คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5 | Techsauce

คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ สินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ แม้ว่าจะเข้ามานำทัพองค์กรเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาด้วยวัย 34 ปี แต่สินนท์ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของบริษัทในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนสู่ทศวรรษที่ 5

ด้วยประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด บริษัทย่อยของบ้านปูที่ให้บริการโซลูชันพลังงานฉลาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบกับประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานกว่า 10 ปี ในด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การเงิน การลงทุน การจัดการโครงการระหว่างประเทศ ส่งให้เขาเป็นผู้บริหารที่ถูกจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง ณ เวลานี้

โจทย์และภารกิจหลักที่คุณได้รับในฐานะ CEO ของบ้านปูคืออะไร

ภารกิจของผมคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร หรือที่เราเรียกว่า transformation ครับ เพราะการปฏิรูปบริษัทต้องเริ่มต้นจากผู้นำ ซึ่งผมมีประสบการณ์ทางด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ ทั้งด้านการเงิน การลงทุน และเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Banpu NEXT ซึ่งเป็นธุรกิจเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด

โจทย์หลักของผมคือ การวางกลยุทธ์การทรานสฟอร์มบ้านปูภายในปี 2030 นั่นคือ การผสมผสานธุรกิจพลังงานใหม่กับธุรกิจพลังงานดั้งเดิมเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยกัน การปรับตัวอยู่ในดีเอ็นเอของบริษัทตั้งแต่ยุคก่อตั้งโดยคุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท เริ่มจากธุรกิจเหมือง ก่อนที่จะขยายพอร์ตพลังงานให้มีความหลากหลายมาสู่ธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทดแทน รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ปัจจุบันเราดำเนินธุรกิจใน 9 ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา 

นอกจากนี้ผู้นำองค์กรจะต้องเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานทุกคนมีร่วมกัน ซึ่งก็คือ Banpu Heart 

มองแนวโน้มของของอุตสาหกรรมพลังงานโลกอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันความต้องการด้านพลังงานเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลกอยู่ที่ประมาณ 30,000 เทราวัตต์ชั่วโมง หรือ 30,000 ล้านล้านวัตต์ชั่วโมง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2050 โดยเกินครึ่งหนึ่งจะมาจากพลังงานสะอาดทั้งหมด ดังนั้นถ้าเราไม่เริ่มปรับตัว ก็อาจจะตามโลกไม่ทัน บ้านปูเป็นผู้นำด้านพลังงานแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เราอยู่ในห่วงโซ่ทั้งหมดของอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ทำให้เราสามารถจัดหาพลังงานให้กับทุกฝ่ายและเพิ่มความยืดหยุ่นทางธุรกิจได้

ในฐานะผู้บริหารบริษัทพลังงานชั้นนำ สิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องให้ความสนใจในปัจจุบันคืออะไร

มีสองเรื่องหลักที่ทุกธุรกิจควรให้ความสำคัญ นั่นคือ การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริษัทที่ยังไม่มีแผนงานชัดเจนในสองเรื่องนี้จะถูกมองว่าตามไม่ทัน และอาจถูกนักลงทุนมองข้ามไป โดยเฉพาะ AI ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ถ้าไม่นำ AI มาใช้ ก็ยากที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้

ปัจจุบัน ธุรกิจของบ้านปูประกอบด้วย 4 เสา คือ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน และการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านหน่วยงาน CVC (Corporate Venture Capital) ซึ่งอยู่ใน Banpu NEXT ธุรกิจเหล่านี้มีทั้งส่วนที่ปล่อยคาร์บอนและส่วนที่ช่วยลดคาร์บอน เราจึงพยายามสร้างความสมดุล โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Climate Tech เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสะอาดอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังมีการใช้รถไฟฟ้าสำหรับการขนส่งถ่านหิน และขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรม EV ผ่านการพัฒนาแบตเตอรี่และสถานีชาร์จในเหมือง

เราต้องมั่นใจว่าการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากธุรกิจ (decarbonization) และการนำ AI ไปใช้ในธุรกิจจะต้องอยู่ในยุทธศาสตร์ของบ้านปู ปีที่ผ่านมาเรามีคณะกรรมการและทีมผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ และกำลังดำเนินโครงการเกี่ยวกับ AI โดยที่สำคัญๆ มี 4 โครงการ นั่นคือ 

การคาดการณ์ราคาไฟในอนาคตเพื่อเทรดได้แม่นยำ จำนวน 2 โครงการ การวิเคราะห์ talent ในส่วนการบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดการซัพพลายเชนและการจัดซื้อในประเทศออสเตรเลีย

ที่สำคัญเราเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Sequestration (CCUS) ซึ่งสามารถดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 180,000 ตันต่อปีเรามีแผนจะขยายโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าจะสามารถทำให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติลดการปล่อยคาร์บอนเหลือศูนย์ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับธุรกิจของเรา

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ AI

AI ช่วยให้เราทำงานให้เร็วขึ้นและมีเวลาการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น เรามีวิธีส่งเสริมให้พนักงานใช้ AI หลายอย่าง มีทีมเฉพาะที่ส่งเสริมและผลักดันการใช้ AI ในองค์กร แบ่งปันความรู้ให้กับพนักงาน บรรจุเรื่องของความรู้ด้านดิจิทัลและ AI ในการวัดผล KPI เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้จริง (adoption) และจัดตั้งคณะกรรมการด้าน AI ที่มีผู้บริหารระดับสูงร่วมอยู่ด้วย เพื่อพิจารณาและตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ AI ต่างๆ

