มอง ‘เกษตรกรรม’ อย่างที่มันเป็น และเหตุผลสำคัญที่ต้องเพิ่ม ‘คนสร้าง AgriTech’ | Techsauce

มอง ‘เกษตรกรรม’ อย่างที่มันเป็น และเหตุผลสำคัญที่ต้องเพิ่ม ‘คนสร้าง AgriTech’

ถ้ามองในด้านภูมิศาสตร์ ไทยได้เปรียบกว่าหลายประเทศตรงที่สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารได้ตลอดปีและให้ผลผลิตได้หลากหลาย เนื่องด้วยศักยภาพของพื้นที่ แต่หากมองด้านเศรษฐศาสตร์ รายได้ของเกษตรกรไทยจำนวนมากกลับตกต่ำ ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินพอกพูน และอยู่ในจุดที่เสียเปรียบอย่างมาก

แล้วจะทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยมีรายได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น? 

AgriTech Agriculture เกษตรกรไทยSource : Unsplash

หลังจากมี ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ ทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นโอกาสใหม่ๆ และให้คำตอบในทิศทางเดียวกันว่า การพัฒนา AgriTech (AgTech, Agriculture Technology) หรือ เกษตรเทค, เทคโนโลยีด้านการเกษตร เป็นเครื่องมือสำคัญของการทำเกษตรในภาวะโลกรวน เพราะสามารถนำมาใช้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต วิเคราะห์คาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ทำให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงและความสูญเสียได้ ฯลฯ ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นของเกษตรกร ย้อนไปถึงผู้อยู่ต้นทางการผลิต  

คำถามที่ตามมาคือ ถ้าจะให้ใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง จะมีเกษตรกรกี่รายที่พร้อมลงทุนด้านเกษตรเทค?

หากคุณติดตามเกษตรเทคอยู่แล้ว ชื่อของ RicultHG RoboticsEDENFreshket น่าจะคุ้นหูเพราะโลดแล่นอยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ส่วนองค์กรขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนเกษตรเทค ช่วงนี้ก็จะเห็นชื่อ AXONS บริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีและการเกษตรที่อยู่ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ เดินหน้ากระตุ้นการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) อย่างต่อเนื่อง

ทีมเทคซอสมีโอกาสพูดคุยกับ คุณสรรเสริญ สมัยสุต กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารแบรนด์ AXONS (แอ๊กซอน) ธุรกิจบริการด้านเกษตรและเทคโนโลยีซึ่งมีลูกค้าอยู่ใน 17 ประเทศ ที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยมีมุมมองว่า ต้องเริ่มจากการพัฒนา ‘คนสาย AgriTech’ ให้มากขึ้นก่อน

คุณสรรเสริญ สมัยสุต AXONS แอ๊กซอน Agritechคุณสรรเสริญ สมัยสุต กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารแบรนด์ AXONS 

Q : เนื่องจาก ‘แอ๊กซอน’ เป็นบริษัทเทคที่อยู่ในเครือ CP มีศักยภาพที่จะทำสิ่งต่างๆ อยู่แล้ว อยากทราบว่า ยังมีประเด็นใดอีกที่เป็นความท้าทายของบริษัท

A : ความท้าทายคือ Mass Adoption ทำให้เกษตรกรมาใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มตัว อย่างแรกที่ต้องทำคือ ทำให้มีต้นทุนที่ถูกลง นั่นหมายความว่า เกษตรกรหมู่มากเข้าถึงเทคโนโลยีได้ กับ Localization เกษตรกรจะมองว่าภาษาอังกฤษใช้งานยากและไม่มีความเข้าใจ ทั้งที่เกษตรกรไทยเก่งมาก แต่ความรู้กระจุกตัวเป็นกลุ่ม เราจึงต้องทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย ทำเป็นภาษาไทย และสนับสนุนให้แบ่งปันองค์ความรู้กัน เพราะหนึ่งในต้นทุนด้านธุรกิจคือ Know how ถ้าทำได้จะเป็นการยกระดับการเกษตร โดยมีหัวใจสำคัญคือ ต้องทำให้เกษตรกรรวยขึ้น มีรายได้มากกว่าเดือนละ 15,000 บาท เป็นอย่างน้อย ด้วยการใช้เทคคาดการณ์และวางแผนการเพาะปลูกให้ดียิ่งขึ้น ประสิทธิภาพการเพาะปลูกดีขึ้น ลดความสูญเสียและต้นทุนได้

Q : AgriTech เป็นเทรนด์สำคัญในเวลานี้?

A : แน่นอนว่า เทคมีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม และเทคก็จะดิสรัปต์วงการเกษตร เพราะประชากรเพิ่มขึ้น พื้นที่ทำการเกษตรลดลง ถามว่าทำไมตอนนี้เป็นจังหวะที่ดี เพราะโครงสร้างพื้นฐานเอื้อให้เกษตรเทคเกิด เนื่องจากเรามีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายที่เข้าถึงทุกพื้นที่ มี 4G 5G บนมือถือ ขณะเดียวกัน ราคาค่าใช้งานถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ อุปกรณ์การสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน อุปกรณ์อื่นๆ ก็มีราคาถูกลงด้วย หลายคนเริ่มใช้ไลน์ ใช้เฟซบุ๊ก ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านเกษตรก็มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้นโดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ส่วนจุดที่กระตุ้นให้เกษตรเทคเกิดอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ความต้องการของผู้บริโภคเรื่องอาหารปลอดภัย ปลอดสารจริง มีคุณภาพจริง 

agritech app on mobile

Q : AgriTech จึงต้องเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจเกษตร?

A : ธุรกิจเกษตรมันมีห่วงโซ่ยาวมาก เพาะปลูกเสร็จ ยังมีเก็บเกี่ยว ขนส่ง เข้าโรงงาน ส่งให้พาร์ตเนอร์ ผู้ประกอบการ ซึ่งเรา (AXONS) ไม่ได้ทำแค่ช่องทางขาย เราทำตลอดห่วงโซ่อุปทาน และต้องทำเพิ่มด้วยว่า ทำยังไงให้ผู้บริโภคในตลาดเห็นด้านการผลิต ร่วมกับการทำให้การผลิตเป็นความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น เราจึงทำให้ตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ด้วยเทคโนโลยี

Q : ในฐานะผู้บริหาร มองเรื่อง ‘คน’ กับ ‘การพัฒนา AgriTech’ อย่างไร

A : คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานอะไรใหม่ๆ ต้องการงานที่มีความท้าทาย ถ้าเป็นงานซ้ำๆ การลาออกจะสูงโดยอัตโนมัติ เพราะสิ่งที่คนต้องการไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็น ความสำเร็จ ความภูมิใจ ซึ่งเป็นอาหารใจที่ดีมาก เมื่อเขาได้ผลลัพธ์ที่ดีมีความสุข ก็จะโหยหาสิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และเนื่องจาก เกษตรเทค เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นได้ เราจึงต้องทำให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรแล้วรู้ว่า จะให้ค่ากับอะไร และทำให้เขาเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น แต่คนน้อยมากที่รู้เรื่องเกษตรเทค ขณะเดียวกัน คนเทคก็ไม่ค่อยนึกถึงการเกษตร ทั้งที่การเกษตรเป็นตัวชูโรงที่จะสร้างจีดีพีเพิ่มให้ประเทศได้ เราจึงต้องเพิ่มคนสายเทค เพิ่มการสื่อสาร ว่าหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนประเทศมีการเกษตรด้วย ไม่ได้มีแต่การท่องเที่ยว

Q : คนที่รู้เรื่องเกษตรเทคจึงสำคัญ และทางแอ๊กซอนเองก็กำลังสรรหาคนสายนี้?

A : สมัยก่อน เทคเป็นเรื่องหลังบ้าน แต่วันนี้เทคโนโลยีเป็นกองหน้า ประเทศไหนมี มันจะไปยกระดับ ยิ่งสเกลถูกที่ เราไปที่ไหนได้หมด แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดี แต่ผมคิดว่าธุรกิจเราอยู่ในช่วงขาขึ้น เรากำลังขยายตัวเต็มที่และต้องการคนสายเทคอีก 400 อัตรา รวมทั้งสตาร์ทอัพในประเทศและต่างประเทศ โดยคนที่เราต้องการให้เข้ามาในแวดวงเกษตรเทคคือ คนเทค คนไอทีที่เข้าใจด้าน Business ต้องสามารถไปลงหน้างานได้ ไปอยู่กับลูกค้า เกษตรกร หรือพันธมิตรต่างๆ ได้ เพื่อทำความเข้าใจธุรกิจ ความต้องการ แล้วมาออกแบบกระบวนการให้ตรงใจตลาด เขียนซอฟต์แวร์ให้ตรงใจลูกค้า 

และสำหรับเรา แม้เป็นบริษัทเทคแต่เล็งเห็นว่า คนเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของบริษัท ไม่ใช่แค่เรื่องซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยี และเนื่องจากประเทศไทยเป็นครัวของโลก ถ้าจะแข่งด้านการเกษตรในเวทีโลก ไม่มีใครเก่งเท่าเรา เราเองต่างหากที่จะสามารถพัฒนา AgriTech ได้ดี และดิสรัปต์ภาคเกษตรกรรมได้

Q : แล้วมีอะไรเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนเหล่านั้น

A : การที่เราจะดึงดูดคนเก่งได้ เราต้องให้อิสระและสร้าง ‘โอกาสที่มีความแตกต่าง’ ซึ่งเรากำหนดไว้ 4 ข้อ หนึ่ง เราให้โอกาส สอง ให้อำนาจตัดสินใจ ให้เขาได้คิดและทำ เพราะถ้าเขาไม่มีอำนาจ คนเก่งเหล่านี้ก็ลาออกอยู่ดี สาม สนับสนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อทำให้ประสบความสำเร็จกับวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และ สี่ ให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสม ถ้ามีองค์ประกอบพื้นฐานแบบนี้ คนจะลาออกน้อย แล้วเขาจะก้าวกระโดดเอง เพราะเราไม่ได้ให้โจทย์ง่าย แต่ให้โจทย์ยากจึงเป็นโอกาสที่เซ็กซี่ 

Q : ขยายความด้านการให้ ‘โอกาส’ กับ ‘อำนาจการตัดสินใจ’ เพิ่มอีกหน่อย

A : การให้โอกาส คือการสร้างคนที่ดีที่สุด ต้องหาโอกาสที่ใช่ให้เขา ให้คนรุ่นใหม่มีอิสระ มีอำนาจ มีวัฒนธรรม มีผลตอบแทน โอกาสที่ท้าทายนี้จะดึงดูดให้คนเก่งอยากอยู่กับเรา และเนื่องจากเราเป็นองค์กรที่แบนราบ ทุกคนจึงมีอำนาจการตัดสินใจด้วยตัวเอง เมื่อเขาตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เขาจะสามารถ Perform และแสดงตัวตนได้เต็มที่ เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการอิสระทางความคิด มีความเชื่อเป็นของตัวเอง เราจึงเปิดทางให้เขาคิดเกษตรเทคและวางกลยุทธ์มาดูว่า สิ่งที่เขานำเสนอมีมูลค่าเท่าไหร่ มันคุ้มไหมที่จะทำ โดยทางแอ๊กซอนเป็นเพียงกระจกที่พิจารณาว่า เหมาะสมแค่ไหนที่จะลงทุน นอกจากนี้ เราไม่ได้มองแค่คนเก่ง แต่มองเรื่อง ความสามารถ และ ทัศนคติที่ดี ด้วย ถ้าคนที่มีความสามารถแต่ทัศนคติไม่ดี ไม่ได้มีมายด์เซ็ตที่อยากจะทำ ผมเอาผ้าขาวมาฝึกดีกว่า

Q : แต่การดึงคนใหม่เข้ามา หรือการบริหารคนสายเทคให้ทำงานด้วยกันนานๆ ยิ่งเป็นเกษตรเทค ยิ่งไม่ง่าย? 

A : เราให้อิสระโดยมีนโยบาย Work From Anywhere พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ตราบใดที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยเราจะไม่เอาคนเทคมานั่งบนหอคอย แต่ให้ไปอยู่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการ เขาจะได้เห็นว่า มีโอกาสอะไร มีโซลูชันส์อะไรที่จะช่วยให้พาร์ตเนอร์ ลูกค้า หรือเกษตรกรประสบความสำเร็จได้อีกบ้าง เพื่อนำไปออกแบบซอฟต์แวร์คุณภาพหรือแพลตฟอร์มที่มีคนใช้งาน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นซอฟต์แวร์ที่แพงที่สุด คือ  ‘ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีคนใช้’

และที่สำคัญคือ ธรรมชาติของคนสายเทคสื่อสารไม่เก่ง เพราะเขาอยู่กับคอมมากกว่าอยู่กับคน ต่างจากการขาย งานเซลล์ที่จะพบปะคนตลอด สิ่งที่เราทำก็คือ ‘ให้ค่ากับการสื่อสาร’ เพราะการทำงานใหญ่ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เราจึงต้องการให้พนักงานไปอยู่หน้างาน ยิ่งคุยเยอะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง สามารถนำสิ่งที่ไปพูดคุยมาใช้กับธุรกิจสร้างซอฟต์แวร์ได้  

Q : ในมุมมองของคุณสรรเสริญ เหตุผลและความสำคัญของการเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ด้านการเกษตรเอง คืออะไร

A : การใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปไม่มีทางตอบโจทย์ได้หมด สุดท้าย ถ้ามันไม่ได้ฟิตกับเรา มันก็ไม่ฟิตกับเมืองไทยหรอก เราจึงต้องการออกแบบกระบวนการกับซอฟต์แวร์ไปด้วยกัน และต้องขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมให้มันไปพร้อมกัน เนื่องจากซอฟต์แวร์ที่เราใช้กันโดยทั่วไปแล้วบริษัทต่างๆ มักจะซื้อมาใช้เอง เหล่านั้นเป็นซอฟต์แวร์ระดับโลกที่แพง ดัดแปลงยาก ต้นทุนสูง สุดท้าย เมื่อถึงเวลาจำหน่ายสินค้ากลับต้องตั้งราคาสินค้าอิงตามตลาด

รู้ไหม…เกมนี้คนที่ชนะคือ คนที่จัดการบริหารหลังบ้านดีกว่า หมายถึง คนที่ออกแบบซอฟต์แวร์ได้เอง ซึ่งเราก็มีความรู้ความเข้าใจธุรกิจอยู่แล้ว เมื่อมาออกแบบกระบวนการและซอฟต์แวร์ต่างๆ จึงมีประสิทธิภาพและทำให้เกษตรเทคเป็นระบบเหมือน ‘สูทสั่งตัด’ ของเราเอง  ทำให้ซอฟต์แวร์ไปช่วยสนับสนุนให้คนเก่งงานยิ่งขึ้น

Q : หลังจากมีซอฟต์แวร์แล้ว การขับเคลื่อนภาคเกษตรจะเป็นอย่างไรต่อ 

A : สำหรับแอ๊กซอน เรียกว่า One to Many เราต้องแบ่งปันเทคโนโลยีกัน โดยพัฒนาหนึ่งระบบแล้วต้องสามารถใช้ได้หลายบริษัท เมื่อเกิดการแบ่งปันกันใช้ ตรงนี้จะทำให้ต้นทุนเทคโนโลยีถูกลง การขยายผลการดำเนินงานก็ทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีมีราคาสูงจึงเป็นอุปสรรคของเกษตรกรมาตลอด ไหนจะกลัวจะไม่คุ้มทุน กลัวใช้ไม่เป็น มีเรื่องภาษาอีก เราจึงออกแบบซอฟต์แวร์เป็นภาษาไทยให้ด้วยเพื่อตอบโจทย์คนไทย

