โดย ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล Head of InVent by Intouch Holdings PLC
แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต้องเจอปัญหาเดียวกันก็คือ รายได้ลดลง ส่งผลให้ต้องมีการควบคุมต้นทุนอย่างหนัก แต่ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นมักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “โอกาส” อยู่เสมอ
ในมุมของ Startup จะเห็นได้ว่า มีทั้งกลุ่มที่ได้รับผลบวกและผลลบจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่แน่นอนว่าถ้ามองในด้านบวก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิกฤตนี้เป็นแรงผลักดันให้ผู้คนใช้เทคโนโลยีในการดำรงชีวิตมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้กับธุรกิจ Digital Services ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง
ผมขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมา อย่างในประเทศจีน กลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็น E-commerce ซึ่งจะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ใช้ระบบของ JD Daojia เพื่อซื้ออาหารสดผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน จากสถิติพบว่ามีผู้สั่งผักผลไม้ในระบบเพิ่มกว่า 450% เนื้อสัตว์เพิ่มกว่า 1,000% เมื่อเทียบกับสถิติปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Tele-consult หรือ Telemedicine เช่น AliHealth และ Ping An Good Doctor ก็มียอดผู้ใช้มากขึ้น เนื่องจากผู้คนมีความจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เวลาเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ซึ่ง Telemedicine ช่วยให้ผู้ที่มีอาการป่วยสามารถปรึกษาแพทย์เบื้องต้นได้ผ่านทางออนไลน์ ดังนั้นจึงช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงการติดโรคและไม่เสียเวลาเดินทางด้วย
อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์ก็คือ Online Entertainment การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ผู้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ดังนั้นกิจกรรมยามว่างหรือกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง เช่น Tiktok ในจีนมียอดผู้ใช้งานเติบโตกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมถึงเกมส์ออนไลน์ต่างๆ ก็มีผู้ออนไลน์พร้อมกันทั่วโลกสูงถึง 20 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการ Work from Home บางแอปพลิเคชันก็มีผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า รวมถึงกลุ่ม Online Learning บางรายที่มีผู้เรียนผ่านออนไลน์ต่อวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เท่า ในช่วงการระบาด COVID-19 ในประเทศจีน แม้ว่าคนจะอยู่บ้านแต่ก็ยังคงต้องทำงานและมีการเรียนรู้อยู่เช่นกัน
จากหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่ผมได้ยกตัวอย่างไป จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จะมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น จากเดิมที่มีการใช้แค่บางกลุ่ม แต่หลังจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดตรงนี้ ทำให้กลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการเหล่านี้เลย ก็จำเป็นต้องใช้…
เพราะฉะนั้นในวิกฤตนี้ ทำให้เกิดโอกาสของบางธุรกิจ โดยเฉพาะ Startup หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ที่มีผู้ใช้งานมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยเอง การเข้ามาของไวรัส COVID-19 ผมว่าทำให้เราเห็นกรณีศึกษาของการใช้เทคโนโลยี เข้ามาขับเคลื่อนในด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Big Data และ AI มาช่วยวิเคราะห์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยก็มีศักยภาพของด้านเทคโนโลยี ที่น่าสนใจ ไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเลย
หากมองในด้าน Market size ของ Internet Economy ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย แต่ปรากฎว่าในมูลค่าของระบบเศรษฐกิจตรงนี้ ที่ประเทศไทยมีอยู่กลับเป็นผู้เล่นจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก แต่ถ้ามองในแง่ของศักยภาพและมูลค่าของเศรษฐกิจ แนวโน้มการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเติบโตเร็วเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม ด้วยข้อมูลสถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ไทยก็เป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพให้กับ Startup ทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี
เพียงแต่ว่า … Startup ต้องหา Sweet Spot ให้ได้ว่าธุรกิจไหนที่แข่งขันแล้ว จะทำให้เราสามารถยึดครองตลาดได้
แล้ววันนี้ผมบอกเลยว่า Internet Economy ของไทย เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ยังมีการกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆ ด้วย
ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ทำให้ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูสีกับตลาดอื่นในภูมิภาคได้เลย แน่นอนว่าในบรรดาประเทศที่เราเป็นรองนั้น มีความแตกต่างเพียงจำนวนประชากร แต่ในด้านกำลังซื้อของไทยสูงกว่าทั้งอินโดนีเซีย และเวียดนามมาก อีกทั้งบริษัทขนาดใหญ่ในไทยก็มีกำลังในการลงทุนไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม Startup ไทย จะเป็น Unicorn ได้นั้น ก็จะต้องขยายไปตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน เพื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง...
สำหรับ InVent ในฐานะของนักลงทุน เรายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยผมมองว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการลงทุน เรายังคงมองถึงภาพรวมอุตสาหกรรมมากกว่า ว่าเป็นอย่างไร
ทิศทางการลงทุนของ InVent ในช่วง 1-2 ปีนี้ จากการที่เราอยู่ในบริบทของ Intouch Holdings ดังนั้นจะมุ่งเน้นการลงทุนใน Startup ที่ทำโซลูชันเกี่ยวเนื่องกับ 5G ไม่ว่าจะเป็น Consumer หรือ Enterprise เพราะวัตถุประสงค์หลัก คือ เราต้องการลงทุนแล้วพัฒนาโซลูชันของบริการเหล่านี้เพื่อสร้าง Ecosystem ให้พร้อมสำหรับบริษัทในเครืออินทัช พัฒนาบริการที่ดีเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้
นอกจาก Startup ที่ทำโซลูชันเกี่ยวเนื่องกับ 5G แล้ว ทิศทางการลงทุนของ InVent ที่เคยดำเนินมา เราก็ยังคงมุ่งเน้นลงทุนและมองหา Startup ที่มีศักยภาพในด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์ (Digital Lifestyle) บริการดิจิทัลสำหรับองค์กร (Digital Enterprise Solution) ดิจิทัลมีเดีย (Digital Lifestyle) ฟินเทค (FinTech) เฮลท์เทค (HealthTech) และอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)
ด้วยทิศทางการลงทุนที่ชัดเจนของ InVent ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าลงทุนใน Startup จากประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น แต่เราจะมองว่าธุรกิจนั้นมีศักยภาพที่จะสามารถเข้ามาทำธุรกิจในไทยและการลงทุนนั้นจะต้องเอามาเสริมสร้าง Value Creation ให้กับบริษัทในเครืออินทัชได้
สุดท้ายนี้ สำหรับ Startup นั้น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้จะกลายเป็นวิกฤต หรือ โอกาส ของแต่ละบริษัทนั้น ขึ้นอยู่กับ ‘การปรับตัว’...
ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ อาจมีผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง อาจต้องมีการกู้ยืมเงินจากธนาคาร หรือต้องระดมทุน (Raise Fund) เพื่ออัดฉีดเงินเข้าบริษัท แต่การระดมทุนในช่วงเวลานี้ Startup จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในช่วงที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตในปีนี้ แน่นอนว่ารายได้ในไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 2 นั้นได้รับผลกระทบแน่นอน และไม่แน่ใจว่าไตรมาส 3 สถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ ดังนั้น Startup จึงต้องมีการปรับตัว ลดต้นทุน ลดกิจกรรมที่ไม่เกิดรายได้ เพื่อให้บริษัทคงอยู่ได้
ดังนั้นในเวลาเช่นนี้ คนที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุด ดังนั้นในแง่ของธุรกิจอะไรก็ตามที่สามารถทำได้ ก็อาจจะต้องขยายไปทำตรงนั้นก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจลดโอกาสที่จะได้เดินทางไปเจอกับนักลงทุน หรือ เข้าร่วม Tech Conference หาก Startup ใดสนใจระดมทุน สามารถเข้ามาดูรายละเอียดและส่งข้อมูลของบริษัทมาได้ที่
Website: http://www.inventvc.com
Email: [email protected]
Facebook: www.facebook.com/Invent.Intouch
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด