"เฮ้ กูเกิล!" Google Assistant พร้อมรองรับภาษาไทยในช่วงพฤษภาคมปีนี้ | Techsauce

"เฮ้ กูเกิล!" Google Assistant พร้อมรองรับภาษาไทยในช่วงพฤษภาคมปีนี้

Google เตรียมอัปเดตการพัฒนา Google Assistant เพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วโลกมากขึ้น พร้อมรองรับภาษาไทยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปีนี้ เตรียมนำเอา Google Assistant ใส่ไว้ในอุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ จาก LG, Sony Mobile และ Xiaomi อีกด้วย

Google Assistant

Google Assistant เตรียมขยายบริการรองรับมากกว่า 30 ภาษา

Google ระบุใน Blog ว่าเนื่องจากมีผู้ใช้งานอุปกรณ์ Android อยู่ทั่วโลก ดังนั้นเป้าหมายของ Google ตั้งแต่เริ่มแรกก็คือการขยายบริการ Google Assistant ให้ครอบคลุมหลากหลายประเทศและหลากหลายภาษามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 8 ภาษา โดยจะเพิ่มภาษาที่รองรับให้ได้มากกว่า 30 ภาษาภายในปีนี้ ครอบคลุม 95% ของอุปกรณ์ Android ทั่วโลกที่สามารถใช้บริการผู้ช่วยส่วนตัวนี้ได้

ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า (ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2018) Google จะเพิ่มการรองรับภาษาใหม่ๆ ให้กับระบบ Google Assistant บนอุปกรณ์ Android และ iPhone ได้แก่ ภาษาเดนมาร์ก ภาษาดัตช์ ภาษาฮินดู ภาษาอินโดนีเซีย ภาษานอร์เวย์ ภาษาสวีเดน และภาษาไทย รวมถึงจะเพิ่มภาษาอื่นๆ ในอุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้

นอกจากนี้ Google ยังมีแผนพัฒนาระบบให้สามารถเข้าใจคำสั่งในหลายภาษา (Multilingual) พร้อมกัน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถพูดได้มากกว่าหนึ่งภาษาสามารถคุยโต้ตอบกับระบบได้ และฟีเจอร์ใหม่นี้จะทำให้ระบบสามารถเข้าใจผู้ใช้งานในหลายภาษาได้มากขึ้น เช่น หากต้องการพูดภาษาเยอรมันในที่ทำงาน แต่พูดภาษาฝรั่งเศสที่บ้าน Google Assistant ก็ยังให้ความช่วยเหลือได้

โดยในเบื้องต้นฟีเจอร์นี้จะรองรับเพียง 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน และจะพัฒนาให้ครอบคลุมภาษาอื่นๆ ต่อไป

พัฒนาผู้ช่วยอัจฉริยะบนโทรศัพท์มือถือให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

Photo : Google Canada Official Blog

ในปีนี้ Google จะสร้างโปรแกรมในชื่อ Assistant Mobile OEM ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม (OEM) สามารถรวมเอาฟีเจอร์ของ Google Assistant อย่าง ความเข้าใจภาษาธรรมชาติ (Natural Language Understanding) และอินเทอร์เฟซการสนทนา (Conversational Interface) เข้ามาไว้ในอุปกรณ์ต่างๆ ได้

รวมไปถึงยังพัฒนาระบบการทำงานร่วมกับชิป AI สำหรับฮาร์ดแวร์ เพื่อทำให้แน่ใจว่าคำสั่ง "Ok Google" และ "Hey Google" ทำงานได้ดีเมื่อหน้าจอปิดอยู่ และเตรียมนำเอา Google Assistant ใส่ไว้ในอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ จาก LG, Sony Mobile และ Xiaomi อีกด้วย

นอกจากนี้จะมีการพัฒนาโปรแกรม Assistant Carrier ของ Google เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือสามารถใช้ความสามารถของ Google Assistant และทำให้ลูกค้าได้รับข้อมูลเชิงลึกและควบคุมบริการของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการช่วยให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแพ็คเกจโทรศัพท์มือถือของพวกเขา เพิ่มบริการใหม่ๆ (เช่นบริการโรมมิ่งข้อมูลระหว่างประเทศ) รวมทั้งรับการสนับสนุนต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย

โดยขณะนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง Sprint, Koodo, Telus และ Vodafone กำลังพัฒนาระบบ Assistant Carrier และจะมีผู้ให้บริการรายอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีกในเร็วๆ นี้

ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2016-2017 ที่ผ่านมา Google ได้ขยายบริการ Google Assistant จากเดิมที่สามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์เพียงชนิดเดียวและมีเพียงภาษาเดียวจนครอบคลุมอุปกรณ์หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นลำโพง โทรศัพท์ Android Auto และทีวี และรองรับหลายภาษาทั่วโลก Google มุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Google Assistant ในชีวิตประจำวันได้ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Google ได้เผยฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Google Assistant สำหรับอุปกรณ์ผู้ช่วยส่วนตัวภายในบ้านและรถยนต์อีกด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก Google Blog (The Keyword) และ Google Thailand Blog

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Apple Vision Pro ขายไม่ดีอย่างที่คิด Apple ลดคาดการณ์ยอดขายกว่าครึ่ง ปรับแผนใหม่

Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์สาย Apple เผยว่า Apple ได้ลดตัวเลขยอดขาย Apple Vision Pro ในปีนี้เหลือเพียง 400-450,000 เครื่องเท่านั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ (มากกว่า 700–800,000 เครื่อง)...

Responsive image

Apple ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2030

Apple เผยรายงานความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม และประกาศปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2024...

Responsive image

สร้างวิดีโอสมจริง ใช้แค่รูปนิ่งกับคลิปเสียง รู้จักโมเดล VASA-1 ที่ Microsoft กำลังวิจัย

แค่ใช้รูปถ่ายกับคลิปเสียง ก็สามารถสร้างวิดีโอของเราได้แบบสมจริง ด้วยโมเดล VASA-1 ตัวใหม่จาก Microsoft ที่ต้องบอกว่าทั้งน่าทึ่ง น่าประทับใจ และน่ากลัวด้วย...