ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม | Techsauce

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้

อย่างที่เราได้เคยเล่าไปในบทความ ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI ถึงความสำคัญของนวัตกรรม ในฐานะเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ธุรกิจ โดยมีสถิติชี้ชัดว่าบริษัทที่ลงทุนในนวัตกรรมอย่างจริงจัง จะเติบโตได้ดีกว่าแม้จะเจอช่วงเวลายากลำบาก วันนี้เราจะมารู้จักวัฒนธรรมพื้นฐานที่จะช่วยให้องค์กรคิดค้นนวัตกรรมได้กัน 

Innovation Culture คืออะไร ?  

Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม หมายถึงรูปแบบของวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้พนักงานได้ คิดต่าง คิดสร้างสรรค์ กล้าเสี่ยง เพื่อค้นหาโอกาสใหม่ๆ ในขณะที่องค์กรคอยสนับสนุนเครื่องมือ ทรัพยากร และสร้างระบบการทำงานที่เอื้อให้พนักงานได้ออกนอกกรอบ

การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม นอกจากจะช่วยองค์กรให้ค้นหานวัตกรรมได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตและกำไร อีกทั้งช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานเก่งๆ ไว้ได้

ทำไมต้องมีวัฒนธรรมนวัตกรรม ? 

ต้องย้อนกลับไปถามก่อนว่า ทำไมธุรกิจต้องการนวัตกรรม ? ก็เพื่อหาวิธีใหม่ ความคิดใหม่ หรือผลิตภัณฑ์บริการใหม่ มาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายและรวดเร็ว ทั้งจากผู้บริโภคและเทคโนโลยีใหม่ หรือวิกฤตใหม่ ทั้งโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เศรษฐกิจ ฯลฯ 

และนี่คือประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับ ถ้ามีวัฒนธรรมนวัตกรรมที่แข็งแกร่ง 

  • เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน : บริษัทที่มีนวัตกรรมจะสามารถสร้างความแตกต่าง และอยู่เหนือคู่แข่งในตลาดได้ มีสถิติจาก McKinsey ชี้ว่าบริษัทที่ส่งเสริมการสร้าง Innovation Culture จะมีประสิทธิภาพเหนือบริษัทอื่นๆ ถึง 3.5 เท่า 
  • ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า : ผ่านการปรับปรุงผลิตภัณฑ์บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีและเสริมความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แข็งแกร่ง 
  • ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น : นวัตกรรมจะช่วยสร้างกระบวนการทำงาน เทคโนโลยี หรือวิธีแก้ปัญหาใหม่ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 
  • เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน : บริษัทที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมกับโครงการสำคัญ ให้พนักงานได้แสดงศักยภาพ ผ่านการคิดต่าง คิดสร้างสรรค์ พนักงานจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทมากขึ้น 
  • ช่วยรักษาพนักงานมีคุณภาพไว้กับองค์กรได้ : การรู้สึกเป็นส่วนสำคัญขององค์กร เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการรักษาและดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถ เพราะพนักงานจะรู้สึกมีขวัญกำลังใจในการทำงาน รู้สึกถึงคุณค่าในสิ่งที่ทำ 
  • รายได้เพิ่ม ความสามารถในการทำกำไรเพิ่ม : แน่นอนว่าด้วยศักยภาพธุรกิจที่มากขึ้น ฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรให้ดีกว่าเดิม ย่อมตามมาด้วยเม็ดเงินและโอกาสในการทำกำไรที่มากขึ้น 

เราจะสร้าง Innovation Culture ยังไง 

การสร้างวัฒนธรรมเป็นเรื่องง่ายที่จะพูดยากที่จะทำ หลายองค์กรต้องตกม้าตายเพราะไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมในแบบที่ตัวเองต้องการได้ การจะสร้าง Innovation Culture จึงต้องการวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ผู้นำที่พร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และแนวทางที่มีโครงสร้าง มีแผนการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ซึ่งองค์กรอาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยวิธีเหล่านี้ 

เปิดโอกาสให้คิด ผ่านการระดมสมอง 

หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อเปิดพื้นที่และกระตุ้นให้พนักงานได้ออกความเห็น คือการจัดเซสชั่น Brainstroming อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีมไปในตัว 

เคารพและให้อิสระกับความคิดของพนักงาน

ถ้าพนักงานช่วยกันออกไอเดีย แต่หัวหน้าบอกปัด ไอเดียนั้นก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นจริง ซ้ำร้ายจะซ้ำเติมให้พนักงานหมดกำลังใจ เพราะรู้ว่าถึงมีความคิดแปลกใหม่ องค์กรก็ไม่รับไปปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้ออกความเห็น และนำความเห็นนั้นไปทำให้เกิดขึ้นจริงด้วยตัวเขาเอง สิ่งนี้จะช่วยปลูกฝังความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of ownership) ที่พนักงานมองว่าตนเป็นเหมือนเจ้าของกิจการนี้ และต้องการช่วยธุรกิจให้เติบโต และช่วยเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น

นอกจากนั้น การให้อิสระกับความคิดของพนักงานจะช่วยกระตุ้นให้พนักงานคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานมากขึ้นจากการได้คิดและลงมือทำเอง 

ไอเดียที่ดีไม่ได้จำกัดในแผนกเดียว  

พนักงานที่แตกต่าง ยอมนำมาสู่ไอเดียที่แตกต่าง และอาจจะกลายเป็นไอเดียแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน การสร้างโปรเจกต์ที่รวมพนักงานจากหลายแผนกมาทำงานร่วมกัน เป็นการเปิดมุมมองใหม่ และอาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม 

คนทำดีต้องมีรางวัล

ระบบรางวัลอาจเป็นหนึ่งแรงจูงใจให้พนักงานอยากแสดงความสามารถ เมื่อความคิดของพวกเขาได้รับการยอมรับ ได้นำไปปฏิบัติจริงและเกิดผลลัพธ์ที่ดี และสุดท้ายได้ผลตอบแทนเป็นรางวัล จะทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น และผลักดันให้พนักงานอยากมีส่วนร่วมกับสิ่งที่บริษัททำต่อไป นอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

สำคัญคือต้องมีเวลา

ในหนึ่งวันพนักงานบางคนมีหน้าที่หลายอย่าง ถ้าการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ตามความหน้าที่รับผิดชอบกินเวลาส่วนใหญ่ไปแล้ว การจะให้พนักงานมาคิดสร้างสรรค์อีกเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าองค์กรต้องการไอเดียที่ดี ก็ต้องจัดสรรให้พนักงานมีเวลาได้คิด หรืออาจจัดกิจกรรมอย่าง Hackathon ในหนึ่งวันก็ได้ 

จัดให้มี Side Project

Side Project หรือโครงการที่ไม่เกี่ยวกับงานหลักที่พนักงานทำ เป็นได้ทุกเรื่องที่พนักงานสนใจ บางคนอาจชอบเขียนหนังสือ บางคนอยากทำพอดแคสต์ ออกกำลังกาย เขียนโค้ด หรือวาดรูป ฯลฯ การส่งเสริมให้พนักงานมีโครงการที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ อาจเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาคิดไอเดียแปลกใหม่ออกมาได้ 

พาพนักงานไปเจอคนเก่ง

กิจกรรม Networking เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยเปิดมุมมองความคิด และสร้างความสัมพันธ์ที่ช่วยพัฒนาพนักงาน และอนาคตอาจต่อยอดไปถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ การจัดกิจกรรมให้พนักงานได้เจอเพื่อนต่างแผนก ผู้บริหารต่างแผนก หรือบริษัทอื่นๆ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ 

อ้างอิง : techtarget , quixy.com, adevait.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

"Founder Mode" วิถีแห่งผู้นำยุคใหม่หรือแค่ One-Man Show ที่กำลังจะล้าสมัย?

Silicon Valley ดินแดนแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ซึ่งไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ท่ามกลางกระแสแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้เอง กลับมีคำศัพท์ใหม่ที่จุดประกายความขัดแย้งขึ้น นั่นค...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

รู้จัก Brian Niccol เจ้าพ่อธุรกิจ Chain Restaurant และ CEO ป้ายแดงของ Starbucks

Starbucks ก็ดึงตัว Brian Niccol (ไบรอัน นิคโคล) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารมือทองจาก Chipotle Maxican Grill ธุรกิจอาหารแม็กซิกันจานด่วนมาดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่...