เมื่องานวิจัยชี้ชัด กับ ฮาวทู ‘พักเบรก’ พักอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ | Techsauce

เมื่องานวิจัยชี้ชัด กับ ฮาวทู ‘พักเบรก’ พักอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ

สำหรับใครหลายๆ คน การได้ใช้เวลาทำงานมากขึ้น ใช้เวลากับงานมากเท่าไหร่ก็สะท้อนภาพของความมีประสิทธิภาพในตัวมากเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือหลายๆ เล่ม จะออกสู่ตลาดด้วยเนื้อหา ‘How To’ ที่แนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตัวอย่างเช่น หากมีหนังสือชื่อเรื่อง ‘กิจวัตรประจำวันของ CEO’ ก็จะมีเนื้อหาในแนวๆ ที่ว่า ต้องตื่นนอนตอนตี 4 ทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือแม้กระทั่ง กลยุทธ์การไปเข้าห้องน้ำว่าต้องบ่อยแค่ไหน เพื่อเอาเวลามาจัดการกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะไม่กินข้าวกลางวัน และอยู่ดึกขึ้นเพื่อทำงาน

แต่ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเป็นมนุษย์ที่ต้อง ‘Always-on’ (และ ต้อง Doing-it-well ด้วย!) นั้นมีราคาสูงเลยทีเดียว อ้างอิงจากการสำรวจล่าสุดของ Aflac (บริษัทประกันชีวิต สุขภาพ อุบัติเหตุในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่กลุ่มลูกค้ามักจะเป็นพนักงานกินเงินเดือน) กว่า 59% ของพนักงานล้วนแล้วแต่ ‘Burnout’ ทั้งความเหนื่อยหน่ายที่สูง และ ปฏิสัมพันธ์ในงานที่ลดลงล้วนสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของการทำงาน แล้วบริษัทจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจัดการ well-being ของพนักงานไปพร้อมๆ กับรักษาประสิทธิภาพของการทำงาน ?

Zhanna Lyubykh และ Duygu Biricik Gulseren ผู้เขียนบทความจาก Harvard Business Review ที่ Techsauce ได้รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหา ได้ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน Zahra Premji, Timothy Wingate, Connie Deng, Lisa Bélanger และ Nick Turner ทำการวิเคราะห์และงานวิจัยมากกว่า 80 ชิ้น และยืนยันว่าการ ‘หยุดพัก’ สามารถช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน และยังช่วยทำให้งานนั้นสำเร็จมากขึ้นด้วย ซึ่งงานวิจัยนั้นสวนทางกับค่านิยมการทำงานหนักหลายชั่วโมงติดๆ กัน งานวิจัยยังชึ้ให้เห็นว่าการหยุดพักระหว่างชั่วโมงทำงาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นที่มาของ ฮาวทู ‘พักเบรก’ พักอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ

ทำไมการหยุดพักถึงมีประโยนช์ต่อความเป็นอยู่ และ ประสิทธิภาพในการทำงาน

เราทุกคนล้วนมีทรัพยากรทางร่างกายและจิตใจที่จำกัด เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ เมื่อใดก็ตามที่แบตเตอรี่ของเราเหลือน้อย เราก็จะรู้สึกหมดพลัง หมดแรง และเต็มไปด้วยความเครียด จึงจำเป็นที่จะต้องชาร์จมัน การทำงานทั้งที่พลังเหลือน้อยล้วนสร้างความเครียดต่อชีวิตและประสิทธิภาพของการทำงาน และนำไปสู่ปัญหา เช่น พนักงานพยายามทำงานทั้งที่พลังงานเหลือน้อย เลยทำให้งานออกมาไม่ดี ทำผิดพลาด ส่งผลให้มีงานที่ต้องทำมากขึ้นเท่านั้น แต่การหยุดพักสามารถช่วยให้พนักงานได้ชาร์จแบตเตอรี่ร่างกายของตัวเองนั่นเอง

แล้วต้องพักแบบไหนละที่จะมีประสิทธิภาพสำหรับความเป็นอยู่และการทำงาน

การพักเบรกมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล เช่น การออกกำลังกาย การเล่นโซเชียลมีเดีย ออกไปเดินเล่น สังสรรค์กับผู้อื่น งีบหลับ รับประทานอาหาร อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะมีการพักเบรก แต่ก็ไม่ได้ให้ประสิทธิภาพเท่ากันทั้งหมด จึงต้องพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

1. ช่วงระยะเวลาของการพักเบรก

‘การพักนานๆ ไม่เท่ากับการพักที่ดี’ แต่การออกไปพักเป็นระยะๆ (แต่ทำประจำ) จะช่วยได้มากกว่าในการป้องกันความเหนื่อยล้าและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น พนักงานสามารถพักสั้นๆ ด้วยการยืดเส้นยืดสาย รับประทานอาหารว่าง หรือแม้แต่การมองออกไปนอกหน้าต่าง ก็ช่วยได้ ซึ่งการพักสั้นๆ จะเหมาะกว่าในช่วงเช้า ส่วนการพักยาวๆ จะช่วยได้มากกว่าในตอนบ่าย เนื่องจากความเหนื่อยล้าตลอดทั้งวันในช่วงบ่าย การพักจะช่วยเติมพลังได้

2. ไปพักตรงไหน

สถานที่ในการพักเบรกนั้นแตกต่างกันอย่างมากในแง่ของการช่วยฟื้นฟูพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการยืดเส้นยืดสายที่โต๊ะตัวเอง ออกไปเดินเล่นข้างนอก ก็แตกต่างกัน งานวิจัยชี้ว่าการได้พักผ่อนกลางแจ้งและเพลิดเพลินไปกับ พื้นที่สีเขียว เติมพลังในการทำงานได้มากกว่านั่งพักอยู่ที่โต๊ะทำงาน

3. กิจกรรมยามพักเบรก

การออกกำลังกาย เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ร่างกายและจิตใจได้รับการฟื้นฟูอย่างมาก แต่ก็อาจจะมีผลแค่เพียงชั่วขณะ พนักงานจึงจำเป็นที่จะต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ประโยชน์ แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า กว่า 97% ของพนักงานเลือกที่จะใช้เวลาพักในการเล่นโซเชียลมีเดียมากกว่า ซึ่งการเล่นโซเชียลมีเดียอาจส่งผลถึงความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ และอาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์ การมีปฏิสัมพันธ์ลดลงด้วย ดังนั้นกิจกรรมยามพักเบรกแบบนี้อาจจะไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสักเท่าไหร่

4. เพื่อนซี้ขนฟู

ในงานวิจัยยังบอกอีกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนซี้ขนฟูอย่าง ‘สุนัข’ สามารถลดระดับความเครียดอย่าง Cortisol Hormone ได้ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาวิจัยต่อไปเพราะผลกระทบยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตามการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนตัวน้อยขนฟู อย่างสัตว์เลี้ยงจะช่วยเพิ่มสุขภาวะทางจิตใจของพนักงานได้อย่างมากและยังเชื่อมโยงไปยังประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย

บริษัทจะสนับสนุนและส่งเสริมวัฒนกรรมการ ‘พักเบรก’ ได้อย่างไรบ้าง ? 

ในช่วงเวลาพักของบริษัทไม่สามารถรับประกันได้ว่าพนักงานจะใช้เวลานั้นอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในฐานะที่บริษัทมีอำนาจในการตัดสินใจ จึงสามารถสนับสนุนและส่งเสริมวัฒนธรรมการพักเบรกให้มีประสิทธิภาพ ได้หลายวิธี ดังนี้

ส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการหยุดพัก

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วพนักงานมักจะมองโลกในแง่บวกสำหรับการหยุดพัก เพราะพวกเขาถือว่าเป็นประโยชน์อยู่แล้ว แต่บริษัทหรือระดับหัวหน้างานอาจจะไม่ได้แสดงทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการพักออกมา อาจทำให้เป็นการขัดขวางพนักงานจากการพักผ่อนได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บางครั้ง ระดับหัวหน้างานขึ้นไปต้องทราบเกี่ยวกับประโยชน์ของการพักผ่อนที่ส่งผลถึงประโยชน์ในการทำงาน เช่น หัวหน้าแผนก HR สามารถบันทึกข้อมูลการหยุดพักผ่อนของพนักงานไว้ได้ แล้วนำมาพิจารณาหา ‘ช่วงเวลาเพื่อสุขภาพที่ดี’ และแบ่งปันข้อมูล จัดทำเป็นกลุยุทธ์ ระดมความคิด ให้เกิดกิจกรรมร่วมกันในช่วงเวลาพักผ่อนอย่างสนุกสนานก็สามารถช่วยได้อย่างมาก

หัวหน้างานก็พาตัวเองไปพักบ้าง

ระดับหัวหน้างานสามารถสื่อสารความสำคัญของการหยุดพัก และการพักแบบมีประสิทธิภาพสูงสุดให้พนักงานทำตามได้ เช่น หัวหน้าพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่นเป็นประจำ ก็บอกกับพนักงานได้ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาพักผ่อน ทำให้พนักงานเข้าใจว่าหัวหน้างานก็ต้องการเวลาสำหรับหยุดพัก นับเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เพียงแต่เป็นตัวอย่างที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่าจะไม่ล้ำเส้นในช่วงเวลาพักผ่อน รวมทั้งเป็นการป้องกันการ ‘รู้สึกผิด’ เมื่อต้องหยุดพัก เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกว่า ผู้นำองค์กรต่างๆ เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการมีเวลาหยุดพักอีกด้วย

กำหนดเวลาพักโดยเฉพาะ

โดยส่วนมากพนักงานไม่สามารถหยุดพักได้ตามปกติ หรือ ถูกห้ามไม่ให้ไปพัก ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรต้องกำหนดเวลาพักโดยเฉพาะ เช่น หนึ่งชั่วโมงต่อวัน และ สามารถพักระยะสั้นๆ ตามดุลยพินิจของพนักงาน เพื่อให้อิสระกับพนักงานบางเวลา ป้องกันการส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพของการทำงาน หรือมีการจัดกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน ในส่วนนี้ก็สามารถเป็นการพักที่มีประสิทธิภาพได้

มีพื้นที่ให้พอสำหรับการพักผ่อน

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า สถานที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มผลประโยชน์สูงสุดในการพัก เช่น การมีสวนสาธารณะเล็ก พื้นที่สีเขียว ที่สื่อถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการอำนวยความสะดวกในการพักผ่อนให้แก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพักผ่อนได้ อีกทั้งในเรื่องของเทรนด์สถานที่ทำงานที่เป็น ‘Pet Friendly’ กำลังเพิ่มขึ้นด้วย หลายๆ องค์กรเริ่มนำมาปรับใช้ หากองค์กรไหนที่พนักงานยังสามารถ Remote Working ได้ ก็นับว่ามีพื้นที่ที่สะดวกต่อจิตใจของพนักงานในการทำงานเช่นกัน เพิ่มเติมอีกว่าองค์กรสามารถจัดสรร ‘งบประมาณช่วงพัก’ ให้พนักงานได้สร้างพื้นที่ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ด้วยต้นไม้ในออฟฟิศ หรือ เสื่อโยคะสำหรับสายออกกำลังกายก็เป็นได้

ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเป็นสิ่งที่องค์กรควรกังวลอยู่เสมอ แม้ในปัจจุบันองค์กรต่างๆ มากมายพยายามแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน การใช้เครื่องมือที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน แต่องค์กรเองก็จำเป็นที่จะต้องตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการหยุดพัก และคอยอำนวยความสะดวกในการพักเบรกให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดเช่นกัน


อ้างอิง

Harvard Business Review


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

"Founder Mode" วิถีแห่งผู้นำยุคใหม่หรือแค่ One-Man Show ที่กำลังจะล้าสมัย?

Silicon Valley ดินแดนแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ซึ่งไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ท่ามกลางกระแสแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้เอง กลับมีคำศัพท์ใหม่ที่จุดประกายความขัดแย้งขึ้น นั่นค...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

รู้จัก Brian Niccol เจ้าพ่อธุรกิจ Chain Restaurant และ CEO ป้ายแดงของ Starbucks

Starbucks ก็ดึงตัว Brian Niccol (ไบรอัน นิคโคล) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารมือทองจาก Chipotle Maxican Grill ธุรกิจอาหารแม็กซิกันจานด่วนมาดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่...