รายงานข่าวจาก Fintechnews ประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ร่วมกับธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เปิดตัวบริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Payment เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ผ่านมา ภายใต้บริการดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคและผู้ขายทั้งสองประเทศสามารถรับการชำระเงินสินค้าและบริการผ่าน QR Code ได้ทันที ความพยายามที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มของภาคการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code ของไทยกับอินโดนีเซียจะดำเนินการคล้ายคลึงกับกรณีของสิงคโปร์และไทย กับ มาเลเซียและไทย ที่ก่อนหน้านี้ก็ได้ประกาศเปิดการใช้งานชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย QR Code ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การเปิดตัวบริการชำระเงินผ่าน QR Code ยังคงอยู่ระหว่างขั้นตอนนำร่องของโครงการ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการจากร้านค้าอินโดนีเซียรวมไปถึงธุรกรรมจากแพลตฟอร์ม E-Commerce ระหว่างประเทศซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการเชื่อมต่อของบริการ QR Code จะดำเนินการได้อย่างราบรื่น โดยในขั้นตอนนำร่องดังกล่าว ผู้ใช้บริการจากอินโดนีเซียจะสามารถใช้แอปพลิเคชันการชำระเงินจากโทรศัพท์มือถือตนและสแกน รหัส QR ของไทยในการชำระเงินกับร้านค้าทั่วประเทศไทยได้เลย ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานจากประเทศไทยเองก็สามารถสแกน QRIS (รหัส QR ตามมาตรฐานของประเทศอินโดนีเซีย) สำหรับร้านค้าของอินโดนีเซีย และแพลตฟอร์ม E-Commerce ได้
Sugeng ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ย้ำถึงโครงการนี้ว่า “การริเริ่มครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของกรอบการดำเนินงานชำระเงินของอินโดนีเซียภายในปี 2025 โดยเฉพาะระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการรายย่อย บริการนี้จะช่วยเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านรหัส QR ของทั้งสองประเทศ สิ่งที่น่าสนใจของโครงการนี้ก็คือ การใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่อ้างอิงจากกลไกลการใช้ชำระเงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency Settlement Framework) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมการเงิน และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่ำลงด้วย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงินในภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นการผนวกระหว่างภาคการเงิน เศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจ E-Commerce เรียกได้ว่า เป็น “แซนด์บ็อกซ์ของอุตสาหกรรม” (Industrial Sandbox) ที่อยู่ระหว่างทางการขยายการชำระเงินข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”
ในฝั่งของคุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้กล่าวเสริมว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศมาโดยตลอด ซึ่งจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการที่ใกล้เคียงกันในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) เราเชื่อว่าการชำระเงินผ่าน QR Code จะช่วยเพิ่มทางเลือกการทำธุรกรรมการเงินที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากว่าสำหรับการชำระเงินของประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ บริการดังกล่าวจะช่วยเหลือบรรดาธุรกิจ E-Commerce ในช่วงเวลาท้าทายเช่นนี้ และเป็นตัววางรากฐานสำหรับการฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมต่อระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนก็จะเร่งให้พลเมืองภูมิภาคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะเอื้อต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในรูปแบบดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้น”
คาดการณ์ว่าบริการดังกล่าวจะใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 และจะสามารถขยายการให้บริการชำระเงินรูปแบบ QR Code ให้รับรองทั้งนอกเหนือจากสถาบันการเงิน และอาจใช้งานได้ผ่านเบอร์โทรศัพท์ได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด