วันศุกร์แต่คนทำงานไม่เคยสุข ทั้งที่พรุ่งนี้จะเป็นวันหยุด แต่กลับต้องเครียดกลัวจะทำงานไม่เสร็จ ซ้ำร้ายเลิกงานต้องเจอภัยรถติด ทำให้เสียพลังงานและความสุขในชีวิตไปหมด
การศึกษาของมหาวิทยาลัย Texas A&M พบว่า “Friday Effect” คือภาวะที่การทำงานในวันศุกร์ไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวันอื่นๆ ในสัปดาห์ ไม่ว่าพนักงานจะเข้าออฟฟิศหรือทำงานจากระยะไกล ยิ่งช่วงโควิดระบาด ปัญหานี้ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น
การที่พนักงานไม่มีความสุขกับที่ทำงานไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามได้ การศึกษาหนึ่งพบว่าการที่พนักงานไม่มีความสุขจะสร้างผลกระทบทางลบให้เศรษฐกิจกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 68 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมาหลายบริษัทเริ่มจริงจังกับปัญหาวันศุกร์ และออกนโยบายที่น่าสนใจออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Casual Fridays หรือการผ่อนคลายการแต่งตัวทุกวันศุกร์ Summer Fridays หรือนโยบายเลิกงานก่อนเวลาในวันศุกร์ช่วงฤดูร้อนของทุกปี หรือจะเป็นการเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มฟรีทุกวันศุกร์ แต่ทุกวิธีที่กล่าวมานี้ ยังไม่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เลย
Steven Fitzgerald CEO ของบริษัท Habanero Consulting Group ในแวนคูเวอร์กล่าวว่า การยกเลิกการประชุมที่ไม่จำเป็นในวันศุกร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับทีมงานทั้ง 65 คนในบริษัทของเขา อีกทั้งยังช่วยสร้างกำลังใจ เพื่มความกระตือรือร้นที่จะจัดการงานที่ยังค้างในสัปดาห์นี้ให้เสร็จลุล่วง
อีกตัวอย่างหนึ่งจากบริษัท Oyster บริษัทด้านทรัพยากรบุคคลก็ประสบความสำเร็จด้วยแนวทางนี้เช่นกัน บริษัทปรับจากนโยบายเดิมๆ สู่ Flow Fridays หรือ Focus Fridays เป็นนโยบายให้เวลาพนักงานมากขึ้นในการทำงานที่คงเหลือในสัปดาห์ให้เสร็จด้วยการตัดการประชุมในวันศุกร์ออกไป
หลายบริษัทได้มีการทดลองแนวทางที่เป็นขั้นกว่าของการงดประชุม ด้วยการลดเวลาทำงานลงเหลือสี่วันครึ่งต่อสัปดาห์ Mark Benden ศาสตราจารย์ด้านอาชีวอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยจาก Texas A&M กล่าวว่า การทำงานเพียงสี่วันครึ่งสามารถสร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้เทียบเท่าการทำงานห้าวันต่อสัปดาห์
อีกนโยบายคือ Flex Friday หรือการให้จัดสรรเวลาในการทำงานด้วยตัวเองในวันศุกร์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับการทำงาน รวมถึงนโยบายบังคับลาในวันศุกร์ตอนบ่ายทุกเดือน เสียงตอบรับของพนักงานพบว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสัปดาห์ต่อไป
อ้างอิง: bloomberg
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด