ทำไมคนไทยเลิกใช้ Line คุยงานไม่ได้ ? เมื่อโลกส่วนตัวและโลกของงานไม่ควรทับซ้อนกัน | Techsauce

ทำไมคนไทยเลิกใช้ Line คุยงานไม่ได้ ? เมื่อโลกส่วนตัวและโลกของงานไม่ควรทับซ้อนกัน

“เมื่อไหร่บริษัทจะเลิกใช้ Line คุยงาน ไม่อยากจะเปิดเข้าไปเลย มีแต่ งาน งาน งาน”   “เครียดมากเวลาเห็นแจ้งเตือนเด้งขึ้นมา” “รู้สึกเหมือนต้องทำงานทุกวัน ไม่เคยได้พัก”

ใช้ Line คุยงาน

สองปีกว่าแล้วที่โควิด-19 ได้เข้ามาเป็นตัวเร่งเครื่องให้เราต้องปรับตัวหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบฉับพลัน อย่าง การทำงานจากที่บ้าน การประชุมออนไลน์ และส่วนใหญ่ก็มักจะติดต่อกันผ่านโปรแกรมแชท และในที่สุดก็นำมาซึ่ง ปัญหาการสื่อสาร

บทความนี้ Techsauce ขอยกกรณีศึกษาน่าสนใจ และกำลังเป็นที่พูดถึงในโซเชียล เกี่ยวกับปัญหาขององค์กรที่ใช้แอปพลิเคชัน Line ในการทำงาน ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกส่วนตัวและโลกของงานทับซ้อนกัน ทำให้เกิดปัญสุขภาพกายและสุขภาพจิต และนำไปสู่การลาออกในที่สุด

ทำไมคนไทยเลิกใช้ Line คุยงานไม่ได้ ? 

เมื่อปี 2021 Line ประเทศไทยประกาศฉลองครบรอบ 10 ปี กับความสำเร็จของแอป ด้วยการมีผู้ใช้กว่า 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด  นอกจากนั้นฟีเจอร์ Line Meeting ยังโตมากขึ้นถึง 191 % ซึ่งหมายความว่าคนไทยใช้ Line เป็นหลักช่วง Work From Home สถิติตรงนี้บ่งบอกถึงความนิยมในการใช้งานของ Line ในประชากรไทยเป็นอย่างดี

สถิติจาก We Are Social ที่สำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนทั่วโลก ระบุว่าในไทยนั้น มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 54.5 ล้านคน นั่นแปลว่าเกือบทั้งหมดของผู้ใช้มีแอปพลิเคชันนี้ นอกจากนั้นยังระบุว่า Line เป็นแอปพลิเคชันอันดับสองที่คนไทยใช้บ่อยที่สุด เป็นรองแค่ Facebook เท่านั้น

จากสถิติแล้ว ไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน จะมอง Line เป็นตัวเลือกอันดับแรกของเครื่องมือสื่อสาร เพราะทั้งความรู้สึกผูกพัน และเคยชินทำให้ ไม่อยากเปลี่ยนไปใช้แอปอื่น ที่ต้องมานั่งเรียนรู้กันใหม่

ด้วยเหตุนี้ Line จึงกลายเป็นแอปที่เราใช้กันประจำในชีวิตประจำวัน เพื่อคุยกับเพื่อน ครอบครัว คนรัก เพื่อส่งสติ๊กเกอร์สวัสดีตอนเช้า และได้กลายมาเป็นแอปที่ต้องใช้ทำงาน คุยกับลูกค้า ส่งไฟล์ให้หัวหน้า หรือนัดประชุมกัน  เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกอณูของการดำเนินชีวิตของคนไทยเลยทีเดียว

ปัญหาของการใช้แอปแชทคุยเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานในแอปเดียวกัน   

ปัญหาที่หลายคนต้องพบเจอจากการที่บริษัทใช้แอปแชทสำหรับพูดคุยเรื่องงาน เป็นแพลตฟอร์มเดียวกับแอปแชทสำหรับการพูดคุยในชีวิตประจำวัน คือ การทับซ้อนของพื้นที่ชีวิต เพราะจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเครียด กังวล เมื่อต้องเข้าแอป หรือเวลาเห็นแจ้งเตือนข้อความ

โดยปกติที่ก่อนนอนจะต้องใช้ Line ก็ดันเจอข้อความในกลุ่มออฟฟิศ จนรู้สึกเหนื่อยเพราะเหมือนต้องทำงานตลอดเวลา มีชีวิต Work ไร้ balance อย่างสมบูรณ์แบบ

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการใช้แอปแชทส่วนตัวปนกับการทำงานนั้นก็อาจจะต้องมาคิดกันต่อว่า ปัญหาจริง ๆ มาจากแอป หรือมาจากผู้ใช้ และวิธีการใช้กันแน่ ?

แนะ 3 แอปที่สร้างมาตอบโจทย์สำหรับการทำงานโดยเฉพาะ

1. Slack  หนึ่งในแอปสำหรับการทำงาน ที่รวมการประชุม อีเมล และการโทร ไว้ในแอปเดียว พร้อมฟีเจอร์หลากหลายที่จะช่วยชาว WFH ให้จัดการเวลางาน และเวลาส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น 

ขอบคุณรูปภาพจาก slack.com

Do not Disturb ฟีเจอร์ที่ชาว WFH จะต้องรัก เมื่อเราอยู่ในโหมดห้ามรบกวน Slack จะไม่ส่งแจ้งเตือนใด ๆ ให้เราทั้งนั้น ช่วยให้เราโฟกัสกับการทำงานได้มากขึ้น และตัดขาดจากออฟฟิศได้ในวันหยุด

แยกกลุ่ม แยกแชท ไม่ต้องกลัวทักผิด  Slack สามารถแบ่ง Channel ตามแผนก โปรเจกต์ หรือ Topic ได้ นอกจากนั้นสามารถตั้ง Channel ที่เป็นสาธารณะ หรือเป็นแบบส่วนตัว ช่วยให้จัดระเบียบการสื่อสารได้ดีขึ้น นอกจากนั้น เราสามารถ Mute Channel ที่เราไม่ต้องการรับการแจ้งเตือนได้ 

เชื่อมต่อกับแอปอื่น ๆ ช่วยให้ทำงานสะดวก ไหลลื่น  Slack เชื่อมต่อโดยตรงกับแอปพลิเคชันกว่า 2,400 แอป ไม่ว่าจะเป็น Gmail, Google Drive, Calendar, Zoom และอีกมากมาย

2. Microsoft Team นอกจากจะสามารถรวมฟีเจอร์การแชท ประชุม  การโทร ไว้ในโปรแกรมเดียว หนึ่งข้อดีของ Microsoft Team คือ เป็นจุดศูนย์กลางของโปรแกรม Office 365 ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันไว้ในที่เดียว

นอกจากนั้น Microsoft Team ยังมีจุดเด่นด้านความปลอดภัย ด้วยมาตรฐานระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ISO 27001, ISO 27018 และ HIPAA Business เป็นคำตอบว่าทำไมบริษัทใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่เลือกใช้ Microsoft Team

3. Google Chat หรือที่รู้จักกันในชื่อ Hangout Chats ซึ่งมีข้อดีคือสามารถเชื่อมต่อกับแอปต่าง ๆ ใน Google Workspace ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น Gmail, Docs , Sheets หรือ Slide ที่เราใช้กันอยู่ประจำ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ยังสามารถใช้งานฟีเจอร์แชทแบบกลุ่ม และ 1:1 ได้ด้วย

ขอบคุณรูปภาพจาก workspace.google.com

นอกจาก 3 แอปนี้แล้ว ยังมีแอปที่เราเคยคุ้นหูกัน เช่น Discord หรือแพลตฟอร์มฝีมือ Startup ไทยอย่าง Eko ที่เป็นแพลตฟอร์มครบวงจรสำหรับองค์กร ซึ่งตอนนี้กลุ่มลูกค้าอยู่ในตลาดต่างชาติเป็นหลัก

เครื่องมือดี แต่วัฒนธรรมการทำงานไม่เอื้อ ก็แก้ปัญหาไม่ได้ 

อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้น การเปลี่ยนเครื่องมือที่ใช้สื่อสารอาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด หากวัฒนธรรมในองค์กรไม่เปลี่ยนแปลงตาม

จากการสำรวจความคิดเห็นในโลกออนไลน์ เราพบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ Line ในที่ทำงานหลายอย่าง เช่น การติดต่อพนักงานนอกเวลาทำงาน สั่งงานในวันหยุด และคาดหวังให้พนักงานตอบกลับทันที บางที่หนักข้อถึงขนาดให้พนักงานตั้งชื่อใน Line เป็นชื่อจริง นามสกุล ต่อท้ายด้วยแผนก ซึ่งไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติ

ตัวอย่างปัญหาที่ชาวเน็ตได้มีการแสดงความคิดเห็นกันมานั้น จะเห็นได้ว่า ต้นตอของปัญหาการสื่อสารส่วนใหญ่มาจากวัฒนธรรมองค์กร

เราคงได้เห็นข่าวกระแสการลาออกครั้งใหญ่ หรือ Great Resignation กันมาบ้าง ในอเมริกา พนักงานกว่า 24 ล้านคนลาออกจากงาน ช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นสถิติที่สูงที่สุดที่เคยมีมา โดยในเบื้องต้นสันนิษฐานกันว่า เงินค่าจ้างที่ต่ำ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานลาออก

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ผ่าน MIT Sloan Management Review  พบว่า สาเหตุหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการลาออกครั้งใหญ่นั้น มาจากวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ  ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่มีส่วนทำให้พนักงานลาออกมากกว่าปัจจัยเรื่องเงินถึง 10.4 เท่า

ปัจจุบันคนเริ่มหันมาใส่ใจกับการสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด แน่นอนว่ามากกว่าเรื่องค่าตอบแทนด้วย เพราะฉะนั้นการที่องค์กรมีวัฒนธรรมที่เอื้อให้พวกเขาสร้างสมดุลนี้ได้ เช่น การให้วัน Paid time off, การเพิ่มวันลาหยุดสำหรับดูแลสุขภาพจิต จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกดี และภักดีกับองค์กรมากขึ้น

ปัญหาจากการใช้ Line ในที่ทำงาน แน่นอนว่าในทางหนึ่งอาจแก้ไขได้โดยเลือกใช้โปรแกรมแชทที่สามารถแยกเรื่องงานออกจากชีวิตส่วนตัวได้ อย่างไรก็ตามหากไม่แก้ไขที่ต้นตอของปัญหาจริง ๆ นั่นก็คือผู้ใช้ และวิธีการใช้ที่ผิด ๆ บางทีการลงทุนเปลี่ยนแพลตฟอร์มก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

"Founder Mode" วิถีแห่งผู้นำยุคใหม่หรือแค่ One-Man Show ที่กำลังจะล้าสมัย?

Silicon Valley ดินแดนแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ซึ่งไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ท่ามกลางกระแสแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้เอง กลับมีคำศัพท์ใหม่ที่จุดประกายความขัดแย้งขึ้น นั่นค...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

รู้จัก Brian Niccol เจ้าพ่อธุรกิจ Chain Restaurant และ CEO ป้ายแดงของ Starbucks

Starbucks ก็ดึงตัว Brian Niccol (ไบรอัน นิคโคล) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารมือทองจาก Chipotle Maxican Grill ธุรกิจอาหารแม็กซิกันจานด่วนมาดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่...