AXONS Agritech

Q : อยากทราบแผนผลักดันเกษตรเทคหรือแผนงานระยะสั้น ภายใต้การบริหารของคุณสรรเสริญ

A : เรามองว่า ยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยว เพราะเรากำลังผลักดันให้เทคโนโลยีมีต้นทุนต่ำที่สุดเพื่อทำให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีไปเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ทำให้มีรายได้สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคได้อาหารที่ดีมีคุณภาพในราคาที่ถูก ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยี  โดยแผนปีนี้ เราจะลงทุนเพิ่มอีก 2,600 ล้านบาท เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มกำลังคน พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพราะ ทรัพยากรบุคคล คือหัวใจสำคัญที่จะสร้างซอฟต์แวร์ให้ตอบโจทย์ตลาดและเกษตรกร 

Q : ขณะที่เศรษฐกิจไม่ดี บริษัทใหญ่ๆ กางแผนลดต้นทุน ลดความสูญเสีย ทางแอ๊กซอนให้ทีมสร้างเกษตรเทค Fail ได้ไหม

A : ผมมองว่า ความล้มเหลวเป็นพ่อของความสำเร็จ เราสนับสนุนให้คนลองผิดลองถูกเต็มที่นะ ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วจะเป็นแพะรับบาป คือ ถ้าคุณทำผิด แล้วคุณมีแนวทางแก้ไข นำมาแบ่งปันกันได้ เป็นบทเรียนให้คนอื่นๆ ในองค์กรด้วย ทำให้ต้นทุนความผิดพลาดต่ำลง ขออย่างเดียว ไม่ผิดซ้ำ เพราะการที่บริษัทเดินหน้าก็ต้องเจอปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้าเจอปัญหาซ้ำๆ หมายความว่า บริษัทกำลังถอยหลัง ดังนั้น ‘ปัญหา’ เป็นตัวบอกสุขภาพธุรกิจ เราจึงสนับสนุนให้คนมาทดลองทำ ทำแล้วต้องพูดความจริงด้วยนะ เพราะถ้าคนไม่กล้าพูดสิ่งที่ผิดพลาด เขาจะไม่กล้าพูดความจริง ต้องคิดว่า ไม่มีการตัดสินใจไหนเพอร์เฟกต์ แม้แต่ President อย่างผมก็ต้องกล้าตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทั้งสิ้น 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Krungthai-AXA Life ยกระดับบริการประกันไปอีกขั้น ดึงโซลูชัน AppMan OCR+ เปลี่ยนไฟล์เอกสารเป็น Big Data

ธุรกิจประกันชีวิตได้เผชิญกับความท้าทายในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติโควิด-19 สถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งการใช้จ่ายและไลฟ์สไตล์...

Responsive image

ถกประเด็น 'Tech ที่เข้าตา-น่าลงทุน' จากงาน 'Technology Investment: The Game Changer'

รวมความเห็น เทรนด์ และประสบการณ์บางส่วนด้านการลงทุนด้านเทคโนโลยี จากผู้นำทางความคิด ผู้บริหารระดับสูง ที่มาร่วมพูดคุยกันว่า เทคโนโลยีใดน่าสนใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมได้ ...

Responsive image

จากร้านขายมือถือสู่ Ecosystem แห่งอนาคต กับ Jaymart Group ด้วยแนวคิด ‘ใจ’

เชื่อว่าคนไทยไม่ว่าจะเกิดใน Gen ไหน คงไม่มีใครไม่รู้จัก Jaymart กับภาพลักษณ์ที่เป็นผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริมมือถือ รวมไปถึงสินค้า IoT ปัจจุบันมีมากกว่า 300 สาขาทั่วประเ...