เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (5 มิถุนายน 2564) กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วทั้ง 7 ประเทศ (G7) ได้จัดประชุมแบบเจอหน้าครั้งแรกในรอบปีหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ณ กรุงลอนดอน และได้บรรลุข้อตกลงครั้งสำคัญ คือการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติชำระอัตราภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับบริษัทที่ใช้วิธีตั้งสาขาในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคคลต่ำเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างกลุ่ม Big Tech
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศ G7 ที่ประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา ได้ข้อสรุปที่จะบีบบังคับให้บริษัทเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศที่กำลังมีการค้าหรือให้บริการอยู่ รวมทั้งยินยอมในหลักการที่จะกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% เพื่อเลี่ยงปัญหาจากการที่บางประเทศปรับลดภาษีให้ต่ำกว่าประเทศอื่น ข้อตกลงนี้จะเป็นการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาลในเรื่องการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินการในระดับโลกและกระจายการให้บริการในหลากหลายประเทศ ยิ่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Google ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และหันไปใช้วิธีหลบเลี่ยงภาษีโดยการตั้งสาขาในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลต่ำ หรือ Tax Haven และประกาศผลกำไรที่ประเทศดังกล่าว
นอกจากนี้ เจเน็ต เยลเลน รมว.กระทรวงการคลังของสหรัฐฯยังกล่าวถึงความสำคัญของข้อตกลงดังกล่าวที่จะเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับการทำธุรกิจของชนชั้นกลาง และเป็นการส่งเสริมให้ประเทศต่างๆแข่งขันกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ทางด้านโอลาฟ ชอล์ส รมว.กระทรวงการคลังของเยอรมนีมองว่าข้อตกลงนี้เป็นการสร้างความยุติธรรมทางภาษี พร้อมทั้งสร้างความสามัคคี และจะทำให้บริษัทต่างๆไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งที่จะหลบเลี่ยงภาษีได้อีกต่อไป ส่วนบรูโน เลอ แมร์ รมว.กระทรวงการคลังของฝรั่งเศสยังกล่าวสนับสนุนข้อตกลงนี้ว่าจะมีการพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีได้อีกในอนาคต
และข้อตกลงดังกล่าวยังกระทบบิ้กเทคอีกหลายส่วน โดยมีการกล่าวถึงการจัดเก็บภาษีส่วนแบ่งของผลกำไรจากบริษัทที่เน้นการทำธุรกิจผ่านออนไลน์และมียอดขายสูง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่พึ่งพาสื่อดิจิทัลเป็นหลักเพื่อขับเคลื่อนผลกำไรอย่างยักษ์ใหญ่แห่งวงการดิจิทัลและเทคโนโลยี Facebook, Google และ Amazon ตามข้อตกลงคือบริษัทไม่เพียงจ่ายภาษีให้กับประเทศที่ตั้งสำนักงาน แต่รวมทุกประเทศที่มีการค้าหรือทำกำไรผ่านออนไลน์
อย่างไรก็ตาม อีกนัยหนึ่ง ข้อตกลงนี้จะเป็นการยุติภาษีบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นผลดีกับบริษัทในเครือ Silicon Valley โดยฝรั่งเศสที่เคยกำหนดภาษีบริการดิจิทัล เพราะมองว่าแนวทางการทำธุรกิจของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีมีการดำเนินการจัดเก็บภาษีอย่างไม่เหมาะสม ก็จะยกเลิกภาษีนี้และหันไปสนับสนุนข้อตกลงระดับโลก ทางด้านสหรัฐฯเองก็มองว่าภาษีบริการดิจิทัลเป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรม
ในส่วนของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีอย่าง Google ก็ได้กล่าวสนับสนุนข้อตกลงนี้ โดยคาดหวังว่าจะเกิดการร่วมมือระหว่างนานาประเทศเพื่อบรรลุข้อสรุปเร็วๆนี้ และนิค เคล็กก์ รองประธานด้านกิจการระดับโลกของ Facebook ยังกล่าวว่านี่คือข้อตกลงที่รอคอย และร่วมยินดีกับความก้าวหน้าจากการประชุมของ G7 พร้อมตระหนักถึงอัตราภาษีที่จะต้องเพิ่มขึ้นของ Facebook ในทำนองเดียวกัน Amazon ก็ได้กล่าวยินดีและเรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำมาซึ่งเสถียรภาพด้านภาษีระหว่างประเทศ และคาดหวังที่จะเห็นการร่วมมือที่ใหญ่ขึ้นไปจนถึงระดับ G20
อ้างอิง reuters
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด