ผลกระทบของ Covid-19: จากวิกฤตสู่โอกาสใหม่ในประเทศจีน | Techsauce

ผลกระทบของ Covid-19: จากวิกฤตสู่โอกาสใหม่ในประเทศจีน

ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน หลังจากนั้นตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อจากไวรัสที่สามารถระบุในภายหลังว่าเป็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือปัจจุบันมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Covid-19 ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ จนรัฐบาลเมืองอู่ฮั่นประกาศปิดเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 11 ล้านชีวิต กระทั่งในวันที่19 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ประกาศออกมาว่าประเทศจีนไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศ (local infection) แล้ว  ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตไวรัส โดยมีเพียงผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น และล่าสุดในวันที่ 28 มีนาคม เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดและเป็นเมืองที่พบการระบาดรุนแรงมากที่สุดก็ได้เปิดเมืองอีกครั้ง สิ่งนี้เป็นสัญญาณบวกของสถานการณ์โรคระบาดและยังแสดงให้เห็นว่าประเทศจีนนั้น “เอาอยู่” โดยใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือนก็สามารถหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ได้สำเร็จ หากไม่นับการติดเชื้อระลอกใหม่ซึ่งเป็นกรณีที่มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น   

สภาพเศรษฐกิจของประเทศจีน เป็นอย่างไร?  

ภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศจีนถือถูกทำลายอย่างหนักโดยเฉพาะสองเดือนแรกของปี 2563 

China International Capital Corporation Limited (CICC) ได้คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงเหลือเพียง 2.6% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 6.1%

เมื่อเทียบกับตัวเลขไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial output) หดตัวลงกว่า 13.5% ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวที่เร็วที่สุดในรอบ30ปี การส่งออกลดลงกว่า 15.9% ยอดค้าปลีก (Retail sales) ลดลงมากกว่า 20.5% การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ (Fixed asset investment) ก็ลดลงกว่า 25% (ดูจากแผนภาพด้านล่าง)

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ IATA (International Air Transport Association) หรือสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ พบว่า การท่องเที่ยวในช่วงวันตรุษจีนของจีนลดลงกว่า 50% ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 20 ปีเลยทีเดียว นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า GDP ของจีนในไตรมาสที่1จะหดตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1976  ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดของช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน (1966-1976) เลยก็ว่าได้ 

แต่ทุกวิกฤตคือโอกาสของธุรกิจ (บางกลุ่ม) เสมอ เรามาดูว่ามีกลุ่มไหนที่ได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 บ้าง  

E-commerce

ย้อนไปช่วงการระบาดของโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome, SARS) ในปี 2546  Taobao จากค่าย Alibaba เอง ก็ถือโอกาสนี้ในการพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ใช้วิกฤตไวรัสเป็นโอกาสทำลายอคติต่อการซื้อของออนไลน์ที่มีในขณะนั้น  ทำให้ปัจจุบันนี้การซื้อของออนไลน์กลายเป็นนิสัยการบริโภคของคนจีนไปแล้ว และยิ่งในช่วงการแพร่ระบาด คนจีนก็นิยมสั่งอาหารสด เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในแต่ละวัน ผ่านช่องทางออนไลน์  เราจึงเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด

จากข้อมูลของ Carrefour พบกว่า การสั่งซื้อผักสดได้เติบโตสูงขึ้น 600% ในช่วงตรุษจีน JD.com รายงานว่า online grocery หรือร้านขายของชำแบบออนไลน์มียอดขายเติบโตกว่า 215% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

ยอดขายกลุ่มแฟชั่นหดตัว แต่ยอดขายเครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่มเติบโตต่อเนื่อง ตัวอย่างตัวเลขจาก Tmall พบว่า หลายผลิตภัณฑ์มียอดขายออนไลน์ที่ดีกว่าปีที่แล้ว อาทิแบรนด์ดังอย่าง Lancôme และ Estée Lauder มียอดขายเติบโตกว่า 100%   ในส่วนแบรนด์ผลไม้อบแห้งชื่อดังจากจีนอย่าง  Three Squirrels ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากแบรนด์นี้มีกลยุทธ์ที่ดีในการทำออนไลน์อยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบจากกลยุทธ์การย้ายฐาน (Migrate) จาก Offline ไป Online มากนัก มีเพียง UNIQLO ที่ยอดในการสั่งซื้อลดลงจากปีที่แล้ว 27% 

โดยภาพรวมแสดงเห็นถึงการเติบโตของธุรกิจ eCommerce ที่แข็งแรง และถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ยังคงแข็งแกร่งแม้ในช่วงวิกฤต Covid 19 ก็ตามและยังมีแนวโน้มเติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต 

Logistics 

ในด้าน Logistics ถือว่าได้รับผลพวงที่ดีไปในระยะยาว แม้จะได้รับผลกระทบในช่วงสั้นของการระบาดอยู่บ้าง เช่นอุปสรรคในการขนส่งในช่วงที่มีการปิดเมือง ธุรกิจการขนส่งของ JD.com ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ในจีน ก็ได้เพิ่มกำลังแรงงานด้วยการจ้างคนกว่า 20,000 คนเพื่อมาทำหน้าที่ในโกดังและการจัดส่งของ โดยบริษัทมีนโยบายให้สิทธิ์การสมัครเข้าทำงานแก่ผู้ที่ยากจนในประเทศจีนได้มีโอกาสสมัครก่อนบุคคลทั่วไปอีกด้วย 

Online entertainment and education  

การกักตัวอยู่บ้านไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการซื้อของออนไลน์เท่านั้นแต่ยังช่วยให้ online games และ live streaming ได้รับประโยชน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวเลขรายได้จากเกมส์ชื่อดังอย่าง ‘Honor of King’ ในช่วงตรุษจีนปี 2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2 พันล้านหยวน โดยมีอัตราการเติบโตสูงกว่าปี 2562 กว่า 50%  

DingTalk แอปพลิเคชันสื่อสารในองค์กรจากค่าย Alibaba ก็เติบโตขึ้นในช่วงนี้เช่นกันโดยมียอดดาวโหลดจากนักเรียนและนักศึกษากว่า 1,100 ล้านครั้ง   

Tencent ก็ไม่ยอมแพ้ ถือโอกาสพัฒนา Tencent Classroom เพื่อช่องทางการศึกษาออนไลน์แบบ Live เพื่อรองรับความต้องการของโรงเรียนในเมืองWuhan โดยข้อมูลจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์พบว่า มีนักเรียนประถมและมัธยมจำนวน 730,000 คนจาก 900,000 คนเลือกใช้บริการจาก Tencent Classroom 

Medical, Insurance และ Healthcare 

Covid-19 ถือเป็นตัวเร่งการเติบโตของของแพลตฟอร์มทางการแพทย์แบบออนไลน์อย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ผู้เล่นต้องเขยิบจาก offline ไปเป็น online มากยิ่งขึ้น 

เมื่อดูตัวเลขจากกราฟด้านบนพบว่า PingAn Good Doctor (แพลตฟอร์มด้านสุขภาพที่ใช้ AI ในการช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรค) มีผู้ใช้งานใหม่เพิ่มสูงขึ้นถึง 900% ในช่วงที่มีการระบาดหนักของ Covid-19 นอกจากนี้ผลการสำรวจจาก Bain & Company พบว่าผู้ป่วยในประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะใช้บริการดิจิทัลทางการแพทย์มากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า อาทิ Telemedicine (การแพทย์ทางไกลโดยการนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากร ทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต ตัวอย่างแพลตฟอร์ม Telemedicine ที่ใหญ่ที่สุดในจีนตอนนี้คือ Chunyu Doctor   

โอกาสธุรกิจใหม่ที่กำลังจะมาถึง 

ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส และวิกฤตการแพร่ระบาดของ Covid19 จะทำให้พฤติกรรมของคนจีนและประชากรทั้งโลกอาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและกลายเป็น “New Normal” หรือ “ความปกติในรูปแบบใหม่” ในที่สุด

ประเทศจีนที่ถือว่าได้ผ่านพ้นจุดสูงสุด ของการแพร่ระบาดไปแล้ว และต่อจากนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างนั้น เชื่อว่านี่อาจจะเป็นแนวโน้มใหม่หรือเทรนด์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลงก็เป็นได้ 

การบริการของหุ่นยนต์ที่จะสร้างให้คนสัมผัสกันน้อยลง 

โดยบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่อย่าง JD.com และ Meituan กำลังทดสอบบริการไร้สัมผัสแบบครบวงจร หรือ end-to-end “contactless” solutions ในการให้บริการการขนส่งสำหรับการสั่งซื้อของออนไลน์ไม่ว่าจะขนส่งผ่านโดรนหรือผ่านอุปกรณ์แบบไร้คนขับ บางโรงพยาบาลได้เริ่มใช้หุ่นยนต์ในการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว 

นี่คือโอกาสอย่างสำคัญอย่างมากของบริษัทที่จะมองหาการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมที่จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและพัฒนาไปสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มตัวในอนาคต 

บทความนี้เป็น Guest post โดย คุณพิมพ์ขวัญ อดิเทพสถิตย์

Source

https://edition.cnn.com/2020/03/16/economy/china-economy-coronavirus/index.html 
https://www.prachachat.net/world-news/news-414664 https://www.visualcapitalist.com/covid-19-economic-impact/ 
https://mp.weixin.qq.com/s/w4LDSzmab6VSwclKOuGzPw https://www.holobase.io/news/5e7afdec0c17dfd270ae7466 
https://www.holobase.io/news/5e7a03dda77b8a489babb64e 
https://www.bain.com/insights/how-the-coronavirus-will-transform-healthcare-in-china/
https://www.china-briefing.com/news/china-business-opportunities-covid-19-outbreak/
https://www.emarketer.com/content/coronavirus-china-us-covid-19-impact-retail-travel 
https://digital.hbs.edu/platform-digit/submission/chunyu-doctor-the-largest-telemedicine-platform-in-china/ 

ประวัติผู้เขียน

พิมพ์ขวัญ อดิเทพสถิตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจีน (Assistant Vice President), China Business Development สายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์ 

มีประสบการณ์ทางานในด้านการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนมากว่า 10 ปี เคยทางานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่บริษัทพัฒนาซอฟแวร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา และประสบการณ์ด้าน Start-up ที่มาดริด ประเทศสเปน

เป็นวิทยากรรับเชิญเพื่อพูดในหัวข้อ eCommerce, Social Media และเทรนด์เทคโนโลยีในประเทศจีน อาทิ Money Expo 2019, WeChat Conference และงานเพื่อผู้ประกอบการไทย SMEs เป็นต้น

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ2) จากคณะศิลปศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท MBA จาก IE Business School กรุงมาดริด ประเทศสเปน

website: www.pimkwan.com

หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด และไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์หรือทำซ้ำ หากต้องการ กรุณาติดต่อ Techsauce  

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KKP คาดอสังหาฯ ไทยปี 2567 หดตัว บ้านใหม่เสี่ยงค้างสต๊อกสูงสุดใน 8 ปี หวังมาตรการใหม่ช่วยกระตุ้น

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เผย ตลาดอสังหาฯ ไทยปี 2567 ยังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดชะลอตัวได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90%...

Responsive image

อีคอมเมิร์ซจีนเร่งบุกตลาดต่างประเทศ รับมือเศรษฐกิจซบเซา ผ่านแคมเปญ Singles Day

หลังจากเทศกาลช้อปปิ้งวันคนโสดปีที่แล้วที่ซบเซาที่สุดในประวัติศาสตร์ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนจึงตระหนักว่าการขยายตลาดไปต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็น...

Responsive image

Pink Tech ไทย กำลังมา! ศูนย์ AI มธ. ชี้ กรุงเทพฯ จ่อขึ้นแท่นศูนย์กลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานล่าสุด "Unlocking the Power of Pink Tech in Thailand" โดยศูนย์ AI มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Canvas Ventures International (CVI) เผยให้เห็นศักยภาพอันมหาศาลของประเทศไทยในกา...