เปิดตัวระบบใหม่ DIF Web Portal กับ 4 บริษัทที่เริ่มเสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลก่อนใคร | Techsauce

เปิดตัวระบบใหม่ DIF Web Portal กับ 4 บริษัทที่เริ่มเสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลก่อนใคร

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมธนาคารไทย จับมือ ก.ล.ต. CMDF สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดตัว DIF Web Portal ให้บริการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมธนาคารไทย (Main Operator) ร่วมกับ ก.ล.ต. CMDF และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้บริการ Digital Infrastructure for Capital Market โดยเริ่มจากระบบ Web Portal รองรับการเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดแรกด้วยดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการเป็นครั้งแรกในไทย ตั้งแต่การออกเสนอขาย ซื้อขาย ตลอดจนการชำระราคาและส่งมอบ โดยโครงการนี้อยู่ในระยะนำร่องของสำนักงาน ก.ล.ต. (Sandbox) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการให้บริการของตลาดทุนไทย ลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล พลิกโฉมตลาดทุนไทยสู่ตลาดทุนดิจิทัลรับกระแสโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

DIF Web Portalนายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. ได้ริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทยเมื่อปลายปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และโครงการดังกล่าวได้ถูกบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) เรื่องการพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล (Digital transformation) โดย ก.ล.ต. มีความตั้งใจในการผลักดันการพัฒนาระบบ DIF Web Portal ให้เติบโตไปสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งความสำเร็จในวันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดทุนในการเชื่อมโยงการทำงานของผู้ร่วมตลาดที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการในตลาดทุนเป็นดิจิทัล 100% เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับตลาดทุนไทย และส่งเสริมให้ตลาดทุนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ในการนี้ ก.ล.ต. ขอขอบคุณกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ออกหลักทรัพย์ที่ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาโครงการ โดย ก.ล.ต. จะร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายการพัฒนาโครงการ การผลักดันการแก้ไขกฎหมายกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรม การส่งเสริมการใช้งานระบบ และการนำข้อมูลมาต่อยอดในการพัฒนาตลาดทุนต่อไป” 

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองประธานกรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เปิดเผยว่า “การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนนั้น นับเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ CMDF และการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนา DIF Web Portal ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญของการสนับสนุนในด้านดังกล่าว โดย CMDF มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการ เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาระบบที่เห็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วนั้น ยังเป็นข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุน อันจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาตลาดทุนสู่ความยั่งยืนต่อไป” 

DIF Web Portal

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทน Main Operator เปิดเผยว่า “DIF Web Portal เป็นระบบให้บริการออกเสนอขายตราสารหนี้ในตลาดแรกในรูปแบบดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การออกเสนอขาย ซื้อขาย ตลอดจนการชำระราคาและส่งมอบตราสารหนี้ในรูปแบบไร้ใบ (Scripless) ระบบนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยได้จัดตั้ง บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด เป็นเจ้าของระบบ และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เป็นหน่วยงานปฏิบัติการของระบบ”

ดร. สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในฐานะฝ่ายปฏิบัติการของโครงการ DIF กล่าวว่า “ThaiBMA มีส่วนร่วมในโครงการ DIF ในสองบทบาท คือ ในฐานะผู้รับขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสมาคมอยู่แล้ว และที่สำคัญยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติการธุรกิจของโครงการ DIF และ ThaiBMA ภูมิใจที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ และมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ด้วยการร่วมมือกับ CMDF สำนักงาน ก.ล.ต. และทุกภาคส่วน ในการพัฒนาโครงการ DIF ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของตลาดทุนไทยต่อไป”

DIF Web Portal นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เชื่อมต่อกับระบบการทำธุรกรรมการเสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันอย่างครบวงจรด้วยมาตรฐานข้อมูลเดียวกันในรูปแบบดิจิทัล (Standard Messages) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ลดต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน 

ทั้งนี้ การส่งข้อมูลอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำข้อมูลไปประมวลผลต่อได้ (Machine readable) และผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุนไทยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ในอนาคต

เปิดชื่อ 4 บริษัทที่เป็น 'ผู้ออกหลักทรัพย์เสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัล' ก่อนใคร

ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ออกหลักทรัพย์เสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลผ่านระบบดังกล่าวเป็นกลุ่มแรก จำนวน 4 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.7 พันล้านบาท 

  • (1) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 
  • (2) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 
  • (3) บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 
  • (4) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 

จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันพัฒนา DIF Web Portal ให้เสร็จสมบูรณ์ ได้นำร่องให้บริการออกตราสารหนี้ดิจิทัลภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดกว้างรับผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ร่วมตลาดรายอื่นเข้ามาร่วมกันทดสอบและสร้างนวัตกรรมการลงทุนใหม่แก่ผู้ลงทุน ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม Sandbox ที่ร่วมทดสอบระบบแล้วจำนวน 16 ราย หลังจากนี้จะมุ่งเดินหน้าพัฒนาต่อยอดสู่กระบวนการและผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่นต่อไป

สำหรับรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการในระยะนำร่อง (Sandbox) จำนวน 16 ราย มีดังนี้ (ชื่อย่อ | ชื่อบริษัท)

  • 1 BBL ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • 2 KBANK ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • 3 KS บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จํากัด (มหาชน)
  • 4 KKP ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
  • 5 KTB ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • 6 PTT บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • 7 PTTEP บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
  • 8 SCBB ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • 9 SCBT ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  • 10 TLT บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
  • 11 TSD บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • 12 BAY ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • 13 KKPS บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
  • 14 TISCO ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
  • 15 KCS บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)
  • 16 ThaiBMA สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Soft Power และ Technology คือสิ่งที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า สรุปแนวคิด ทักษิณ ชินวัตร

ดร.ทักษิณ ชินวัตรเผยวิสัยทัศน์ 5 ปีข้างหน้าของประเทศไทยในงาน Forbes Global CEO Conference เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซอฟต์พาวเวอร์ และการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเสริมสร้างความสามารถ...

Responsive image

เปิดบ้าน WHA สำรวจศักยภาพ นวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัยทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ

WHA Open House 2024: Explore – Discover – Shape the Future เป็นการเปิดบ้านครั้งแรกของ WHA เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ WHA Group ในฐานะต้นแบบของธุรกิจที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช...

Responsive image

จีนบุกตลาด AI เปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 ให้เหตุผลเหมือนมนุษย์ ท้าชน o1 จาก Open AI

AI จีนขอท้าชิงพื้นที่ตลาด เมื่อบริษัทวิจัย AI เปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 โมเดล AI ให้เหตุผลใกล้เคียงกับมนุษย์ เปิดตัวมาท้าชิงความสามารถของโมเดล o1 จาก OpenAI...