แคมปัสของมหาวิทยาลัยอัลโต (Aalto Univerosty) เป็นหมู่ตึกบรรจุห้องแลปเต็มอัตราในย่านชานเมืองเล็ก ๆ ที่แซมไปด้วยป่าสน ตัวมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ไม่กี่กิโลเมตรจากศูนย์กลางของกรุงเฮลซิงกิประเทศฟินแลนด์ ดูเผินๆเป็นย่านการศึกษาที่แสนธรรมดาแต่จริง ๆ แล้วกลับเป็นศูนย์กลางการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology) ชั้นนำของโลกอันดับต้น ๆ
อันที่จริงหากเรามองดูตัวเลขการลงทุนในฟินแลนด์อาจจะไม่มากนักหากเทียบกับตลาดโลก แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและรายได้ต่อหัวของชาวฟินนิชแล้วก็ถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีความหนาแน่นของการลงทุนด้านควอนตัมมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
“ยุคสมัยของควอนตัมคอมพิวเตอร์ยังไม่มาถึงเสียทีเดียว” ศาสตราจารย์มิกโกะ ม็อตโตเนน (Professor Mikko Möttönen) นักฟิสิกส์แถวหน้าของมหาวิทยาลัยและผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพหลายเจ้าบอกกับ Techsauce “แต่สนามนี้ยังมีศักยภาพที่จะส่งให้เกิดนวัตกรรม Computing ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งฟินแลนด์ก็นำหน้าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ทั่วโลกแล้ว”
ศาสตราจารย์มิกโกะ ม็อตโตเนน (Professor Mikko Möttönen) นักฟิสิกส์แถวหน้าของมหาวิทยาลัยและผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพด้าน Quantum หลายบริษัท / ภาพ: Techsauce
ดูจากยอดรายได้ของฟินแลนด์สิ่งที่ศาสตราจารย์มิกโกะพูดไม่ได้ไกลจากความจริงนัก ตอนนี้ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรแค่ 5.5 ล้านคน มีรายได้จากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับควอนตัมมูลค่ากว่า 200 ล้านยูโร และมีตัวเลขการลงทุนในตราสารทุนมากกว่า 300 ล้านยูโร ถ้าหารออกมาเป็นตัวเลขต่อหัวก็ถือว่าแซงหน้าตลาดที่ใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากจะทำให้ได้ตัวเลขในสเกลเดียวกันสหรัฐฯ ก็ต้องมีบุคลากรด้านควอนตัมอีก 60,000 คนและต้องให้ทุนมหาวิทยาลัยเพิ่มกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัย Aalto เป็นสถาบันการศึกษาที่บ่มเพาะความรู้อย่างเงียบ ๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนอนาคตด้านเทคโนโลยีของฟินแลนด์ ตั้งแต่ปีค.ศ. 2017 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้กำเนิดสตาร์ทอัพคุณภาพสูงออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น IQM ที่สร้างควอนตัมโพรเซสเซอร์ (Quantum Processor) หรือ Bluefors ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ Cryogenic เจ้าของเครื่องที่ใช้ในห้องปฏิบัติการควอนตัมทั่วโลก
“ควอนตัมคอมพิวเตอร์ทุกๆ เครื่องที่ขายจากฟินแลนด์ ใช้ระบบทำความเย็นแบบ cryostat จาก Bluefors ราคาเครื่องละครึ่งล้านยูโร” ศาสตราจารย์มิกโกะกล่าว โดยคาดการณ์ว่าในอนาคตเมื่อควอนตัมคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาจนเข้าสู่ตลาดมหาชนความต้องการของเครื่องนี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
บริษัทอื่น ๆ ที่มาจากดอกผลของมหาวิทยาลัยนี้ยังมี Algorithmiq ที่มุ่งหน้าทำงานเรื่องควอนตัมอัลกอริทึมเพื่อใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ บริษัท Quanscient ที่สร้างซอฟต์แวร์ Simulation ที่เสริมประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีควอนตัม ศาสตราจารย์มิกโกะเรียกบริษัททั้งหมดที่กล่าวมานี้ว่าบริษัทแบบ “Pure Quantum” หรือบริษัทที่ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลยนอกเหนือจากสิ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีควอนตัมโดยเฉพาะ ซึ่งในฟินแลนด์มีถึง 7 แห่ง
คล้ายกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัย Aalto ไม่ได้แค่ผลิตงานวิชาการ แต่บรรดางานวิจัยที่ออกมานั้นได้ถูกพัฒนาเป็นอย่างอื่นด้วย “เทคโนโลยีไม่ได้หล่นมาจากฟ้า” ศาสตราจารย์มิกโกะกล่าว “เราต้องการสิ่งแวดล้อมแบบที่อธิการบดีเห็นว่าหัวใจสำคัญของมหาวิทยาลัยคือการบ่มเพาะธุรกิจด้วย”
