‘นักพัฒนาเมือง’ ฟันเฟืองขับเคลื่อน Smart City ประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร | Techsauce

‘นักพัฒนาเมือง’ ฟันเฟืองขับเคลื่อน Smart City ประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

เมื่อพูดถึงคำว่า Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ ภาพเมืองที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและชาญฉลาดอาจปรากฎอยู่ในใจใครหลายคน แต่แท้จริงแล้ว Smart City มีองค์ประกอบหลายแง่มุมซ่อนอยู่มากกว่าที่คิด Techsauce จะพามาดูแนวโน้ม Smart City ในไทยว่ามีความเป็นไปได้เพียงใด และทั้งรัฐและเอกชนมีส่วนบ่มเพาะ Smart City อย่างไรบ้าง และอุปสรรคที่เกิดขึ้นคืออะไร

Smart City

วันที่ 5 ก.ค. 64 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ร่วมกับ Techsauce ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ความท้าทายในการขับเคลื่อน Smart City ประเทศไทย” โดยกิจกรรมเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ depa Smart City Accelerator Program Batch 2 

Speaker ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเมืองทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่

  1. ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

  2. คุณธนินทร์ ทรัพย์บุญเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

  3. คุณพัชรินทร์ รพีพรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องและคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

  4. คุณณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานอาวุโส หอการค้าเชียงใหม่ กรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง จังหวัดเชียงใหม่


Smart City Accelerator Program Speaker

Smart City เมืองอัจฉริยะที่สามารถเกิดขึ้นในเมืองใหญ่และชนบทห่างไกล

ดร. ภาสกร ประถมบุตรได้เกริ่นถึงความหมายดั้งเดิมของ Smart City ว่าเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ปัญหาเมืองขนาดใหญ่โตเดี่ยวที่มีประชากรโตขึ้นอัดแน่นกว่า 60% แต่ก่อนเราจะมองว่าเมืองที่คู่ควรแก่การนำโมเดล Smart City จะเป็นเมืองหลวงเช่น กรุงเทพฯ  ในความเป็นจริงแล้ว ควรปรับมุมมองใหม่โดยที่ Smart City เองนั้นก็สามารถกระจายประชากรไม่ให้แออัด ผ่านการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาชานเมือง ต่างจังหวัด หรือชายขอบให้โตจนทำให้คนในจังหวัดนั้น ๆ มองเห็นโอกาสการทำมาหากินในเมืองตนเอง ลดการกระจุกตัวในเมืองหลวงได้เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ depa ก็ได้มอบตราสัญลักษณ์พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ 5 เมืองนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น แม่เมาะ สามย่าน และวังจันทร์วัลเลย์ และมีอีก 45 เมืองในประเทศที่พัฒนา Smart City 

ความคืบหน้าของ Smart City ในไทย: โครงการ “แม่เมาะน่าอยู่” 

เป็นที่ทราบกันดีว่า แม่เมาะเป็นหนึ่งในโมเดลเมืองอัจริยะอันดับแรก ๆ ของประเทศ คุณพัชรินทร์ได้ให้เหตุผลที่เลือกเมืองแม่เมาะในการขับเคลื่อน Smart City เพราะว่ากำลังการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่แม่เมาะ จึงเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกกว่าเมืองอื่น ๆ จึงเป็นมาที่เข้าสนับสนุนการพัฒนาเมืองแม่เมาะ 

แรกเริ่มทางกฟผ. จะสำรวจ pain point ของประชากรในอำเภอแม่เมาะที่มีทั้งหมด ประมาณ 40,000 คน ซึ่งพบว่าปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในเมืองขณะนี้คือมลพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากไฟป่า เมื่อทราบถึงปัญหาแล้ว กฟฝ. จึงพัฒนาแอปพลิเคชัน hot spot เพื่อให้ข้อมูลทางดาวเทียมว่าไฟป่าเกิดขึ้นจุดใดบ้าง และต่อยอดการแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นรวดเร็วด้วยระบบจัดเก็บข้อมูลจากการร่วมมือกับ National Data Platform ของ depa 

เมื่อจัดการปัญหาขั้นพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่แม่เมาะแล้ว ทางกฟฝ. ก็นำแนวคิด Smart City มาใช้ในอำเภอ มุ่งเน้น 3 แง่มุม ได้แก่ Smart Environment, Smart Energy, และ Smart Economy 

หลังจากปรับใช้ Smart Environment กับปัญหา PM 2.5 แล้ว กฟผ. ก็เน้นจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพด้วยองค์ความรู้ที่อัดแน่นจากองค์กร ผ่านการทำระบบผลิตพลังงาน กระจายพลังงาน มีเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ ทำอาคารสมานฉันท์ ศูนย์ฝึกอบรมของกฟผ. ในการพัฒนา Set Zero Energy Building มีการติดตั้ง Solar Rooftop ทำ Energy Storage และติดตั้ง Solar Floating ซึ่งจะช่วยจัดการแหล่งน้ำให้การปลูกป่าทดแทนมีความชุ่มชื้นได้รวดเร็วขึ้น 

นอกจากนี้ในขาของ Smart Economy กฟผ. ได้เน้นไปยังการเพิ่มรายได้ให้กับอาชีพกลุ่มเกษตรกร อีกทั้งทำแพลตฟอร์ม Data ในการวางตำแหน่งเมืองแม่เมาะในฐานะเมืองท่องเที่ยว ผ่านการแนะนำข้อมูลอำเภอ เส้นทางการท่องเที่ยว ของกิน ของฝาก ที่พัก เทศกาล เพื่อสร้างรายได้แหล่งใหม่ให้กับอำเภอโดยเฉพาะ

วิกฤติ PM 2.5 พลิกเชียงใหม่เป็นโอกาสพัฒนา Smart City

คุณณรงค์ก็ได้อธิบายถึงความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะที่พัฒนาเป็น Smart City ได้คือ อันดับแรกเป็นเมืองขนาดใหญ่รองจากนครราชสีมา และมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 17 ล้านคนต่อปี ดังนั้นบรรยากาศที่คึกคักตลอดทั้งปี เชียงใหม่ตั้งแต่ดั้งเดิมจึงเหมาะกับ Smart City ในแง่มุมของเมืองท่องเที่ยว

เมื่อการระบาดของโควิดแพร่ขยายเข้ามาในเมือง สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งก็ตกอยู่ในความเงียบปราศจากผู้คน ต่อให้มีวัคซีนเข้ามาแล้ว ก็ยังไม่ส่งผลให้เชียงใหม่ยกระดับเป็น Smart City ด้านการท่องเที่ยวได้ เนื่องจากเมืองได้รับวัคซีนเพียง 8.5% 

แต่ถึงกระนั้นเอง ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการพัฒนา Smart City ให้กับเชียงใหม่ก็คือ วิกฤติมลพิษ PM 2.5 ที่ทำให้เกิดกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา เรียกได้ว่าเป็น Smart People เลยก็ว่าได้ โดยสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 12 แห่งในเชียงใหม่ก็เป็นกำลังสำคัญในการผลิตนักศึกษาที่ตั้ง Startup ดิจิทัล คอยศึกษาวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันมลพิษ ในส่วนนี้เองก็จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนา Smart City ในแง่มุมอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ งบประมาณในการพัฒนา Smart City ก็เป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เป็นจริง คุณณรงค์มองว่าท้ายที่สุด ภาครัฐก็ต้องให้งบประมาณที่มากพอ และสนับสนุนซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย ผลักดันให้คนหันมาใช้นวัตกรรม ลดระบบโบราณ เพื่อที่ว่าคนจะให้ความสำคัญกับ Smart City มากกว่าเดิม

depa กับการขับเคลื่อน Smart City ให้เกิดขึ้นจริง

ดร. ภาสกร มองว่าหน้าที่ของ depa ที่มีต่อ Smart City คือทำอย่างไรให้คนเข้าใจในแนวคิดดังกล่าว เมื่อคนเริ่มเข้าใจแล้วว่า Smart City คืออะไรและต้องการจะมีส่วนร่วมในการพัฒนา ทาง depa ก็อาจจะทำดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขัน เริ่มต้นที่ Smart City ในหลัก 100 เมืองในปีหน้า 

ระหว่างการพัฒนา คนก็เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอาชีพนักพัฒนาเมือง เพราะในการสร้างเมืองที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี คนที่จะเข้ามาพัฒนาเมืองจะต้องเป็นคนที่รู้รอบ ทั้งการจัดการ เทคโนโลยี การประสานประโยชน์ระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ซึ่งตอนนี้เรามีนักรัฐศาสตร์ นักปกครองเมือง นักดิจิทัลสร้างเทคโนโลยีแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงขาดอยู่คือนักพัฒนาเมือง ซึ่ง depa ก็กำลังปลุกปั้นนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง

โครงการ Smart City Accelerator Program : ส่งเสริม Digital Startup ในการร่วมพัฒนา Smart City ให้ครบทุก 7 ด้าน

เพื่อให้กลุ่มคนที่ต้องการพัฒนาเมืองสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ดร. ภาสกรกล่าวว่าเมืองต่าง ๆ ต้องทำข้อเสนอมา 5 ประการ ประการแรกคือ ต้องทราบก่อนว่าเมือง ๆ นั้นต้องการโซลูชันอะไรมากที่สุด โดยเมืองอาจกำหนดโจทย์มาให้ว่าต้องการเพิ่มพื้นที่การค้า การท่องเที่ยว เพื่อให้เห็นภาพตรงกัน ประการถัดไป ต้องสร้างรากฐานที่แข็งแรง การทำโซลูชันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาจุดเล็ก ๆ แล้วจบเท่านั้น ต้องมองภาพใหญ่ทั้งระบบ ต้องคิดถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน จากนั้นก็วางแผนว่าจะเพิ่มระบบ digital หรือ non-digital อะไรให้โครงสร้างพื้นฐานสามารถยืนได้แข็งแรง จากนั้น เมืองก็ต้องมีข้อมูลที่มากพอให้ไปต่อยอดได้ อาจจะเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลของเมืองที่ได้จากโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Line 

เมื่อได้ pain point การวางสาธารณูปโภค และข้อมูลที่ครบถ้วน ก็ค่อยหาว่าควรพัฒนาในด้านไหนบ้าง ทาง depa ก็ได้ให้รายละเอียดโซลูชันไว้ 7 ด้านดังต่อไปนี้

  1. Smart Environment เป็นโซลูชันภาคบังคับ ต้องทำสภาพแวดล้อมให้ดี ทั้งเรื่องของน้ำ อากาศ และขยะ 

  2. Smart Energy พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน 

  3. Smart Economy ทำอย่างไรให้คนในเมืองอยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถใช้ระบบ Cashless Society ได้อย่างสะดวกสบาย

  4. Smart Mobility เดินทางขนส่งต้องคล่องและสะดวก

  5. Smart Governance  การบริหารจัดการเมืองที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ 

  6. Smart Living การอยู่อาศัยที่ปลอดภัย ปราศจากอุบัติเหตุและอาชญากรรม

  7. Smart People สังคมต้องเอื้อให้คนเกิดการเรียนรู้ สร้างนวัตกรรม มีภูมิคุ้มกันทางปัญญา

และสำคัญที่สุด เงินทุนต้องมากพอเพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้ ในส่วนนี้คุณธนินทร์ได้เสริมว่าภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการนำเข้าเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการพัฒนาเมืองแล้ว แต่ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้ภาคเอกชนเลยคือภาครัฐ ภาครัฐต้องให้คนทั่วไปเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์จากภาษี เป็นผู้สนับสนุนมากกว่าผู้ควบคุม เพราะเมื่อเอกชนเดินก้าวแรกได้ซึ่งเป็นก้าวที่ยากที่สุด ก้าวต่อไปก็จะไม่ยาก เอกชนจะสามารถพัฒนาในแกนหลัก ๆ ต่อไปได้อีก 

สำหรับ Startup ใดที่สนใจมาร่วมพัฒนา Smart City ให้เกิดขึ้น สามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ https://techsauce.co/depa-accelerator จนถึงวันที่ 1 ส.ค. 64 นี้ 




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จับตา 18 อุตสาหกรรม พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก สร้างรายได้กว่า 48 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2040

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจดุเดือดกว่าเดิม มีอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่กำลังมาแรง และเติบโตแบบก้าวกระโดด เราเรียกอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่า 'Arenas' ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส แต่ก็ต้...

Responsive image

Gemini 2.0 คืออะไร ใช้ทำอะไรบ้าง ? สรุปของใหม่กับ AI ที่เก่งที่สุดของ Google

หลังจาก Google เปิดตัว Gemini 1.0 ซึ่งเป็น AI แบบ Multimodal และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีผู้ใช้มากถึง 2 พันล้านคนทั่วโลก ล่าสุดได้มีการอัปเกรดเวอร์ชันใหม่ในชื่อ Gemini 2.0 ซึ่งเป็น...

Responsive image

พลังงานจากหลุมดำ พุ่งชนวัตถุลึกลับในกาแล็กซี เกิดรอยปริศนารูปตัว V

NASA พบร่องรอยแปลกประหลาดจากการพุ่งชนของลำแสงพลังงานสูงที่มาจากหลุมดำขนาดมหึมาในกาแล็กซี Centaurus A (Cen A) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 12 ล้านปีแสง การค้นพบนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการ...