COVID-19 เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนสนใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนการรักษาโรคมีความซับซ้อนมากขึ้น 'บำรุงราษฎร์' มีวิธีการ Transformation ธุรกิจโรงพยาบาลในยุค COVID-19 อย่างไร
รศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ' ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังมีความต้องการและความตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น โรงพยาบาลจึงต้องเตรียมความพร้อมและยกระดับศักยภาพในเชิงการแพทย์อยู่ตลอดเวลา ล่าสุดบำรุงราษฎร์ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดอันดับ 1 ของไทย (Best Hospitals 2021 – Thailand) ด้วยคะแนน 92.05% และ Global Top 200 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลกในปี 2564 (World's Best Hospitals 2021) จากโรงพยาบาลจำนวน 2,000 แห่ง ใน 25 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ และประเทศไทย สำรวจโดย Newsweek ร่วมกับ Statista Inc บริษัทวิจัยข้อมูลระดับโลกที่ได้รับการยอมรับในการเปิดเผยโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก โดยเกณฑ์การให้คะแนนพิจารณาจาก 3 ส่วน คือ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ใน 25 ประเทศ, ผลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วย และ KPI ทางการแพทย์ในโรงพยาบาล เช่น ข้อมูลคุณภาพการรักษา และมาตรการด้านสุขอนามัย เป็นต้น '
ที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์ได้สั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านการแพทย์จากทั่วโลกเพื่อพัฒนาศักยภาพของทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพมาตลอด 40 ปี หรือเรียกว่า Bumrungrad Rich Heritage จนเป็นที่ยอมรับจากสถาบันการรับรองคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลและได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยทั่วโลก ซึ่งองค์ความรู้และการรับรองด้านคุณภาพต่างๆ เหล่านี้ ไม่สามารถทำกันได้ในเวลาอันสั้น แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการสั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาเพื่อส่งมอบการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด โดยเฉพาะการรักษาโรคยาก หรือโรคที่มีความซับซ้อน ซึ่งนอกจากต้องอาศัยศักยภาพของแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์แล้ว ยังจำเป็นต้องมีทีมสหสาขาวิชาชีพที่ทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานและมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน และคำนึงถึง ‘Value-based treatment’ คือการรักษาพยาบาลที่มีคุณค่า ภายใต้คุณภาพมาตรฐานแบรนด์ 'บำรุงราษฎร์' ซึ่งแพทย์ผู้ชำนาญการในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพิจารณาถึงการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายในราคาที่สมเหตุสมผล คุ้มค่ากับการรักษา เช่น รักษาหายและไม่ต้องกลับมารักษาซ้ำ หรือไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน เพราะมีเทคโนโลยีที่ทำให้แผลเล็ก ลดอาการเจ็บปวด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็ว
ทิศทางการดำเนินงานทางด้านการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในปี 2564 ยังคงขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการให้บริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรม (World-class holistic healthcare with innovation) โดยให้ความสำคัญในจุดแข็ง 3 ประการหลัก หรือ 3C ประกอบด้วย 1. Critical Care การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤต มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผู้ป่วยวิกฤต และทีมสหวิชาชีพ ที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะทุกเสี้ยววินาทีคือความอยู่รอดหรือการสูญเสีย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง เพื่อความแม่นยำและรวดเร็วในการวินิจฉัยและรักษาให้ทันต่อสถานการณ์ ควบคู่ไปกับความชำนาญในการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา ในพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตโดยเฉพาะ 2. Complicated disease การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหลายโรค หรือเป็นผู้ป่วยที่อ่อนแอ มีโอกาสทรุดหนักหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง บำรุงราษฎร์เคยรักษาผู้ป่วยที่ป่วยเป็น 4-5 โรครวมกัน โดยมี Center of Excellence ที่ครอบคลุมการรักษาในทุกโรค มีทีมสหวิชาชีพที่ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทุกคนมองเป้าหมายเดียวกันคือความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ (patient safety) จึงทำงานเป็นทีมเวิร์คได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาเคสยากๆ ที่มีความซับซ้อนได้สำเร็จ และ 3. Cutting-edge technology การรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น อาทิ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัด, MAKO แขนกลหุ่นยนต์เปลี่ยนข้อเทียม, คอมพิวเตอร์นำวิถี ฯลฯ เพื่อช่วยให้กระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยากทำได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้าน ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ รองประธานอาวุโสปฏิบัติการด้านการแพทย์ (Medical Quality & Affairs & Informatics & Human Resources) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และผู้บัญชาการศูนย์โควิด-19 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมถึงผลงานความสำเร็จจากการรักษาเคสยากๆ จำนวนมาก ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของทีมแพทย์ภายใต้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของโรงพยาบาลฯ อาทิ การทำคลอดแฝด 6 ได้สำเร็จด้วยการทำงานร่วมกันของคณะแพทย์และทีมบุคลากรทางการแพทย์กว่า 20 ท่าน, การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจให้กลับบ้านอย่างปลอดภัยถึง 2,682 ราย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกว่า 1,000 ราย มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเกิน 2 จุด, การใช้เทคโนโลยี Cardio Insight เพื่อช่วยวินิจฉัยหาจุดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้อย่างแม่นยำ และทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติได้ถึง 99% ของผู้เข้ารับการรักษา, การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถึง 24,000 คน และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยใช้เทคโนโลยี AI IBM Watson for Oncology เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงให้ผู้ป่วยแต่ละราย และการผ่าตัดเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดให้กับผู้ด้อยโอกาส 815 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุด มีอายุเพียงแค่ 1 วัน เป็นต้น ความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญสูงหลากหลายสาขาทำงานร่วมกัน พร้อมทีมงานสหสาขาวิชาชีพ การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ก้าวต่อไปของบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลฯ มีแผนในการพัฒนาและขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางซึ่งมีประสบการณ์สูง พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ปัจจุบันโรงพยาบาลฯ มีการยกระดับ Center of Excellence ต่างๆ อาทิ ศูนย์ผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care Unit), ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน (Horizon Reginal Cancer Center), ศูนย์ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อและอวัยวะ (Tissue & Organ Transplantation Center), ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ (Urology Center), ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ (Digestive Diseases GI Center), ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Surgery Center), สถาบันกระดูกสันหลัง (Spine Institute), ศูนย์โรคระบบประสาท (Neurology Center), ศูนย์หัวใจ (Cardiology Center) โดยแผนการขยายศูนย์ฯ ส่วนหนึ่งจะดำเนินการผ่านโมเดลธุรกิจ Bumrungrad Health Network ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตรกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขยายการเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานบำรุงราษฎร์ในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ที่อาศัยอยู่ในเขตปริมณฑลและตามภูมิภาคต่างๆ
ในอนาคตอุตสาหกรรมทางการแพทย์จะเป็นหนึ่งใน megatrend ที่มีแนวโน้มเติบโต รวมถึงธุรกิจโรงพยาบาล จะถูกยกระดับความสำคัญและเป็นที่จับตามองมากยิ่งขึ้น โรงพยาบาลฯ ยึดมั่นในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาด้านคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยจะเป็นบทพิสูจน์ที่แสดงถึงศักยภาพทางการแพทย์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับผู้มาใช้บริการ และจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศให้เกิดระบบนิเวศที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เช่นกัน
'การลงทุนของเราจะตามเทรนด์ตลอดเวลา เช่นตอนนี้มี COVID-19 เกิดขึ้นคนไม่ค่อยมั่นใจในการมาโรงพยาบาลเพราะว่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยและความสะอาด แต่ว่าตอนนั้นมีคู่ค้าของเรามานำเสนอหุ่นยนต์ที่ช่วยป้องกันความสะอาด บอร์ดเราก็ตัดสินใจที่จะลงทุนในทันที เพราะเพื่อความมั่นใจของคนไข้รวมถึงเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ของเรา' ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าว
สำหรับ AI กับ HEALTH CARE มองว่าปัจจุบันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ในระยะเวลา 5-7 ปีต่อจากนี้ AI จะขยายไปอีกหนึ่งมิติ คือ มีส่วนช่วยในการตัดสินใจร่วมกับแพทย์มากขึ้น ว่าโรคนี้จะมีแนวทางในการรักษาอย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้ AI จะไม่เข้ามาเป็นตัวตัดสินใจในการรักษาทันที เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฏหมายออกมารองรับ และรับผิดชอบหากว่า AI เกิดการตัดสินใจผิดพลาด เพราะมองว่าอย่างไรก็ตาม AI ก็ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ 100%
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด