วิกฤต Layoff กำลังแพร่ขยายทั่วโลกและไม่มีวี่แววจะจบ บทความนี้ Techsauce มีคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง ด้วยวิธีรับมือสามขั้นตอนต่อไปนี้
ตรวจสอบสิทธิ์ทางกฎหมายที่ควรได้รับ
หลายคนอาจมองข้ามการตรวจสอบสิทธิทางกฎหมายที่เราควรจะได้รับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ถูกเลิกจ้างสามารถนำไปตั้งหลักในระยะสั้น ๆ ได้ มีดังต่อไปนี้
1. ค่าชดเชยแรงงาน
พนักงานประจำมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายหากเป็นการเลิกจ้างแบบไม่ได้ทำความผิดใด ๆ ตามระยะเวลาการทำงานดังต่อไปนี้
- ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
- ทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
2. ค่าตกใจกรณีไม่แจ้งล่วงหน้า
นายจ้างต้องบอกเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 30-60 วัน ตามกฎหมาย แต่หากไม่มีการกล่าวล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 17 วรรคสอง ‘นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผล’ โดยจะแบ่งออกเป็นสองกรณีให้เข้าใจง่าย ๆ
- กรณีได้รับเงินเดือนทุกวันที่ 1 และนายจ้างบอกเลิกจ้างในวันที่ 1 มกราคม ให้มีผลทันที สัญญาการเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายจ้างต้องจ่ายค่าตกใจเป็นเวลาหนึ่งเดือน ตามอัตราค่าจ้างล่าสุด
- กรณีได้รับเงินเดือนทุกวันที่ 1 แต่นายจ้างบอกเลิกจ้างเราในวันที่ 2 มกราคม ซึึ่งสัญญาการเลิกจ้างจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 1 มีนาคม ดังนั้นลูกจ้างมีสิทธิ์ได้ค่าตกใจตามระยะเวลาจริง ไม่ใช่แค่หนึ่งเดือน
3. เงินชดเชยว่างงาน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33,39 ที่ถูกเลิกจ้าง มีสิทธิ์รับเงินชดเชยว่างงาน หลังเลิกจ้างเพียง 8 วันก็สามารถไปลงทะเบียนคนว่างงานเพื่อรับสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย โดยกรณีถูกเลิกจ้าง
จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท
ฮีลใจตัวเองหลังโดน Layoff
การถูกเลิกจ้างแบบกะทันหันอาจทำให้เกิดความสับสนได้ มีความรู้สึกหลายอย่างที่ถาโถม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราอาจจะตกใจ เสียใจ ใจหาย แต่ควรที่จะจัดการกับสภาพจิตใจและความรู้สึกของตัวเองให้ได้ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
- ยอมรับความจริง: ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับความจริงว่าเราถูกเลิกจ้าง แต่ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไรก็ตาม เราอาจจะใช้เวลาว่างในการพักชั่วคราว ทบทวนตัวเอง ปรับมุมมองใหม่ นอกจากนี้ อาจจะเป็นโอกาสในการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อ หรือทำตามความฝันอื่น ๆ
- เขียนสรุปเรื่องราวที่ผ่านมา: บันทึกความสำเร็จในการทำงานด้วยเทคนิค CARL (บริบท การกระทำ ผลลัพธ์ การเรียนรู้) หรือ เทคนิค STAR(T) (สถานการณ์ หน้าที่ การกระทำ ผลลัพธ์ และ ประเด็นสำคัญ) จะช่วยทำให้มองเห็นความสามารถ เข้าใจทักษะของตัวเองอย่างเป็นระบบ และมองเห็นจุดบอดจุดด้อยที่เคยทำมา เสริมความมั่นใจในความสามารถของตัวเองและมีส่วนช่วยในการเตรียมตัวกับการสัมภาษณ์ครั้งต่อไป
- รักษาสุขภาพให้ดี: หลายคนอาจจะมองข้ามการดูแลสุขภาพตัวเองไปจากความเครียดของการว่างงาน แต่หากหันมารักษานิสัยที่ดีต่อสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่ดี นอนหลับให้เพียงพอ จะช่วยให้เราสดชื่น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น สมองปลอดโปร่ง ทำให้สามารถที่จะริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ได้ดีกว่าเดิม
- เริ่มต้นกิจวัตรประจำวันใหม่ ๆ: ชีวิตประจำวันแบบเดิม ๆ ในฐานะมนุษย์เงินเดือนที่ต้องออกบ้านไปทำงานทุกวันจบลงไปแล้ว ซึ่งทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น แต่หลายคนก็ไม่ได้ใช้เวลานี้ให้เกิดประโยชน์ แต่เลือกที่จะจมไปกับความผิดหวัง ความเศร้าและความเครียด ลองเปลี่ยนมาใช้เวลานี้เพื่อทำงานอดิเรกที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เรียนรู้สกิลใหม่ ๆ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมามีความสุขและพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง
ก้าวไปข้างหน้า: เตรียมตัวสมัครงานใหม่อีกครั้ง
ถึงแม้ว่าความมั่นใจของเราจะลดลงหลังจากถูกเลิกจ้าง แต่ภาระที่ต้องรับผิดชอบทำให้ไม่สามารถที่จะอยู่ด้วยเงินชดเชยจากการว่างงานได้นาน ๆ ดังนั้นหลังจากดูแลสภาพจิตใจของเราได้พร้อมแล้ว จึงควรเริ่มมองหางานใหม่ได้เลย
ตามข้อมูลของ Revelio Labs พบว่าหลังถูก Layoff สามารถหางานใหม่ได้ภายในสามเดือนแรกถึง 70% ของทั้งหมด และยังได้เงินเดือนที่สูงกว่าที่เก่าถึง 52% หากเตรียมตัวอย่างดี จะช่วยให้ได้งานที่ตรงใจทั้งเนื้องานและรายได้ เพิ่มความสำเร็จของการหางานใหม่ได้ด้วยขั้นตอนต่อไปนี้
- หาขอบเขตงานที่สนใจ: มองหาขอบเขตงานที่สนใจ และอัปเดตเรซูเม่ให้มีเนื้อหาที่ตรงกับตำแหน่งงานนั้น ๆ ทำให้เรซูเม่เป็นปัจจุบันมากที่สุดและไม่ควรใส่อะไรนอกเหนือจากเนื้องาน ใส่คีย์เวิร์ดทักษะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง เพื่อให้ HR มั่นใจถึงความสามารถที่ตรงกับตำแหน่ง ช่วยเพิ่มโอกาสได้งานมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มช่องทางการหางาน: ในยุคสมัยนี้มีช่วงทางการมองหางานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, LinkedIn, TikTok และเว็บไซต์หางานอื่น ๆ โดยไม่ควรเลือกเพียงช่องทางเดียว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จาก connection ในการช่วยหางานในสายงานเดิม เป็นต้น
- ไม่หลุดความเป็นมืออาชีพ: การอัพเดทเรซูเม่ให้เป็นปัจจุบัน เพิ่มช่องทางการติดต่อที่ใช้ได้จริงและเป็นทางการ รวมถึงการตอบกลับอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสที่จะได้งานไวยิ่งขึ้น
- เพิ่มเติมทักษะใหม่: ในช่วงว่างงาน หากมีการเพิ่มเติมทักษะใหม่ ๆ จะทำให้ได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น ๆ อย่างมาก เพราะถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และถ้าหากเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานแล้วจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้งานอย่างที่หวัง
- คว้าโอกาสที่เข้ามา: ในบางโอกาสอาจจะได้รับข้อเสนอที่ไม่ตรงกับทักษะที่เรามีหรืออาจจะเป็นงานชั่วคราว สัญญาจ้าง หากพิจารณาถึงบริษัท รายได้ การต่อยอดแล้วคุ้มค่า การรับโอกาสนี้ไม่ใช่เรื่องน่าเสียหาย นี่อาจจะเป็นโอกาสในการปรับเป็นพนักงานประจำหรือเป็นการเริ่มต้นบทบาทในสายงานใหม่ที่อาจจะเหมาะสมกับเราก็ได้
- เตรียมตัวสัมภาษณ์ให้พร้อม: เตรียมตัวให้พร้อมจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ค้นคว้าเกี่ยวกับบริษัท บทบาท และตำแหน่งให้พร้อม เตรียมคำตอบสำหรับคำถามทั่วไป พร้อมด้วยคำถามเพื่อแสดงความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นของคุณ จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์มากขึ้น
อ้างอิง: prachachat, portal.info.go.th, bloomberg, hbr, linkedin, lb.mol.go.th, mol.go.th/unemployment, ramseysolutions