เสริมเกราะผู้นำมือใหม่ให้พร้อมรับทุกความท้าทาย กุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร | Techsauce

เสริมเกราะผู้นำมือใหม่ให้พร้อมรับทุกความท้าทาย กุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร

การเปลี่ยนแปลงผู้นำเป็นเรื่องปกติที่หลาย ๆ องค์กรต้องพบเจอ ไม่ว่าจะจากการลาออกของผู้นำคนก่อน หรือการเกษียณก็ตาม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสร้างผลกระทบได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ 

ถ้ามันราบรื่น องค์กรก็จะเดินหน้าต่อแบบไม่สะดุด แต่ถ้าผู้นำใหม่ต้องพบเจอกับปัญหา อย่างการเมืองในองค์กร  หรือวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ ก็จะส่งผลเสียต่อองค์กรของคุณแน่นอน

หากองค์กรของคุณมีผู้นำคนใหม่หรือตัวคุณเองเป็นผู้นำมือใหม่ก็อย่าพึ่งกังวลไป ในบทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปรู้จักกับปัญหาและความท้าทายที่ผู้นำคนใหม่ต้องเจอ รวมถึงวิธีเตรียมตัวรับมือกับปัญหา พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่องค์กรจะช่วยสนับสนุนพวกเขา

ปัญหาและความท้าทายที่ผู้นำคนใหม่ต้องเจอ

ผลสำรวจจาก McKinsey เผยว่าไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่มาจากภายนอกองค์กรหรือผู้นำที่เลื่อนตำแหน่งจากภายในองค์กร ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จกับงานในตำแหน่งใหม่ เพราะเจอปัญหาในช่วงการเลื่อนตำแหน่ง เช่น 

การเมืองในองค์กร: 

ผู้นำใหม่กว่า 68% บอกว่าการเมืองในองค์กรคือปัญหาใหญ่ ทั้งการแข่งขัน ความไม่ลงรอยกัน ซึ่งการทำความเข้าใจและหาทางทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความคิดแตกต่างกัน เป็นสิ่งพวกเขาเองก็ต้องพยายามปรับตัวและประสานรอยร้าวนี้ให้ได้

วัฒนธรรมองค์กร:

ทุก ๆ องค์กรย่อมมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รวมถึงค่านิยม และความเชื่อ เช่น บางบริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม บางบริษัทนิยมทำงานแบบอิสระและตัดสินใจด้วยตัวเอง อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ การที่ผู้นำใหม่ยังปรับตัวไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการทำงาน และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ยากขึ้น

ความคาดหวังขององค์กรไม่ชัดเจน:

เมื่อผู้นำใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง อาจจะไม่มีใครเคยบอกหรือแนะนำพวกเขาถึงสิ่งที่ควรทำ หรือสิ่งที่องค์กรต้องการให้ทำ ซึ่งมันทำให้เกิดการสับสนและสงสัยว่าสิ่งที่ทำดีพอหรือยัง ต้องปรับปรุงด้านไหนหรือไม่ ส่งผลให้ผู้นำใหม่ไม่สามารถทำงานได้ตรงตามความคาดหวังขององค์กร

การทำงานร่วมกับทีมของตนเอง:

ผู้นำใหม่มักประสบปัญหาในการสร้าง Teamwork เพราะการเปลี่ยนแปลงผู้นำทีมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานภายในทีมด้วยเช่นกัน ทำให้อาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือเกิดการต่อต้านบางอย่าง การทำงานร่วมกันจึงเป็นเรื่องยาก ส่งผลไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไมถึงต้องใส่ใจผู้นำใหม่

แน่นอนว่าการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ องค์กรย่อมคาดหวังว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนเก่ง แต่ความคาดหวังเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรมักจะมองข้ามปัญหา ความกดดัน และความท้าทายที่ผู้นำคนใหม่ต้องเจอ จนอาจลืมยื่นมือเข้ามาช่วย หรือหาแนวทางสนับสนุนพวกเขา

ซึ่งการที่ผู้นำองค์กรไม่สามารถทำงานได้เต็มความสามารถ จะส่งผลเสียต่อองค์กร 2 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

  1. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กร จะมาพร้อมกับ ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ทั้งการลงประชาสัมพันธ์หรือการเพิ่มฐานเงินเดือนเพื่อดึงดูดผู้สมัคร แต่ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือ ต้นทุนเวลาที่เสียไป เพราะองค์กรของคุณต้องใช้เวลามากขึ้น เพื่อให้ผู้นำใหม่ปรับตัวได้ ซึ่งอาจใช้เวลา 6-12 เดือนเลย 

และหากผู้นำใหม่ยังคงล้มเหลว องค์กรก็อาจต้องอยู่ในช่วงขาดผู้นำและไม่สามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้ ซึ่งความล่าช้านี้อาจทำให้องค์กรของคุณเติบโตตามคู่แข่งไม่ทัน

  2. การเติบโตหยุดชะงัก

ผู้นำมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาองค์กร พวกเขามีอำนาจและมีอิทธิพลในการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่ดี วางแนวทางการทำงานที่เหมาะสม และกำหนดเป้าหมายขององค์กร หากผู้นำต้องใช้เวลามากในการปรับตัวและไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เต็มที่ 

ก็มีโอกาสสูงที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของทีมลดลง หรือการตัดสินใจผิดพลาดเพราะยังไม่เข้าใจองค์กรใหม่ดี ส่งผลให้การเติบโตขององค์กรหยุดชะงัก และอาจทำให้ผลกำไรขององค์กรลดลงตามไปด้วย

ดังนั้น ยิ่งผู้นำใหม่สามารถปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อองค์กรมากเท่านั้น เพราะทุก ๆ การกระทำและการตัดสินใจของผู้นำล้วนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของทีมและความสำเร็จขององค์กร

สำหรับองค์กร : คุณจะช่วยสนับสนุนผู้นำใหม่อย่างไร

องค์กรเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้นำใหม่ได้ เพราะพวกเขาเหมือนกับพนักงานใหม่คนหนึ่ง ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องจึงควรมีแผนเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำ อย่าลืมว่า “Well begun is half done หรือเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ซึ่งมี 2 แนวทางหลัก ดังนี้

  1. ละลายพฤติกรรมและวางแผนการทำงานร่วมกัน

จัด Onboarding Program หรือโปรแกรมดูแลบุคลากรใหม่ เป็นกิจกรรมที่เตรียมขึ้นเพื่อให้พนักงานใหม่ทำความรู้จักองค์กรและช่วยสนับสนุนพนักงานที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสามารถเข้ากับคนในองค์กรได้ เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร และเข้าใจงานของตนเองมากขึ้น 

เช่น การจัดกิจกรรมให้พนักงานใหม่ได้ทำความรู้จักคนในองค์กร แนะนำรูปแบบการทำงาน และอธิบายถึงเป้าหมายหลักของงาน เป็นต้น

ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ดูแลในระยะยาว ดูแลจนพวกเขาสามารถปรับตัวเข้ากับที่ทำงานได้ ดังนั้นในการจัดโปรแกรมนี้จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน โปรแกรมนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งพนักงานใหม่และผู้บริหารใหม่

  2. พัฒนาทักษะเพื่อเตรียมพร้อมกับงานใหม่

ลงทุนจัดหา Executive Coaching ให้แก่ผู้นำใหม่ MCkinsey สำรวจว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้นำคนใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง แต่มีองค์กรเพียงแค่ 32% ที่ใช้วิธีนี้ 

Executive Coaching เป็นการจัดหา Coach ส่วนตัวในการทำงานให้กับผู้นำ Coach จะคอยให้ข้อเสนอแนะ และช่วยพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เป็นการลงทุนระยะยาวที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้นำคนใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง Coach อาจจะเป็นผู้มีประสบการณ์ขององค์กรก็ได้

สำหรับผู้นำหน้าใหม่ : วิธีเตรียมตัวรับมือกับปัญหา

หากคุณกำลังก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้นำองค์กร หน้าที่และความรับผิดชอบที่เปลี่ยนแปลงไปอาจสร้างความกังวลใจให้กับคุณ แต่ยังมีวิธีเตรียมตัวเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายในตำแหน่งใหม่ได้ด้วย 4 วิธีนี้

  1. ศึกษาหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง

เมื่อได้รับบทบาทใหม่และความรับผิดชอบใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้น คือ การศึกษาหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ทำความเข้าใจถึงสิ่งที่คุณต้องทำ ขอบเขตงานของคุณ แผนกของคุณรับผิดชอบในเรื่องอะไร เป้าหมายของงานคืออะไร เป็นต้น 

วิธีที่ช่วยให้คุณเข้าใจงานของคุณได้ง่ายและดีที่สุด คือ การพูดคุยและปรึกษาคนภายในบริษัท อาจเริ่มต้นด้วยการปรึกษากับผู้นำคนก่อนหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในบริษัท การเข้าไปพูดคุยและมีส่วนร่วมเพื่อนร่วมงานและพนักงานภายในบริษัท นอกจากจะทำให้คุณเข้าใจในเนื้อหางานมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เข้าใจวิธีการทำงานของบริษัทอีกด้วย

  2. ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กรก็เหมือนบุคลิกขององค์กร เช่น วิธีการดำเนินงานในองค์กร หรือวิธีที่ผู้คนในองค์กรปฏิบัติต่อกัน การที่คุณทำความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่ อาจทำให้คุณพบจุดที่บกพร่อง และสามารถปรับปรุงแก้ไขได้

เริ่มต้นจากการ พูดคุยกับคนในทีมถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอหรือสอบถามหากคนในทีมต้องการความช่วยเหลือ การวางตัวเป็นผู้นำที่รับฟังและพร้อมสนับสนุนทีม จะช่วยให้คุณเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร มองเห็นปัญหาที่มีอยู่ และสามารถลงมือปรับปรุงแก้ได้ รวมถึงได้รับความไว้วางใจและการยอมรับจากทีม

  3. ศึกษาศักยภาพของลูกทีมและสร้าง Teamwork

หัวใจหลักของการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพ คือ การรู้จักลูกทีมเป็นอย่างดี ว่าลูกทีมคนไหนมีความถนัดในเรื่องอะไร  รวมถึงการกำหนดแบบแผนการทำงานภายในทีม เพื่อสร้าง Teamwork

คุณอาจเริ่มต้นด้วยการประชุมทีม พูดถึงเป้าหมายของงาน และให้ลูกทีมของคุณเสนอวิธีการทำงานเพื่อประเมินความรู้และความถนัดของแต่ละคน การทำความรู้จักลูกทีมของคุณอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก แต่จะช่วยให้คุณรู้ว่าเมื่อมีงานเข้ามา ใครในทีมควรรับผิดชอบส่วนไหนและช่วยให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  4. สร้าง Connection ในองค์กร

คนแค่คนเดียวเปลี่ยนโลกไม่ได้ ประโยคนี้ใช้ได้ดีกับการทำงาน ต่อให้คุณจะเป็นคนที่เก่งมากขนาดไหน แต่การสนับสนุนจากคนในที่ทำงานก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะการทำงานในองค์กรยึดโยงกันเป็นระบบ 

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแผนกอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันและสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

คงเห็นแล้วว่าการที่จะประสบความสำเร็จในฐานะของผู้นำ ไม่ได้พึ่งเพียงแค่ทักษะความสามารถในการทำงานเท่านั้น แต่ยังอาศัยความยืดหยุ่น (Resilience) เพื่อที่จะปรับตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหม่ และทำงานร่วมกับคนในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากองค์กรยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือ ผู้นำใหม่ก็จะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และพัฒนาองค์กรได้เร็วขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

อ้างอิง: avenueleadership, mckinsey

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 วิธีเสริมแกร่งองค์กร เตรียมพร้อมสู่ยุคคนทำงานร่วมกับ AI สร้างสรรค์นวัตกรรมและเติบโตอย่างยั่งยืน

การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างเหมาะสม ด้วย 4 ว...

Responsive image

"Founder Mode" วิถีแห่งผู้นำยุคใหม่หรือแค่ One-Man Show ที่กำลังจะล้าสมัย?

Silicon Valley ดินแดนแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ซึ่งไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ท่ามกลางกระแสแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้เอง กลับมีคำศัพท์ใหม่ที่จุดประกายความขัดแย้งขึ้น นั่นค...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...