’บ้านปู‘ เผยผลงานครึ่งปีแรก เน้นลดต้นทุน ลดคาร์บอน ดัน CCUS ในอเมริกา | Techsauce

’บ้านปู‘ เผยผลงานครึ่งปีแรก เน้นลดต้นทุน ลดคาร์บอน ดัน CCUS ในอเมริกา

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ด้วยรายได้จากการขายรวม 2,441 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 88,425 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 650 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 23,547 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 69 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 2,489 ล้านบาท) บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและมาตรการควบคุมต้นทุน เดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ยกระดับการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งจัดสรรงบประมาณการลงทุนอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว 

คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) มีความคืบหน้าจากโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) ในสหรัฐฯ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นก๊าซธรรมชาติซึ่งมีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Sequestered Gas: CSG) และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งใน Scope 1  2 และ 3 

"ในขณะเดียวกัน เรายังผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ยกระดับการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจ (Digitalization) เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบนิเวศภายในบ้านปู รวมทั้งมีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายโอกาสด้านการขายและการตลาด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานในอินโดนีเซีย และสหรัฐฯ” 

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทย่อยของบ้านปูในสหรัฐฯ BKV Corporation (BKV) ขายสินทรัพย์ในธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำบางส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักในแหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 132 ล้านเหรียญสหรัฐ การขายสินทรัพย์ในครั้งนี้ทำให้ BKV ยังคงวินัยทางการเงินที่ดีและสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทรัพย์สินที่มีผลตอบแทนสูงกว่า 

ส่วนโครงการ Ponder Solar โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเท็กซัส มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ BKV จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 2 จากธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง 

ทั้งนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของ BKV จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ลดการพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากภายนอก และใช้พลังงานที่ผลิตเองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการ Ponder Solar และการดำเนินโครงการ CCUS เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งของบริษัทและของบริษัทอื่นๆ

สำหรับธุรกิจก๊าซ เรานำ Green Gas ไปขายให้คนที่ต้องการก๊าซสีเขียว ตอนนี้ยังมี Volume ไม่เยอะมาก แต่คนที่ต้องการจะเยอะขึ้น และราคาที่เราขายได้ก็ถือว่าพรีเมียมค่อนข้างมาก คิดเป็นสองเท่าของราคาก๊าซในอเมริกา ส่วนเรื่อง Decarbonization ที่เราสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2.5 เมกะวัตต์ ถือเป็นธุรกิจโซลาร์ที่มีกระแสเงินสดที่มั่นคง (Stable Cash Flow) แล้วก็ได้คาร์บอนเครดิตด้วย ทั้งหมดนี้ก็คาดว่า BKV จะเป็นธุรกิจ Net Zero ภายในปี 2030

สำหรับผลการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลักในช่วงครึ่งปีแรก 2567 มีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน มุ่งควบคุมประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด โดยตั้งเป้าลดต้นทุนในธุรกิจเหมืองที่ 1.5 - 3.0 เหรียญสหรัฐต่อตัน และในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ 0.06 - 0.07 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ BKV ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลางกับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc. และ Kiewit Infrastructure South Co. โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้มาพร้อมกับก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลางของ BKV มาจากการดำเนินโครงการ CCUS และเมื่อได้รับการรับรองจาก American Carbon Registry แล้ว คาดว่าจะสามารถส่งมอบก๊าซดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี 2567

(จากซ้าย) คุณกิรณ ลิมปพยอม Chief Operating Officer, คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ Chief Executive Officer, คุณอริศรา สกุลการะเวก Chief Financial Officer และคุณสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ CEO Banpu NEXT

  • กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ยังคงสร้างผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ II ในสหรัฐฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้า 288 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple II ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ 

  • กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน 
    • 1) ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 
      ในครึ่งแรกของปี 2567 ได้ลงนามสัญญาใหม่เพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม กำลังผลิตรวม 1.9 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตที่ดำเนินการแล้วเพิ่มขึ้น 4.1 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ขณะที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop PPA) ในอินโดนีเซีย จำนวน 10 เมกะวัตต์ 

    • 2) ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน 
      เริ่มเดินหน้าสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้แก่ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่การก่อสร้างโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าตามแผนถึง 97% 

    • 3) ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและเดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว 

    • 4) ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน เดินหน้าเพื่อการขยายระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลางในเฟส 2 ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี และยังได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญากับ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต 

นอกจากนั้น หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบข้อมูลที่มีการซื้อ-ขายเรียลไทม์ผ่านแพลตฟอร์มและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย ซึ่งเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์

คุณสินนท์อธิบายว่า บ้านปูดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกาด้วยกลยุทธ์ 3Ds นั่นคือ Decentralization, Digitalization และ Decarbonization“ด้วยพอร์ตพลังงานที่ครบวงจรและผสมผสานทั้งพลังงานรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่อย่างสมดุลของบ้านปูในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เราตั้งเป้าให้แต่ละกลุ่มธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างแข็งแกร่งเพื่อผลตอบแทนที่มั่นคง สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียและร่วมขับเคลื่อนโลกให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน” คุณสินนท์กล่าวปิดท้าย

*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่ USD 1: THB 35.6601 และ ไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ USD 1: THB 36.7083

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

องค์กรไทยพร้อมแค่ไหนเรื่อง AI? ซิสโก้เผยไทยพร้อมเพียง 21% แม้ลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนยังต่ำกว่าคาด

ซิสโก้เผยผลสำรวจ 'ดัชนีความพร้อมด้าน AI ประจำปี 2024' ชี้องค์กรไทยเผชิญความท้าทายในการใช้ AI แม้จะมีการตื่นตัวและลงทุน แต่ความพร้อมโดยรวมยังต่ำ โดยมีองค์กรเพียง 21% ที่พร้อมใช้งาน ...

Responsive image

ทุนจีนดันไทยเป็นฐานที่ตั้งการผลิตแห่งใหม่ ตั้งรับภัยสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งให้ตลาดรถยนต์ EV-อิเล็กทรอนิกส์พุ่งแรง

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้บริษัทจีนหลายแห่งทั้งในอุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์ได้พร้อมใจเร่งขยายฐานธุรกิจในประเทศไทย เพื่อ...

Responsive image

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน...