Logical thinking ทักษะที่เด็กรุ่นใหม่ต้องมี เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การทำงานในโลกอนาคต | Techsauce

Logical thinking ทักษะที่เด็กรุ่นใหม่ต้องมี เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การทำงานในโลกอนาคต

โดย ดร.จาชชัว แพส, SCG Corporate Innovation Director และ Managing Director ของ Addventures by SCG

ทุกวันนี้มีการตั้งคำถามกันอย่างมากมายถึง ‘โลกอนาคต’ ว่าจะต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมของ ‘เด็กรุ่นใหม่’ 

สิ่งหนึ่งที่หลายคนกังวล คือ โลกการทำงานในอนาคตที่นำหุ่นยนต์มาช่วยในการทำงาน ไปจนถึงการพัฒนาด้าน AI ที่มากขึ้น ทำให้ผู้คนมีความตื่นตระหนกว่า AI จะเข้ามาแทนที่คน 

สำหรับประเด็นนี้ ผมมองว่า...ไม่ใช่การแทนที่ แต่มันคือ การทำงานร่วมกันต่างหาก ดังนั้นมนุษย์จึงต้องมีความเท่าทัน และรู้จักใช้ประโยชน์จากมันให้เป็น

ถามว่าแล้วเราจะสามารถเตรียมตัวเผื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ในมุมมองของผม ทักษะที่โลกของการทำงานต้องการและมีความสำคัญมากที่สุด สำหรับเด็กรุ่นใหม่ก็คือ การคิดและการแก้ปัญหาเชิงตรรกะ (Logical thinking and problem solving) หรือการมีความสามารถในการในการคิดหาเหตุผล การรู้จักเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุปในการทำงา  ซึ่งเหล่านี้ต่างเป็นเหมือนกับทักษะขั้นพื้นฐานมาก ๆ ที่จะต้องปลูกฝังในความคิดของเด็กรุ่นใหม่ 

แต่ประเด็นสำคัญคือทักษะเหล่านี้ จะสร้างให้เกิดขึ้นได้อย่างไร  ?

อันดับแรก ต้องบอกว่า ‘ประสบการณ์’ เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของคนเรานั้น เกิดจากการที่ได้ลงมือทำจริง ๆ สำหรับประเทศไทย เรามักจะถูกสอนให้เรียนรู้จากการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในช่วงประถมศึกษา มัธยมศึกษา เราต้องอ่านหนังสือ แล้วนำความรู้จากในหนังสือ ไปสอบวัดผล แต่ในทางกลับกันเด็กควรจะได้มีโอกาสในการทำงานและเรียนพร้อมกันไปด้วย เพื่อจะได้ฝึกการแก้ไขปัญหาจากสิ่งที่เกิดขึ้น และเข้าใจได้อย่างแท้จริง ๆ 

ยกตัวอย่างจากตัวผมเอง ที่ได้เริ่มทำงานมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เพราะเมื่อไปอยู่ต่างประเทศ ก็ไปเริ่มทำงานรับจ้างที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ทุกอย่าง จากการที่เขา ให้ทำงานหลากหลายรูปแบบ โดยในหนึ่งวันเราจะได้ทำตั้งแต่การเป็นแคชเชียร์ แจกใบปลิว เรียกลูกค้า พ่อครัว จนกระทั่งเป็นพนักงานทำความสะอาด 

การไปทำงานเช่นนั้น เป็นการเปิดโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การฝึกพูดคุยและรับมือกับลูกค้า ซึ่งจะทำให้เราได้ฝึกการสื่อสาร ฝึกการคิดเงิน ช่วยให้เราได้เรียนรู้ถึงความละเอียดรอบคอบ ฝึกทำอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นการเรียนรู้การมีความคิดสร้างสรรค์ จนกระทั่งเมื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ผมกลายเป็นคนที่ทั้งเรียนและทำงานไปด้วย แบบเต็มเวลา เพราะเมื่อเราได้รับการปลูกฝัง ให้มีนิสัยเรียนรู้จากโลกของการทำงาน พอโตขึ้น เมื่อเราต้องการที่จะรู้ หรือทำสิ่งใดก็ไปฝึกฝนเรียนรู้จากตรงนั้น 

ตัวอย่างเช่น เมื่อสนใจเรื่องการบินและอวกาศ (Aerospace) ก็ไปหาที่ฝึกงาน หลังจากนั้นเมื่อต้องการศึกษา ความคิดของการทำงานแบบไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit Organization) ว่าเขามีความคิดต่าง จากการทำงานขององค์กรที่มุ่งเน้นผลกำไร  (Profit Organization) อย่างไร ก็ไปหาฝึกงานกับองค์กร Non-profit เพื่อเรียนรู้วิธีคิดเหล่านั้น และพอถึงจุดหนึ่งจะรู้สึกว่าเราผ่านการทำงานมาค่อนข้างมาก

ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้ล้วนเเล้วแต่เป็นสิ่งที่ทยอยปลูกฝัง และจะไปปรากฎในรูปแบบของการมีทักษะ ในการคิดและแก้ปัญหาเชิงตรรกะเข้าไปในตัวเราทั้งสิ้น 

อันดับที่สอง การเรียนรู้ด้วยวิธี Project-based Learning สิ่งสำคัญที่ผมมองว่า การศึกษาใน ประเทศไทยต้องสอนตั้งแต่อนุบาล เช่นเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งผมมองว่านี่เป็นข้อดี โดยในแต่ละชั้นเรียนจะต้องมีโปรเจกต์มาให้เด็ก ๆ ได้รู้จักการแก้ปัญหาประมาณ 2-3 โปรเจกต์ ซึ่งจะทำให้รู้ว่า เมื่อปัญหานี้เกิดขึ้น จะต้องแก้ไขอย่างไร โดยใช้สิ่งที่เราเรียนมาในชั้นเรียน มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในโจทย์ที่ให้มา จะไม่มีการให้เด็กมาหาคำตอบว่า ผลลัพธ์สุดท้ายคือเท่าไร 

แต่จะเป็นโจทย์ที่ควรจะสามารถประยุกต์ให้ได้อะไรที่มากกว่าการหาคำตอบ ซึ่งนี่เป็นสิ่งหนึ่ง ที่ควรทำ เพื่อเป็นการปลูกฝังการคิดเชิงตรรกะให้กับคนรุ่นใหม่ได้ ในช่วงที่อาจจะยังไม่ถึงวัย ที่สามารถเรียนรู้จากการทำงานได้ 

นอกจากทักษะการคิดและการแก้ปัญหาเชิงตรรกะแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับเด็กรุ่นใหม่ ที่ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องมีเสมอเลย ก็คือ ทัศนคติ และ Passion ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่ มี Passion ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี 

แต่ในขณะเดียวกันทัศนคติต่อการทำงานก็เป็นสิ่งที่ สำคัญมาก เพราะหลายครั้งเรามักจะเห็นเด็กรุ่นใหม่มีความอดทนสั้นเกินไป โดยพวกเขาจะคิดว่า ทุกอย่างมักมีทางลัด ทำตรงนี้แล้วสามารถกระโดดไปเป็นตรงนั้นได้แบบข้ามขั้นตอน...

ซึ่งความคิดเหล่านี้อาจจะเกิดจากการที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังเข้าสู่โลกของการทำงาน มักจะคิดว่าตนเองมีความรู้มาก 

 อันนี้ขออ้างถึงหลักทางจิตวิทยาว่า จริง ๆ ยิ่งคุณเรียนมากขึ้นเท่าไร คุณจะยิ่งรู้ว่า คุณไม่รู้ แต่คนที่คิดว่าตัวเองรู้มาก มักจะเป็นคนที่ไม่รู้เลย นี่คือความจริง

สังเกตได้เลยว่า ยิ่งคุณเรียนสูงไปจนถึงระดับปริญญาเอก คุณจะรู้เลยว่าบนโลกใบนี้มีเรื่องราวที่เรา ยังไม่รู้อีกมากมาย แต่ในทางกลับกันคนที่เรียนจบปริญญาตรี มักจะชอบคิดว่าตัวเองรู้ แต่รู้แบบผิวเผิน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในมุมมองของผม ผมมองว่าการรู้ลึกเป็นเรื่องที่สำคัญมาก 

 อย่างที่บอกว่า จะมีผลต่อการมีทัศนคติที่อาจจะเป็นสาเหตุของการมีความอดทนสั้น เพราะการที่เขาไม่รู้ลึก รู้แบบผิวเผิน แล้วนำไปคิดต่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร หรือรู้แค่นั้น แล้วหาคนมาแก้ปัญหาให้ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ต้องทำเอง ต้องแก้ไขปัญหาเองจริง ๆ แล้วกลับทำไม่ได้ ตรงนี้น่าเป็นห่วง  ภาพจาก pexel.com

ดังนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องปลูกฝังนอกจากเรื่องของทักษะการคิดเชิงตรรกะแล้ว ก็คือ  ต้องสามารถเป็นคนที่ยอมรับให้ได้ว่า ‘ไม่รู้’ และต้องเป็นคนที่พร้อมที่จะเรียนรู้ด้วย นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้ายอมรับก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้สามารถรู้ได้ในอนาคต

สำหรับผม ความสำเร็จของทุกอย่างจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และต้องอาศัยชั่วโมงบินมากขึ้น นั่นคือ การสะสมประสบการณ์ ที่จะทำให้เราเก่งขึ้น

แน่นอนว่าในการทำงานทุกอย่าง ทักษะด้าน Technical เป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องเพิ่ม คือ ประสบการณ์ในการทำงาน และประกอบกับการมีแพชชั่นและทัศนคติที่ดี เพียงเท่านี้คุณก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว  

นอกจากการมีทัศนคติที่ต้องสามารถยอมรับว่าไม่รู้ และการเป็นคนที่พร้อมที่จะเรียนรู้แล้ว ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นทัศนคติที่สำคัญเช่นกัน คือ การรู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาด หรือความล้มเหลว

ถ้าถามว่า เด็กรุ่นใหม่จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างไร แน่นอนว่า องค์กรที่พวกเขาเข้าไปทำงาน มีส่วนสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังและฝึกฝนพวกเขาได้ โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการทำในเรื่องของ นวัตกรรม ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าส่วนใหญ่จะมี mindset ของการให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำ ดังนั้นองค์กรจะต้องปล่อยให้พวกเขาได้ทดลองทำจริง ๆ 

แต่ผู้ใหญ่ในองค์กรเองก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำที่คอยให้คำแนะนำ และอำนวยความสะดวกอยู่ห่าง ๆ เพราะเมื่อพวกเขาล้ม ก็ให้ความหวัง กำลังใจ และคำแนะนำ เพื่อที่จะให้เขาสามารถทำมัน ให้ดีขึ้นได้ในครั้งต่อไป การทำแบบนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เขาได้ลองของใหม่มากกว่าที่จะมากลัว เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนรู้ก็จะเกิด

ในทางกลับกันหากมองในสิ่งที่องค์กรจะได้ คือ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงานที่ทำให้ คนในองค์กรต่างก็มีความกล้าที่จะนำเสนอ กล้าแสดงออก และกล้าให้ความเห็นมากขึ้น เหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ว่า เมื่อถามแล้ว  ไม่มีใครกล้ายกมือแสดงความคิดเห็น ไม่กล้านำเสนอ  

ถ้าถามว่าท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวดังกล่าวความสำคัญอย่างไร ....ก็ตอบได้ง่าย ๆ เลยว่า ถ้าคุณจะขาย โปรเจกต์หรือคิดโมเดลธุรกิจอะไรขึ้นสักอย่าง คุณก็ต้องมีทักษะในการ Pitch โน้มน้าวใจให้มีการเข้ามาร่วมลงทุน ขอความร่วมมือ หรือตัดสินอะไรบางอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่ มีความสำคัญต่อการเติบโตขององค์กรทั้งสิ้น 

สุดท้ายนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดของ การเรียนรู้  ไม่ใช่การมุ่งไปที่ผลลัพธ์ แต่สิ่งจำเป็นที่ต้องเก็บเกี่ยวมากกว่า คือ กระบวนการที่กว่าจะไปถึงผลลัพธ์ต่างหากซึ่งเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการเตรียมตัวเข้าสู่การทำงานในโลกอนาคตของเด็กรุ่นใหม่


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกทิศทางประกันภัยในยุคดิจิทัล | Exec Insight EP.74

Techsauce ได้พูดคุยกับ ดร.สุทธิพล อดีตเลขาธิการคปภ. ถึงการปรับตัวของธุรกิจประกันภัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้...

Responsive image

นวัตกรรม อีกหนึ่งความหวังในการเติบโตของประเทศไทย | Exec Insight EP.73

Techsauce ได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA พูดคุยถึงแนวทางและภารกิจหลักในการผลักดันนวัตกรรม รวมถึงการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายเข้าไปใน...

Responsive image

ไปรษณีย์ไทย 140 ปี สู้สมรภูมิโลจิสติกส์อย่างไร ?

จากบริษัทที่เริ่มต้นจากการสื่อสารเมื่อ 140 ปีก่อน สู่บริษัทโลจิสติกส์ และเตรียมต่อยอดสู่ Tech Company ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล ไปรษณีย์ไทย สู้ศึกโลจิสติกส์อย่างไร สงครามราคาจะ...