ผมเข้าใจว่าบางคนอาจกังวลว่า AI จะมาแทนที่ตำแหน่งงานของพวกเขา แต่ผมเชื่อว่า human touch และทักษะของมนุษย์ยังคงมีความสำคัญอยู่ AI อาจแทนที่งานบางอย่างได้ แต่ไม่ใช่คนที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้น เราจึงพยายามสื่อสารกับพนักงานว่า AI เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่พวกเขา

จะทำโจทย์เหล่านี้ให้สำเร็จ ต้องอาศัยอะไรบ้าง

ผมคิดว่ามีสามองค์ประกอบหลักที่สำคัญมาก คือ กลยุทธ์ที่ถูกต้อง (Right Strategy) ทีมงานที่เหมาะสม (Right Team) และวัฒนธรรมองค์กรที่ดี (Right Culture) ครับ ฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทและซีอีโอทุกคนต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะมันคือรากฐานของการทำธุรกิจ เริ่มจากกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เราต้องมองให้ออกว่าเทรนด์ของโลกเป็นอย่างไร และนำจุดแข็งของเรามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในฐานะบริษัทชั้นนำพลังงานใน Value supply chain ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลกในอนาคต รวมถึงสหรัฐอเมริกาและจีนที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลก

เราให้ความสำคัญกับการเลือกคนมาทำงานในตำแหน่งที่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่า "Put the right man on the right job" ซึ่งสำคัญมากในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วและต้องอาศัยการขยับตัวเร็ว  รวมถึงการตัดสินใจอย่างแม่นยำ เราต้องการคนที่มีทักษะหลากหลาย เปรียบเสมือนนักฟุตบอลที่แม้จะเล่นในตำแหน่งหลักของตัวเอง แต่ก็สามารถทำหน้าที่อื่นๆ และเข้าใจว่างานของตนส่งผลต่อภาพรวมของบริษัทอย่างไร เรามีหน่วยงาน Banpu Academy ที่ช่วยในการฝึกอบรมพนักงานทุกระดับ และเราก็ผสมผสานระหว่างการพัฒนาคนภายในกับการรับคนใหม่เข้ามา รวมถึงการนำคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์มาเป็นที่ปรึกษาให้กับคนรุ่นใหม่

วัฒนธรรมองค์กร เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงทั้งกลยุทธ์และการพัฒนาคนเข้าด้วยกัน วัฒนธรรมของบ้านปูเน้นเรื่องความกระตือรือร้น (Passionate) นวัตกรรม (Innovative) และความมุ่งมั่น (Committed) ซึ่งเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการเติบโตและส่งเสริมให้คนมี growth mindset

Growth mindset มีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไรบ้าง

คนที่มี growth mindset จะเป็นผู้ที่มองหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา พร้อมสร้างนวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ การมี DNA แบบนี้ในบริษัทสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้องค์กรเติบโตได้โดยไม่ต้องคอยกระตุ้นตลอดเวลา ทั้งในระดับผู้บริหารหรือพนักงาน เราส่งเสริมสิ่งนี้โดยการจัด Banpu Global Innovation Awards ในทุกประเทศที่เราดำเนินธุรกิจ เพื่อเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้มีพื้นที่แสดงความคิดสร้างสรรค์ แม้แต่ Banpu Legend ที่เกษียณไปแล้วก็สามารถกลับมาเป็นที่ปรึกษาที่ทรงคุณค่าได้ 

อะไรคือความท้าทายของการเป็นผู้นำรุ่นใหม่ในธุรกิจที่ดำเนินการมานานถึง 40 ปี

ประการแรก คือการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่พลังงานสะอาดอย่างสมดุล เพราะโลกยังต้องการทั้งพลังงานแบบดั้งเดิมและพลังงานสะอาด แต่ละประเทศมีความต้องการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภูมิประเทศ ทรัพยากร ต้นทุนทางการเงิน และนโยบายสนับสนุน

ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป สามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนได้เร็วกว่า ขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังคงพึ่งพาถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ บางประเทศที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่อย่างญี่ปุ่น ก็อาจต้องพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น พลังงานนิวเคลียร์

สำหรับประเทศไทย เราจะต้องจัดหาพลังงานให้เพียงพอและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากศูนย์ข้อมูล (data center) ขนาดใหญ่

ประการที่สอง คือการบริหารจัดการบริษัทที่มีพนักงานกว่า 6,000 คนจาก 9 ประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม สิ่งที่ช่วยให้เราจัดการได้ดีคือ Banpu Heart ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรและค่านิยมหลักที่ใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างพนักงานทั่วโลก  ความท้าทายคือการเสริมสร้างวัฒนธรรมนี้ให้แข็งแกร่งและนำไปปรับใช้กับประเทศใหม่ๆ ที่เราขยายการลงทุน

ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทคนที่ 3 ผมมุ่งมั่นที่จะสานต่อพันธกิจในการขับเคลื่อนบ้านปูสู่พลังงานที่ยั่งยืน เรายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...