู้ก่อตั้ง TechNode เข้ามาแชร์ถึงแนวทางการสร้างบุคลากรให้เหมาะสมกับองค์กรที่ขับเคลื่อนโดย AI !

แนวทางสู่  AI First Organization ในแบบฉบับ SCBX

ดร.อารักษ์ เผยว่า “ทุกวันนี้ AI กลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการพัฒนา generative AI ซึ่งสร้างกระแสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน และแม้ว่า AI จะเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจ แต่เราก็ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นในการทำความเข้าใจมันอย่างเต็มที่ เพราะพัฒนาเร็วกว่าที่ธุรกิจจะนำมาใช้ได้ 

สำหรับ SCBX มีวิสัยทัศน์ที่เรียกว่า AI First Organization เราต้องการให้ AI เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2027 รายได้ 75% จะมาจากบริการที่ใช้ AI เข้ามาช่วย ซึ่งรวมถึงด้านต่างๆ เช่น การให้กู้ยืม การรับประกันสินเชื่อ เป็นต้น”

ด้าน ดร. กัง ลู่ จึงได้ถามถึงหลักการก้าวสู่การเป็น AI First Organization ในมุมมองของ SCBX ซึ่งทาง ดร.อารักษ์ ได้อธิบายว่า “การเป็น AI First Organization อย่างแท้จริง จำเป็นต้องให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ AI โดยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ AI บริษัทไม่ได้คาดหวังให้พนักงานทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หรือโปรแกรมเมอร์ที่สามารถสร้างโมเดล AI ได้ แต่จำเป็นต้องเข้าใจว่า AI คืออะไร, AI ทำอะไรได้บ้าง, และไม่ควรนำไปใช้เพื่ออะไร” 

ซึ่งด้าน ดร.อารักษ์ ยอมรับว่าการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผลทั่วทั้งองค์กรนั้นเป็นเรื่องท้าทาย ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่สำหรับ SCBX มี 3 แนวทางในการพาองค์กรไปสู่ AI-led โดย ดร. อารักษ์ ได้กล่าวไว้ดังนี้

  1. ด้านบุคลากร: ภายในสิ้นปี 2024 บริษัทต้องการให้พนักงาน 80% เข้าใจพื้นฐานของ AI บริษัทจึงได้จัดทำหลักสูตรออนไลน์และสื่อการฝึกอบรมด้าน AI ให้กับพนักงาน รวมถึงบริษัทยังสนับสนุนเครื่องมือ AI ให้กับพนักงาน
  2. ด้านธุรกิจ: การนำ AI มาใช้ในการดำเนินงานทางธุรกิจ ดร.อารักษ์ ได้เผยถึงการพัฒนาโมเดล AI อย่าง Typhoon ซึ่งโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์สและพร้อมให้ทุกคนใช้ผ่าน API แบบเปิด โดย SCBX ต้องสนับสนุนให้การใช้ AI แพร่หลายมากขึ้นในวงการธุรกิจไทย
  3. AI ในฝ่ายบริการลูกค้า: มีการนำ AI มาใช้ในงานบริการลูกค้า เช่น ผู้ช่วย AI จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าแก่ตัวแทน อาทิ ลูกค้าเป็นใครและสนใจอะไร โดยอ้างอิงจากสรุปการสนทนา หรือ การที่ AI แนะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลูกค้าอาจสนใจ ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าถามว่า "วันนี้ควรซื้ออะไร" AI จะดึงข้อมูลวิจัยและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องขึ้นมา
  4. วางแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้อง: ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ประกันภัย มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับสิ่งที่บริษัทสามารถพูดกับลูกค้าได้ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวแทนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ บริษัทจึงมีการจัดทำระบบตรวจสอบอยู่เสมอ

ความท้าทายในการนำ AI มาใช้ทั้งในด้านการเงิน

ดร.อารักษ์ กล่าวว่า “AI บางครั้งอาจดูเหมือน "กล่องดำ" ในบางครั้งผู้คนก็ไม่เข้าใจมันทำงานอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการเงิน เมันจึงเป็นเหตุผลที่ SCBX ต้องออกแบบกรอบการทำงานของ AI ให้มีความรับผิดชอบ เพื่อให้แน่ใจว่า AI จะถูกใช้ได้อย่างถูกต้อง” ซึ่งการออกแบบกรอบการทำงานของ AI มีอยู่ 3 แนวทาง ดังนี้

  1. วางกรอบแนวคิด: ก่อนที่เราจะเริ่มใช้ AI เราต้องเข้าใจว่าเรากำลังใช้ข้อมูลประเภทใด มาจากไหน และได้มาอย่างไร เราต้องรู้ว่าเรากำลังใช้ข้อมูลเพื่ออะไร มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลทั้งหมดนี้ก่อนที่เราจะเริ่มสร้างระบบ AI 
  2. การออกแบบ AI: เรื่องอคติและข้อกังวลทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะในด้านการเงิน แม้แต่ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงได้ ตัวอย่างเช่น หากใช้ AI เพื่อการค้ำประกันสินเชื่อ หาก AI มีอคติเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดซึ่งส่งผลต่อชีวิตทางการเงินของผู้คน ดังนั้น เราจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเมื่อพัฒนาระบบเหล่านี้
  3. การใช้งานและการติดตาม: หลังจากเริ่มใช้ AI จำเป็นจะต้องติดตามผลกระทบจาก AI โดยเฉพาะผลกระทบในเชิงลบ เพื่อหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุด หรือป้องกันไว้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น

หลัก 3C เพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมกับองค์กร AI First Organization

ดร.อารักษ์ ได้แบ่งปันหลักการ 3C ได้แก่ 

  • Creativity หมายถึงการใช้ AI เพื่อเสนอไอเดียและวิธีการทำงานใหม่ๆ 
  • Capability หมายถึงการสอนทักษะที่จำเป็นให้กับพนักงานในการใช้เครื่องมือ AI ได้ดี ช่วยให้พวกเขาเติบโตและเรียนรู้ 
  • Comfort หมายถึงการทำให้แน่ใจว่าผู้คนรู้สึกปลอดภัยในการใช้ AI โดยจัดการกับความกังวลเกี่ยวกับวิธีการทำงานของ AI ความกังวลด้านจริยธรรม และปัญหาความเป็นส่วนตัว 

ดร. อารักษ์ชี้ว่า “การสร้างความไว้วางใจผ่านกรอบการทำงาน AI ที่มีความรับผิดชอบจะช่วยในเรื่องนี้ เมื่อปัจจัยทั้งสามนี้สมดุลกัน AI จะถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจ ช่วยให้ทั้งธุรกิจและพนักงานของบริษัทและกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มใช้ AI มากขึ้น เพราะหลายคนกังวลว่า AI อาจเข้ามาแทนที่งานของพวกเขา แต่ที่จริงแล้ว AI มีไว้เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น การใช้ AI เพื่อทำให้การทำงานที่น่าเบื่อและซ้ำซากเป็นระบบอัตโนมัติ ช่วยให้พนักงานสามารถมุ่งเน้นไปที่งานที่มีความหมายมากขึ้นได้ เมื่อพนักงานตระหนักว่า AI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น พวกเขาก็เต็มใจที่จะใช้ AI มากขึ้น”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเป็นองค์กร AI First นั้นแทบจะไม่ได้เริ่มจากการพยายามหยิบเทคโนโลยีมากมายในโลกเข้ามาใช้ในบริษัทเลย แต่เป็นการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ซึ่งนับเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโต เหมือนกับที่ ดร.อารักษ์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า…

เมื่อเราพูดถึงการก้าวให้ทันเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีที่เราคิดเกี่ยวกับธุรกิจด้วย เราต้องคิดว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเราอย่างไร มันจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเราอย่างไร

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Brian Niccol เจ้าพ่อธุรกิจ Chain Restaurant และ CEO ป้ายแดงของ Starbucks

Starbucks ก็ดึงตัว Brian Niccol (ไบรอัน นิคโคล) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารมือทองจาก Chipotle Maxican Grill ธุรกิจอาหารแม็กซิกันจานด่วนมาดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่...

Responsive image

บทเรียนผู้นำธุรกิจในยุคที่ AI ครองโลก

วิธีที่ผู้นำธุรกิจ โดยเฉพาะในประเทศไทย จะส่งเสริมการใช้งาน AI และยกระดับศักยภาพองค์กร รวมถึงทักษะที่ผู้นำต้องมีในยุคดิจิทัล...

Responsive image

ที่นี่เราไม่อยู่กันแบบครอบครัว บทเรียนการบริหารจาก CEO Airbnb

ที่นี่เราอยู่กันแบบครอบครัว บริษัทนี้เราอยู่กันเหมือนพี่น้อง เคยเจอกันไหมแบบนี้ ? วันนี้​ Techsauce มีบทเรียนและกรณีศึกษาน่าสนใจจาก Brian Chesky CEO Airbnb ที่จะบอกว่า ทำไมคุณไม่คว...