วิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้กับธุรกิจ | Techsauce

วิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้กับธุรกิจ

หากพูดถึงการทำธุรกิจแล้ว แน่นอนว่าคนเราทำธุรกิจด้วยกันกับ “ผู้คน” กันเอง ไม่ใช่ไอเดีย ข้อเสนองาน ผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่เงิน ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานและการทำธุรกิจ 

ในงาน Techsauce Global Summit 2022 ได้พาทุกคนไปพูดคุยกับ Dr. Carole Robin CO-FOUNDER จาก Head of Faculty Leaders in Tech ผู้เขียนหนังสือ ‘Connect’ ในหัวข้อ “How to Build Exceptional Relationships at Work”

ความสัมพันธ์ที่ดีคืออะไร

ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้ทุกคนที่อยู่ในความสัมพันธ์เติบโตและพัฒนาทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยจุดเด่นของความสัมพันธ์ที่ดีมี 6 ประการ

  • เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่
  • รู้จักอีกฝ่ายเป็นอย่างดี
  • เชื่อว่าการเปิดเผยตัวตนจะไม่ถูกนำมาทำร้ายทั้งคู่
  • มีความซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน
  • สามารถยกประเด็นขึ้นมาพูดและจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ให้ความสำคัญกับการเติบโตและการพัฒนาของอีกฝ่าย

หนทางการนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี

การทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักมากขึ้นเป็นอีกหนึ่งหนทางของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ในช่วงขั้นต้นของความสัมพันธ์ทุกคนจะต้องก้าวผ่านช่วงเริ่มต้นของการทำความรู้จักกัน และเริ่มสื่อสารกันอย่างเปิดเผยตัวตนมากขึ้น (Self-disclosure) เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อกับผู้อื่น

หลังจากนั้นเมื่อพัฒนาไปจนถึงขั้นที่ทั้งคู่มีความสำคัญต่อกัน ความสัมพันธ์ก็จะยิ่งซับซ้อนขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความคาดหวัง และความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ดังนั้นเพื่อให้ความสัมพันธ์ก้าวหน้ามากขึ้น จะต้องมีการเพิ่มระดับของการเปิดเผยข้อมูลและต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้มากขึ้น แม้ว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแต่หากแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ความสัมพันธ์ก็จะพัฒนาไปอีกขั้น

แต่การเปิดเผยตัวเอง (Self-disclosure) มักมีความเสี่ยงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้หลายคนกังวลที่จะเปิดเผยเรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องแย่ๆ เนื่องจากกลัวคนอื่นมองว่าเป็นคนอ่อนแอ ดังนั้นแล้วระหว่างความปลอดภัยกับการเปิดเผยตัวตนอะไรควรมาก่อนกัน? 

วิธีการเปิดเผยตัวตนด้วยกฎ 15 เปอร์เซ็นต์

หากคุณกังวลเรื่องการเปิดเผยตัวตนกับผู้อื่น ให้ลองใช้กฎ 15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลองดูท่าทีก่อนว่าบุคคลนั้นมีท่าทีตอบสนองอย่างไร ก่อนที่จะเสี่ยงเปิดเผยตัวตนออกไป ดังนี้ 

จากภาพจะเห็นได้ว่า วงกลมด้านในสุดเป็นคอมฟอร์ตโซนของเราที่เราสามารถพูดอะไรออกมาได้โดยไม่ต้องคิด ส่วนวงนอกสุดคือโซนอันตราย เป็นสิ่งที่เราไม่มีทางที่จะพูดออกมาเพราะคิดไว้แล้วว่าสิ่งนั้นจะเป็นผลลบต่อความสัมพันธ์อย่างแน่นอน ส่วนวงกลมระหว่างโซนคอมฟอร์ตโซนและโซนอันตรายคือ พื้นที่ของการเรียนรู้ เป็นโซนที่เราไม่รู้ว่าเมื่อเราพูดสิ่งนั้นออกไปแล้วอีกฝ่ายจะมีการตอบสนองกลับมาอย่างไร ส่วน 15 เปอร์เซ็นต์ คือพื้นที่ที่คุณสามารถอยู่ในคอมฟอร์ตโซนได้ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยการพูดสิ่งที่ค่อนข้างปลอดภัย

“กุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์คือ การเรียนรู้” 

แต่กฎ 15 เปอร์เซ็นต์มีข้อจำกัดคือ บางครั้งเรื่องที่ดูไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรสำหรับเรา แต่สำหรับคนอื่นไม่ใช่ เพราะคนเรามีมุมมองต่อเรื่องต่างๆ ไม่เหมือนกัน รวมถึงการเปิดเผยเรื่องบางเรื่องของตัวเราเองอาจไม่ใช่เรื่องเหมาะสม ดังนั้นจะต้องมีการวัดความเหมาะสมของสถานการณ์ต่างๆ ให้ดี

คำแนะนำไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป

แม้ว่าเราจะคิดว่าเรารู้จักคนอื่นมากแค่ไหน แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะไม่ได้รู้จักเขามากขนาดนั้น การให้คำแนะนำจึงไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะอาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างคนสองคน และอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกันมากขึ้นได้ แม้ว่าหลายคนจะรู้ว่าการให้คำแนะนำเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อีกทั้งยังให้โทษ แต่ก็ยังทำอยู่ดี เนื่องจากการแก้ปัญหาของคนอื่นง่ายกว่าการแก้ปัญหาของตัวเอง แต่การให้คำแนะนำก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป สิ่งสำคัญคือหากคุณจะให้คำแนะนำแก่ใครสักคน จะต้องรู้และทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด รู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร อย่างไรก็ตาม การให้คำแนะนำผู้อื่นไม่ได้มีส่วนสำคัญต่อการทำความรู้จักผู้อื่นเท่าไหร่นัก 

คำถามที่ไม่ควรถาม

วิธีหนึ่งที่จะทำให้รู้จักใครสักคนดีขึ้นคือ การพูดคุยกันอย่างเป็นประจำ แต่ข้อควรระวังในการพูดคุยคือ การถามคำถามไม่ดีอาจทำให้คนอื่นรู้สึกในแง่ลบได้ โดยลักษณะของคำถามที่ไม่ควรถามมีอยู่ด้วยกันสองประการ คือ ไม่ถามคำถามปลายเปิดด้วยคำว่า “ทำไม” เพราะเป็นเหมือนการบังคับให้คนอื่นต้องพูดเหตุผลออกมา เช่น ถ้ามีคนถามว่าทำไมทำงานหนักจัง ก็อาจจะรู้สึกว่าจะต้องตั้งรับและหาเหตุผลอะไรมาอธิบายให้คนถามฟัง และคำถามอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่ควรถามคือ การถามคำถามปลายปิดที่ตอบได้แค่ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เพราะเป็นการสนทนาที่แคบและมีแนวโน้มนำไปสู่การรู้สึกว่าถูกล่วงล้ำและถูกตัดสิน

การให้ฟีดแบ็กเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในการพัฒนาความสัมพันธ์

ฟีดแบ็กเป็นสิ่งที่ทรงพลังและมีคุณค่าต่อการสร้างความสัมพันธ์ เนื่องจากว่าคนเราไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่าควรพัฒนาตนเองจุดไหนและไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ดีแล้วจริงๆ จนกระทั่งมีใครสักคนเดินมาบอก แต่หลายคนกลับไม่ให้ความสำคัญกับการให้ฟีดแบ็ก เนื่องจากกลัวว่าเมื่อพูดอะไรออกไปแล้วคนอื่นจะรู้สึกแย่ และกลัวโดนฟีดแบ็กจากคนอื่นกลับมา

Dr. Carole Robin กล่าวว่า หากคุณคิดว่าการให้ฟีดแบ็กคนอื่นจะทำให้เขารู้สึกเสียใจ ในทางกลับกันคุณคิดว่าคนคนนั้นจะรู้สึกอย่างไรหากคุณไม่เคยบอกว่าเขาทำอะไรผิดพลาดจนเขาทำผิดพลาดซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น จุดประสงค์ของการให้ฟีดแบ็กคือการนำไปสู่การพูดคุยในการแก้ปัญหา ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงผู้อื่น

“เมื่อมีคนให้ฟีดแบ็กควรพูดขอบคุณ ให้มองฟีดแบ็กเป็นเหมือนของขวัญ… เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้ข้อดีและข้อเสียของตัวเอง”

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถสร้างกันได้เพียงแค่ต้องใช้เวลา หากสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้ก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน รวมถึงได้ความท้าทายใหม่ๆ จากการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

งานไม่เคยจบในที่ทำงาน ตามกลับมาบ้านด้วยเสมอ ปัญหาของชาว Hybrid Working ต้องแก้ยังไง?

บทความนี้ Techsauce จึงได้รวบรวม How to ทิ้งงานไว้ที่ออฟฟิศ และทวงคืนชีวิตที่มีคุณภาพของชาว Hybrid Working...

Responsive image

True เดินหน้าปั้นผู้นำรุ่นใหม่ 'True Next Gen' ตั้งเป้าเป็น Telco-Tech ชั้นนำในภูมิภาค สู่ Automation 100%

ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยเชื่อมั่นศักยภาพของ 'คนรุ่นใหม่' ร่วมเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Telecom Tech Company ชั้นนำแห่งภูมิภาค พร้อมปรับการทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ 100% ปี 2570...

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...