นอกจากวิสัยทัศน์ของผู้นำสถาบันการศึกษาแล้ว สิ่งแวดล้อมที่ว่ายังต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในระดับชาติด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ฟินแลนด์มีโครงการ The InstituteQ ซึ่งเป็นสถาบันควอนตัมหลักประจำชาติที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันแถวหน้าอย่าง Aalto, สถาบัน VVT, และมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ที่สอดผสานร่วมมือกันผลักดันโครงการวิจัยด้านควอนตัมในฟินแลนด์ ฝึกอบรมนักวิชาการ และแบ่งปันความรู้ด้านนวัตกรรม โปรแกรมหลักของโครงการนี้ชื่อว่า PhoQuS (Phoenix Quantum) สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยแห่งชาติฟินแลนด์ มีมูลค่ากว่า 13 ล้านยูโร ให้ทุนวิจัยในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเพื่อสร้างอุปกรณ์ควอนตัมและส่งเสริมการพัฒนาอัลกอริทึมในระยะยาว ขนานกันก็มีโครงการการสร้างคนอย่าง the Q-Doc programme ที่ผลิตดุษฎีบัณฑิตกว่า 90 คนซึ่งกำลังจะเข้าสู่อุตสาหกรรมควอนตัมในด้านต่าง ๆ สนับสนุนโดยกระทรวงศึกษาธิการฟินแลนด์โดยที่หลายคนยังคงอยู่ในฟินแลนด์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป
จุดที่น่าสนใจจุดหนึ่งคือการที่ดร.มิกโกะบอกว่าควอนตัมไม่ใช่แค่สนามเด็กเล่นของนักฟิสิกส์ “เราต้องการดุษฎีบัณฑิตในด้านอื่นด้วย เช่นด้านธุรกิจควอนตัม นักปรัชญาควอนตัม นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิศวกร ง่ายๆก็คือเทคโนโลยีควอนตัมเหมือนกับเป็นสหวิทยาการแขนงหนึ่ง แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการเสมอไปด้วย งานบางอย่างแค่ต้องการให้มีคนรู้ด้านนี้ ซึ่งไม่ต้องเรียนเป็นปริญญาเอกก็ได้”
ภาพแคมปัสหลักของมหาวิทยาลัยที่กลายเป็นศูนยกลางด้าน Quantum ในยุโรปเหนือ / Photo: Mika Huisman / Aalto University
ตลาดแรงงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ผลิตมีความเป็นสากลมาก โปรแกรมระดับปริญญาตรีภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย Aalto มีนักศึกษาจาก 70 ประเทศ “เราดึงดูดนักศึกษามาจากทั่วโลก แต่หากไม่มีทุนการศึกษาเพียงพอพอเราก็จะแย่งตัวทาเลนท์จาก MIT ไม่ได้” ศาสตราจารย์มิกโกะเผย และชี้ว่าอุตสาหกรรมควอนตัมยังได้เปรียบหากเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในฟินแลนด์ทั้งในเรื่องนโยบายการให้วีซ่าและการที่ภาษาที่ใช้หลัก ๆ ในที่ทำงานคือภาษาอังกฤษ
ความลับของฟินแลนด์ไม่ใช่แค่มีดีด้านวิทยาศาสตร์ แต่ยังสามารถพัฒนาองค์ความรู้มาใช้ได้ดีด้วย ประเทศนี้มีการสนับสนุนผ่านทุนพัฒนาต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปที่ตรงเป้า พร้อมทั้งโครงการบ่มเพาะธุรกิจ และแหล่งเงินทุนร่วมลงทุนที่เข้าถึงได้ง่าย โดยต้องสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจอย่างลงตัว ศาสตราจารย์มิกโกะยกตัวอย่างว่าหากมหาวิทยาลัยเรียกค่าสิทธิบัตรแพงเกินไปบริษัทที่เอาไปต่อยอดก็จะไปต่อไม่ได้ ซึ่งจะสร้างสมดุลได้ก็ต้องมีกรอบทางกฎหมายที่สมเหตุสมผล ประกอบกับโครงการบ่มเพาะธุรกิจและวัฒนธรรมที่มองว่าสตาร์ทอัพไม่ใช่การเอาเงินไปเสี่ยงโดยไร้เหตุผล
ในปี ค.ศ. 2022 สตาร์ทอัพสัญชาติฟินนิชที่ได้รับเงินทุนจากการร่วมลงทุนของนักลงทุนกว่า 55% ของจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพที่เกิดในฟินแลนด์ทั้งหมดในปีนั้นมาจากมหาวิทยาลัย Aalto ศาสตราจารย์มิกโกะชี้ว่าเป็นผลพวงของการบ่มเพาะระบบนิเวศน์นี่เอง ที่เหมือนกับการถางทางบำรุงดินไว้เมื่อมีเมล็ดพันธุ์เข้ามาก็เติบโตได้ง่ายกว่าที่อื่น ๆ
สภาพแวดล้อมอย่างนี้ยังดึงดูดยักษ์ใหญ่ให้เข้ามามีส่วนร่วม ดังที่ยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ก็เข้ามาร่วมโครงการอยู่บ่อยครั้งและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์นี้ในที่สุด
ตัวเลขความสำเร็จที่เกิดขึ้นในสาขาวิชา Quantum ที่มหาวิทยาลัย Aalto / ภาพ : Techsauce
อนาคตการก้าวกระโดดด้านควอนตัมของฟินแลนด์ยังคงดำเนินต่อไป แต่ตอนนี้เรียกได้ว่านำไปไกลประเทศในขนาดเดียวกันอยู่หลายขุม ด้วยนักฟิสิกส์ระดับโลก นโยบายที่เอื้อต่อการเติบโต และชุมชนที่พร้อมจะสร้างเทคโนโลยีต่อยอดเป็นธุรกิจ ฟินแลนด์มีระบบนิเวศน์ทั้งหมดนี้แม้จะมีทั้งกำลังคนและขนาดตลาดน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ
“ถ้าเราดำเนินการทุกอย่างนี้ให้เป็นไปตามทางที่ปูไว้ ฟินแลนด์ก็จะไม่ใช่แค่ตัวแสดงในอนาคตของเทคโนโลยีควอนตัม แต่จะกลายเป็นที่ที่สร้างอนาคตให้ควอนตัมแทน”
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทยที่ให้โอกาส Techsauce ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Media Trip จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ เมื่อเมษายน 2025
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด